จวกจัดการน้ำ3.5แสนล.มีเงื่อนงำ เร่งทำเพราะกลัวหมดเวลาใช้เงิน จับตาไม่มีบริษัทยุโรป-อเมริกัน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 1 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1592 ครั้ง

 

ในที่สุดหลังใช้เวลาพิจารณาโครงการประมูลโปรเจคน้ำ ตามชื่อโครงการ “การก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย” ของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.ที่ใช้เวลาเพียงไม่นานนัก รัฐบาลนำโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และ ประธานกรรมการบริหาร กบอ.ก็ประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 6 กลุ่ม ที่มีทั้งต่างชาติและคนไทย ที่มีสิทธิ์รับงานทั้งหมดไปดำเนินการทันที ท่ามกลางเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์มากมาย กับการรวบรัดตัดตอนและเร่งรีบในการประมูลงานครั้งนี้ โดยเห็นว่า รัฐบาลอาจใช้เงินลงทุน 3.5แสนล้าน ไปลงทุนในการก่อสร้างที่ไม่คุ้มค่า และไม่ส่งประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิกฤติพลังงานแย่งซีน โปรเจค 3.5 แสนล้าน

 

 

ประเด็นข้อห่วงใยหลายข้อถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันในหลายเวที ในการวิพากษ์การดำเนินงานของรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งดูเหมือนว่ากำลังมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเด็นเรื่องการข้ามกระบวนการสำคัญ ในเรื่องการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการ ศึกษาสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ รูปแบบการก่อสร้างในรูปแบบของ การ “ดีไซน์ แอนด์ บิวท์” ที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมเห็นว่า เป็นรูปแบบที่เสี่ยงเกินไปสำหรับการดำเนินการโครงการเมกะโปรเจค ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงในหลักแสนล้านเช่นนี้ เพราะเหมือนกับยังไม่ได้มีการเริ่มต้น หรือเห็นทิศทางของโครงการแต่กลับเตรียมก่อสร้างกันแล้ว หากมีการแก้ไขจะยิ่งสร้างความยุ่งยากมากขึ้น ขณะที่การตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสในการประมูลงาน ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนจับตา รวมไปถึง ข้อกังวลเรื่องการส่งมอบงานที่อาจจะล่าช้าจนเกิดการฟ้องร้องกันในอนาคตอีกด้วย

 

ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเดินหน้าโครงการนี้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วนี้ อาจจะได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวางกว่านี้ และน่าจะมีการเคลื่อนไหว จับตามกับการบริหารงบประมาณในโปรเจคยักษ์ของรัฐบาลมากขึ้น หากไม่ถูกกลบด้วยกระแสข่าวใหญ่อย่างเรื่อง วิกฤติพลังงานไปเสียก่อน การติดตามเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ตรวจสอบในเรื่องนี้จึงกลับถูกตัดตอนลงไปในทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สงสัยเร่งใช้เงินกู้เพราะกลัวถูกเก็บคืน

 

 

อย่างไรก็ตามในกลุ่มของนักอนุรักษ์ และผู้ให้ความสนใจกรณีของการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณก้อนยักษ์นี้ ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แม้จะดูความหวังริบหรี่ เพราะการเดินหน้าโครงการของ กบอ.เป็นไปอย่างรวดเร็วจนสังคมตามไม่ทัน จนกลายเป็นความกังวลของกลุ่มนักอนุรักษ์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

 

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่รัฐบาลเร่งรัดที่จะดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนของ กบอ.โดยไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นในภาคอื่น ๆ นั้น และดูเหมือนจะอาศัยช่วงเวลาในการดำเนินการในช่วงที่มีข่าวสารเกิดขึ้นมากในขณะนี้ ดูจะมีข้อน่าสังเกตหลายอย่าง ที่นักอนุรักษ์ยังเป็นห่วงอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นหนึ่งคือเรื่องของกรอบระยะเวลาเงินกู้3.5 แสนล้านบาท ที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนในการนำเงินออกมาใช้

 

 

 

 

นายหาญณรงค์ระบุว่า การเร่งรัดดำเนินการโดยข้ามขั้นตอนที่สำคัญต่าง ๆ ไปหลายขั้นตอนของ กบอ.นั้น จะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ กรอบเวลาการนำเงินมาใช้ ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2556 นี้ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กู้น้ำท่วม หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบ เพราะหากไม่มีการใช้งบประมาณในส่วนนี้ เงินก็จะถูกคืนกลับไป นอกจากจะมีการออก พ.ร.ก.ขึ้นมาต่อ แต่ในขณะนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการออก พ.ร.ก.เพื่อต่ออายุการกู้เงินคงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่า การที่รัฐบาลเร่งรัดที่ใช้เงินก้อนนี้ อาจจะมีข้อจำกัดนี้มาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการ จึงทำให้งบประมาณทั้งหมดทยอยถูกนำออกมาใช้โดยไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้สังคมรับทราบแต่อย่างใด

 

 

 

ชี้ชาวบ้านเตรียมค้านเต็มที่ ไม่ให้เข้าพื้นที่ทำโครงการ

 

 

ประเด็นต่อมา นายหาญณรงค์เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของกบอ. ล้วนเป็นการอ้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า โครงการที่เข้าข่ายประเภทกิจการรุนแรง ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ และต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปิง ยม น่าน แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำป่าสัก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ กลับไม่ได้ให้ความใส่ใจกับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่อ้างเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งแท้จริงแล้ว กระบวนการขั้นตอนทั้งหมด ยังไม่ควรจะมาถึงขั้นตอนในการคัดเลือกผู้รับเหมาต่าง ๆ เป็นการลัดขั้นตอนที่น่าเป็นห่วง

 

 

         “ตอนนี้ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล หากเรามานั่งดูสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ผมคิดว่าขั้นตอนที่ทำแบบกลับหัวกลับหางแบบนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะไม่ฟังคนอื่นเลย และอาจจะสูญเงินไปฟรี เพราะสุดท้ายแล้วบริษัทพวกนี้ก็ทำตามเทคนิคเดิม ๆ ที่เคยทำ เช่น กลุ่มจากประเทศเกาหลี ที่เคยขุดคลอง ในประเทศเกาหลี ภูมิประเทศของไทยและเกาหลีไม่เหมือนกัน การพิจารณาก็เพียงแค่ดูจากเอกสาร ในท้ายที่สุดหากประชาชนไม่มีส่วนร่วมเขาก็ไม่ให้เขาพื้นที่ก็ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นจึงเห็นว่ามีเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล จะต้องรื้อทั้งระบบ วันนี้ถามว่าโจทย์ใหญ่ โครงการเหล่านี้ยังเร่งด่วนจริงหรือเปล่า” นายหาญณรงค์กล่าวพร้อมกับว่า หากทางสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่หันกลับมาทบทวนการดำเนินการโครงการนี้ใหม่ กลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันจะไม่ให้คณะทำงานเดินทางเข้าพื้นที่อย่างแน่นอน พร้อมเดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องไปแก้เอาเอง โดยเฉพาะเรื่องเอกสาร สัญญา ทีโออาร์ต่าง ๆ ที่ทำไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สังศิตชี้รัฐบาลบริหารผิดหลักธรรมาภิบาล

 

 

ด้าน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการ กล่าวถึงประเด็นความห่วงใยเช่นเดียวกันว่า การที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ถือว่าผิดหลักธรรมาภิบาล ขัดกับหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า โครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้โครงการนี้ไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการนี้ มีผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ชุมชนในภาคเหนือลงมาสู่ภาคกลาง แต่กลับไม่ให้มีการรับฟังข้อเสนอแนะใด ๆ ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับชุมชนหรือ พื้นที่ใด เนื่องจากแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำต่างก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และเป็นไปได้ว่า การดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมเช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่

 

 

           “โดยหลักการแล้วรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่โครงการนี้กลับผิดเพี้ยน เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญกับเป้าหมายทางธุรกิจของเอกชนต่างชาติ ทั้งที่จริง ๆ ดูจากเทคโนโลยีก็ไม่ซับซ้อน คนไทยเองก็น่าจะทำได้ แต่กลับไปออกทีโออาร์ให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ทำให้คนไทยมีโอกาสในการแข่งขันได้น้อย” ดร.สังศิตกล่าว

 

 

ชี้ไม่มีบริษัทตะวันตกเพราะกลัวกฎหมายคอร์รัปชั่น

 

 

นอกจากนี้ในประเด็นของการรวบรัดประมูลผู้รับเหมาของกบอ.ในการจัดทำโครงการ ดร.สังศิตยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จากการสำรวจรายชื่อบริษัทที่ส่งเข้าแข่งขัน พบว่าไม่มีรายชื่อของบริษัทที่เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน หรือยุโรป เลย แต่กลับพบว่ามีเพียงบริษัทที่มาจากเกาหลี ญีปุ่น หรือ จีน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต และหากจะเชื่อมโยงวิเคราะห์ต่อไป จะเห็นได้ว่า ในประเทศแถบอเมริกา และยุโรป มีการบังคับใช้กฎหมายด้านการต่อต้านคอรัปชั่นอย่างเข้มงวด หากพบว่าบริษัทเอกชนใดมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะก็จะมีความผิดทันที เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่พบว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งของอเมริกาจ่ายเงินให้เพื่อจัดงานด้านการท่องเที่ยว ครั้งนั้นบริษัทดังกล่าวถูกดำเนินคดีในอเมริกากลายเป็นข้อหารุนแรง ดังนั้นจึงจะเป็นประเด็นหรือไม่ ที่พบว่าไม่มีบริษัทจากอเมริกา หรือยุโรป เข้าแข่งขันในการประมูลโครงการนี้

 

 

         “เท่าที่ผมได้พูดคุยกับบริษัทอเมริกัน เขาบอกว่าไม่รู้ข้อมูลเรื่องการจัดทำโครงการนี้เลย จึงไม่ได้ส่งเข้ามาแข่งขัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการแจ้งผ่านสถานทูต แต่กลับมีข้อมูลน้อยมาก เรื่องนี้คุณปลอดประสพต้องตอบคำถามว่า เป็นการปิดกั้นตลาดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการเมืองไทยมักจะคอร์รัปชั่นด้วยการปิดตลาดไม่ให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง” ดร.สังศิตระบุ

 

 

เกรงผิดพลาดเหมือนครั้ง จอมพลสฤษดิ์ถมคลองกทม.

 

 

สำหรับประเด็นข้อห่วงใยในการใช้เงินงบประมาณถึง 3.5 แสนล้านบาทนั้น ดร.สังศิตเห็นว่า หากพิจารณาแล้วประชาชนมืดบอดกับโครงการนี้มาก ไม่มีใครทราบว่าหน้าตาของโครงการจะออกมาเป็นอย่างไร เห็นเพียงกรอบความคิดกว้าง ๆ ทั้งที่ใช้เงินไปจำนวนมาก แต่กลับไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช ที่ต้องการจะเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองกรุงเทพ และได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการฝรั่ง แนะนำให้ถมคลองในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่กว่า 1,000 คลอง จึงมีการดำเนินการตามคำแนะนำนั้นโดยไม่มีการแจ้งให้คนกรุงเทพฯ ทราบเลย จนกระทั่งทำให้เมืองกรุงเทพฯ เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล และครั้งนี้หากเปรียบเทียบก็ดูจะไม่แตกต่างกันนัก เพราะไม่มีการบอกให้ประชาชนทราบ หรือเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

        “เงิน 3.5 แสนล้านบาทเป็นเงินก้อนใหญ่มาก และเป็นเงินกู้ทีเดียวที่มีความเสี่ยง ผมมองว่า หากจะลดความเสี่ยงลง ก็สามารถทำในลักษณะของการกู้เงินเป็นเฟส ๆ และดำเนินการไปทีละเฟส ซึ่งการให้เงินบริษัทใหญ่ ๆ ไปทีเดียวครั้งนี้ ก็เชื่อว่าจะมีการส่งต่อไปยังบริษัทเล็ก ๆ มารับทำต่ออยู่แล้ว และการทำทีเดียวทั้งประเทศ เรามีประสบการณ์แล้วว่า มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำไม่เสร็จ ทั้งโครงการโฮปเวล์ คลองด่าน หรือโรงพัก ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีการยกเว้น ทำไม่ต้องยกเว้น ขณะเดียวกัน โครงการรับเหมาเรื่องการขุดดิน ถมคลอง ถือเป็นเรื่องที่ทุจริตง่ายสุด 30-40 เปอร์เซนต์ เพราะตรวจสอบไม่ได้ และโครงการที่สังคมไม่ได้ข้อมูล สื่อไม่ได้ข้อมูล เป็นสิ่งที่คอร์รัปชั่นได้ง่ายที่สุด” ดร.สังสิตกล่าว

 

 

‘ปลอด’ไม่สนสั่งสร้างแล้ว2เขื่อน พร้อมFlood way

 

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ดูเหมือนกว่าจะไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับกบอ.ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินงานนัก โดยล่าสุดมีการอนุมัติฯ แนวทางการก่อสร้างเขื่อนใสนลุ่มน้ำยมแล้ว 2 เขื่อน คือเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง พร้อมทั้งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ของลุ่มน้ำยม ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกับเลือกที่จะก่อสร้างทางน้ำหลาก (Flood Diversion) ทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มที่ จ.นครสวรรค์ โดยทั้งรูปแบบการก่อสร้างเขื่อนในล่ามน้ำยมและการก่อสร้างทางน้ำหลาก (Flood Diversion) จะระบุไว้ในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ทีโออาร์ ที่จะให้กลุ่มบริษัทเข้ามารับได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยนายปลอดประสพ ยืนยันหนักแน่นว่า โครงการนี้จะสามารถก่อสร้างทันทีที่เซ็นต์สัญญา และจะไม่เกิดการขัดแย้งกับชาวบ้าน ตามที่นักวิชาการเป็นห่วงอย่างแน่นอน

 

 

 

 

จากการข้อมูลล่าสุดนายปลอดประสพ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า ปัจจุบัน กบอ.ได้เงินเงินกู้ดังกล่าวไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และ อีก 30,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยนำไปลงทุนป้องกันน้ำท่วมบางส่วน เช่น การขยายถนน ติดแบร์ริเออร์เหนือกรุงเพทฯ ขุดลอกคูคลอง จำนวน 7-8 หมื่นล้านบาท และหลังเดือนเมษายน 2556 จะมีการนำเงินก้อนที่เหลือมาใช้อีก

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: