วันที่ 29 มีนาคม เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซ และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ตึกจามจุรีสแควร์
สืบเนื่องจากสถานการณ์การสร้างกระแส “วิกฤตไฟฟ้าดับ”โดยการแถลงของรมว.พลังงาน ถึงการขาดแคลนก๊าซเนื่องจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพม่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยเฉพาะในวันที่ 5 เมษายน2556 ซึ่งอาจส่งผลให้ ‘ไฟดับ’ หรือ ‘ไฟตก’ นั้น
แม้ภายหลังรมว.พลังงานจะออกมาแก้สถานการณ์ว่า ได้คลี่คลายลงไปแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม การหยุดซ่อมท่อในเวลาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นเหตุให้ต้องสำรองเชื้อเพลิงน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ทำให้ต้อง ‘ขึ้นค่าไฟ’ ผ่าน‘ค่าเอฟที’ อันเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
เครือข่ายประชาชนซึ่งติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน นำโดย นายวินัย กาวิชัย จากเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด เป็นตัวแทนยื่นหนังสือกับ กกพ.เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการของหน่วยงานด้านพลังงานว่าการหยุดซ่อมท่อก๊าซ ซึ่งปกติจะมีกำหนดซ่อมทุกปีอยู่แล้ว แต่เพราะเหตุใดจึงต้องกำหนดทำในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และเป็นเหตุให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่าแทนก๊าซ อันเป็นผลต่อการขึ้นค่าเอฟทีหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบว่า ผู้จัดหาก๊าซ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการจัดหาก๊าซหรือไม่ รวมทั้งเปิดเผยหลักเกณฑ์ในการคิด‘ค่าเอฟที’ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทางเครือข่ายได้ขอให้ทาง กกพ.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน15วัน นับจากวันที่รับหนังสือ
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โครงการจับตาพลังงาน ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นวิกฤตธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ เนื่องจากเป็นการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซ้ำรอยกับปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเกิดวิกฤตไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในเดือนเมษายนเช่นกัน นอกจากนี้ข้อมูลของกฟผ.ก็ขัดแย้งกันเองในกรณีที่ระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 4,100 เมกะวัตต์ แต่ข้อมูลของ กฟผ.เองก่อนหน้านี้ มีการระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่า จะทำให้กำลังผลิตหายไปเพียง 1,380 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่รับก๊าซพม่าส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนได้ นั่นหมายความว่า สถานการณ์ไม่ได้วิกฤตจริงดังที่เป็นข่าว เพราะกำลังผลิตอีกหลายพันเมกะวัตต์ไม่ได้หายไปจริง
นายวินัย กาวิชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติว่า กรณีสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งยาดานา มีการระบุถึงเงื่อนไขในการหยุดซ่อมเพื่อป้องกันความเสียหายว่า ผู้จัดส่งก๊าซยังต้องส่งก๊าซให้ ปตท.ไม่น้อยกว่าร้อยละ50ของก๊าซที่ต้องส่งตามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นการหยุดจ่ายก๊าซโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ
“การหยุดจ่ายก๊าซพม่าหรือก๊าซอ่าวไทย เป็นปัญหาในส่วนของผู้จัดหาก๊าซคือ ปตท.ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค แต่ทุกครั้งที่มีการหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากการขึ้นค่าเอฟทีมาตลอด ดังนั้น กกพ.ควรที่จะตรวจสอบสัญญญาซื้อขายก๊าซทั้งหมดว่ามีการกำหนดความรับผิดชอบของ ปตท.ไว้หรือไม่อย่างไร เป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอีก 6 โรง ซึ่งจะต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซผูกพันไปตลอด 25 ปี หากสัญญาเหล่านี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนผู้บริโภคก็ต้องถูกเอาเปรียบเพิ่มขึ้นไปอีก”
จากนั้น นายประเทศ สีชมพู ผู้อำนวยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้แทนประธาน กกพ.เป็นตัวแทนมารับหนังสือ พร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้ต้องใช้ข้อมูลหลายระดับในการตรวจสอบและชี้แจง โดยยืนยันว่า กกพ.จะตอบคำถามต่อประเด็นดังกล่าว ส่วนกระแสไฟฟ้าดับที่ออกมาพูดกันก่อนหน้านี้ ก็เป็นการสื่อสารของภาครัฐ ส่วนนี้จะไม่ขอพูดถึง
เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน ประกอบด้วยประชาชนผู้ติดตามนโยบายพลังงานและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการด้านพลังงานในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายจากจ.ราชบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง และกรุงเทพฯ เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ