‘เกษียร’แนะ‘รีโพซิชั่นนิ่ง’การเมือง ลดสุดโต่ง-เปิดพื้นที่ให้คนต่างขั้ว สร้างคู่สนทนาที่เข้มแข็งกับรัฐบาล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 2 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1486 ครั้ง

 

 

นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สังคมไทยค่อย ๆ ฟูมฟักความขัดแย้งจากการเมือง กัดกิน ร้าวลึก และแตกแยกกัน ชนิดพร้อมจะห้ำหั่นกับผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากตน สภาวะความสุดโต่งนี้มีให้เห็นจนแทบกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องปกติ ฝ่ายตรงข้ามผิดเสมอ ขณะที่ฝ่ายตนถูกเสมอ

 

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีความเข้มแข็งเช่นนี้ สภาวะการเมืองแบบสุดโต่ง ทำให้ไม่มีคู่สนทนาที่เข้มแข็งพอจะทัดทานการทำงานของรัฐบาลได้ เพราะจะถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลผลักไปเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองทันที ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศ เป็นข้อสังเกตของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เสนอให้มีการรีโพซิชั่นนิ่ง (Repositioning) ทางการเมือง

 

 

                “เพียงอาศัยสภาและการเลือกตั้ง แน่นอนว่ามีความชอบธรรมในการตัดสินใจ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่สามารถพูดแทนปัญหาทั้งหมดในสังคมนี้ มีปัญหาจำนวนมาก ที่หลุดจากการรับรู้เข้าใจของรัฐสภา จะให้มีรัฐที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์และอนาคตของลูกหลาน จำเป็นต้องมีบทสนทนาที่กว้างไปกว่าสภา ต้องสร้างพลังสังคมที่กว้างขวาง มาเป็นคู่สนทนากับรัฐสภาให้มากขึ้น แต่การเมืองเสื้อสีไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ เราต้องเลิกการเมืองแบบสุดโต่ง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เสรีนิยมใหม่ดันประชานิยมเบ่งบานทั่วโลก ไม่เฉพาะไทย

 

 

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 ยุคพรรคไทยรักไทย ทำให้ประเทศไทยรู้จักนโยบายประชานิยม นับแต่นั้น ‘ประชานิยม’ จึงกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ในระยะยาวแล้วจะเป็นการทำร้ายประเทศหรือไม่ ยิ่งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายประชานิยมดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้น จนสร้างความวิตกกังวลต่อสถานะทางการคลัง ทว่ามุมมองของดร.เกษียร กลับมองประชานิยมอย่างกลาง ๆ เพราะเมื่อพิจารณาอย่างจริงจังแล้วพบว่า ประชานิยมมิใช่สิ่งที่เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเนื่องจากผลพวงของลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่ถูกผลักดันโดยประเทศมหาอำนาจ และองค์กรทางเศรษฐกิจระดับโลก

 

ดร.เกษียรขยายความว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรในประเทศต่าง ๆ หมายถึงการดูดดึงทรัพยากรจากผู้คนตัวเล็ก ๆ ทั่วโลกเข้าสู่ตลาด เข้าสู่มือกลุ่มทุนใหญ่ ในทางการเมือง ประชาชนย่อมไม่สนับสนุนนักการเมืองที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ประชานิยมจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อชดเชย และตอบแทนแก่ผู้คนตัวเล็ก ๆ เจ้าของคะแนนเสียง ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

 

 

              “ท่าทีแบบประชานิยมเชิงนโยบาย คือด้านหนึ่งเดินตามเสรีนิยมใหม่ อีกด้านหนึ่งออกนโยบายประชานิยมเพื่อตอบแทน และชดเชยให้แก่คนตัวเล็ก ๆ ทั้งหลาย ให้เขาอยู่รอดได้ สิ่งนี้ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

 

 

ประชานิยมจึงถือเป็นเรื่องธรรมดาท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย เมื่ออำนาจที่เคยอยู่กับชนชั้นนำหลุดไปสู่ผู้เลือกตั้งมากขึ้น ศ.ดร.เกษียร ตั้งคำถามว่า การมีนโยบายประชานิยมเกิดขึ้นในกระบวนการแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องแปลกใจด้วยหรือ

 

 

               “ผมไม่อยากให้มองผู้เลือกตั้งเป็น Passive ที่รอรับอย่างเดียว ผมว่าเขามีความกระตือรือร้นกว่านั้น ภาพที่เรานึกคือจะมีคนคนหนึ่งอยู่บนหอคอย แล้วก็โยนนโยบายลงไป ชาวบ้านเป็นคนรอรับ แต่มันอาจจะกลับกันก็ได้ ไม่ได้แปลว่า จุดเริ่มมาจากคนบนหอคอยทุกนโยบาย”

 

 

 

การเมืองประชานิยมกีดกันคนเห็นต่างออกจากความเป็นประชาชน

 

 

การรีโพซิชั่นนิ่งทางการเมืองเกี่ยวข้องกับประชานิยมอย่างไร คำอธิบายของ ศ.ดร.เกษียรคือ นโยบายประชานิยมไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าวหรือรถคันแรก เนื่องจากไม่มีนโยบายใดที่สมบูรณ์แบบ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะนโยบายเหล่านี้เข้าไปอยู่ในการเมืองแบบประชานิยม-อำนาจนิยม ซึ่งถ้าไม่แก้ตรงจุดนี้ก็ต้องตามแก้เป็นนโยบาย ๆ ไปตลอด

 

นโยบายประชานิยมสามารถทำได้ บนเงื่อนไขที่ว่า ต้องมีกระบวนการเปิดให้สังคมและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีส่วนร่วม แต่การเมืองแบบประชานิยมที่ดำรงอยู่ในประเทศตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กลับเป็นกระบวนการทำนโยบายแบบปิดแคบและอำนาจนิยม

 

การเมืองแบบอำนาจนิยมตามที่ ศ.ดร.เกษียรกล่าว ประกอบด้วย 3 ไม่มี หนึ่ง-ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล สอง-ไม่มีความเป็นพหุลักษณะทางการเมือง และสาม-ไม่มี Legitimate Opposition

 

 

                “พอคุณเชื่อการเมืองแบบประชานิยม คุณเชื่ออะไร คุณเชื่อว่ามันมีอะไรอยู่ก้อนหนึ่งที่เรียกว่าประชาชน ในก้อนนี้ก็รวมผู้นำเสื้อเหลือง เสื้อแดง ผู้นำกลุ่มสนับสนุนทักษิณ ผู้นำกลุ่มต่อต้านทักษิณเข้าไปด้วย พวกที่คิดต่าง พวกที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นเอเลี่ยน ไม่ว่าคนเหล่านี้จะเป็นเอ็นจีโอ นักวิชาการ พ่อค้ายาบ้าในสมัยคุณทักษิณ หรือจะเป็นผู้ต้องการแก้มาตรา 112 หรือเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง พูดง่าย ๆ คือวิธีคิดแบบประชานิยมขีดเส้นจำกัดมากว่า นี่คือประชาชนเท่านั้น แล้วพวกที่อยู่ข้างนอกก้อนนี้เป็นพวกอื่น ไม่ใช่ประชาชน อีกนิดเดียวไม่ใช่คน แล้วก็รอนสิทธิพวกนั้น ไม่เห็นเขาเป็นคน ไม่เห็นเป็นคนที่ควรมีสิทธิ มีส่วนรวม ในการดำเนินนโยบาย ดังนั้น เวลาขีดเส้นแล้วบอกว่าประชาชน ก็จะคิดเหมือนกับว่าประชาชนเป็นองคาพยพ เป็นอวัยวะก้อนเดียวกัน เหมือนเป็นคนคนหนึ่ง มือห้ามทะเลาะกับตีนฉันใด ประชาชนที่อยู่ในก้อนประชานิยมภายใต้การนำอย่างนี้ก็ห้ามทะเลาะกันฉันนั้น มีเจตจำนงเดียว อาจจะมาจากดูไบหรือที่อื่นก็ได้ แล้วการผลักดันนโยบายก็ไปตามเจตจำนงนั้น ใครที่คิดต่างถูกกีดกันออกไป ไม่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน”

 

 

 

ประเด็นที่ ศ.ดร.เกษียรต้องการเน้นย้ำ คือการเมืองแบบเสื้อสีและแบบประชานิยมหลายปีที่ผ่านมา นิยาม ‘ความดี’ ไม่เหมือนกัน แล้วกีดกันคนที่เห็นว่าไม่ดีออกไปจากความเป็นประชาชน วิธีคิดของการเมืองประชานิยมแบบนี้จึงไม่มีที่ทางให้เกิดการทะเลาะ ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันเชิงนโยบาย

 

ข้อสรุปของ ศ.ดร.เกษียรคือ ถ้าต้องการแก้ปัญหานโยบายประชานิยม ต้องไม่ใช่การทะเลาะกันที่ตัวนโยบายใดนโยบายหนึ่ง แต่ต้องลงไปจัดการรากฐานของปัญหา ซึ่งก็คือการเมืองแบบประชานิยม-อำนาจนิยม หากไม่เปลี่ยนตรงนี้ ย่อมไม่สามารถเปิดกระบวนการนโยบายออก แล้วเชิญกลุ่มคนต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการถกเถียงได้เลย

 

 

 

รีโพซิชั่นนิ่ง ถอยห่างการเมืองเสื้อสี สร้างคู่สนทนาที่เข้มแข็งกับรัฐ

 

 

 

               “ผมจึงเห็นความจำเป็นของการรีโพซิชั่นนิ่งทางการเมืองของกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ ให้พ้นไปจากการเมืองแบบประชานิยมและเสื้อสี ถ้าจะแก้ปัญหาประชานิยมแต่ละอย่างที่มีปัญหา การเมืองแบบเสื้อสี การเมืองแบบประชานิยมเป็นอุปสรรค”

 

 

แน่นอนว่า ศ.ดร.เกษียร มิได้คิดว่าการเมืองเสื้อสีจะจบลงวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ยิ่งทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายที่อยู่บนเหตุผลและผลประโยชน์ของสังคมขยับห่างออกจากการเมืองเรื่องเสื้อสีได้มากเท่าใด ก็จะสามารถสร้างคู่สนทนาทางการเมืองที่ดีกับรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรม และมีอำนาจมากจากการเลือกตั้งได้

 

ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเหตุให้ผู้ที่แสดงความคิดเห็นถูกแขวนป้าย ไม่ว่าจะระมัดระวังอย่างไร และเมื่อถูกแขวนป้ายแล้ว ก็ไม่มีใครฟังสิ่งที่ผู้นั้นพูด

 

 

               “ทุกวันนี้ คำถามแรกที่เกิดขึ้นเวลาถกเถียงกันคือ พวกนี้เป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ถ้าคุณยังอยู่ในกรอบแบบนี้ คุณไม่มีทางสร้างฝ่ายค้านที่มีน้ำยาในระบอบประชาธิปไตย เพื่อจะทัดทานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีความเข้มแข็งได้ ในภาวะแบบนี้ ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีพลังฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสังคม เป็นคู่คุยกับรัฐบาลที่รัฐบาลต้องฟัง และบทสนทนานี้จะเริ่มขึ้นได้บ้างต้องออกห่างจากการเมืองเสื้อสี อันนี้คือข้อเสนอว่า ทำไมต้องรีโพซิชั่นนิ่งทางการเมือง แต่ตราบใดที่สังคมนี้ยังแบ่งออกเป็นสองฝ่าย รัฐบาลก็ไม่ต้องฟังใคร

 

 

                “ผมเห็นด้วยว่า มีมวลชนที่ไม่เห็นเหตุผลของการรีโพซิชั่นนิ่ง เพราะมันมีเรื่องที่ตกค้างมา ไม่ว่าจะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องความจริงและความเป็นธรรมกรณีการปราบปรามในปี 2553 แต่ผมรู้สึกว่ามวลชนจำนวนมากโดนผู้นำบอกว่า ต้องระวังรัฐประหารตลอดเวลา อีกฝั่งก็จะปลุกตลอดเวลาว่า พวกนั้นล้มเจ้า พวกนี้ล้มเจ้า เพื่อตรึงมวลชนของตนเองไว้ ซึ่งผมคิดว่าเลอะเทอะมาก ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น และยิ่งรัฐบาลอยู่นานขึ้น มีโครงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีความมั่นคงขึ้น ผมจึงคิดว่าได้เวลาที่ต้องคิดเรื่องนี้แล้ว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จะรีโพซิชั่นนิ่งต้องถอยจาก‘การเมืองแบบสุดโต่ง’

 

 

เมื่อขอให้อธิบายวิธีการรีโพซิชั่นนิ่งทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ว่าต้องทำอย่างไร ศ.ดร.เกษียร ตอบว่า ไม่สามารถให้คำตอบแบบ How To แทนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้ แต่กลุ่มการเมืองและวงการวิชาชีพต่าง ๆ จะต้องทำความเข้าใจนิยามและลักษณะทั่วไปของ ‘การเมืองแบบสุดโต่ง’ เพื่อประยุกต์ความเข้าใจนี้ไปรีโพซิชั่นนิ่งตัวเอง

 

 

               “ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับ บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) ทางเฟซบุ๊คโดยเริ่มจากข้อสังเกตของเขาที่ว่า กลางสุดโต่งหมายถึงด่าทั้งสองฝ่าย เลวทั้งคู่ คนประเภทนี้ผมนับเป็นพวกสุดโต่งอีกประเภทหนึ่ง ความไม่สุดโต่งไม่ว่าจะเหลือง แดง ขาว หรือกลาง จะต้องมองเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของแต่ละฝ่าย นี่จึงไม่สุดโต่ง

 

 

 

               “ผมเห็นด้วยกับบก.ลายจุดว่า การด่าประณามฝ่ายอื่นทั้งหมด มองเห็นแต่ข้อดีด้านเดียวหรือข้อด้อยด้านเดียวของฝ่ายอื่น เป็นท่าทีหนึ่งที่สะท้อนความสุดโต่งทางการเมือง แต่กระนั้นผมคิดว่าหัวใจสำคัญของการสุดโต่งทางการเมืองอยู่ที่อื่น และถือโอกาสนั้นอภิปรายถึง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร.เกษียรยกตัวอย่างว่า ฝ่ายหนึ่งมีอุดมการณ์รักชาติ ต่อต้านคอร์รัปชั่น ถือเป็นข้อดี ข้อไม่ดีอยู่ตรงเพื่อชาติ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น ถึงกับใช้วิธีการรัฐประหาร บิดเบือนให้ร้าย ปลุกปั่นทางสื่อให้เกลียดชังกันจนคนลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันกลางถนน ขณะที่อีกฝ่ายมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ความไม่เสมอภาคทางการเมือง ก็ถือเป็นข้อดีเช่นกัน แต่ข้อไม่ดีคือเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องความเสมอภาคทางการเมือง ถึงกับทำให้มองข้ามคุณค่าชีวิต และความเป็นคนของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามทางการเมือง พร้อมที่จะมองดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างแน่วนิ่ง ตราบที่ไม่โดนพวกเดียวกัน

 

ในความเข้าใจของดร.เกษียร แก่นสารสาระของความสุดโต่งคือ เพื่อเป้าหมายที่ดีอย่างหนึ่งแล้ว ยอมละเลย กระทั่งทำลายเป้าหมายที่ดีอย่างอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งที่การเมืองมีเป้าหมายอันดีงามหลายอย่าง สะท้อนผ่านชีวิตมนุษย์ปุถุชนที่ย่อมมีหลายมิติหลายแง่มุม โดยที่แต่ละมิติแต่ละแง่มุม ก็ต้องการความดีงาม ความเหมาะสม ความเป็นเลิศที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทว่า สำหรับการเมืองสุดโต่งแล้ว เพื่อเห็นแก่เป้าหมายหนึ่งเดียวที่ดีงามนั้น กลับไม่เลือกวิธีการที่ใช้บรรลุเป้าหมาย แต่จะใช้วิธีการเลวร้ายต่ำช้าสกปรกอย่างไรก็ได้ และที่ตลกร้ายก็คือเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดีงามหนึ่ง ๆ นั้นได้

 

การไม่สุดโต่งจึงไม่ใช่แค่เห็นข้อดีและข้อไม่ดีของแต่ละฝ่าย แต่คือเข้าใจว่าชีวิตทางการเมืองมีความซับซ้อน หลากหลายมิติ มีคุณค่าความดีหลายอย่างที่แต่ละคนต้องการบรรลุ ผู้ที่รักชาติก็สามารถรักประชาธิปไตยได้ ผู้ที่ไม่ชอบคอร์รัปชั่นก็สามารถเห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของบุคคลพลเมืองได้

 

 

              “ในการจะบรรลุเป้าหมายคุณค่าที่ดีงามอย่างหนึ่ง อย่าบ้าคลั่งมันหรือลุ่มหลงหน้ามืดกับมัน จนหักหาญทำลายคุณค่าอื่น ๆ ลงหมด ถ้าทำแบบนั้นคือ บ้าคลั่งสุดโต่ง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร.เกษียรย้ำว่า ถ้าไม่เลือกวิธีการที่ใช้สกปรกต่ำช้าอย่างไรก็ได้ ก็คือความบ้าคลั่งสุดโต่งเหมือนกัน การไม่สุดโต่ง คือยึดหลักจริยธรรมของวิธีการ (The ethics of means, The moral unity of the means and the end) ซึ่งแปลว่า เป้าหมายดี ต้องใช้วิธีการที่ดีงาม เพื่อบรรลุเป้าหมายด้วย จะใช้วิธีการที่เลวเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องมีเอกภาพความสอดคล้องทางจริยธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ จึงจะถือว่าไม่สุดโต่ง

 

 

             “ประเด็นจึงไม่ใช่การไม่เลือกสีโดยตัวมันเอง แต่คือไม่ยอมรับความบ้าคลั่ง ยึดติดเป้าหมายเดียว ทำลาย ละเลยเป้าหมายอื่นทั้งหมด ในนามของสีใดสีหนึ่ง

 

              “ประเด็นจึงไม่ใช่การไม่เลือกสีโดยตัวมันเอง แต่ไม่ยอมรับการไม่เลือกวิธีการ ไม่ว่าจะผิดร้ายอย่างไร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เชื่อว่าดีงาม ในนามของสีใดสีหนึ่ง

 

              “ประเด็นจึงไม่ใช่การไม่เลือกสีโดยตัวมันเอง แต่คือเลือกข้างคุณค่าชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะสีไหน ฝ่ายใด จุดเริ่มต้นไม่ใช่การไม่เลือกสี แต่ไม่เลือกไม่ว่าข้างไหน ถ้าใช้การเมืองที่สุดโต่งดังกล่าวนั้น ไม่ว่าในนามของสีใดก็แล้วแต่”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: