ทีดีอาร์ไอชำแหละกม.ทรัพย์สินฯ ระบุยังบิดเบี้ยว-จนท.รัฐไม่เข้าใจ ชี้ไทยยอมตามแรงบีบต่างประเทศ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 2 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2373 ครั้ง

 

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างน่าสนใจ เมื่อกระแสการเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งเอฟทีเอไทย-อียู และทีพีพี โหมหนักขึ้นก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและอียู ต่างกดดันให้ประเทศคู่เจรจาต้องปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มข้น และเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า ประเทศตะวันตกทั้งสอง ครอบครองผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา มากกว่าใครในโลก และในสภาวะที่อียูและสหรัฐฯ ยังจมปลักในวังวนวิกฤตเศรษฐกิจ หากสามารถทำให้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเอื้อประโยชน์ให้ตนได้แล้ว ย่อมหมายถึงการเก็บกินบุญเก่าต่อไปอีกยาวนาน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย ต้องแบกรับผลกระทบ ทว่ากลับมีงานศึกษาผลกระทบจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพียงน้อยนิด

 

รากฐานความคิดของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์วางอยู่บนทฤษฎีการผูกขาด (Theory of Monopoly) ที่เชื่อว่าการให้สิทธิผูกขาดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น และเปิดเผยการประดิษฐ์ต่อสาธารณะ ในโลกความเป็นจริง บ่อยครั้งแนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา กลายเป็นคมมีดที่หันเข้าทิ่มแทงสังคม ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายถึงงานศึกษาในต่างประเทศหลายชิ้นว่า

 

 

 

              “ระบบสิทธิบัตรช่วงหลังถูกศึกษาในประเทศพัฒนาแล้วว่า เป็นระบบที่เต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งขัดกับทฤษฎีที่เคยเชื่อว่าการผูกขาด ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ มีสิทธิบัตรจำนวนมากที่ไม่ควรได้ แต่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น การทำพีนัตบัตเตอร์ แซนด์วิช ซึ่งเป็นการทำแซนด์วิชธรรมดา แต่ได้สิทธิบัตร หรือวิธีการออกกำลังกายให้แมว วิธีการโยกชิงช้าให้สูง แสดงให้เห็นว่ากระบวนการจดสิทธิบัตร แม้แต่ในประเทศสหรัฐฯ ก็มีปัญหาอยู่เยอะมาก”

 

 

ยังมีกรณียารักษาโรคหลายชนิดหรือ ‘ข้าวทองคำ’ ซึ่งช่วยรักษาโรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ ที่เกือบไม่ได้ผลิตออกมาเนื่องจากติดปัญหาสิทธิบัตร รวมถึงการใช้สิทธิบัตรข่มขู่คู่แข่งโดยไม่เป็นธรรม ที่เกิดอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาพบอีกว่า การลอกเลียน (Copying) ไม่มีผลในการลดความคิดสร้างสรรค์ ในบางสถานการณ์ กลับยิ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วยซ้ำ

 

ถึงกระนั้น ความเชื่อในทฤษฎีการผูกขาดและการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดก็ดูจะเป็นสิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยึดถือไว้แน่นหนามาโดยตลอด และหลายครั้งตอบไม่ได้ว่าเพื่ออะไร ซึ่งดร.สมเกียรติเห็นว่า กรมทรัพย์สินฯ ควรต้องสร้างขีดความสามารถด้านวิชาการ เปิดรับข้อมูลและแนวคิดจากแหล่งต่าง ๆ ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่

 

 

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทำอัยการฟ้องแทนบรรษัทข้ามชาติ

 

 

ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติเปิดตัวงานวิจัย ‘นิติเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา’ โดยใช้เครื่องมือทรงพลังอย่างเศรษฐศาสตร์ชำแหละระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทำให้ค้นพบความบิดเบี้ยวบางประการ เพราะในมุมเศรษฐศาสตร์ ถ้าสังคมมีระบบกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็น หรือเกิดการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ดร.สมเกียรติฉายภาพเบื้องต้นของระบบยุติธรรมของไทย จากมุมมองนิติเศรษฐศาสตร์ว่า ระบบยุติธรรมของไทยใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลัก ในการระงับข้อพิพาท กำหนดโทษปรับต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมมาก และมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก เมื่อนำกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและคดีที่ขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาวิเคราะห์ก็พบว่า ในคดีลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามักเลือกดำเนินคดีอาญาเป็นทางเลือกแรก โดยแจ้งความต่อตำรวจแล้วส่งให้อัยการฟ้อง ซึ่งคดีส่วนใหญ่พบว่า อัยการเป็นโจทก์ฟ้องร้องให้แก่บริษัทข้ามชาติ และบริษัทเหล่านั้นจะขอเป็นโจทก์ร่วม เนื่องจากสามารถใช้โทษทางอาญาข่มขู่จำเลย และในคดีลิขสิทธิ์การฟ้องอาญา ยังอาจทำให้ได้ค่าปรับกึ่งหนึ่ง โดยไม่ตัดสิทธิฟ้องแพ่งอีกด้วย

 

ขณะที่คดีเกี่ยวกับสิทธิบัตร เจ้าของสิทธิบัตรจะฟ้องแพ่งและจ้างทนายด้วยตนเองเป็นหลัก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความรู้ด้านสิทธิบัตร ประกอบกับคดีสิทธิบัตรมีความซับซ้อน และศาลมักตัดสินคดีค่อนข้างเข้มงวด

 

จุดที่น่าขบคิดก็คือ คดีทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชน ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญากับผู้ถูกกล่าวหา และระหว่างเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญากับผู้เสียภาษี เพราะการที่อัยการเป็นโจทก์ให้แก่บริษัทข้ามชาติ นั่นหมายความว่า รัฐกำลังใช้ทรัพยากรสาธารณะไปกับการระงับข้อพิพาทของเอกชน ตลอดจนทำให้เกิดการข่มขู่รีดไถ คำถามอยู่ที่ว่าระบบเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กลุ่มผลประโยชน์นอกประเทศบีบไทยยอมตาม

 

 

หากตอบในมิติของเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้ที่ทำให้เกิดระบบเช่นที่เป็นอยู่ก็คือ กลุ่มผลประโยชน์ 8 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มนอกประเทศคือสหรัฐฯ, WIPO (World Intellectual Property), องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาผ่านข้อตกลงทริปส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลขั้นต่ำที่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาให้การยอมรับ, ข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่าง ๆ หรือ เอฟทีเอ (Free Trade Agreement: FTA) เป็นข้อตกลงที่ประเทศพัฒนาแล้วมักกดดันให้คู่เจรจาที่เป็นประเทศกำลังพัฒนายอมรับมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงกว่าทริปส์ หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส (Trips+) และเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศในไทย

 

กลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่ม คือกลุ่มในประเทศ ประกอบด้วย เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาไทย, ผู้บริโภคและภาคประชาสังคม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีศาลทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท

 

กลุ่มผลประโยชน์นอกประเทศมีอิทธิพลค่อนข้างสูง ในการกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศ ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างจากการศึกษาเอฟทีเอสิงคโปร์-สหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนสารบัญญัติ พบว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์มีจำนวนคำมากกว่าข้อตกลงทริปส์ถึงสองเท่า ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิบัตรมีจำนวนคำน้อยกว่าข้อตกลงทริปส์เพียงเล็กน้อย

 

 

                 “ทำไมจึงมีการผลักดันให้คุ้มครองลิขสิทธิ์ มากกว่าเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร คำอธิบายคือสิทธิบัตรเป็นการคุ้มครองที่ไม่จำกัดอุตสาหกรรม งานโดยทั่วไปที่มีสิทธิบัตรอยู่ในทุกอุตสาหกรรมและเป็นงานต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ จากสิ่งที่มีอยู่ก่อน จึงไม่มีใครได้ประโยชน์จากสิทธิบัตรแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ การผลักดันให้สิทธิบัตรมีความเข้มงวดมากเกินไป จะมีผลให้ต่อยอดงานของคนอื่นยากขึ้นด้วย แรงผลักดันของกลุ่มผลประโยชน์ในด้านสิทธิบัตร จึงหักล้างกันไปโดยอัตโนมัติส่วนหนึ่ง ส่วนกรณีลิขสิทธิ์ กลุ่มผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเพลง ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์ จึงสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างมีพลังและกดดันผ่านการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ผลักดันให้มีเนื้อหาด้านลิขสิทธิ์มีมากกว่าด้านอื่น ๆ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเนื้อหาเอฟทีเอว่าด้วยสิทธิบัตรของสหรัฐฯ พบว่า จะอยู่ใน 2 อุตสาหกรรมหลักคืออุตสาหกรรมยาและเคมีเกษตร ดร.สมเกียรติอธิบายว่า เป็นเพราะผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถผลักดันให้มีบทบัญญัติด้านสิทธิบัตรออกมาอย่างชัดเจน

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในประเทศไทยยังมีสมาคมต่าง ๆ ที่คอยดูแลผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศในไทย เช่น สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มักใช้ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย เช่น บริษัทสำนักกฎหมาย ดำเนิน สมเกียรติ และบุญมา จำกัด บริษัท ติลลิกี แอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท เราส์ แอนด์ โค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

 

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า โดยปกติแล้ว นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรต่างประเทศ ถือเป็นนักกฎหมายที่มีรายได้สูงที่สุดอาชีพหนึ่ง และเมื่อกลุ่มเหล่านี้ผนึกกำลังกัน ทำให้มีอิทธิพลสูงต่อการกำหนดทิศทาง และระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย

 

 

 

กรมทรัพย์สินฯยอมโดนบีบให้แก้กฎหมาย

 

 

แต่เมื่อย้อนดูกลุ่มภายในประเทศ คือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาไทยและผู้บริโภค และภาคประชาสังคม กลับไม่มีความเข้มแข็งเทียบเท่ากับกลุ่มนอกประเทศ เป็นเพราะยังไม่เกิดการรวมตัว หรือการจัดตั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้บริโภคและภาคประชาสังคมไทยเอง ก็ยังมีความสนใจประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างน้อย จะเว้นก็แต่ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและการเกษตรเท่านั้น

 

ผิดกับบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการปราบปรามการละเมิด ถึงขนาดเคยได้รับรางวัลจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ หากสำรวจแนวคิดของกรมทรัพย์สินฯ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อกรมทรัพย์สินฯ มีเป้าหมายคือ ‘การสร้างความเป็นเลิศในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา’ โดยวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า ยิ่งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้มแข็ง จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา

 

ผลที่ตามมาจากทัศนคติเช่นนี้ ทำให้กรมทรัพย์สินฯ มักจะสนับสนุนการยกระดับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ทัดเทียมสากล และอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากต่างประเทศ ในการเพิ่มระดับการคุ้มครอง แต่กลับยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเข้าใจทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้อง และไม่สามารถสร้างและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาได้เท่าที่ควร บ่อยครั้งยังแสดงบทบาทการผลักดันกฎหมายล้ำหน้าภาคเอกชน เช่น การแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าให้คุ้มครองกลิ่นและเสียง ทั้งที่ภาคเอกชนยังไม่เห็นประโยชน์อย่างชัดเจน

 

 

           “หลายครั้งกรมทรัพย์สินฯ ตอบไม่ได้ว่า ต้องการยกระดับกฎหมายให้ทัดเทียมสากลเพื่ออะไร และได้อะไร จนบางครั้ง มันกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง” ดร.สมเกียรติกล่าว

 

 

นี่อาจเป็นเพราะกรมทรัพย์สินฯ ได้รับข้อมูลส่วนใหญ่จากประเทศพัฒนาแล้ว และองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ขาดกระบวนการศึกษาทางวิชาการอย่างรอบด้าน ถึงผลกระทบด้านลบของทรัพย์สินทางปัญญา และขาดความร่วมมือและเปิดรับข้อมูลอย่างเพียงพอจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ตั้งคำถามต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด

 

ในส่วนของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า มีกระบวนการพิจารณาคดีที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับว่า มีความเที่ยงธรรม แต่ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องพิจารณาคือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญามักขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญารายใหญ่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ

 

 

 

 

ลดโทษอาญา-ใช้กระบวนการทางแพ่ง เพิ่มประสิทธิภาพกฎหมาย

 

 

ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้โดยภาพรวมจะมีความสอดคล้องกับทริปส์ แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่เอื้อต่อการสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจากการกำหนดโทษที่สูงกว่าทริปส์ โดยเฉพาะการกำหนดโทษอาญาในคดีละเมิดสิทธิบัตรพันธุ์พืช และแบบผังภูมิวงจรรวม ทั้งที่ในทริปส์ไม่ได้กำหนดโทษอาญาไว้

 

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ยังสร้างความไม่สมดุลในอัตราผลตอบแทน เพราะเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูงเกินปกติและกระจุกตัว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ได้ผลตอบแทนในอัตราปกติ ส่วนผู้บริโภคได้ผลประโยชน์จากการเลิกผูกขาดแบบกระจายตัว ซึ่งทำให้ไม่มีแรงผลักดันในการปกป้องผลประโยชน์ เท่ากับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า การรวมตัวของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาไทยยังค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้ไม่มีพลังทัดทานเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ

 

ดร.สมเกียรติเสนอว่า หากต้องการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ให้มีประสิทธิภาพก็ควรต้องลดบทลงโทษทางอาญาลง ให้เหลือเท่าที่จำเป็นตามมาตรฐานทริปส์ ขณะเดียวกันต้องสร้างทางเลือกให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ยังคงประสิทธิผล ซึ่งก็คือการใช้กระบวนการทางแพ่งเป็นหลัก และยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรสาธารณะไปกับการระงับข้อพิพาทของเอกชน

 

ด้านหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการทางนโยบาย และการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เกิดความโปร่งใส สมดุล และสร้างความไว้วางใจต่อสาธารณะ เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ควรแต่งตั้งจากกลุ่มต่าง ๆ ให้มีความสมดุล ทั้งจากผู้แทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ผู้บริโภค และนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้เสีย หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ไม่ควรรับการสนับสนุนจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: