ผ่านพรบ.นิรโทษวาระ3 มติ310ต่อ0งดออกเสียง4

1 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2030 ครั้ง

เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเริ่มพิจารณามาตรา 3 ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ทำการแก้ไข มีเนื้อหาระบุว่า

          “มาตรา 3 การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงทันที โดยมีการตะโกนว่า “สภาทาส” โดยนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี ประท้วง โดยระบุว่า เร่งรีบอภิปรายผิดปกติ รับคำสั่งมาจากใคร

ด้านนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การะประชุมใช้เวลามานานแล้ว ตั้งแต่ 09.30 น.ถึง 03.00 น. ไม่เคยมีมาก่อน ประธานก็อ่อนล้า สมาชิกก็ล้าแล้ว ซึ่งอำนาจการสั่งพักประชุมเป็นของประธาน ไม่ต้องรอให้วิปหารือแต่อย่างใด

ขณะที่นายเจริญไม่ได้ตอบโต้อะไร โดยมีส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้ประชุมต่อทันทีถึงแม้ส.ส.แต่ละคนจะมีสีหน้าที่อิดโรยก็ตาม แต่ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้มีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด  โดยนายเจริญได้ขอพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.04 น.

กระทั่งเวลา 03.20 น. ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ชี้แจงว่า คงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามฝั่งหนึ่งก็จะต้องโดนอีกฝั่งหนึ่งว่า ดังนั้นต้องเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัย และขอวินิจฉัยให้ประชุมต่อ พร้อมทั้งให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย แต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสิบคน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง เป็นต้น ได้ลุกฮือประท้วง กรูไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้านายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดัง เพื่อกลบเสียงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตามเมื่อ นายชาดา อภิปรายเสร็จกลุ่มส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็ได้เริ่มร้องขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์จึงกล่าวขอพักประชุม เพื่อขอหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอม จะให้สั่งเลื่อนการประชุม นายสมศักดิ์ จึงให้ดำเนินการประชุมต่อ

หลังจากที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติ ปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ประธานสภา ของส.ส.ประชาธิปัตย์ ว่า “ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล” “ข้ามศพมันให้หมดเลย” “สุดซอย” โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง

จากนั้นจึงให้เข้าสู่การอภิปรายต่อในมาตรา 4 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ขึ้นอภิปราย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตระโกนว่า “ขี้ข้า” ทำให้ นายจิรายุ พูดขึ้นว่า “ปชป.ใช้มุกเดิมอีกแล้ว ตะโกนในโรงหนัง”

ส่วน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า เข้าใจถึงสาเหตุของการออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่าไม่พอใจที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการแก้ไขเพราะ ตนได้สูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ว่าไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ เอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย

             “ดิฉันขอใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเหยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ แต่ก็อยากให้กรรมาธิการทบทวน เพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ที่ประชุมไม่มีผู้อภิปรายต่อ ทำให้ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติปิดอภิปราย โดยที่มติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย

กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมาด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง

ต่อด้วยการอภิปรายในมาตรา 5 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 311 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ส่วนมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 314 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง

ต่อด้วยมาตรา 7 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน  315 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยนายสมศักดิ์จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 04.25 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในการพิจารณา 5 มาตรารวด รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง จากนี้ ร่างพ.ร. บ.ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป

 

ขอบคุณข่าวจากโพสต์ทูเดย์

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: