ชำแหละงบ184ล้านเวทีประชาพิจารณ์น้ำ กบอ.ทำประชาสัมพันธ์หวังให้พ้นศาลสั่ง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 1 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1525 ครั้ง

กระแสการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 21 เขื่อนใน โมดูล A1 ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยังคงได้รับความสนใจจากสังคม มีการออกมาตอบโต้กันระหว่างฝ่ายคัดค้าน นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ และ ฝ่ายสนับสนุนที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำ ที่ต่างมีข้อมูลออกมานำเสนอกันอย่างเผ็ดร้อน จนเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านแล้ว การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นเพียงหนึ่งในเขื่อนเล็กน้อยอีกจำนวนมาก ที่ถูกนำมารวมไว้ในแผนการสร้างเขื่อนเก็บกับน้ำทั้งหมดในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ที่ กบอ.ระบุว่า หากสร้างเขื่อนเหล่านี้ขึ้นมาเก็บกักน้ำแล้ว จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยของประเทศไปได้ ดังนั้นในอีกหลายพื้นที่ที่มีแผนงานเขื่อนบรรจุอยู่ในแผน จึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบ หากมีการสร้างเขื่อนทั้งหมดขึ้นตามแผนจริง สิ่งที่ฝ่ายคัดค้านเรียกร้องขณะนี้นอกจากการยุติการสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว คือการพิจารณาถึงขึ้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ก่อนหน้านี้ในแผนของรัฐบาลไม่ได้ระบุไว้ กระทั่งถูกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จนศาลปกครงมีคำสั่งให้ กบอ.ต้องดำเนินการตามขั้นตอน อันประกอบไปด้วย การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก่อนการดำเนินการก่อสร้างในเกือบทุกพื้นที่ ที่ถูกบรรจุไว้ในโครงการดังกล่าว

ตั้งคำถาม เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการน้ำฯ หรือ โฆษณาชวนเชื่อ

แต่ปัญหาไม่ได้จบอยู่เพียงแค่นั้น เพราะแม้กบอ.จะเตรียมการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการโดยมีแผนจะเริ่มในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 นี้ ก็กลับถูกตั้งคำถามต่อมาอีกว่า การทำประชาพิจารณ์ของกบอ.ตามคำสั่งศาลปกครอง ในพื้นที่ต่างๆ นั้น เป็นการดำเนินการอย่างจริงใจหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงการจัดการ เพื่อให้ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายเท่านั้น โดยฝ่ายคัดค้านได้ตั้งข้อสังเกตหลาย ๆ ประการ ต่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่มีงบประมาณตั้งไว้สูงถึง 184,643,920 บาท ภายใต้ 4 แผนงานหลักคือ

1.แผนงานการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล มีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบ

2.แผนงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน มี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

3.แผนงานการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

4.แผนงานอำนวยการติดตาม ประสานงานและประเมินผล มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวในเวที “ผ่าแผนกบอ.เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ “ประชาสัมพันธ์ หรือประชาพิจารณ์?“ จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เรื่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ที่กบอ.มีแผนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น หากพิจารณาลงลึกในรายละเอียด ตามโปรแกรมที่ถูกเผยแพร่ออกไป มีข้อสงสัยว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักการของการรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงหรือไม่ ทั้งในเรื่องของเนื้อหา หรือรูปแบบการจัดเวที เพราะในกำหนดการที่แจ้งออกมา ระบุว่า ในแต่ละเวทีที่กำหนดจำนวนคนเข้ารับฟังความคิดเห็นประมาณ 800-1,000 คน แต่เวลาในการรับฟัง พูดคุย มีอยู่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเชื่อแน่ว่า จะไม่สามารถให้เกิดการรับฟังอย่างรอบด้านอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่า ข้อมูลที่ถูกนำไปชี้แจงถึงผลดีผลเสียกับประชาชนในพื้นที่ จะไม่สามารถทำให้ครบสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็นอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันประชาชนเองก็คงจะไม่มีโอกาสได้พูดคุยซักถามในสิ่งที่สงสัย เพราะลำพังการชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ ก็แทบจะไม่พอแล้ว

ชี้ปรับเปลี่ยนแผนแก้เกมกันคนค้าน

นายหาญณรงค์ ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงแผนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่าง ๆ มาแล้วหลายครั้ง เพื่อลดการตอบสนองในเชิงลบ เช่น มีกำหนดการเบื้องต้นว่า จะมีการจัดเวทีครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 แต่เมื่อพบว่ามีกระแสต่อต้านใน จ.เชียงใหม่ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการจัดเวทีที่ จ.ลำพูน เพื่อหยั่งกระแสในพื้นที่ ก่อนที่จะไปเปิดเวทีอีกครั้งที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2556 แทน และในรายละเอียดก็ไม่พบว่า มีการนำแผนแม่บทไปแสดงให้ชาวบ้านดู แต่เป็นการนำแผ่นพับโครงการแต่ละโมดูลไปให้ดู จึงน่าสนใจว่าดำเนินการไปตามคำสั่งศาลปกครองหรือไม่

            “ตอนนี้เราไม่รู้ว่ารายชื่อที่ถูกกำหนดไว้ในแผนเวทีรับฟังความคิดเห็นมาจากไหน ทราบว่าเป็นการแจ้งไปตามระบบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ที่มีอยู่ 800-1000 คน ถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจริงหรือไม่ ขณะที่หากลองเอาเงินงบประมาณที่ใช้จัดเวทีมาคำนวนแล้ว จะพบว่าคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 4,600 บาท แพงไปหรือเปล่า” นายหาญณรงค์ระบุ

สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนเดินหน้าฟ้องต่อ 5 คดี

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้นำในการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จนทำให้กบอ. ต้องดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)นั้น ยังไม่มีแผนแม่บทชัดเจน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการบริหารจัดการน้ำ คือคนใน 65 จังหวัด เพราะเป็นตัวเลขพื้นที่ถูกน้ำท่วมปี 2554 ที่กระทรวงมหาดไทยรายงานต่อคณะรัฐมนตรี แต่กบอ.กลับจัดเวทีเพียง 36 จังหวัด จึงไม่ครอบคลุม ถ้ารัฐบาลจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ต้องนำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำไปรับฟังอย่างทั่วถึงทั้ง 65จังหวัด และรับฟังความเห็นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์ว่าจะทำโครงการนี้ และทำเพื่อให้ผ่าน ๆ ไปเท่านั้น เมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้ว จึงมากำหนดเป็นโครงการแต่ละโมดูล ไม่ใช่เอาโครงการ 9 หรือ 10 โมดูล ออกไปรับฟังความเห็นเหมือนอย่างที่รัฐบาลกำลังจะทำ ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไร และถ้าหากกบอ.ยังดึงดันที่จะเดินหน้าจัดเวทีตามแผน สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนก็เตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพิ่มเติม รวม 5 ประเด็นคือ 

1.ฟ้องอธิการบดีและมหาวิทยาลัยที่รับเป็นตราประทับให้โครงการ โดยขัดหลักวิชาการและกฎหมาย

2.ฟ้องเพิกถอนแม่น้ำสายใหม่ขาณุวรลักษณ์-ท่าม่วง

3.ฟ้องเพิกถอนโครงการสอดไส้หลายร้อยโครงการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท

4.ฟ้องความเป็นโมฆะของสัญญากู้เงินของกระทรวงการคลัง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามหลักนิติกรรมสัญญา และ

5.ฟ้องเพิกถอนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนทั้ง 36 จังหวัด ของ กบอ.

‘ปราโมทย์’โต้‘ปลอดประสพ’ประเด็น เขื่อนในโครงการพระราชดำริ

ขณะที่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจะสร้างเขื่อนที่ไหน ต้องศึกษาเป็นประเด็นหลักใน 2 ขั้ว คือ งานวิศวกรรมและผลกระทบที่จะพึงมี วันนี้ยังไม่มีแผนแม่บท มีเพียงกรอบแนวคิดและแผนที่อยากจะทำ เพราะแผนแม่บทต้องผ่านการกลั่นกรองทุกอย่างมาพร้อมแล้ว ไม่ใช่แค่แผนที่อยากจะทำเท่านั้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญการสร้างเขื่อน ต้องผ่านระบบการทำงานของสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ใช่ผ่านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่บอกเป็นเขื่อนในโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วทำได้เลย

            “ในหลวงไม่เคยมีรับสั่งให้ทำเขื่อน แต่ทุกอย่างต้องผ่านระบบของ สผ.ก่อน ซึ่งเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็ไม่ใช่เขื่อนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ผมออกจากการเป็นอธิบดีกรมชลประทานเมื่อปี 2542 ก็ยังไม่เคยได้ยินว่า เขื่อนใดจะเป็นเขื่อนในโครงการพระราชดำริอีก ดังนั้นการพูดเรื่องนี้จึงต้องระมัดระวัง” นายปราโมทย์กล่าว พร้อมระบุว่า

            “เรื่องการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น มีคิดกันมานานแล้ว ใครที่เป็นอธิบดีกรมชลประทาน ต้องผ่านมาทุกคน แต่ทำไมถึงทำไม่ได้ ก็เพราะศึกษาผลกระทบไม่ผ่านระบบของ สผ. เมื่อไม่ผ่านก็ต้องหยุด เพราะการสร้างเขื่อนไม่ใช่คิดว่าจะทำแล้วก็ทำ จะต้องศึกษาโครงสร้างทางวิศวกรรม ศึกษาพื้นที่ ความคุ้มไม่คุ้ม ซึ่งหมายรวมถึงธรรมชาติต่าง ๆ ด้วย สิ่งนี้ต้องคิดเป็นต้นทุนไปทั้งนั้น ถ้าไม่คุ้ม ก็ต้องหยุด กลับไปศึกษาใหม่ ดังนั้นถ้าจะมาคิดแบบนายปลอดประสพ อยากทำก็ทำเลย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักอยู่แล้ว

            “ตอนที่ผมทำเขื่อนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล จะต้องมีการศึกษาไปด้วย ศึกษาไป ลงพื้นที่ไปพบกับชาวบ้านในระหว่างการศึกษา ไปบอกเขาว่าเราจะทำอะไร กระทบอะไรตรงไหนบ้าง และไม่เคยไปบอกว่า เขื่อนนี้เป็นเขื่อนพระราชดำริ  ไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่ต้องทำการศึกษารอบคอบจนผ่านสผ. ก็ทำไปตามระบบเหมือนกันหมดทุกเขื่อน ไม่มีการละเว้น ถ้าอันไหนทำไม่ได้ก็จบ ก็แค่นั้น”  นายปราโมทย์กล่าว

นักวิชาการเชื่อผลาญงบฯทำประชาสัมพันธ์ไม่ได้เนื้อหาจริง

ทั้งนี้ประเด็นของการทำประชาพิจารณ์ จึงเป็นเรื่องที่จะยังต้องจับตามองต่อไป โดยในส่วนของกลุ่มคัดค้าน เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยระบุว่า การเริ่มต้นดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มการจัดเวทีนิทรรศการ ด้านการบริหารจัดการน้ำในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ ล้วนเป็นไปในลักษณะของการประชาสัมพันธ์ที่ใช้งบประมาณของประเทศไปในจำนวนมาก ซึ่งการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเพียงการให้ข้อมูลด้านเดียว ของผู้ที่ประสงค์จะทำตามแนวทางที่ตั้งเป้าไว้แล้ว โดยไม่ได้นำความเห็นหลากหลายของนักวิชาการที่ท้วงติง มาประกอบการพิจารณาดำเนินการแต่อย่างใด ทั้งคณะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ ด้านกฎหมาย ประชาชนและสื่อมวลชน จึงมีความห่วงใยว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นเวทีที่ไม่ครบองค์ประกอบ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งอาจไม่ถูกต้องตามคำสั่งศาลปกครองอย่างแท้จริง

            “ตอนนี้หากมีการจัดเวทีขึ้น ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง เครือข่ายคัดค้านก็คงจะเดินหน้าทั้งในเรื่องของการยื่นร้องไปที่ศาลปกครองอีกครั้ง ตามกฎหมายที่ทำได้ และคงจะหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะเห็นแล้วว่า เวทีการประชาพิจารณ์นี้ไม่ได้แสดงความจริงใจแต่เป็นเพียงการเดินหน้าประชาความสัมพันธ์โครงการเท่านั้น เพราะคนจะไม่รู้เลยว่าจะมีข้อดีขอ้เสียอย่างไรในการดำเนินการโครงการต่างๆ ของ กบอ.ที่ต้องใช้เงินสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทนี้” นายหาญณรงค์กล่าวในตอนท้าย

 

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวบางส่วนจาก Google และประชาไท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: