‘ปลอดประสพ’จ่อผุดเขื่อนอ่าวไทย ลดคลื่นเซาะชายฝั่ง‘ขุนสมุทรจีน’ ผญบ.ระบุให้ฟังเสียงชาวบ้านด้วย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ ภาพ-กฤชกร เกตุทองมงคล ศูนย์ข่าว TCIJ 2 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1836 ครั้ง

 

ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กำลังเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างความเดือดร้อนที่มนุษย์ได้รับจากการ “เอาคืน” ของธรรมชาติอย่างชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จากการที่ที่ดินทำกินถูกพัดหายไปในทะเลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

ล่าสุด ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 4 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ พร้อมนักวิชาการ ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมเดินทางรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้เป็นครั้งแรก พร้อมกล่าวปาฐกถาให้กับชาวบ้านได้รับฟังด้วย

 

 

 

 

ปลอดชี้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ไม่สำเร็จเพราะไม่มีเป้าหมายทางการเมือง

 

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนั้น หากจะพูดไปแล้ว ต้องบอกว่าตนเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องดีไม่น้อยไปกว่าชาวบ้านในพื้นที่ เพราะต้องทราบว่า ตั้งแต่สมัยเรียนตนก็เรียนจบมาด้านวิศวกรรมชายฝั่ง จากประเทศอินเดีย และยังทำงานเกี่ยวกับทะเลมาตลอด ทั้งอธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมป่าไม้ และรู้ว่า การศึกษาเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะบริเวณอ่าวตัว ก.อ่าวไทย มีอยู่จำนวนมาก ถ้าจะว่าไปน่าจะสูงกว่าองค์พระสมุทรเจดีย์ โบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาว จ.สมุทรปราการเสียอีก แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครนำงานวิจัยเหล่านั้นมาใช้ได้  เพราะที่ผ่านมาทุกคนที่คิดอยากจะแก้ปัญหาล้วนแต่ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง

 

 

          “เป้าหมายทางการเมืองของผมนี่หมายถึงเรื่องของนโยบายระดับชาติ ไม่ได้หมายถึงเรื่องของว่าใครจะได้คะแนนในพื้นที่มากกว่ากัน ดังนั้นเมื่อเราไม่มีเป้าหมายทางการเมือง อะไรก็ทำไม่ได้ ล่าสุดการประชุมที่ ครม.ที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายเรื่องนี้ให้รองนายกฯ มารับผิดชอบ ซึ่งผมก็จะนำเรื่องนี้มาทำให้ชัดเจนเสียที” นายปลอดประสพกล่าว และว่า หลังจากนี้จะจัดโรดแมพ (Road Map)เรื่องของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง  ให้ชัดเจนว่าปีไหนจะทำอะไร เพราะตอนนี้ในส่วนของ กบอ.ก็มีขั้นตอนเรื่องของการระบายน้ำอยู่ในแผนอยู่แล้ว ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งถือว่าเป็นระบบเดียวกันที่จะต้องดำเนินการ ที่สำคัญ กอบ.มีเงินอยู่แล้วที่สามารถจะนำมาใช้ได้

 

 

 

 

 

ชี้เอาเงินกบอ.สร้างเขื่อนในทะเล

 

 

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ตอนนี้กระบวนการขั้นตอนของ กบอ. (คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย)อยู่ในระหว่างการประมูลผู้จัดทำโครงการ อีก 2-3 เดือนน่าเสร็จสิ้น เพราะจะมีการทำเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งด้วย หากการประมูลไม่มีปัญหาก็น่าจะเดินหน้าก่อสร้างต่าง ๆ กันได้ แต่ตอนนี้กลับปรากฎว่ามีคนไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ระงับการประมูล ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าคนที่ไปฟ้องนี่รู้เรื่องอะไรหรือไม่ มาบอกว่าทีโออาร์อ่านไม่รู้เรื่อง อยากจะบอกว่าเขาไม่ได้ให้คุณอ่าน เขาให้คณะกรรมการอ่าน มาฟ้องร้องเช่นนี้ทำให้มีปัญหา การเดินหน้าแก้ปัญหาก็ไปต่อไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าศาลปกครองจะไม่รับฟ้องเรื่องแบบนี้

 

 

          “ในส่วนของ กบอ.นี่มองปัญหาทั้งระบบ ต้องตัดสินใจเรื่องของนโยบายว่าจะเดินหน้าไปทางไหน อย่างเรื่องกัดเซาะชายฝั่งนี่ ต้องมาตัดสินใจกันว่าจะเอาแบบไหน จะเอาแบบญี่ปุ่นไหม จะดูดทรายมาถมทะเลเอาพื้นที่ไปทำประโยชน์ จะทำโรงกลั่นน้ำมัน ทำเมืองใหม่ หรือจะทำเรื่องเศรษฐกิจอะไรก็ว่ามา ตัดสินใจแล้วเดินหน้าทำกันไป ขณะเดียวกันการป้องกันก็จะต้องดูว่าเราจะสู้หรือไม่ เพราะในเรื่องเชิงวิศวกรรมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่เรื่องของการตัดสินใจมากกว่า”

 

 

 

 

 

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วว่า จะต้องหยุดการกัดเซาะชายฝั่ง และจะต้องเอาแผ่นดินกลับคืนมาให้ได้ เพราะมติครม.ก็ออกมาชัดเจน ดังนั้นจะต้องมีการศึกษา และสรุปว่าจะเอาทิศทางไหนแน่นอน ที่สำคัญคือจะต้องหยุดไม่ให้มีการกัดเซาะต่อไป ดังนั้นจะต้องทำเขื่อน เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดมากว่านี้  โดยอย่ามาถามเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะมีผลกระทบอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทำก็จะเป็นแบบนี้ แผ่นดินหายไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจะต้องมาตัดสินใจจะเอาหรือไม่ ตอนนี้มีสองแนวทางคือ การป้องกันชั่วคราว คือการป้องกันโดยใช้แบบ Soft Structure และแบบเขื่อนถาวร

 

 

          “ผมเอาแน่ ถ้าสร้างเขื่อนป้องกันก็ต้องสร้างออกไปในทะเลแน่นอน 5-6 กิโลเมตร ตามที่ดินเดิมที่หายไป มันต้องเป็นแบบนั้นเพื่อให้จะให้แผ่นดินคืนกลับมา เพราะไม่ว่าจะทำใกล้หรือไกลก็ราคาเท่ากัน เรื่องผลกระทบทางระบบนิเวศไม่ต้องมาถาม เพราะย่อมมีผลกระทบอยู่แล้ว ไม่เคยบอกว่าไม่มี แต่จะมากน้อยอย่างไรก็ต้องดู แต่จะเอาหรือเปล่าละ เพราะถ้ามาพูดเรื่องของผลกระทบระบบนิเวศกันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ได้ทำกันพอดี” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมินไจก้าเดินหน้าประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน

 

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับข้อแนะนำของไจก้า ที่ระบุว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนใหม่ โดยใช้การบริหารจัดการเขื่อนเดิม และระบบผันน้ำแบบเดิม จะสามารถประหยัดงบประมาณไม่จำเป็นต้องใช้ถึง 3.5 แสนล้าน โดยนายปลอดประสพตอบคำถามอย่างร้อนแรงว่า ไจก้า มาเสนอหลายอย่างบอกรัฐบาลไทยไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ให้กลับไปดูประเทศตัวเอง อย่างอ่าวโกเบ โอซาก้า โตเกียว มีการผันน้ำออกคลองเล็กเหมือนที่มาแนะนำไทยหรือไม่ ก็เอาน้ำออกทางคลองหลักทั้งนั้น

 

 

          “ออกมาให้ความเห็นห่วยๆ แบบนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะที่บ้านเมืองตัวเอง ที่ญี่ปุ่นก็ทำแบบนี้ทั้งนั้นแล้วพอมาถึงไทย ทำมาแนะนำโน่นนี่ จะไม่ยอมให้ทำ สงสัยอยู่เมืองไทยนานเกินไป เลยคิดเหมือนคนไทยบางกลุ่มไปแล้ว” นายปลอดประสพกล่าวในตอนท้าย พร้อมกับยืนยันว่า รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำต่อไป เพราะเป็นการเดินหน้าไปตามระบบ สามารถแก้ไขระบบต่าง ๆ ได้จริง รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยด้วย

 

 

โยธาออกแบบเขื่อนแล้ว แต่รออีไอเอ

 

 

ด้านนายเกียรติศักดิ์ จันทรา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงแผนการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยว่า กรมโยธาฯได้ออกแบบรูปแบบทางวิศวกรรมของเขื่อน ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อยู่ หากผ่านและได้รับอนุมัติงบประมาณคาดว่าในปี 2558 ก็จะสามารถดำเนินการได้ และจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษ ในการก่อสร้างดังกล่าว

 

ทั้งนี้สำหรับโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองดังกล่าว เป็นโครงการศึกษาและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ และระบบแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชุมชนวัดขุนสมุทรจีน และชุมชนต่อเนื่อง ใช้เวลาการศึกษามาแล้ว 5 ปี ได้ข้อสรุปให้สร้างแนวสลายพลังงานคลื่นความยาว 3.6 กิโลเมตร กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ป้อมพระจุลจอมเกล้า ไปจนถึง ต.นาเกลือ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังออกแบบระบบระบายน้ำ ถนน ลานจอดรถ ลานสันทนาการ และท่าเทียบเรือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ด้วย ใช้งบประมาณราว 2,000 กว่าล้านบาท คาดว่าหากได้รับเงินงบประมาณในการก่อสร้าง จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี

 

 

             “ขณะนี้เรารอเพียงการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)เพื่อนำเข้า ครม.อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง เพราะรูปแบบทางวิศวกรรมได้ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงได้” รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าว

 

 

อ.จุฬาฯ ห่วงปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินงอก

 

 

ขณะที่ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาแนวทางแก้ไข เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาตลอด โดยในฐานะนักวิชาการมีความพยายามที่จะคิดรูปแบบต่าง ๆ ในการลดความรุนแรงของคลื่น เพื่อนำมาเลือกใช้ในพื้นที่ โดยทั้งหมดต้องตั้งอยู่ในพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย

 

ขณะเดียวกันในการดูเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น หากพิจารณาจากงานวิจัยก็จะมีระบุไว้อย่างละเอียดอยู่แล้ว ฉะนั้นการพิจารณาอีไอเอของคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ก็จะพิจารณาจากงานวิจัย ที่มีการทำอีไอเอทางธรรมชาติมาแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการอีไอเออยู่ดี

 

 

          “อย่างไรก็ตามปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือเรื่องของกรรมสิทธิที่ดิน เพราะตอนนี้เมื่อที่ดินหายไป ทุกฝ่ายก็ยกเป็นของรัฐที่จะต้องจัดการ แต่เมื่อมีการทำเพื่อแก้ปัญหาแล้ว มีแผ่นดินออกมาย่อมจะเกิดปัญหาเรื่องที่ดินอยู่แล้ว ซึ่งปัญหานี้ยังมีอยู่หลายฝ่ายก็เข้าใจ จึงต้องคิดถึงอนาคตด้วยว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร” ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าว

 

 

 

ชาวบ้านชี้คนช่วยเยอะ แต่คนไปคนละทาง

 

 

สำหรับชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตั้งอยู่ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ นับเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงมากที่สุดในประเทศไทยแห่งหนึ่ง โดยพบว่า มีพื้นที่ดินถูกกัดเซาะจมหายไปในทะเลด้วย โดยมีการกัดเซาะมากว่า 25 เมตรต่อปี จากพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีนที่เคยมีมากกว่า 1,000 ไร่ ในปี พ.ศ.2520 ถูกกัดเซาะเหลือเพียงประมาณ 75 ไร่ ในปี พ.ศ.2555 ขณะที่พื้นที่ป่าชายเลนลดลงเหลือเพียง 3,800 ไร่ จากเดิมที่มีอยู่ถึง 20,500 ไร่ ทำให้ชาวบ้านขุนสมุทรจีนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินสำหรับการทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพ จนต้องเปลี่ยนอาชีพจากประมงชายฝั่ง และเลี้ยงสัตว์ทะเลชายฝั่ง มาเป็นลูกจ้าง เพราะไม่มีที่ทำมาหากิน และได้รับผลกระทบจากธรรมชาติ

 

ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่นี้ หลังจากข่าวความเดือดร้อนจากธรรมชาติของชาวบ้านขุนสมุทรจีนเผยแพร่ออกไปทั่วโลก เพื่อสื่อถึงการ “เอาคืน” ของธรรมชาติ หลังความตื่นตัวเรื่องของปัญหา “ภาวะโลกร้อน” แต่การทำงานของทุกหน่วยงานกลับไม่พบว่ามีการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง  มีการคิดค้นรูปแบบต่าง ๆ ในการลดปัญหาความรุนแรงของคลื่น ที่เชื่อว่าจะลดการกัดเซาะได้ลง ไม่ว่าจะเป็นการ ทำเขื่อนไม้ไผ่ หลากรูปแบบจากหลายหน่วยงานหลายสถาบัน การทิ้งหิน หรือ การใช้ เสาคอนกรีตสร้างแนวกันคลื่น แต่เกือบทุกโครงการก็มักจะประสบปัญหาต่าง ๆ จนไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          “สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ การหยุดการกัดเซาะ แต่ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามา แต่ก็เป็นการดำเนินการที่ไปคนละทิศละทาง ไม่ไปทางเดียวกัน ทำให้ความคิดไม่ตกผลึก เพราะไม่มีเจ้าภาพ ตอนนี้ที่ชาวบ้านมองคือ รัฐบาลน่าจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหานี้ ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก แต่ไม่รู้ว่าจะพึ่งใครได้ สิ่งที่อยากได้คือถ้าหากจะทำเขื่อนก็อยากให้ออกไปแค่ 1-2 กิโลเมตรก็พอ เพราะมิฉะนั้นก็จะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านทำประมงก็ไม่สามารถทำมาหากินได้อีก และยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย” นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า ในฐานะตัวแทนชาวบ้านกล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวขุนสมุทรจีน

 

 

ผญบ.ระบุจะทำอะไรขอให้ฟังเสียงชาวบ้านด้วย

 

 

 

ขณะที่นางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านแหลมฟ้าผ่า กล่าวว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านขณะนี้ คือการขาดที่ดินทำกิน หลายครอบครัวไม่มีบ้านอยู่ เพราะที่ดินหายไปกับทะเล ขณะเดียวกันเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 มีการระบายน้ำเสียจากกรุงเทพฯ ลงมาในทะเลอ่าวไทย ทำให้สัตว์ทะเล ที่ชาวบ้านอาศัยเป็นแหล่งทำมาหากินตายหมด กระชังปลาต่าง ๆ ของชาวบ้านก็ตายเกือบหมด ชาวบ้านขาดทุน จนแทบไม่มีอะไรกิน จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาเรื่องนี้ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นก็คือ การ แนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลจะต้องรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านด้วย ว่าจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

          “ถ้าจะสร้างเขื่อนอะไร ควรแจ้งให้ชาวบ้านทราบด้วย ว่าจะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลถึงชาวบ้านหรือไม่ ไม่ใช่การทำโดยคิดว่าช่วย แต่มันไม่ใช่ เพราะชาวบ้านต้องอยู่ตรงนี้ ไม่มีทางไปไหน การจะทำอะไรก็ต้องฟังคนในพื้นที่ เพราะหากเกิดอะไรขึ้น คนที่จะแย่ก็คือชาวบ้านที่นี่นั่นเอง” นางสมรกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: