ชำแหละคำพิพากษาศาล คดีจ้างฆ่าเจริญ วัดอักษร

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 2 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3144 ครั้ง

 

จากเหตุสะเทือนขวัญเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 มือปืน 2 คนกระหน่ำยิง ‘เจริญ วัดอักษร’ ผู้นำชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกอย่างอุกอาจ จนเสียชีวิตคาที่ ชาวบ้านต่างลงความเห็นว่า ความสูญเสียนี้เป็นผลมาจากการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ต.บ่อนอก และเปิดโปงการบุกรุกที่ดินสาธารณะของกลุ่มอิทธิพล และยิ่งเน้นย้ำ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ‘ธนู หินแก้ว’ จำเลยที่ 3 ในคดี ฐานะผู้จ้างวานฆ่า จากหลักฐานพยานผูกมัดชัดเจน

 

จนมาเกิดเหตุพลิกผัน เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต เป็นให้ยกฟ้องจำเลยในคดี

 

ด้วยเหตุผล “โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจฟังลงโทษนายธนูได้ จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวนายธนูพ้นความผิดไป”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรณีดังกล่าวสร้างข้อกังขาต่อบรรทัดฐานการพิพากษา ให้เกิดขึ้นในสังคม

 

และคำพูดที่ว่า “หลักฐานครบ แต่จบที่ยกฟ้อง” จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านตั้งคำถาม

 

วันที่ 28 เมษายน กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และสมาคมนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ ‘ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร’ แจกแจงข้อมูลในมุมวิชาการและชาวบ้านต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 

 

คดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’

 

โจทก์: พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1

 

จำเลย: นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

 

อย่างไรก็ตาม มือปืนทั้งสองได้เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำ จากอาการระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ก่อนขึ้นให้การต่อศาล โดยนายประจวบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 ส่วนนายเสน่ห์ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549

 

นายธนู หินแก้ว ทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว สจ.ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก บิดาจำเลยที่ 3 และ 4 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 3-5 ในความผิดฐานร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

 

พิพากษาศาลชั้นต้น: วันที่ 30 ธันวาคม 2551ศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 2945/2547 พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้องให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้อง

 

ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง โดยโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4-5

 

พิพากษาศาลอุทธรณ์: วันที่ 15 มีนาคม 2556 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2865/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 22467/2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และในส่วนจำเลยที่ 4 และ 5 พิพากษายืนยกฟ้อง 

 

 

 

แจงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ชี้ช่องโหว่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจงกรณีที่มือปืนรับสารภาพในชั้นสืบสวน แต่ตายไปเสียก่อน ไม่มีโอกาสขึ้นเบิกความในศาล ทำให้แม้จะมีหลักฐานอื่นๆ แวดล้อมแต่ก็ไม่สามารถลงโทษผู้จ้างวานฆ่าได้ จากคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่มีความแตกต่างกัน

 

ศาลชั้นต้นได้อาศัยคำให้การของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีพยานหลักฐานระบุชัดเจนว่าเป็นผู้ลงมือฆ่านายเจริญ วัดอักษร และได้รับสารภาพแล้ว แม้ว่าทั้งสองไม่ได้มีโอกาสมาให้การในชั้นศาล ซึ่งศาลเรียกพยานนี้ว่า ‘พยานบอกเล่า’ โดยเจ้าพนักงานสอบสวน นำเอาสำนวนสอบสวนมาแสดงต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ซึ่งตายไปแล้ว ได้ให้การเจ้าพนักงานสอบสวนว่าอย่างไรบ้าง

 

และแม้ว่า จำเลยทั้งสองจะมาให้การต่อศาลในฐานะ ‘ประจักษ์พยาน’ ว่าได้มีการจ้างวานฆ่าจริงหรือไม่ แต่คำให้การที่เป็นประจักษ์พยานนี้ก็มีข้อโต้แย่งได้ เพราะเป็น ‘พยานซัดทอด’ ของผู้ที่ร่วมกันกระทำความผิด ซึ่ง ‘พยานซัดทอด’ นี้มีฐานะเช่นเดียวกันกับ ‘พยานบอกเล่า’

 

นั่นคือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถือว่า เป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อยแต่รับฟังได้ หากมีส่วนช่วยในการแสวงหาความจริง

 

คำพิพากษาศาลชั้นต้น นำเอา ‘พยานบอกเล่า’ มาประกอบเข้ากับพยานหลักฐานอื่นๆ อาทิ 1.ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนที่อยู่ความครอบครองของครอบครัวจำเลยที่ 3 2.ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับ จำเลยที่ 3 ในฐานะคนที่มีความสนิทชิดเชื้อ 3.จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมได้ ณ สถานที่ทำการของจำเลยที่ 3

 

การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ของจำเลยที่ 3 และจำเลยคนอื่นๆ เมื่อกระทำความผิดยังไปอาศัยอยู่ในบ้านของผู้อุปถัมภ์ ทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะบุคคลซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์นั้นจะสามารถให้ความคุ้มครองได้ หรือหากหนีไปจะทำให้ผู้อุปถัมภ์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมด้วย

 

และ 4.มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน อันเนื่องมาจากผู้ตายได้กระทำการซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 และพรรคพวกได้รับความเสียหาย หรือโกรธแค้นเป็นเหตุจูงใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ การให้การของ ‘พยานบอกเล่า’ เป็นการให้การต่อหน้าทนายของจำเลยซึ่งก็ไม่ได้คัดค้านหรือให้ข้อแนะนำเพื่อโต้แย้ง อีกทั้งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้นร่วมรับฟังด้วย ดังนั้นการที่ ‘พยานบอกเล่า’ หรือ ‘พยานซัดทอด’ มีบุคคลอื่นนั่งรวมอยู่ด้วย จึงเป็นข้อที่แสดงได้ว่าไม่ได้ถูกชักนำ การข่มขู่ หรือชักจูงใจ เป็นการให้การโดยสมัครใจและมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำซักถามของตำรวจ

 

ศาลชั้นต้น ยังพิจารณาด้วยว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ซัดทอดไม่น่าจะเป็นการใส่ร้าย เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์กันมาก่อน อีกทั้ง แม้ให้การไปก็ไม่พ้นผิด เพราะไม่ได้มีคำมั่นสัญญาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าจะถูกกันไว้เป็นพยานแต่อย่างใด

 

พยานหลักฐานมีน้ำหนักมากพอ ศาลอาญาในชั้นต้นจึงเชื่อโดยสนิทใจว่าจำเลยกระทำความผิด ให้ลงโทษประหารชีวิต

 

ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำนวน 26 หน้า มีสาระสำคัญคือ

 

1.ข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้น เป็นแต่เพียงพยานบอกเล่า แม้มีหลักฐานอื่นระบุว่าจำเลยที่ 3 ขับรถไปที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ หินแก้ว ก่อนที่จะมีการยิงกัน และจำเลยที่ 3 เป็นผู้มอบอาวุธปืนให้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำความผิด นอกจากนั้นแล้วโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก

 

2.คำให้การต่างๆ ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ว่าในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน หรือการชี้นำที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น และก็เป็นคำซัดทอดที่อ้างว่าผู้อื่นร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้รับฟังน้อย และศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

 

3.นอกจากนั้นแล้วไม่มีพยานหลักฐานอีก

 

            “เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันเป็นเหตุผลอันแน่นอน หรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดฐานจ้างวานให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้น” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ยกเหตุเพียงเหตุเดียว นั่นคือ คำให้การเป็นคำให้การแบบ ‘พยานบอกเล่า’ และ ‘พยานซัดทอด’ ในขณะที่ศาลชั้นต้นระบุเหตุผลประกอบหลักฐานเพื่อชั่งนำหนัก ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงแต่เขียนว่า ‘ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย’

 

ทั้งนี้ โดยหลักของการวินิจฉัยคดีแล้ว การวินิจฉัยคดีดังกล่าวถือว่าไม่ได้ให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาให้ชัดแจ้ง

 

            “เมื่อศาลไม่ได้หยิบยกเอาข้อซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญในกฎหมาย ว่าจะต้องชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่น แล้วทำคำพิพากษาไปเลย คำพิพากษานี้จึงเป็นคำพิพากษาที่บกพร่อง” ดร.กิตติศักดิ์ ชี้ช่องโหว่ของคำพิพากษาศาลปกครองที่ไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด

 

พร้อมระบุว่า ตรงนี้อาจเป็นไปได้ที่ศาลฎีกาจะหยิบยกมาพิจารณา ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อความในสำนวน

 

ดร.กิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวบ้านคิดและสรุปเอาเองว่าไม่สามารถเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมได้ และการนำเรื่องนี้มาพูดกันถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งจะมีประโยชน์มากขึ้นอีกหากศาลในชั้นสูงขึ้นไปอาจหยิบยกประเด็นที่พูดคุยกันมาพิจารณาด้วย พร้อมยกตัวอย่างคดีใหญ่ คือคดีจ้างวานฆ่าโกโหลน (2526-2530) ซึ่งศาลฎีกาตัดสินโดยใช้พยานซัดทอดและพยานบอกเล่ามาชั่งนำหนักตัดสินโทษผู้กระทำผิด และคดีกำนันเปาะ (2546-2555)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนนายสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นอดีตอัยการ มองว่าเมื่อเอาเรื่องมาร้อยเรียงกันจะเห็นการกระทำผิดเป็นขบวนการของจำเลยทั้ง 5 คน และในส่วนพนักงานอัยการเห็นคดีมีมูลจึงสั่งฟ้องได้ ส่วนในกระบวนการต่อไปเชื่อว่าอัยการจะยื่นฎีกาคดีอย่างแน่นอน

 

นายสุรสีห์ แสดงความเห็นต่อมาว่า ในชั้นศาลฎีกามีแนวโน้มที่คดีอาจพลิกอีกครั้ง หากพิจารณาดูเหตุจูงใจ หลักฐาน พยานบุคคล และเพียงพอจะลงโทษจำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้ด้วยซ้ำไป

 

 

เติมประเด็นเหตุการณ์ ‘วันปลิดชีพ’ ถึง ‘การอุทธรณ์คดี’

 

 

ด้านน.ส.กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภรรยาผู้เสียชีวิต เล่าถึงลำดับเหตุการณ์ของคดีว่า มือปืนไม่ได้ถูกจับได้ในวันก่อเหตุ แต่มีประจักษ์พยาน 2 คน อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมือปืนทั้งสองมานั่งกินเหล้าเพื่อรอดักยิงนายเจริญ ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่ม ถึงประมาณ 3 ทุ่ม ทำให้พยานจำหน้าจำเลยได้ และมีพยานคนหนึ่งที่รู้จักกับผู้ก่อเหตุเป็นการส่วนตัว

 

ต่อมา นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว สองมือปืนยอมรับว่ามีพยาน 2 คนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย มีหลักฐานบันทึกการสอบสวนในทุกขั้นตอน บันทึกเป็นวีดิโอ 8 ม้วน ถูกส่งขึ้นสู่ศาล

 

หลังจากนั้นมีการออกหมายจับกุม โดยนายเสน่ห์จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในวันที่ 29 มิถุนายน 2547 และนายประจวบ ถูกจับกุมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ที่บ้านนายธนูเช่นเดียวกัน

 

ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองรับสารภาพว่าเป็นมือปืนยิ่งนายเจริญ โดยคนที่ใช้และสังการคือนายธนู จำเลยที่ 3 ส่วนอาวุธปืนนายธนูเป็นผู้จัดหามาให้มี 2 กระบอก และในวันที่เกิดเหตุนายธนูเป็นผู้ขับรถมาส่งนายประจวบให้เจอกับนายเสน่ห์ที่ปั๊มของกำนันเจือ หินแก้ว (จำเลยที่ 5) ซึ่งนายเสน่ห์พักอาศัยอยู่ และห้องพักดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ใช้วางแผนร่วมกันกับนายธนู ก่อนก่อเหตุ 1 สัปดาห์

 

น.ส.กรณ์อุมากล่าวด้วยว่า ตามคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน นายประจวบ พักอาศัยอยู่กับนายธนูเนื่องจากเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ช่วยเหลือนายธนูโดยช่วยเลี้ยงหมู ส่วนนายเสน่ห์นอกจากมีอาชีพทำไร่ ช่วงหนึ่งเคยเป็นยามของโรงไฟฟ้า หลังจากหมดการว่าจ้างจากโรงไฟฟ้าได้มารับใช้นายธนู และสจ.มาโนช (จำเลยที่ 4) โดยเป็นคนขับรถ

 

หลังก่อเหตุจำเลยทั้งสองหลบหนีและนำปืนไปทิ้งที่หนองน้ำ ซึ่งเมื่อถูกจับกุมก็นำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเก็บเอาอาวุธปืนทั้ง 2 กระบอกคืนมาได้ และพาไปชี้ปั๊มน้ำมันของกำนันเจือว่าเป็นสถานที่ซึ่งนำวัตถุพยานคือเสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะก่อเหตุไปเผาทำลาย

 

เหล่านี้คือหลักฐานซึ่งบรรจุอยู่ในสำนวนที่ส่งขึ้นศาล และมีการรับรองจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า ปืนที่ยึดมาได้ทั้ง 2 กระบอก ปลอกกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ หัวกระสุนที่ผ่าออกมาได้จากศพเจริญและที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากปืนกระบอกเดียวกัน

 

ส่วนมูลเหตุจูงใจ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานที่ระบุได้ว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า และสูญเสียประโยชน์จากการคัดค้านโรงไฟฟ้า จากเอกสารของบริษัทโรงไปป้า แสดงให้เห็นว่ากำนันเจือเป็นประธานกองทุนโรงไฟฟ้า หากโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างก็จะไม่ได้รับ และมูลเหตุจูงใจอีกข้อหนึ่ง คือเสียผลประโยชน์จากกรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธง 937 ไร่ ซึ่งจำเลยที่ 3-5 ได้เข้าไปทำนากุ้งและเดินเรื่องออกโฉนด แต่ถูกกลุ่มชาวบ้านคัดค้านและเรียกร้องเอาผิดฐานบุกรุกจนเป็นคดีความ

 

ทั้งนี้ ในคดีของนายเจริญมีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคดี ทั้งกองปราบปราม ตำรวจสสอบสวนกลาง ตำรวจภาค 7 และตำรวจในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงโอนคดีไปกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ

 

น.ส.กรณ์อุมากล่าวถึงของสังเกตต่อการพิจารณาคดีของศาลที่มีความแตกต่างกันด้วยว่า ในศาลชั้นต้นระบุว่า ‘จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมีพยานหลักฐานมาหักล้างกับพยานฝ่ายโจทก์ได้’ เพราะเป็นการสืบจำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว รับรองตัวเองว่าไม่ได้ทำผิด ขณะที่ฝ่ายโจทก์มีพยานแวดล้อม ประจักษ์พยาน และหลักฐานมากมาย 

 

แต่ศาลอุทธรณ์กลับระบุว่า ‘โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน’ 

 

ดังนั้น วันนี้ชาวบ้านจึงต้องการมานำเสนอข้อเท็จจริงและกระบวนการให้รับรู้กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ความเป็นธรรม ไม่ควรถูกชี้ขาดโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

 

 

น.ส.กรณ์อุมา แสดงความเห็นว่า โดยกลไกลของอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ เพราะเชื่อว่าคดีออกแบบได้ จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการทำหน้าที่ของอัยการ การที่จำเลย 2 คนที่เป็นมือปืนตายในระหว่างคุมขัง

 

อีกทั้ง จำเลยซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้รับการประกันตัวมาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นจับกุมที่นายธนูเข้ามอบตัว จนเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินพิพากษาประหารชีวิตก็ยังได้รับการประกันตัว ท่ามกลางการมาคัดค้านของชาวประจวบ 6 คันรถบัส และล่าสุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้พยานหลักฐานต่างๆ ไม่มีนำหนักพอที่จะรับฟังได้

 

น.ส.กรณ์อุมา กล่าวว่า สำหรับชาวบ้านที่อยู่ในห้องประชุมวันนี้เห็นตรงกันว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่มีความเป็นธรรม และมีหลักฐานพยานมากมายที่คิดว่าหากไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริง เอาหลักฐานที่อยู่ในสำนวนคดีของศาลมาพูดคุยให้สังคมรับรู้ในวันนี้ ชาวบ้านคงแค่ได้พูดไปต่างๆ นานาว่าไม่เป็นธรรม และคนหลายๆ คนในสังคมนี้ก็อาจเข้าใจได้ว่าเราคิดเอาแต่อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง

 

ดังนั้น คำพิพากษาที่มันแตกต่างกันกับศาลชั้นต้น แตกต่างกันแบบขาวกับดำ ควรได้รับการตีแผ่สู่สังคม

 

            “วันนี้ความเป็นธรรม และความชอบธรรมที่นำไปสู่ความเป็นธรรม ไม่ควรถูกชี้ขาดโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มักใช้คำว่า ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ หรือ ‘ถูกต้องตามกฎหมาย’ มาเป็นผู้ชี้ขาด” น.ส.กรณ์อุมา ให้ความเห็น

 

ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวด้วยว่า กรณีการตายของเจริญที่วันนี้หลายคงกังขา ควรเอาข้อเท็จจริงออกสู่สังคม เพื่อให้สังคมชี้ขาดว่ามีความชอบธรรมหรือเป็นธรรมหรือไม่ กับคำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ ซึ่งส่วนตัวคงมีความเห็นเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้

 

พร้อมย้ำ เป้าหมายของชาวบ้านไม่ได้ต้องการประท้วงคำพิพากษา แต่ต้องการสร้างบรรทัดฐานและความกล้าหาญของสังคม หากเจอความอยุติธรรมต้องกล้าที่จะตรวจสอบ ทั้งระบุ หากปล่อยกระบวนการยุติธรรมทั้งศาล ตำรวจ อัยการทำหน้าที่อย่างบกพร่อง สังคมจะอยู่กันอย่างสงบสุข สันติสุขได้อย่างไร

 

                “ตอนนั้นที่เจริญเสียชีวิต เรามีการพูดคุยกันว่า ถึงที่สุดความเป็นธรรมอาจจะไม่เกิด เรามาคิดกันดีกว่าว่าทำอย่างไรให้การตายหรือศพของเจริญ ให้การเรียนรู้เกิดคุณูปการต่อสังคมมากที่สุดโดยเฉพาะกับกระบวนการยุติธรรม” ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: