ภาพชุด‘อ่าวพร้าว’ล่าสุด-06.35น.วันนี้ อธิบดีคพ.ชี้ปะการังอาจใช้เวลาฟื้น10ปี

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 1 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2428 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2556 นายปองพล สารสมัคร ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation รายงานใน Face Book ส่วนตัว ระบุว่า สภาพอ่าวพร้าว เช้านี้ 06.35 วันที่ 1 ส.ค.2556 เริ่มเห็นยอดคลื่นสีขาว คราบน้ำมันเริ่มหายจากหาดทราย

คพ.ระบุปะการังใช้เวลาฟื้นตัวเป็นสิบปี

ขณะที่นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์รายการเจาะข่าวเช้านี้ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ถึงกรณีการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลที่ เกาะเสม็ด จ.ระยอง ว่า ผู้ที่จะบอกว่าควรทำแค่ไหนหยุดเมื่อไหร่คือคณะกรรมการป้องกันฯ จนกว่าพิสูจน์ได้ว่าไม่มีแล้วจึงจะบอกให้ยุติ ปตท.โกบอลเคมิคอล ต้องรับผิดชอบทั้งหมด และเขาพร้อมจะชดใช้ค่าเสียหาย

ส่วนข้อสงสัยเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาว่า เท่าที่เห็นที่อ่าวพร้าว และบริเวณใกล้เคียง เป็นคราบน้ำมันดิบ ตรงนี้มีความเข้มข้นและหนาแน่น ส่วนคราบที่เราเห็นจากภาพถ่ายดาวเทียม ก็ได้เอาเรือเข้าไปดู แต่ก็พบว่าเป็นฟิล์มบางๆ โดยขณะนี้เคลื่อนผ่านด้านเกาะเสม็ดไปบ้านเพ ซึ่งหากดูทุกวันจะเห็นขนาดเล็กลง ๆ ส่วนแผ่นฟิล์มนี้ ก็ยอมรับว่ามีผลกระทบบ้างเช่นแสงอาทิตย์ตกไปไม่ถึง หรือกระทบกับออกซิเจนที่แพลงตอนใช้ดำรงชีวิต แต่ก็จะเคลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ หรือจะไปหยุดตรงไหน จากนั้นเราก็จะไล่ตามเก็บตัวอย่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งการฟื้นฟูอาจใช้เวลานาน บางอย่างอาจจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน แต่อย่างปะการังอาจใช้ 3-10 ปี คงไม่ใช่แค่ 30 วันแล้วจะฟื้นตัว

สำหรับค่าชดเชย ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ใครที่ได้รับผลกระทบ เช่นผู้ประกอบการโรงแรม หรือ ประมง บางส่วนขณะนี้ยังไม่แจ้งเพราะยังประเมินไม่หมด และทั้งหมดจะรวมความเสียหายทั้งต่อทรัพยากร ทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาส รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู และจะนำไปเคลมค่าเสียหายกับปตท.

แนะใช้เหตุการณ์แม็กซิโกเป็นกรณีศึกษา

ทางด้าน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Science Cafe’ “นักวิทย์ฯ มหิดล กับทางออกของวิกฤตน้ำมันรั่วในอ่าวไทย” โดย ดร.พหลโกสิยะจินดา และดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากกรณีน้ำมันที่รั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีน้ำมันรั่วไหลออกมามากถึง 5,000,000 บาเรล ใช้เวลาในการควบคุมน้ำมันนานกว่า 5 เดือน หรือ 150 วัน ซึ่งมีน้ำมันกระจายอยู่ในพื้นที่กว่า 200,000 กิโลเมตรในอ่าวเม็กซิโก มากกว่ากรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทยถึง 10,000 เท่า ตามที่บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีน้ำมันรั่วไหลออกมาประมาณ 50,000 ลิตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร  เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรใช้กรณีการรั่วไหลของน้ำมันในเม็กซิโกเป็นกรณีศึกษา เพื่อนำมาหาวิธีแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันที่กำลังเกิดขึ้น และควรเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่แย่กว่าในปัจจุบัน

นักวิชาการยันเส้นผมซับน้ำมันไม่ได้

ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อความที่โพสต์กในโซเชียลมีเดียว่า เส้นผมสามารถดูดซับน้ำมันได้นั้น ในความเป็นจริงแล้วเส้นผมสามารถซับน้ำมันได้เพียงส่วนหนึ่ง มีการทดลองใช้เส้นผมคนปกติมีความยาวปานกลาง 1 คน สามารถดูดซับน้ำมันได้ประมาณ 300 ซีซี หากใช้ในกรณีการรั่วไหลของไทยจำเป็นต้องใช้เส้นผมจากคนถึง 150,000 คน หรือถ้าเทียบต้องใช้เส้นผมจากประชาชนในจังหวัดระยองทุก ๆ 1 ใน 5 คน โดยที่การใช้เส้นผมดูดซับน้ำมันให้ได้ผล ต้องเป็นในกรณีที่น้ำมันอยู่ในสภาพ Liquid Waste (ของเสียในสภาพที่เป็นของเหลว) คือทำในกรณีที่น้ำมันลอยเหนือผิวน้ำและทำในห้องทดลองที่สามารถควบคุมได้ แต่ปัจจุบันน้ำมันกลายเป็น Solid Waste (ของเสียที่มีสภาวะเป็นของแข็ง) การใช้เส้นผมดูดซับน้ำมันจึงไม่ได้ผล

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา ดร.พลังพลกล่าวว่า ขั้นต้นสามารถใช้วิธีการทางฟิสิกส์ (Physical Remediation) โดยการตักออก ดูด และซับซึ่งเป็นกระบวนการทางกายภาพ เมื่อไม่สามารถตักออกหรือดูดซับได้แล้วจำเป็นต้องใช้วิธีการทางเคมี (Chemical Remediation) คือ การใช้สารเคมีที่มีลักษณะเป็นสารลดแรงตึงผิว ซึ่งต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากใช้ปริมาณน้อยเกินไปอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่เมื่อใช้ในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบในระยะยาว และสุดท้ายคือการใช้วิธีการทางชีววิทยา (Bioremediation) คือ การใช้จุลชีพ เนื่องจากธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัด จากกรณีของเม็กซิโก ในการสำรวจบริเวณที่ใกล้กับการระเบิด พบสิ่งมีชีวิตที่เรืองแสงขึ้นมาได้ ซึ่งการกระจายของไฮโครคาร์บอนกระตุ้นโปรติโอแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียยุคโบราณ อยู่ตามปล่องภูเขาไปที่ไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตยุดใหม่ โดยที่น้ำมันเกิดจากการทับทมของซากพืชซากสัตว์ แบคทีเรียกลุ่มนี้จึงเข้ามาจัดการกินน้ำมันที่เหลือแต่ต้องใช้เวลา

ระบุสิ่งที่น่าห่วงคือการปนเปื้อนที่มองไม่เห็น

ด้าน ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า   แน่นอนว่า วิธีการกำจัดขั้นต้นที่สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วคือ วิธีการทางฟิสิกส์ แต่เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ จนทำให้น้ำมันเปลี่ยนรูปไป เกิดการแตกตัวสามารถละลายในน้ำได้ กระบวนการที่ทำให้น้ำมันเปลี่ยนรูปไปเป็นก้อนทางเคมี มีคุณสมบัติพิเศษคล้ายเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้สารพิษที่อยู่ในน้ำมันสามารถละลายเข้าไปในร่างกายได้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผิวหนังลอก ระบบสืบพันธุ์ในเพศชายเสื่อมทำให้สเปิร์มไม่แข็งแรง

การปนเปื้อนของน้ำมันในท้องทะเลที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การปนเปื้อนที่มองไม่เห็น ซึ่งก่อนเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในเม็กซิโก มีการรั่วไหลในอลาสก้าเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันไม่พบว่ามีคราบน้ำมันบนชายหาดแล้ว แต่เมื่อมีการขุดทรายลงไป 1 เมตร พบคราบน้ำมันที่ละลายน้ำได้ ในเชิงกายภาพสามารถทำให้สถานที่ท่องเที่ยวกลับมาสวยงามเหมือนเดิมได้ แต่การสะสมสารพิษที่อยู่ในน้ำ ถูกชะไปยังริมชายฝั่งที่เป็นที่อยู่ของสัตววัยอ่อน อาจส่งผลให้ตัวอ่อนได้รับสารพิษและสะสมมากขึ้น

ดร.พลังพลเสนอทางออกว่า การควบคุมสถานการณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ควรมีความโปร่งใสซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรคิดอย่างมีเหตุผล ไตร่ตรองด้วยสติปัญญา เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อให้นักวิชาการสามารถปฏิบัติการตามขั้นตอนการดำเนินการทางวิทยาศาสตร์ สามารถจำลองสภาวะและสถานการณ์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

ขณะที่ ดร.พหล กล่าวในช่วงท้ายว่า ควรให้ธรรมชาติดูแลตัวเอง แต่ไม่ใช่ปล่อยไปตามมีตามเกิด เนื่องจากกลไกตามธรรมชาติอาจใช้เวลานาน แต่เมื่อทราบว่ามีแบคทีเรียที่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จึงควรที่จะนำแบคทีเรียดังกล่าวลงไปจัดการกับปัญหา ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ตาเห็น แต่สิ่งอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นยังมีอีกมาก

 

ขอบคุณภาพชุดและภาพประกอบข่าวจาก ปองพล สารสมัคร หนังสือพิมพ์ The Nation

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: