หวั่นเงินกู้2ล้านล.บีบผุดปากบารา ชี้ต้องทำ'อีเอชไอเอ'ใหม่ทั้งหมด วิจัยระบุชาวบ้านกลัวกระทบชีวิต

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ, ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ สถาบันพัฒนานักข่าวภาคใต้ 1 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2167 ครั้ง

ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...ซึ่งกำหนดกรอบการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา

 

ซึ่งในบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ ฯ ระบุถึงยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำ และชายฝั่ง เพื่อประโยชน์แก่การขนส่งสินค้า ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

 

 

 

ในแผนงานดังกล่าว ระบุถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ระยะที่ 1 วงเงิน 11,786.76 ล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา วงเงิน 3613.87 ล้านบาท ซึ่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบดำเนินการ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 วงเงิน 46,963.27 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งผลจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานดำเนินการ

 

ซึ่งโครงการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ วันที่ 21 มีนาคม ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จากอ.ละงู จ.สตูล รวมถึงชาวบ้านจากอ.จะนะ จ.สงขลา ประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...  ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล

 

 

จากนั้นแถลงข่าวถึงแนวทางเคลื่อนไหวว่า วันที่ 27 มีนาคม 2556 เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ จะประชุมหารือกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว กรณีที่เมกะโปรเจ็กต์ในภาคใต้ ถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... จำนวน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่จ.สงขลา ขณะที่ในวันเดียวกัน จะมีการเคลื่อนไหวในอ.ละงู จ.สตูล เพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลก่อนมีการนำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า จะมีการระดมพลเครือข่ายภาคประชาชนในจ.สตูล และภาคใต้ เพื่อชุมนุมใหญ่คัดค้านแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่จ.สตูล ในปลายเดือนเมษายน ที่จะถึงนี้

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม 2556 เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่นส่องใต้ (สตูล) นำเสนอข่าวตำรวจชุดปราบจราจลสตูล จำลองเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งชาวบ้านมองว่า หากมองจากลำดับเหตุการณ์เหมือนมีนัยยะเพื่อส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง กับชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบา หรือเสมือนเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อแสดงว่ากำลังของตำรวจ พร้อมแล้วที่จะรับมือกับม็อบ หรือใครก็ตามที่คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐกู้เงินจำนวนมหาศาลมาสร้าง

 

ขณะที่ พล.ต.ต.สมควร คัมภีระ ผบก.ภ.จว.สตูล ประธานการฝึกซ้อม ระบุว่า เป็นเพียงการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันในโครงการผู้บังคับการตำรวจเข้มแข็ง ซึ่งจังหวัดสตูลส่งเข้าประกวดในระดับภาค 9 ด้วย ส่วนการฝึกซ้อมชุดปราบจลาจลนั้น ได้ฝึกตามกระบวนการ และขั้นตอนปกติ สำหรับการฝึกซ้อมชุดปราบจลาจลนั้น ตำรวจทุกจังหวัดมีการฝึกทบทวนปีหนึ่ง 2-3 ครั้ง ฝึกให้ตำรวจมีความเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพ อำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนรัก

 

 

ด้าน นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล หนึ่งในแกนนำคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า อาจมีผู้สนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบารา นำเอากระแสข่าวไปเสี้ยมให้ชาวบ้านเคียดแค้นตำรวจ เพื่อให้เกิดการปะทะกัน ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย รวมถึงการนำข่าวไปจับแพะชนแกะ แอบอ้างเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างได้แล้ว ทั้งที่โครงการต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และกรมเจ้าท่า เรื่องขอให้ยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากเข้าข่าย 1 ใน 11 โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง หากกรมเจ้าท่าจะดำเนินการโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราต่อ จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)

 

 

 

ซึ่งขั้นตอนกระบวนการทำอีเอชไอเอของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ อีกทั้งกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การกู้เงินเพื่อเตรียมดำเนินโครงการดังกล่าวมีลักษณะอนุมัติเงินล่วงหน้า และชี้นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งเป็นการบีบกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 ไร่ ออก เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เมื่อปี 2553 น.ส.รุจิรา ใจสมุทร์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ทำรายงานการวัดระดับความพึงพอใจของชาวบ้านปากบารา กรณีศึกษาจากการมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวบ้าน 1,173 ครัวเรือน จำนวน 117 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่และประกอบอาชีพประมง พบว่า มีความพอใจต่อการสร้างท่าเรือน้ำลึก น้อยที่สุด 73 คน หรือ 62.4 เปอร์เซนต์ มีความพอใจมากที่สุด 4 คน หรือ 3.4 เปอร์เซนต์

 

ความพึงพอใจที่ได้รับข้อมูลจากการสร้างท่าเรือน้อยที่สุด 92 คน หรือ 78.6 เปอร์เซนต์ พอใจมากที่สุด 22 คน หรือ 18.8 เปอร์เซนต์ มีการชี้แจงรายละเอียดถึงผลเสียต่าง ๆ ในอนาคตจากการมีท่าเรือ น้อยที่สุด 87 คน หรือ 74.4 เปอร์เซนต์ มาก 1 คน หรือ 0.9 เปอร์เซนต์ ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากการสร้างท่าเรือน้อยที่สุด 61 คน หรือ 52.1 เปอร์เซนต์ มาก 5 คน หรือ 4.3 เปอร์เซนต์

 

 

ท่าเรือจะทำให้การเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด 86 คน หรือ 73.5 เปอร์เซนต์ น้อย 4 คน หรือ 3.4 เปอร์เซนต์ พอใจต่อการเปลี่ยนมากที่สุด 1 คน หรือ 0.9 เปอร์เซนต์ น้อยที่สุด 63 คน หรือ 53.7 เปอร์เซนต์

พอใจมากแค่ไหนหากการสร้างท่าเรือทำให้พื้นที่การทำงานมีขนาดเล็กลง กลุ่มเป้าหมายระบุว่าน้อยที่สุด 95 คนหรือ 81.2 เปอร์เซนต์ พอใจแค่ไหนหากต้องเปลี่ยนจากอาชีพประมงไปทำอาชีพอื่น ตอบว่าน้อยที่สุด 84 คน หรือ 71.8 เปอร์เซนต์ ต้องการให้รัฐบาลจัดหางานให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการมีท่าเรือ มากที่สุดร้อยละ 110 คน หรือ 94.0 เปอร์เซนต์

 

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจผลกระทบด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบด้านสังคม ถามว่า การมีท่าเรือเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของท่าน จำนวน 86 คน จาก 117 คน ระบุว่า แย่ลง ขณะที่ 8 คนบอกว่าดีขึ้น ผลกระทบจากเสียงรบกวนจากเรือสินค้า 116 คน ผลกระทบเสียงรบกวนจากรถบรรทุก 104 คน ผลกระทบเสียงรบกวนจากอุปกรณ์ขนย้าย 88 คน มลพิษจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น 116 คน

 

ขณะที่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางน้ำ 115 คน ทางอากาศ 105 คน ทางถนน 101 คน ป่าไม้ 101 คน ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพด้านการท่องเที่ยว ทางทะเล 115 คน ทางสัตว์น้ำ 104 คน หาดทราย 115 คน ป่าไม้ 93 คน ส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลที่เน่าเสีย 110 คน ทำให้สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย 115 คน สัตว์น้ำตาย 96 คน สัตว์น้ำในบริเวณนั้นมีน้อยลง 96 คน

 

 

สำหรับผลสรุปจากงานวิจัยเรื่องดังกล่าวระบุว่า ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราถึงแม้ว่าการสร้ างท่าเรื อน้ำลึกปากบาราก่อให้เกิดประโยชน์ ทางเศรษฐกิจมากมายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวั ดก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้ามการสร้างท่าเรือน้ำลึกได้ส่งผลกระทบมากมายต่อคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก เพราะจะประกอบอาชีพเดิมไม่ได้ต้องหาอาชีพใหม่แทน หรือไม่หากมีความต้องการทำอาชีพเดิมก็ต้องมีการออกไปทำงานในระยะทางที่ไกลขึ้นซึ่งทำให้เห็นว่าชาวบ้านจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมในขณะที่รายได้เท่าเดิ มหรืออาจจะลดลงกว่าเดิมแต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการสร้างท่าเรื อน้ำลึกจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากจะทำให้ชาวบ้านไม่มีทั้งที่อยู่และงานทำต้องอพยพไปหาที่อาศัยใหม่และหางานใหม่ทำ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ความถนัด ในการทำอาชีพอื่นนอกจากอาชีพประมง

 

นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่าความคิดเห็นของชาวบ้านต่อการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะส่งผลให้เกิดผลกระทบมากมาย ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้าน ทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะมีงานทำน้อยลงส่งผลให้รายได้ของชาวบ้านลดลง ในขณะที่รายจ่ายเท่าเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ผลกระทบทางสังคม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สถานที่ที่มีความสงบกลายเป็นสถานที่มี แต่ความวุ่นวาย เสียงที่ดังจากเรือบรรทุกสินค้า

 

อาจส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยเกี่ยวกับสภาพจิตและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น หาดทราย น้ำทะเล ป่าไม้ และสัตว์น้ำที่เคยสวยงามและมีมากมาย แต่เมื่อมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งแน่นอนมลพิษที่เกิดจาการสร้างท่าเรือจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน รวมถึงทัศนียภาพด้านการท่องเที่ยวอาจทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป

 

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่นส่องใต้(สตูล)

 

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ไฟล์แนบด้านล่าง

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: