คนแห่ชิงทุนก.พ.น้อยลงกว่าเดิม เน้นสาขา'อาชญากรรม-ภัยพิบัติ' ชี้สมองไหลน้อยแม้ค่าตอบแทนต่ำ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 1 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 3958 ครั้ง

 

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำลังจัดสอบคัดเลือกเพื่อให้ทุนสำหรับนักเรียนและนักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งทุนดังกล่าวดำเนินการมานานหลายสิบปี ในอดีตหากลูกหลานใคร ได้รับทุนก.พ. หรือทุนเล่าเรียนของหลวงไปเรียนต่อต่างประเทศได้ นับว่าสร้างชื่อเสียงให้กับพ่อแม่และวงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่ได้ทุนก.พ.นั้นมีน้อย ต้องเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่ง มีความประพฤติดี จึงจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือก และยังไม่ต้องห่วงกังวลถึงอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าต้องได้เข้ารับราชการ โดยไม่ต้องสอบแข่งขันอีก

 

แต่ในระยะหลังช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชื่อของทุน ก.พ.อาจจะจางลง เนื่องจากหน่วยงาน องค์กร บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย ได้คัดเลือกบุคลากรของตนเอง ด้วยการให้ทุนการศึกษากับผู้ที่สนใจในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อกลับมาทำงานในองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการคัดเลือกบุคลากรอย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพตามที่องค์กรต้องการ ดังนั้นผู้รับทุนของก.พ.จึงถูกแบ่งไป รวมถึงเงื่อนไข ปัจจัยต่าง ๆ ของทุน ก.พ. เช่น ค่าตอบแทนในตำแหน่งข้าราชการที่น้อยกว่าบริษัทเอกชน หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้สนใจทุน ก.พ.หรือทุนเล่าเรียนหลวง ลดน้อยลง

 

 

 

ก.พ.ยอมรับผู้รับทุนน้อยลงแม้จะให้ปีละ 500 ทุน

 

 

นายชาญวิทย์ ไกรฤกษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลนักเรียนทุนว่า แต่ละปีก.พ.จะมีทุนประมาณ 500  ทุน ส่วนใหญ่เป็นการให้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี  อีกส่วนหนึ่งเป็นทุนพัฒนาข้าราชการ สำหรับข้าราชการที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งทุนที่ให้เพื่อศึกษาต่อแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ หนึ่งในนั้นเป็นทุนที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  คือทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งคนไทยไปศึกษายังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้เป็นทุนการศึกษา ซึ่งเป็นทุนที่ก.พ.ยังคงรักษามาโดยตลอด โดยจะจัดสรรปีละ 9 ทุน และมีผู้สนใจสมัครเต็มทุกปี

 

ประเภทที่ 2 เป็นทุนสำหรับผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ประเภทที่ 3 คือทุนที่ให้สำหรับเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก และประเภทสุดท้ายคือ ทุนลักษณะพิเศษ ให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ที่สนใจและผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ได้ทุนเรียนในชั้นปีที่ 4 และเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถเข้ารับราชการได้ โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน หลังจากรับราชการครบ 2 ปี มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ สามารถไปเรียนต่อได้โดยทุนของ ก.พ.

 

รองเลขาธิการก.พ.ระบุว่า หากเทียบกับในอดีตแล้ว ผู้สนใจเข้าสอบแข่งขันเพื่อขอรับทุนก.พ.ลดลงมากเนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น มีความต้องการเพิ่มบุคลากร จึงมีการสรรหาด้วยวิธีต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ การให้ทุนเพื่อศึกษาต่อ ก่อนจะกลับมาทำงานในองค์กรต่าง ๆ

 

 

 

ทุ่มพันล้านกำหนดตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ

 

 

สำหรับเงินทุนที่ก.พ.ให้ สำหรับนักเรียนทุนคือ งบประมาณแผ่นดินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งทุนที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือ ทุนที่ไปศึกษาต่อระดับทั้ง 3 ระดับ คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามสาขาที่ก.พ.กำหนด โดยก.พ.จะกำหนดตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศเป็นหลัก ตามแนวทางของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ ก.พ.เตรียมคนในสาขาใดบ้าง

 

 

                  “สาขาที่ก.พ.ให้ทุนไปเรียนที่ถือว่าเป็นสาขาใหม่คือ การบริหารจัดการภัยพิบัติ เพราะในอนาคตทุกประเทศ ไม่ยกเว้นแม้แต่ประเทศไทยจะพบกับภัยประเภทนี้มาก ที่ผ่านมาเมื่อประเทศเราพบกับภัยพิบัติ อาจจะเตรียมตัวล่วงหน้าน้อย แต่ต่อไปจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ นวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็น ไม่เหมือนในอดีต เมื่อเรียนจบกลับมา ประเทศชาติจะได้กำลังคนที่จะมาช่วยเหลือ ส่วนสาขาหลักด้านอื่น ๆ ก.พ.ยังให้ทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น สาขากฎหมาย เป็นพื้นฐานที่เราต้องส่งคนไปและยังเป็นสาขาที่จำเป็นสำหรับประเทศชาติ” นายชาญวิทย์กล่าว

 

 

สำหรับการใช้ทุนของผู้ที่ศึกษาจบกลับมานั้น จะแบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ ทุนเล่าเรียนหลวง ในสัญญาระบุเพียงว่า ขอให้กลับมาประเทศไทย แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องไปทำงานที่ไหน แต่ต้องกลับมาทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่วนประเภทที่ 2 คือ ส่วนราชการต่าง ๆ มีนโยบายมายังก.พ.ว่า ต้องการได้บุคลากรทางด้านนี้ ซึ่งผู้รับทุนประเภทนี้ต้องกลับมารับราชการในส่วนราชการนั้น ๆ เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม หรือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประเภทที่ 3 คือทุนที่ก.พ.ให้ไปเรียนตามยุทธศาสตร์ของประเทศ เมื่อกลับมาแล้ว ก.พ.จะเป็นผู้ดูแล และเลือกให้ว่า จะให้ไปรับราชการในส่วนราชการใด ซึ่งเรียกว่าทุนกลาง

 

 

               “ก.พ.ในฐานะองค์กรกลางหรือผู้จัดสรรทุน จะเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้รับทุนควรจะไปทำงานที่หน่วยงานไหน แต่จะเป็นการพบกันครึ่งทาง คือก่อนผู้รับทุนจะเรียนจบ เราจะให้เขาเลือกมา 6 หน่วยงานว่า ต้องการทำงานที่ไหน และก.พ.จะมาดูอีกครั้ง ก่อนจะส่งหนังสือไปถามหน่วยงานนั้น ๆ ว่า ต้องการบุคลากรหรือไม่ ก.พ.จะเลือกหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด ตามความต้องการที่ตรงกันทั้งของผู้รับทุนและหน่วยงาน”

 

 

 

ปรับตัวเตรียมบุคลากรเข้าสู่อาเซียน

 

 

นอกจากนี้ขณะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ก.พ.ได้เตรียมตัวเพื่อสร้างบุคลากร โดยกำหนดการให้ทุนในสาขาวิชาที่จะเป็นความรู้ ประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ โดยก.พ.ส่งข้าราชการ ไปฝึกอบรม ดูงานในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย

 

ส่วนทุนที่ให้สำหรับไปศึกษาต่อจะเน้นที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาเซียน เช่น  เรื่องการเจรจาต่อรอง การแข่งขัน ดังนั้นสาขาที่ให้ทุนจึงเน้นทางด้านนี้มากขึ้น รวมถึงสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การฟอกเงิน เนื่องจากพันธกรณีที่ไทยร่วมกับอีก 9 ประเทศคือเรื่องเหล่านี้

 

 

“สาขาที่ก.พ.ส่งคนไปเรียนเพิ่มขึ้น คือการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การฟอกเงิน การป้องกันภัยพิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศหนึ่ง มีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม จะมีผลกระทบถึงอีก 9 ประเทศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เป็นเรื่องที่คนของเราต้องไปเรียนรุ้ เพื่อนำมาปรับใช้ในระบบอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมีความรู้เพิ่มมากขึ้น” รองเลขาธิการก.พ.กล่าว

 

 

นอกจากนี้ยังมีสาขาทางด้านสาธารณสุข การบริหารจัดการด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในขณะที่สาขาอื่น ๆ ก็ยังมีการจัดสรรทุนให้เหมือนเดิม เช่น สาขาเศรษฐศาสตร์ แพทย์  เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังมีการให้ทุน แต่ลดสัดส่วนจะน้อยลง

 

ปัญหาสมองไหลมีแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์

 

 

ส่วนปัญหาสมองไหลหรือ กรณีที่นักเรียนทุนจบการศึกษาแล้ว แต่ไม่ต้องการทำงานในระบบราชการ แต่จะออกไปทำงานกับบริษัทเอกชน รองเลขาธิการก.พ.ยอมรับว่า มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น แต่เป็นจำนวนน้อยมาก  ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน ที่ได้รับทุนทั้งหมด ซึ่งการใช้คืนทุนของก.พ.เป็นระเบียบกลาง ที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง เพราะทุนที่ได้เป็นภาษีอากรของประชาชน ซึ่งการใช้คืนทุน คือ ผู้รับทุนต้องกลับมาราชการ ด้วยระยะเวลาเป็น 2 เท่าของเวลาที่ไปศึกษา ถ้าหากไม่ต้องการกลับมารับราชการ หรือใช้คืนทุนไม่ครบตามระยะเวลา ต้องชดใช้เป็นเงินจำนวน 3 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ก.พ.จ่ายไป

 

อย่างไรก็ตามยังมีกรณีผู้ที่ได้รับทุน เมื่อศึกษาจบแล้วไม่กลับมาประเทศไทย เช่น สมรสกับชาวต่างชาติ รองเลขาธิการก.พ.กล่าวว่า มีเช่นเดียวกัน แต่จำนวนน้อยซึ่งผู้รับทุนจะต้องใช้คืนเป็นเงินให้กับรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่ค้ำประกันให้กับผู้รับทุนคือ บิดามารดาของผู้รับทุน  ซึ่งต่างจากในอดีตที่บุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกัน จึงทำให้เกิดปัญหามาก

 

 

               “ทั้งกรณีที่ผู้รับทุนสมรสกับชาวต่างชาติ หรือขอชดใช้คืนเงินแทนการรับทุน เกิดขึ้นเพียง 2-3เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้รับทุนทั้งหมด อยู่ในตัวเลขหลัก 10 เท่านั้น เพราะหากเขาไม่ใช้คืนทุน เขาต้องคิดหนัก เพราะพ่อแม่เป็นผู้ค้ำประกันให้”

 

 

 

เรียนไม่จบต้องกลับมาเรียนต่อเมืองไทย

 

 

สำหรับนักเรียนทุนก.พ.ที่ต้องการเลือกทำงานในหน่วยงานของรัฐบาลในต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่า กรมกระทรวงนั้น ๆ ต้องการกำลังคนหรือไม่ด้วย ซึ่งตามกฎหมายข้าราชการพลเรือนฉบับล่าสุด นักเรียนทุนสามารถชดใช้คืนทุนในหน่วยงานของรัฐ และมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ออกนอกระบบได้  ทำให้ผู้รับทุนมีทางเลือกมากขึ้น

 

นอกจากปัญหาเรื่องการไม่ใช้คืนทุนแล้ว ยังเกิดกรณีที่นักเรียนไม่สามารถศึกษาจนจบตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากป่วยจนคณะกรรมการแพทย์ ก.พ.พิจารณาแล้วว่า เรียนต่อไปไม่ได้ นักเรียนทุนจะถูกส่งตัวกลับ ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องใช้ทุน ส่วนกรณีที่เรียนไม่จบ เพราะเรียนไม่ไหว ก.พ.จะยุติการเรียนในต่างประเทศ และให้กลับมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยประเทศไทย ด้วยทุนของ ก.พ. และประเภทที่ 3 เป็นประเภทที่มีปัญหาส่วนตัวจนเรียนไม่จบซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก

 

 

“เรียนไม่จบเพราะปัญหาส่วนตัว มีเกิดขึ้นแต่น้อยมาก อันนี้ไม่เข้าข่ายผู้รับทุนต้องใช้คืนทุนให้ครบ โดยยึดวุฒิการศึกษาขั้นสุดท้าย เช่น เรียนปริญญาตรีแล้วได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโท แต่เรียนไม่จบ กลับมาเมืองไทยก็เรียนไม่จบ ก.พ.ต้องรับหน้าที่หาหน่วยงานให้เขาสังกัดเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานใช้ทุน กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ก.พ.ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะเสียหายหลายอย่าง ราชการไม่ได้คนตามที่ต้องการ ส่วนผู้รับทุนเองก็อายุมากขึ้น” นายชาญวิทย์กล่าว


 

ยอมรับให้ค่าตอบแทนเท่าเอกชนไม่ได้

 

 

ส่วนประเด็นค่าตอบแทนในอัตราเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งหากเทียบกับความรู้ที่เรียนมา และรายได้ของบริษัทเอกชน นับว่าน้อยมาก รองเลขาธิการก.พ.กล่าวว่า อัตราเงินเดือนข้าราชการสำหรับผู้รับทุน พยายามปรับให้สอดคล้องกับค่าตอบแทนของเอกชน แต่ปัญหาที่ว่าน้อยหรือมากนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ที่รัฐบาลกำหนดให้ ผ่านการคิดว่าเหมาะสมและสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าหากเทียบกับบริษัทเอกชน อาจจะน้อยกว่า ซึ่งต้องเข้าใจว่า หน่วยงานราชการเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีคนถึง 400,000 คน ถ้าจะปรับอัตราเงินเดือน ต้องคำนึงถึงภาพรวมและกระเป๋าเงินของรัฐด้วย เพราะจะกระทบทั้งหมด

 

 

 

ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและการติดตาม

 

 

ขณะเดียวกัน  รองเลขาธิการก.พ.ยังระบุด้วยว่า ก.พ.มีเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น ประสิทธิภาพในการบริหารทุน ซึ่งนอกจากการจัดสรรทุนแล้ว ต้องแนะนำผู้รับทุนให้ถูกต้องด้วยว่า เขาควรจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไหน ที่ประเทศไหน เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งรัฐบาลไทยไม่รับรอง บริษัทเอกชนไม่รับ รวมถึงการดูแลนักเรียนทุน ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนทุนที่ก.พ.ต้องดูแลทั้งสิ้นรวม 4,609 ราย ซึ่งรวมถึงทุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้ก.พ.ช่วยดูแลด้วย ปัญหาที่พบคือ การเตรียมความพร้อมของนักเรียนทุน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาส่วนตัวที่ผู้ได้รับทุนไม่ให้ความสำคัญ เช่น ไม่เข้าร่วมรับฟังเพื่อเตรียมความพร้อม เพราะคิดว่าสามารถใช้ชีวิตได้ ซึ่งการใช้ชีวิตในต่างประเทศมีรายละเอียดมาก

 

และที่สำคัญคือ ระบบการศึกษาของประเทศไทย ทำให้นักเรียนทุนปรับตัวได้ยาก เมื่อต้องไปเรียนในต่างประเทศ ซึ่งนักเรียนบางคนขยัน ตั้งใจ แต่ไม่สามารถเรียนได้ นักเรียนทุนต้องปรับตัวสูงมาก เช่น ประเทศเยอรมัน และแต่ละประเทศจะต่างกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการติดตามซึ่งก.พ.จะมีระเบียบ ให้ผู้รับทุนต้องรายงานผลการศึกษาทุก 6 เดือน บางคนไม่รายงานเป็นปี แม้ว่าจะไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ส่งรายงานผลการศึกษา กรณีเช่นนี้ ก.พ.ต้องหาทางแก้ไข เพราะหากเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียน เป็นสิ่งที่ ก.พ.ต้องรับผิดชอบ ส่วนใหญ่จะเกิดกับประเทศที่ไม่มีสำนักงานก.พ.

 

และประเด็นที่ 3 คือ หลังจากจบการศึกษาและไปรับราชการตามกรมต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนทุนมักจะบ่นว่า กรมไม่ดูแล ซึ่งก.พ.ต้องรับหน้าที่แก้ปัญหา ด้วยการหารือกับอธิบดีของกรมนั้น ๆ ให้นักเรียนเหล่านี้ได้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนมา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้อยู่ตลอดเวลา ไม่จบง่าย ๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: