3จว.ใต้สะท้อน-สื่อไม่เป็นกลาง สลดภาพในโซเชียลมีเดียใส่ร้าย ไม่บอกความจริง-เสนอด้วยอคติ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 2 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5647 ครั้ง

 

จากกรณีที่มีการลงนามเจรจาสันติภาพ ระหว่างพล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ต่อสถานการณ์ทางภาคใต้ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม Media Inside Out (MIO) จัดเสวนา “โจรใต้ กบฎแบ่งแยกดินแดน นักรบญีฮาด ในสายตาสื่อไทย” โดยเชิญผู้สื่อข่าวที่เกาะติดสถานการณ์ใต้มาร่วมพูดคุย ในประเด็นเบื้องหลังการรายงานข่าวที่น่าสนใจในกรณีนี้ ประกอบด้วย ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา บรรณาธิการหนังสือเล่ม "ถอดรหัสไฟใต้" , วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้เขียนหนังสือชุด ลับ ลวง พราง, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผู้เขียนหนังสือ "ไฟใต้ใครจุด" และ "สันติภาพในเปลวเพลิง", เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิจัยและนักเขียน เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งปาตานี ฟอรั่ม (Patani Forum) และผู้เขียนบทความ "มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK"  โดยมี พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทร่วมพูดคุย

 

 

วาสนาเผยทหารดีใจชัยชนะครั้งแรกในรอบ 9 ปี

 

การเสวนาเปิดประเด็นด้วยเหตุการณ์ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ทหารนาวิกโยธิน ปะทะกับกลุ่มผู้ก่อการ ทำให้ผู้ก่อการเสียชีวิต 16 ศพ ในสถานการณ์การทำงานข่าวของนักข่าวแต่ละคน ซึ่งวาสนา นาน่วม เป็นผู้เปิดประเด็นเป็นคนแรกว่า ประมาณตีสาม ขึ้นตีสี่ได้รับไลน์ จากน้องที่เป็นนาวิกโยธินที่ภาคใต้ บอกว่า “พี่ครับ เราได้สิบหกศพ ผมดีใจนอนไม่หลับ”

 

เบื้องต้นเป็นมุมมองทหารที่ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทหารปฏิบัติการได้สำเร็จ ที่ผ่านมาทหารเป็นฝ่ายที่โดนลอบทำร้าย เป็นเป้าโจมตี สูญเสียมาตลอด แตกต่างจากวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 กรณีตากใบหรือกรือเซะ ที่เป็นทั้งการปฏิบัติการในพื้นที่ ปะทะกันจนเกิดการสูญเสีย ครั้งนั้นเป็นการนำคนที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ จากช่วงรอมฎอนไปอัดยัดจนเสียชีวิต ซึ่งครั้งนี้จะเห็นว่าเขาแต่งทหารมาเลย เพียงไม่ใส่รองเท้าบูท ชาวบ้านทั่วไปสังเกตไม่รู้ จากการที่ฟังจากทหารมองว่า การแต่งเครื่องแบบทหารมีจุดประสงค์ เพื่อ หนึ่งการทำงานง่ายขึ้น สองคือปลุกความฮึกเหิม และสำหรับมะโรโซ เป็นคนที่มีลักษณะของความเป็นผู้นำ และก่อนหน้านี้ก็มีการก่อเหตุมาแล้วจำนวนมาก ถือว่าเป็นผู้นำในพื้นที่นี้ และการแต่งกายทหารถือเป็นการสร้างยูนิตี้ ตั้งเป็นกองกำลังส่วนตัวมา ในมุมของทหารมองว่าเป็นการสะดวกในการปฏิบัติการ เพราะฝั่งตรงข้ามก็แต่งกายทหารมาเช่นกัน

 

            “ฟังจากทหาร พวกเขารู้สึกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทหารชนะ เพราะที่ผ่านมาทหารไม่เคยได้อะไรเลย ซึ่งการได้ 16 ศพครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก จากข้อมูลแล้วทหารทราบมาแล้วว่า จะมีการดำเนินการเช่นนี้ แต่การปล่อยให้กลุ่มผู้ก่อเหตุเข้ามาอย่างใจเย็น เป็นยุทธวิธีในการลวง  และนอนรอมาหลายวัน กระทั่งจากการประเมินมั่นใจว่า มะรอโซ จะดำเนินการแน่ในคืนวันที่ 13 ก.พ.ก่อนวันวาเลนไทน์” วานากล่าว

 

 

นิ่งลวงเข้าพื้นที่ สร้างความชอบธรรมใช้ความรุนแรง

 

 

วาสนากล่าวต่อว่า  ในช่วงแรกมีกลุ่มคนแปลกคนเข้ามาดูพื้นที่จริง ซึ่งหากทหารไม่รู้แผนมาก่อน ย่อมเกิดการปะทะตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่เมื่อรู้แผนอยู่แล้ว จึงปล่อยให้กลุ่มคนนี้หมอบคลานเข้ามาเพื่อเป็นการลวง ทำเป็นว่าไม่รู้ตัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นเจตนา อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในเมื่อทหารรู้แล้ว ตอนนั้นทำไมไม่จับเป็น  ต้องบอกว่าในสถานการณ์นั้นการจับเป็นทำได้ยากมาก แต่เป็นความจงใจ และถือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ทหารใช้ความรุนแรง ทหารจึงมองว่าครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะ และรู้สึกชื่นชมมาก เพราะ 9 ปีแล้วทหารไม่เคยได้อะไรในลักษณะนี้มาก่อนเลย ในขณะเดียวกัน ทหารบก อาจจะรู้สึกเสียหน้าบ้างว่าทำไมไม่มาบุกฐานของตัวเอง  ซึ่งนาวิกโยธินได้เตรียมหน่วยซีล มาเตรียมล็อคไว้แล้ว

 

 

 

          “ส่วนตัวพี่ถือว่าเป็นการต่อสู้แบบแมน ๆ คือมาสู้กันเลย โดยไม่ต้องไปทำกับกลุ่มชาวบ้าน ผู้หญิง แต่นั่นคือเขากดดัน ต้องไปทำกับกลุ่มซอฟทาร์เก็ต หรือกลุ่มที่อ่อนแอกว่า แต่อันนี้เขามาเลยมาสู้ ที่สำคัญคือใจที่ไม่ธรรมดา ที่แต่สิ่งที่พลาดคือ ย่ามใจ มองว่าทหารหมู เพราะทหารโดนมาหลายครั้ง ไม่รู้ว่าในฐานนั้นมีหน่วยซีล นักล่าสังหารอยู่ข้างใน” วาสนาเล่าเบื้องหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์

 

 

 

เชื่อมะโรโซถอยไม่ได้เพื่อศักดิ์ศรี

 

 

ส่วนที่มองว่าในมุมมองของทหารปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากคำว่าย่ามใจ วาสนาแสดงความเห็นว่า ทหารมองไปที่ตัวของนายมะรอโซ จันทราวดี ที่ผ่านมาเป็นแกนนำในบาเจาะ  โยงกับจากการที่มีการไปเซ็นสัญญาที่มาเลเซีย มองกว่า บีอาร์เอ็นเหนือไม่ได้มีอำนาจที่จะคุมได้หมด เพราะเท่าที่ศึกษา พูดคุย ในระดับหัวของแกนนำก็คุมไม่ได้ อย่างนายมะรอโซที่เป็นแกนนำระดับกลาง ก่อเหตุมาหลายครั้ง มีค่าหัว การก่อเหตุหลายครั้ง เพื่อสร้างศักยภาพในการขึ้นเป็นผู้นำ จากการที่คุยกับชาวบ้านทางโทรศัพท์ทราบว่า ความจริงแล้ว มะโรโซก็รู้ว่าทหารรู้ตัวและเขารู้ว่าข่าวรั่ว แต่เขาไม่รู้ว่าทหารรู้ว่าจะมีการบุคค่ายนี้ ดังนั้นเมื่อเขาเป็นผู้นำ มีความเป็นผู้นำสูง เมื่อวางแผนแล้วก็จะเอาให้ได้ ถ้าถอยจะแสดงว่าลูกพี่ไม่แน่จริง และที่ผ่านมาก็ทำสำเร็จมาตลอด นั่นหมายถึงว่า เป็นความชะล่าใจ และประมาทเกินไป

 

 

อาจารย์มอ.กังขาสื่อทำแต่ข่าวฝ่ายทหาร

 

 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงความคิดเห็นในมุมมองผู้ที่อยู่ในพื้นที่ว่า กรณีที่บาเจาะ ถ้าใครติดตามข้อมูลในพื้นที่ จะทราบว่าเขตนั้นเป็นเขตที่นายมะรอโซ เป็นผู้คุมพื้นที่ และทหารก็คิดแบบนี้  เมื่อตนลงไปในพื้นที่เพื่อพูดคุยทั้งในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ทำให้สามารถคุยกับชาวบ้านได้อย่างสนิทใจ มีการพูดถึงเรื่องของมะรอโซบ้าง  ซึ่งสิ่งที่คิดว่าสำคัญมากคือ เรื่องของการทำงานของสื่อ ในวันเกิดเหตุได้เข้าไปในพื้นที่ในช่วงเย็น ตอนนั้นเป็นการประกาศเคอร์ฟิว แล้ว และไปพบว่า มีสื่อจากทีวีช่องหนึ่งกำลังสัมภาษณ์นายทหารคนหนึ่งในพื้นที่ของนาวิกโยธิน ตอนนั้นคนเยอะมากที่เข้าไปในค่ายนี้ จากที่ได้ฟังการสัมภาษณ์ก็รู้สึกว่า นายทหารท่านนี้พูดดีมาก จากนั้นจึงเดินทางกลับ

 

 

 

ระหว่างเดินทางกลับนั่นเอง ห่างมาประมาณ 2  กิโลเมตร พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านกำลังมุงดูบ้านหลังหนึ่งอยู่ จึงได้จอดรถลงไป ปรากฎว่าบ้านนั้นเป็นบ้านของมะหามะ หนึ่งใน  16 ศพ ซึ่งตนก็ได้แสดงความสนใจที่จะคุยกับญาติของเขา และต่อมาก็ได้พูดคุยกับแม่ของมะหามะ และสิ่งที่ได้รับฟังมาก็ทำให้รู้สึกอึ้ง  โดยแม่ของมะหามะเล่าว่า ลูกชายเพิ่งกลับบ้านมาเมื่อเดือนที่แล้ว กลับมาเยี่ยมภรรยาที่บ้าน  และเมื่อถามว่าทำไมเขาจึงได้ไปต่อสู้ ได้รับคำตอบว่า “จะให้พูดยังไง ก็มาค้นบ้านตลอด บางทีใช้พรก.ในการกักขังซ้อมทรมานอีก จนกระทั่งเขามาบอกครั้งสุดท้ายว่า ไม่ไหวแล้ว ฝากลูกภรรยาด้วย แล้วก็ไปต่อสู้ สิ่งที่ยืนยันได้ที่คุณวาสนาพูดว่า หลายคนบอกว่าในพื้นที่รับไม่ได้ทหารทำเกินไปนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะที่ไปคุยกับครอบครัวเขาบอกเขารับได้ เพราะเป็นการสู้อย่างแมน ๆ สู้อย่างสมศักดิ์ศรี แต่เขาไม่โกรธทหาร เพราะลูกเขาเป็นคนไปปะทะ”

 

 

ติงสื่อปล่อยภาพผิด คลิปผิด ปั่นกระแสเกลียดชัง

 

 

เอกรินทร์กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในพื้นที่ขณะนั้นมีทหารจำนวนมาก ขณะเดียวกันพบนักข่าวช่องทีวีช่องหนึ่ง เขาไปทำข่าว แต่ไปกับทหารในทุกที่ มีทหารคุ้มกันตลอดเส้นทาง จึงเกิดคำถามว่า ทำไมนักข่าวต้องไปกับทหาร ซึ่งสิ่งที่อาจจะทำให้เข้าใจได้คือเรื่องของความปลอดภัย แต่ในวันนั้นมีชาวบ้านจำนวนมากที่มาแสดงความเสียใจ แต่กลับไม่มีนักข่าวคนใดเข้าไปคุยกับชาวบ้านว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ทำให้ตนรู้สึกว่าทำไมนักข่าวไม่คุยกับชาวบ้าน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกัน ตนมีเพื่อนเป็นทนายในพื้นที่มาด้วย จึงบอกว่า อยากจะไปคุยกับครอบครัวของมะรอโซ จนกระทั่งได้เข้าไป และได้พูดคุยกันอย่างปกติ จนสุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นบทความ  เรื่อง "มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK"

 

>         “ตอนแรกที่กลับมาผมนอนไม่หลับ เขียนอะไรไม่ออก วกไปวนมา จนในที่สุดก็สามารถเขียนออกมาได้ และตัดสินใจปล่อยงานของผมออกไปในวันศุกร์ ประเด็นที่น่าสนใจ และผมตั้งข้อสังเกตคือ หลังจากนั้นไปคือ มีการปล่อยข้อมูลบางอย่าง อย่างเช่น พี่วาสนา พูดกันตรง ๆ มีการปล่อยรูปบางอย่างออกไป ผมว่าพี่เป็นอะไรมากปะเนี่ย อะไรทำไมต้องปล่อยภาพออกไป โอเคมันเป็นเสรีภาพ แต่ไปปล่อยภาพ พูดตรง ๆ ผมอยู่ที่นั่น รูปนั้นมันไม่ใช่รูปกองกำลั งในพื้นที่ ถ้าพี่ทำข่าวสายทหาร พี่ไม่สังเกตบ้างหรือ ว่ามันเป็นรูปถ่ายจากนิตยสารด้วยซ้ำ ถามว่าการปล่อยอย่างนี้ คนที่ไม่พร้อมจะเข้าใจอยู่แล้วก็บ้าไปกันใหญ่ ผมรู้สึกว่าถ้าเราไม่เข้าใจ มันจะกลายเป็นสมคบคิด มันเป็นการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการกดดัน เพื่อให้ใช้กำลังอย่างเต็มที่ ผมแอบดูในเฟสบุ๊คพี่ ทำไมพี่ต้องปล่อย” เอกรินทร์กล่าว

 

 

โดยหลังจากนั้น วาสนาได้ขอตอบในประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า “ตอนนั้นเขาปล่อยกันมาก่อนแล้วไม่ใช่หรือ รูปนี้เขาปล่อยมาจากโซเชียลคนอื่น พี่ก็เลยมาเขียนว่า นี่กำลังตรวจสอบว่าเป็นกำลังขนาดใหญ่จริง หรือว่าเป็นแค่ภาพเก่าจากแมกาซีนนิวส์วีค แต่ต่อมามีคนมาคอมเมนท์ว่า เชื่อว่าเป็นกองกำลัง แต่คอมเม้นท์ในโพสต์ที่บอกว่า กองทัพตื่นเต้นกับกองกำลังนี้มาก ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นกองกำลังจริงหรือ ภาพจากนิตยสารอะไรนั่นหละ ซึ่งการที่มีคนติดตามเยอะทำให้เหมือนว่าพี่เป็นคนโพสต์คนแรก”

 

 

 

 

เอกรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีคลิปชาวบ้านแห่ศพแล้วใส่เสียงเพลง เหมือนเป็นนักรบจีฮัด ตัดต่อเผยแพร่ตามมา ทำให้เข้าใจว่าเป็นการแห่ศพของกลุ่ม 16 ศพ ซึ่งหากคุยแบบสังคมวิทยาในพื้นที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก ที่จะมีคนจำนวนมากไปร่วมพิธีฝังศพ เพราะศาสนาอิสลามบอกไว้ว่า งานแต่งงานกับงานศพถ้าเป็นช่วงวันเวลาตรงกันให้เลือกไปงานศพ เพื่อไปแสดงความเสียใจ ทุกคนจำเป็นจะต้องไป ผู้ชายต้องไป จะดีจะเลวจะต้องไป บรรยากาศจะเศร้ายังไง เป็นเรื่องปกติมาก แต่สังคมไทยมองว่าคนเหล่านั้นไปสนับสนุน ทั้งที่การไปอย่างนั้น ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะมองพิจารณาว่า มะรอโซ เป็นฮีโร่ ซึ่งตนก็ไม่เชื่อว่า คนที่ไปวันนั้นจะคิดเช่นนั้น

 

 

            “ยังมีการพูดพาดพิงมาว่า ปัจจุบันมะรอโซกลายเป็นฮีโร่ของคนรุ่นใหม่ จึงเกิดคำถามกลับไปว่า ก่อนหน้านี้ที่รัฐพยายามจะสร้างฮีโร่ ขึ้นมาทั้ง ครูจูหลิง ผู้กองแคน จ่าเพียร ที่รัฐอ้างมาโดยตลอด แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกหลังการต่อสู้ที่มะรอโซถูกพูดถึงแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาในรอบเก้าปี ไม่มีฮีโร่จากชาวบ้าน มีแต่ฝั่งรัฐ ที่ถูกสร้างสตอรี่ขึ้นมา เราจะทำยังไง กรณีของมะรอโซต้องตั้งคำถามว่า คุณจะเอาหรือคนที่เป็นฮีโร่ที่สร้างความรุนแรง แต่สำหรับผม ผมคิดว่าจะต้องปล่อยไปก่อน เพราะถูกกดดันไม่นาน ถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นบ้างคุณจะรับได้ไหม” เอกรินทร์กล่าว

 

 

ระบุเขียนบทความชีวิตมะโรโซ ไม่ตั้งใจสร้างให้เป็นฮีโร่

 

 

เมื่อถูกถามว่า จากบทความเรื่อง “มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK” ทำให้ถูกมองว่า เอกรินทร์เป็นคนแรกที่ทำให้มะรอโซกลายเป็นฮีโร่ เอกรินทร์กล่าวว่า ยืนยันว่าตนไม่มีเป้าหมายที่จะสร้างให้มะรอโซเป็นฮีโร่ ที่ผ่านมามีคนถามมาก เจอเพื่อนอาจารย์ต่างศาสนิกก็มองแปลก ทำให้รู้สึกอึดอัด คนมองว่าบทความดังกล่าวเป็นการเชิดชูมะรอโซ ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนา

 

 

 

 

 

          “สิ่งที่ตั้งใจคือ แค่อยากให้เห็นว่าครอบครัวเขาเป็นคนธรรมดา มีความคิด มีความฝันเหมือนกับทุกคน และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกคนควรจะต้องตั้งสติ ว่าทำไมมาเป็นอย่างนี้  ซึ่งบทความนี้ ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง ได้ถูกแปลภาษามาเลย์ ยาวี และถูกนำไปตัดต่อทันที ซึ่งถือเป็นความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ห้ามไม่ได้ หลายคนโทรศัพท์มาขอบคุณ เขาบอกว่าผมเป็นนักรบคนหนึ่ง ทำให้รู้สึกตกใจ เพราะจริง ๆ แล้ว ผมก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการให้ข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งเท่านั้น” เอกรินทร์สะท้อนความรู้สึก

 

           “ผมไม่ได้เป็นสื่ออาชีพ ผมไม่มีทักษะเป็นสื่อ ผมไม่รู้ว่าจะต้องบาลานซ์ข้อมูลอย่างไร วันนั้นผมแค่เห็นว่าสื่อไทยไม่ลงพื้นที่ ไม่คุยกับชาวบ้านเลย ทั้ง ๆ ที่ผ่านเส้นทางเดียวกับผม สื่อไทยบาลานซ์หรือเปล่า บทความผมถ้าคิดว่าไม่มีน้ำหนักบาลานซ์ ผมก็บอกว่าผมจะเสนออย่างนี้ก็แล้วแต่ คุณก็ไม่หาข้อมูลมา คุณจะเชื่อหรือไม่แล้วแต่ คุณจะพิจารณา แต่จุดอ่อนบทความผมคิดว่า ผมควรจะเขียนให้มากกว่านี้ เขียนไปในทางอะหะมะอีกวัน ประเด็นผมคิดว่า เป็นการพูดความจริงของชาวบ้าน ในเรื่องของความรู้สึก” เอกรินทร์กล่าว

 

 

สื่อทีวีอยากได้แต่ภาพไม่ได้ข้อมูลจริง

 

 

เอกรินทร์เล่าต่อว่า จากเหตุการณ์นี้ตนเห็นข้อสังเกตอีกว่า หลังจากเหตุการณ์ มีการทำข่าวของรายการข่าวชื่อดังรายการหนึ่ง ที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน แต่เอาทหารเข้าไปนั่งข้าง ๆ ถามว่า ใครจะกล้าพูด เอาทหารไปนั่ง ตนดูคนให้สัมภาษณ์ก็อึดอัดอยู่ นักข่าวไม่มีวิธีการและความละเมียดละไม คิดว่าชาวบ้านไม่ฉลาด เขารู้ว่าใครเป็นใคร ไม่อย่างนั้นมะรอโซจะกลับบ้านได้อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นภรรยาจะท้องได้อย่างไร

 

 

           “วันนั้นที่ไปบ้านมะรอโซ ผมมีชาวบ้านดูแล จัดการทุกอย่าง ระวังตัว เขาบอกว่า หลังจากนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้นก็ไมรู้ เขาก็มาส่งผมหน้าปากซอย ที่ผมเน้น ถ้าไปกับทหารไม่มีทาง คุณจะ ได้ภาพ แต่คุณไม่ได้ความในใจ”

 

 

ส่วนในประเด็นของการรายงานข่าวของสื่อ เอกรินทร์กล่าวว่า มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมาก คือเรื่องของการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์ ที่มีการนำเสนอเรื่อง โครงสร้างกลุ่มขบวนการ ที่มีความสัมพันธ์กับนักศึกษา เป็นรายงานข่าวสกู๊ปใหญ่มาก เรื่องนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเร็วมาก ทำให้ตนต้องออกแถลงการณ์ ใช้ในนามตัวเองและยินดีที่จะรับผิดชอบ เพราะสกู๊ปนี้สร้างความเสียหาย จนขณะนี้คนรุ่นใหม่รู้สึกไม่เอากับสื่อกระแสหลักมากขึ้น ๆ การคิดสมาทาน บางสิ่งบางอย่างขึ้นเอง ก็คิดแล้ววิเคราะห์ขึ้นเอง ทำให้มีการส่งคนมาควบคุม และถือว่าเป็นโอกาสอย่างมาก ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ในพื้นที่มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงในการตอบโต้”

 

 

 

ชี้-สื่อดัง รัฐสร้างสตอรี่ฮีโร่ เว่อร์เกินเหตุ

 

 

ด้านปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ กล่าวถึงข้อจำกัดของการทำงานของนักข่าวส่วนกลางที่จะต้องลงไปทำข่าวเหตุการณ์ในภาคใต้ว่า นักข่าวส่วนกลางมีผลเยอะมาก สังเกตได้จากการที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ไปพูดในหลายสถานที่ เช่น ล่าสุดไปพูดที่ปัตตานี สามารถจับอารมณ์ได้ว่า คนทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชน อยากฟังสิ่งที่เป็นบวกจากคนศาสนาเดียวกัน เพราะตอนที่ตนเริ่มพูด ก็ถูกตั้งแง่แย้งไว้ก่อน ในหลายประเด็น แต่เนื่องจากศูนย์ข่าวที่ทำไม่ได้มีปัญหาอะไร ทำให้ไม่เกิดปัญหามาก เพราะกลุ่มเยาวชนเหล่านี้รู้สึกรับได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่บาเจาะ ตนก็รู้ประมาณตีสี่ แต่นักข่าวในภาคใต้ได้เข้าไปแล้ว หลังเหตุการณ์ก็ได้สั่งให้นักข่าวซึ่งเป็นมุสลิมคนหนึ่งเข้าไปตาม ทั้งนี้ข้อมูลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากทั้งทหารหรือรัฐ มีการเก็บพูดคุยไว้ก่อนแล้ว สิ่งที่ขาดคือข้อมูลของมะรอโซ ถ้าจะให้ข่าวสมบูรณ์ก็ควรจะขึ้นพร้อมกัน จะได้ไม่ทำให้เป็นเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ปัญหาคือไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ถึงแม้จะเป็นนักข่าวมุสลิม เข้าหมู่บ้านได้ แต่ก็ผ่านด่านยาก ตรงข้ามกับนักข่าวพุทธ อย่างไรก็ตามก็ได้ข้อมูลเพียงการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้าน แต่ไม่ได้การสัมภาษณ์แม่กับภรรยาของเขา

 

ปกรณ์เล่าต่อไปถึงกรณีของการสร้างฮีโร่ ซึ่งถูกตั้งประเด็นไว้ว่า ในกรณีของจ่าสมเพียร ตอนนั้นตนอยู่ในพื้นที่ ก็ทราบว่ามีชาวบ้านเชือดแพะฉลองกัน แต่จู่ ๆ ก็มีรายการข่าวชื่อดังรายการหนึ่ง เชิญเมียกับลูกมาออกทีวี ร้องไห้ ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกข่าวว่าจะตั้งอนุสาวรีย์ให้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนทำวิสามัญฆาตกรรมมาเยอะจะได้เป็นฮีโร่ เพราะไม่มีกฎหมายบอกว่า สามารถวิสามัญฆาตกรรมใครก็ได้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นอกจากทำเพื่อป้องกันตัว ถ้าหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่า ทำวิสามัญแล้วเป็นผลงาน ก็ต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เป็นการวิสามัญอย่างเดียว ไม่ต้องจับแล้ว ทำให้หลังจากนั้น ตนจึงต้องกลับมาเขียนบทความ แต่จำเป็นต้องปล่อยระยะเวลาสักพักหนึ่ง เอาเรื่องกฎหมายมาว่ากัน แม้บทความจะยาวหน่อย แต่ก็ไม่ก่อปัญหา แต่เป็นการสร้างความเข้าใจ ซึ่งต่อมาก็มีผู้นำในพื้นที่โทรศัพท์มาขอบคุณบอกว่า เรื่องแบบนี้มีคนกล้าเขียนด้วยหรือ แต่ก็ไม่ได้มีการขุดประวัติอะไรขึ้นมา เพราะที่สุดแล้วเขาได้ตายไปแล้ว

 

 

 

            “อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องคลิปงานศพ ผมได้มาเหมือนกัน แต่การนำเสนอเรื่องเหล่านี้เป็นข่าว มันก็ต้องระมัดระวัง คือหนึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นศพมะรอโซ หรือ  หนึ่งใน 16 ศพ เพียงแต่มีการตัดต่อ แล้วเพิ่มเข้าไป ถ้ากรณีนี้ไม่ได้ถูกปล่อยออกมาในช่วงเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องปกติ อยู่ที่จะมีคนไปร่วมกันแห่ศพทุกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ก็มักจะไม่เข้าใจทุกครั้ง ดังนั้นเวลาเขียนข่าวก็ต้องเขียนในเชิงถ่วงไว้นิดหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าเป็นคลิปฮีโร่ แต่เขียนว่า เป็นพิธีฝังศพซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในสิบหกศพ คนอ่านคิดนิดหนึ่งว่าอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ก็ช่วยได้ในบางแง่มุม”

 

 

ชี้นักข่าวภาคใต้ต้องรู้ประวัติศาสตร์ด้วย

 

 

ขณะที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยยุคใหม่คุ้นเคยกับความขัดแย้งแล้ว เพราะเรื่องการแบ่งแยกดินแดนมีมานาน และการใช้คำเรียกกลุ่มนี้ถือว่ายังเป็นปัญหาว่า ควรจะใช้คำพูดว่าอะไรดี ทำให้เกิดความสับสนอยู่ อย่างไรก็ตามบริบทของภาคใต้ นักข่าวจะต้องรู้ประวัติศาสตร์ รู้วัฒนธรรม และศาสนาของภาคใต้ คนส่วนใหญ่ ในสังคมไทยไม่ยอมรับว่า การต่อสู้แบ่งแยกดินแดนออกไปเป็นความชอบธรรม แต่ถ้ายอมรับว่าเป็นเเรื่องธรรมดามีมานาน เพราะมีความคับข้องใจ การกดขี่ที่ถูกผนวก เพราะคนไทยถูกสั่งสอนเรื่องดินแดนความเป็นไทย การใดที่คนต่อต้านรัฐหรือจับอาวุธสู้ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมต่าง ๆ ที่สื่อใช้เรียกกลุ่มนี้ว่าโจร ที่มีนัยของการดูถูกดูแคลน มองจากมุมคนกรุงเทพฯ ก็จะมองว่า พวกนี้เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐมองจากมุมเมืองหลวง เลี้ยงไม่เชื่อง ซึ่งถือว่ามันสร้างแรงกดดันเพิ่มเข้าไปอีก

 

ส่วนกรณีคลิปงานศพนั้นอย่างไรก็ตามคิดว่า ถึงจะไม่มีใครในวงการสื่อเผยแพร่ แต่มันก็จะต้องออกมาเองจากใครก็ตาม ดังนั้นจึงคิดว่า เมื่อออกมาแล้วเราจะมองมันอย่างไรมากว่า ซึ่งในฐานะของคนที่ดูข่าวจากข้างใน จริง ๆ แล้วมองหาเรื่องนี้ อยากรู้เขาจะรดน้ำศพหรือไม่ ทำแบบไหน เพราะก่อนหน้านี้มีประสบการณ์จากที่ทำงานในพื้นที่เมื่อครั้งกรือเซะ ชาวบ้านจะมาบอกเราซึ่งมาจากกรุงเทพฯ ที่บอกว่า พวกนี้จะไม่มีการรดน้ำศพ เพราะถือว่าเป็นจีฮัด ที่ต่อสู้ตามแนวทางศาสนา เขาต่อสู้กับความกดขี่ แต่ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้กดขี่ นักข่าวถ้าไม่ปิดหูปิดตา ก็จะได้รับข้อมูลจากชาวบ้าน

 

 

จับตาเอ็มโอยูที่มาเลย์มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่

 

 

เมื่อถามถึงกรณีการลงนามพูดคุยในประเทศมาเลเซียที่มีเสียงว่า นักข่าวไทยไม่ได้รายงานเรื่องนี้เลย สุภลักษณ์กล่าวว่า สื่อไทยรายงานเรื่องนี้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการส่งนักข่าวลงไปได้ทัน ขณะเดียวกันต้องพิจารณาว่า การนำเสนอข่าวจะมีกระบวนการอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ เพราะขณะนี้ในประเทศมาเลเซียกำลังจะมีการเลือกตั้ง หรือจะเป็นการยกระดับกลุ่มนี้ขึ้นมาหรือไม่ แต่สิ่งที่สังคมสงสัยคือเรื่องนี้คือเรื่องจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

ขณะที่เอกรินทร์กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า คนพื้นที่เองคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะที่ผ่านมาไม่มีการทำอะไรที่เปิดเผยแบบนี้ในระดับผู้นำ ที่ตัดสินใจเรื่องภาคใต้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ที่ผ่านมาเรื่องของการพูดคุย มีอย่างลับ ๆ มาตลอดคือ ฝ่ายความมั่นคงไปคุยกับกลุ่มคนต่าง ๆ แต่ตอนนี้เป็นการเปิดให้สังคมรับทราบ ให้สังคมเห็นว่า การพูดคุยสำคัญ ส่วนตัวตนได้วิเคราะห์ไปเป็นการดีที่จะเปิดโอกาสให้ทางการเมืองได้แก้ไขบ้าง ที่ไม่ใช่ให้ทางทหารแก้ไขอย่างเดียว และบรรยากาศอย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องการมานานแล้ว ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงอย่างไร แต่สัญญานที่ดีคือนำการเมืองมาแก้ไข

 

 

ทักษิณเจรจาราจีฟมีอะไรแลกเปลี่ยน

 

 

ขณะที่วาสนาตั้งข้อสังเกตว่า หากลองพิจารณาดี ๆ ที่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เคยพูดไว้ว่า “เราไม่ใช่ฝ่ายแพ้ ทำไมต้องไปเจรจา” ดังนั้นจึงจะต้องดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธว่าจะทำอย่างไร เพราะถึงแม้จะลงไปแต่ พล.อ.ประยุทธก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเจรจา เพราะเห็นว่าคนเจรจาจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ ดังนั้นการเจรจาก็อาจจะเป็นฝ่ายที่เจรจาก็เจรจากันไป ส่วนของกองทัพก็ต่อสู้กันไป แต่สิ่งที่เป็นจริงขณะนี้คือ มีการพูดกันว่าครั้งนี้เป็นการเริ่มต้น และยังจะต้องใช้ระยะเวลาหลังจากนี้อีกนาน ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ไกลมาก เพราะจะต้องเจรจาอีกหลายกลุ่ม ในทุกสองสัปดาห์

 

ที่ผ่านมาตนเคยมีประสบการณ์ เรื่องของการเจรจา เพราะเคยมีครั้งหนึ่งเคยรับทราบข่าวว่า จะมีการเจรจาเรื่องหนึ่ง เมื่อทราบก็ได้นำมาเขียนข่าวนำเสนอออกไป ผลปรากฎว่าการเจรจาครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะข่าวที่ถูกนำเสนอก่อน ทำให้ผู้จะไปเจรจาเกิดแรงกดดัน ทำให้ไม่เกิดการเจรจาครั้งนั้น เป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความเข้าใจ อย่างไรก็ตามเรื่องการพูดคุยในครั้งนี้ มีกระแสมาตลอดว่า ที่ผ่านมาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเชียมาแล้ว และถือเป็นครั้งแรกที่มาเลเซีย ประกาศตัวว่าจะเป็นตัวกลางอย่างเป็นทางการในการพูดคุย ตามที่ได้พูดคุยกับเลขาธิการสมช. ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่มีวันนี้  แต่ประเด็นที่จะต้องจับตาคือว่าการ ที่ทั้งสองฝ่ายไปพูดคุยกันนั้น มีอะไรเป็นเรื่องแลกเปลี่ยนหรือไม่ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหรืออะไร

 

 

        “เรื่องนี้มีแหล่งข่าวซึ่งเป็นคีย์แมนเรื่องนี้ รมว.กลาโหมพูดตลอดว่าภาคใต้จะดีขึ้น ท่านก็ย้ำในทุกวงทหาร จึงทำให้มีข้อสังเกตว่า มีอะไร ทำไมถึงมั่นใจว่าจะสงบเหมือนกับปี 2547 เมื่อถามเขาก็บอกว่าพูดไม่ได้ แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่าน่าจะมีการเจรจา แต่ประสบการณ์ในอดีตทำให้ไม่นำมาเขียนข่าว เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไม่มีการเจรจา แต่ก็เชื่อว่าถึงแม้จะมีการเจรจา แต่ก็ไม่น่าจะบังคับได้ทั้งหมด เพราะมีหลายกลุ่ม ขบวนการนี้ยังมีไฟที่ดำเนินการต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าเปนการเริ่มต้นที่ดี  สิ่งที่ต้องจับตาคือเขาต่อรองกันเรื่องอะไร ถึงได้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: