ชี้องค์กรอิสระอำนาจล้น แนะให้เอาออกจากรธน.

2 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1858 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เว็บไซต์ประชาไทร่วมกับโครงการสะพาน จัดงานสัมมนา “15ปี องค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย” โดยมี คริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน

 

นายพงศ์เทพกล่าวว่า องค์กรอิสระกับธรรมาภิบาลเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องขบคิดกันอย่างจริงจัง จากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วม ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นจุดก่อกำเนิดองค์กรอิสระนั้น ทำให้เห็นว่า สสร.ในเวลานั้นผิดพลาด เพราะคิดว่าจะหาคนที่เพรียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้เข้ามาในองค์กรอิสระ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อย่างที่คาดหวัง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ใครจะมาตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ซึ่งมีอำนาจมหาศาล ทำอย่างไรที่จะจัดกลไกให้องค์กรเหล่านี้ ต้องมีการยึดโยงกับประชาชน และต้องถูกตรวจสอบได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สร้างกลไกที่ประหลาดมาก รัฐสภาซึ่งส่วนใหญ่มาจากประชาชน มีอำนาจจำกัดในการตรวจสอบองค์กรอิสระ กรรมาธิการต่าง ๆ ไม่สามารถเรียกคนในองค์กรอิสระ หรือฝ่ายตุลาการ มาสอบถามได้

 

ด้านนายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และหัวหน้าโครงการวิจัย 'องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ'เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ปี 2539 กล่าวว่า การพูดถึงองค์กรอิสระ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยถูกแช่แข็งด้านพัฒนาการรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลานาน นับแต่ปี 2490 การยกร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนอยู่ในวงจรเดิม และขาดจินตนาการใหม่ ๆ สวนทางกับกระแสโลก จนมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จึงเริ่มมีสิ่งใหม่ จินตนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น องค์กรอิสระ การบรรจุองค์กรอิสระไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้หลุดพ้นจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง แต่ผลก็คือ ทำให้องค์กรเหล่านี้เองรวมถึงคนทั่วไปเข้าใจว่า คือ องค์กรอิสระเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรเทียบเท่ารัฐสภา รัฐบาล ศาล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และทำให้องค์กรอิสระไม่ถูกตรวจสอบ

 

 

 

วิษณุกล่าวในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไปไกลยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 องค์กรอิสระถูกจัดหมวดหมู่ ว่าเป็น“องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”อย่างชัดเจน ในทางการตรวจสอบก็มีการจำกัดอำนาจศาลปกครองไว้ด้วยว่า จะตรวจสอบอำนาจชี้ขาดขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้

 

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ลักษณะเช่นนี้ส่งผลเสียหลายประการ คือ เกิดการทับซ้อนกับอำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอื่น ๆ และเป็นตัวนำสู่วิกฤตการเมือง การบริหารได้ง่าย และทำให้ไม่มีการคิดค้นที่จะมีองค์กรอิสระนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมไทยไปไกล จนควรจะต้องพัฒนาองค์กรอิสระขึ้นมาอีกหลายส่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถออกเป็นกฎหมายเฉพาะได้ เช่น องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์และข้อมูลข่าวสารออนไลน์ เพื่อดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชน, องค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐ, องค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เป็นต้น

 

สำหรับข้อเสนอนั้นนายวิษณุระบุว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญบับใหม่ ควรจะกำหนดสถานะ หรือที่ทางขององค์กรอิสระให้ถูกต้องชัดเจนว่า เป็นองค์กรประเภทไหน และในการที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ ที่มา โครงสร้าง ขององค์กรอิสระควรได้มีการศึกษาในแต่ละส่วน แต่ละกิจกรรมว่าควรเป็นอย่างไร เพราะจะกำหนดที่มาเหมือนกันทั้งหมดไม่ได้ นอกจากนี้ควรจัดให้มีการตรวจสอบได้ และวางระบบให้มีประสิทธิภาพจริง ๆ ไม่ใช่เขียนไว้เพียงสวยหรู ซึ่งมีวิธีที่จะใช้จินตนาการคิดให้เกิดความรับผิดชอบขององค์กรอิสระได้หลายรูปแบบ

 

ขณะที่นายเมธี ครองแก้ว อดีต ป.ป.ช.กล่าวว่า จากการที่ตนเองเป็นกรรมการ ปปช.มา 6 ปี คิดว่าองค์กรอิสระเป็นนวัตกรรมที่แหวกแนวคิดแบบเดิม ๆ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระคือ การสร้างฐานอำนาจที่ 4 ที่มีความเด่นเฉพาะที่นอกจาก 3 อำนาจหลักคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ซึ่งทั้ง  3 อำนาจในไทยมีความไม่สมบูรณ์ในกาทำงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาในตัวมันเอง จึงต้องสร้างฐานอำนาจที่ 4 เพื่อสร้างความถ่วงดุล ส่วนกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น จากประสบการณ์การทำงานเห็นว่า ไม่มีปัญหา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้ทำงานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล รวมทั้งกรรมการภายในก็ตรวจสอบกันเองอยู่ นอกจากนี้ยังถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภาอีก อีกทั้งทุกครั้งที่มีการชี้มูลก็จะถูกฟ้องกลับทุกครั้ง รวมทั้งมีการทำรายงานต่อสภาและแถลงต่อประชาชนทุกปี เราทำงานด้วยความระมัดระวังที่สุด ไม่มีการลุแก่อำนาจ

 

นายโคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยไม่ได้มีถึง 4 อำนาจ เหมือนดังที่นายเมธีกล่าว แต่มีอยู่เพียง 3อำนาจครึ่ง เพราะฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหาร เป็นอำนาจที่ควบกันเป็นหนึ่งอำนาจครึ่ง บทบาทขององค์กรอิสระยังคงมีความจำเป็น เพื่อถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่คานกันและกินรวบ ส่วนอำนาจตุลาการก็เป็นมรดกจากรัฐราการ ในช่วงที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จะออกแบบอย่างไรให้ยึดโยงกับประชาชนแต่ไม่เสียความเป็นอิสระ

 

 

สำหรับปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระนั้น นายโคทมเห็นว่าไม่ควรนำองค์กรอิสระออกจากรัฐธรรมนูญ แต่ควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญรองรับว่า องค์กรใดควรมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระได้ง่ายขึ้น หากมีความจำเป็น ในส่วนของการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น ปัจจุบันการเงินมีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้โดยศาล ในส่วนของประชาชนก็สามารถเข้าชื่อกันถอดถอนได้ เรื่องสำคัญกว่าคือ จะปลอดการแทรกแซงจากการเมืองได้หรือไม่ เรื่องงนี้หากองค์กรอิสระเข้มแข็ง อยู่ในสายตาประชาชน ผลงานมีประชาชนสนับสนุนก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นไม่ว่า การใช้อำนาจเกิน, การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ยังไม่ทันได้รับการแก้ไขก็เกิดรัฐประหารเสียก่อน ยกตัวอย่างปัญหา กรณี ปปช.เมื่อชี้มูลแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ มันสร้างปัญหามาก เท่ากับเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน ส่วนปัญหาการตรวจสอบนั้น การฟ้องศษลอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะหลายเรื่องฟ้องศาลไม่ได้ เช่น การตรวจสอบว่าเลือกปฏิบัติ เมื่อไปร้องกับ ส.ว.ที่จะทำหน้าที่ถอดถอนได้ แต่ปรากฏว่าเป็น ส.ว.สรรหาอีก กลไกนี้ก็ล้มเหลว ฉะนั้นการหักเหหลังรัฐประหารจนเกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เกิดผลกระทบที่สำคัญและร้ายแรงต่อระบบอำนาจ อำนาจมากไปลดลงมาได้ แต่ที่มาและการตรวจสอบเป็นเรื่องสำคัญที่มีปัญหามาก และเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยนั้น โดยสภาพทำให้องค์กรอิสระย่อมอยู่กับข้างที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: