ทัวร์ยกเลิกหนีเสม็ด-รายได้ท่องเที่ยววูบ ผลจาก'สารขจัดน้ำมัน'ต้องรออีกระยะ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 2 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1779 ครั้ง

 

ยังคงเป็นวิกฤติที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องสำหรับเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วจากท่อส่งของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จนกลายเป็นข้อถกเถียงแตกประเด็นไปมากมาย แต่ประเด็นหลักยังคงมุ่งไปเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศในทะเล ตั้งแต่น้ำทะเล ทราย ดิน หิน ปะการัง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะครบน้ำมันและกระบวนการกำจัดคราบน้ำมันดังกล่าวด้วย

นักวิชาการกังวลสารเคมีขจัดคราบน้ำมันทำลายระบบนิเวศ

ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงประเด็นหนึ่ง คือการขจัดคราบน้ำมันด้วยสารเคมี เนื่องจากมีการระบุว่า ได้ฉีดสารเคมีลงไปในคราบน้ำมันในช่วงเกิดเหตุจำนวนมาก แต่ไม่มีการเปิดเผยว่า สารเคมีดังกล่าวคือสารเคมีชนิดใด ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คาดเดาไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักวิชาการทางทะเลที่พากันออกมาวิเคราะห์ในประเด็นนี้

ก่อนหน้านี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคนแรกที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยระบุว่า การใช้สารกำจัดคราบน้ำมันที่ช่วยให้น้ำมันแตกตัวและกระจายกันก่อนจมลงสู่ทะเลนั้น ต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้ในทะเลตื้นที่มีความลึกน้อยกว่า 20 เมตร เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะการใช้สารเคมีในระดับน้ำตื้น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ที่มีสัตว์น้ำจำนวนมาก ดังนั้นหากนำมาใช้จริง ควรอธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนถึงการรับมือให้ชัดเจน เช่น ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันไปอย่างไรบ้าง จะมีคราบน้ำมันหลุดไปถึงชายหาดใดบ้าง เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่เตรียมรับมือ เป็นต้น

ขณะที่นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กช่วยขจัดน้ำมันที่เหลือออกไปได้เอง ส่วนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ต้องดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้จะต้องมีการเปิดเผยสารเคมีที่ใช้ให้กับสังคมรับทราบด้วย เพราะสารเคมีบางชนิดมีอันตราย เช่น สาร Corexit ที่เคยใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วลงทะเลในอ่าวเม็กซิโก ทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างยาวนาน และทำให้เกิดอันตรายต่อคนด้วย จึงควรให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดเผยชื่อของสารเคมีที่ใช้แก้ปัญหาในครั้งนี้ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ช่วยเสนอแนะ และพร้อมให้การช่วยเหลือ

            “สิ่งที่น่ากังวลก็คือผลกระทบที่ตามมาหลังจากมองไม่เห็นคราบน้ำมันบนผิวน้ำแล้ว รวมทั้งสารตกค้างที่สะสมอยู่ในทะเล หากสัตว์น้ำขนาดเล็กกินอาหารที่มีสารตกค้างสะสมเข้าไป แล้วเราบริโภคสัตว์น้ำก็อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ทางออกในตอนนี้คือ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และต้องติดตามผลหลังจากน้ำมันหายไปด้วย เช่น ชาวประมงยังสามารถจับปลาได้เท่าเดิมหรือไม่ หรือเด็กคลอดใหม่ได้รับผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่” นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลระบุ

ปตท.ระบุใช้ Dasic Slickgone NS ขจัดคราบน้ำมัน

อย่างไรก็ตามในการแถลงข่าวของ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีการเปิดเผยเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในการขจัดคราบน้ำมันในประเทศไทย โดยมีเอกสารชี้แจงเรื่อง ชนิดของสารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดชนิดของสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (dispensant) ที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย โดยหน่วยงานของไทย ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลของประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษจึงยึดถือชนิดของสารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เชื่อถือได้ของประเทศต่าง ๆ ดังนี้คือ

Ministry of Agriculture , Fishenes and Food (MAFF)

U.S Environmental Protection Agency (U.S EPA)

Australian Maritime Safety Authority (AMSA)

Marine and Port  Authority of Singapore (MPA Singapore)

โดยจะต้องตรวจสอบวันหมดอายุของชนิดสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ที่อนุญาตให้ใช้ได้ โดยอ้างอิงกับรายการที่ได้รับอนุญาต (Aporoved list) ที่ทันสมัยที่สุด และผู้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้อย่างเคร่งครัดด้วย

โดยสำหรับสารเคมีที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ใช้ในการขจัดสารเคมีครั้งนี้คือ Dasic Slickgone NS โดยตามหลักการพื้นที่ปิดจะใช้ 1:20 แต่ในกรณีนี้เป็นพื้นที่กว้างมาก ในการพ่นสารเคมีลงในท้องทะลหากเทียบพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการใช้ในลักษณะ 1:1 ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้อนุญาตให้ มีการใช้สารเคมีชนิดนี้ไปแล้ว 5,000 ลิตร

            “ยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างมีขั้นตอน สำหรับสารเคมีที่ใช้ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และเป็นสารชีวภาพที่จะสลายไปตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีการติดตามผลกระทบจากสัตว์ทะเล ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดและพร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง” นายไพรินทร์กล่าว

เจ้าหน้าที่ประมงตรวจน้ำตลอดเวลาหวั่นสารตกค้าง

นอกจากผลกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว หลายฝ่ายยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย นางรัตนา มั่นประสิทธิ์  หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ ศูนย์ฯได้ประสานกับประมงจังหวัดระยอง ติดตามสถานการณ์ สังเกตสภาพน้ำ ประสานกับประมงพื้นบ้านพบว่า สภาพน้ำปกติไม่มีคราบน้ำมันปนเปื้อน ชาวประมงไม่มีความกังวล และต่อมาคือวันที่ 28 กรกฎาคมก็ออกไปสำรวจอีกครั้ง พบคราบน้ำมันเป็นวงกว้างประมาณ  2 ตารางกิโลเมตร เคลื่อนที่มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากเกาะเสม็ด  1 กิโลเมตร ทางศูนย์ได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ พบว่าคุณภาพน้ำ ความเค็ม อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง และปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีระดับปกติ ไม่มีความแตกต่างกัน บริเวณที่ปนเปื้อน ไม่มีสัตว์น้ำลอยตาย หรือแสดงอาการผิดปกติ

ต่อมานายวิมล จันทโรทัย อธิบดีกรมประมง เดินทางมาตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ พบว่า พื้นที่คราบน้ำมันครอบคลุมพื้นที่ประมงประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร ผ่านกองปะการังเทียม 5 กอง ๆ ใหญ่ที่สุดประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบริเวณนี้มีเรือทำการอยู่ประมาณ 534 ลำ รายได้ค่าเฉลี่ยอย่างต่ำวันละ 1,200-1,500 บาทต่อลำ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในเรื่องรายได้ จากการประมงที่สูญเสียไปบางส่วนในพื้นที่ที่พบคราบน้ำมัน

ห่วงหอยรับสารพิษมากที่สุดเพราะเคลื่อนที่ช้า

ส่วนกรณีที่พบซากปูมีคราบสีดำติดอยู่ โดยเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบพบว่า ปูดังกล่าวตายมาแล้ว 2-3 วัน คราบสีดำติดปู คาดว่า 90 เปอร์เซนต์ เป็นสาเหตุจากการจมน้ำ ติดโคลนจากการวางอวนของชาวประมง แต่เพื่อความมั่นใจได้นำซากปูดังกล่าว ไปให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบอีกครั้ง ว่ามีส่วนประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันหรือไม่ เนื่องจากกรมประมงเอง ไม่มีแล็บตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามกรมประมงเก็บตัวอย่างน้ำทะเลจากชาวประมงทุกวัน เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมัน รวมทั้งการตรวจสอบโลหะหนัก และการปนเปื้อนของปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนด้วย นอกจากนี้ได้ตรวจสอบกระชังปลา ฟาร์มหอย 10 แห่ง หน้าเทศบาลตำบลเพ อ่าวเพ ปากคลองแกลง และอีก 30 รายที่มีฟาร์มหอย ปากคลองละวน  พบว่าคุณภาพน้ำปกติ สารโลหะหนักอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก

            “สิ่งที่เป็นห่วงคือ ให้ตรวจสอบบริเวณใต้ท้องทะเล ว่ามีการปนเปื้อนของน้ำมันหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเทียม เบื้องต้นทราบว่า จากการดำน้ำของเจ้าหน้าที่ประมง มีการลอยตัวตะกอนน้ำมันลึก 5 เมตรใต้ผิวน้ำทะเล ปะการังเทียมส่วนใหญ่วางอยู่ที่ความลึก 10-15 เมตร ถ้าตะกอนน้ำมันละลายโดยแบคทีเรียธรรมชาติ  ระยะ 5 เมตรก็จะไม่กระทบต่อปะการังเทียม แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น แต่คราบน้ำมันตกลงไปจะเป็นปัญหาหนัก โดยเฉพาะสัตว์เคลื่อนที่ช้าเช่น กลุ่มหอย จะมีการขับถ่ายสารพิษออกมาได้น้อย ไม่เหมือนปลาที่จะขับถ่ายได้มากกว่า หอยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักในเรื่องนี้ เบื้องต้นชาวประมงได้รับผลกระทบไม่หนักมาก เหมือนที่กังวล เพราะชาวประมงไปหาปลาปูได้ตามปกติ แต่ก็มีความกังวลของกลุ่มผู้บริโภคที่ห่วงเรื่องสารตกค้างในอาหาร แต่ยืนยันเบื้องต้นว่า ไม่พบโลหะหนักที่มีนัยสำคัญในอาหารทะเล แต่จะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทุกวัน ก่อนที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบ

ปตท.รับปากชาวประมงจะดูแลผลกระทบทุกอย่าง

นายคมเดช  รัตนพรวารีสกุล นายกสมาคมเรือประมงพาณิชย์ จ.ระยอง กล่าวว่า เรื่องนี้จะจบภายในสองถึงสามวันไม่ได้ เพราะมีน้ำมันตกค้างในผิวน้ำ หิน จะต้องใช้เวลาในการเยียวยา แต่ปตท.รับปากแล้วว่าจะช่วยเหลือทุกบาททุกสตางค์ทุกคน ดังนั้นจึงขอให้มองในแง่บวกบ้าง ไม่มองในแง่ลบ อย่างไรก็ตามอยากให้ปตท.แก้ปัญหาให้ทันการณ์กว่านี้ ปรับปรุงเครื่องมือให้พร้อม เพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และจะต้องดูแลผู้เสียหายด้วย โดยเฉพาะประมงขนาดเล็ก

นายวีรศักดิ์ รณรงค์ ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นที่บ้าน กล่าวว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เป็นข่าวอยู่ เกิดจากการปนเปื้อนของคราบน้ำมันจริงหรือไม่ ถึงแม้จะเข้าใจว่าต้องการรักษาภาพพจน์ แต่ชาวประมงก็เดือดร้อนต้องให้มาคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ตอนนี้ได้รับผลกระทบแล้ว เพราะก่อนหน้านี้จับปลาได้วันละ 100 กิโลกรัม ตอนนี้เหลือเพียง 20 กว่ากิโลกรัม แต่ขายได้เพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น ตอนนี้จึงไม่รู้ว่าคิดทางบวกหรือลบดี เพราะไม่รู้ระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้น

ในส่วนของตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่จ.ระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่นี้มีบ่อเลี้ยงกุ้งประมาณ 10,000 ไร่  ได้ผลผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี นำรายได้เข้าสู่จังหวัดมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ชมรมฯ ประสานงานกับประมงจังหวัด ให้ชาวนากุ้งระมัดระวังเรื่องการสูบน้ำเข้ามาบ่อ และสังเกตคุณภาพน้ำ ลดการดูดน้ำทะเลเข้ามาในบ่อแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้เป็นห่วงระบบนิเวศวิทยาจึง อยากให้กรมประมงสังเกตเป็นระยะ พร้อมกับให้ปตท.ส่งเครื่องมือให้กับกรมประมง เพราะมีสารเคมีหลายชนิดที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีสารตกค้างอยู่

ด้าน นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้ตั้งศูนย์ประสานงานเยียวยาผลกระทบวิกฤติ น้ำมันรั่วไปตาม ตำบล หมู่บ้าน มีรายชื่อ ผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟู เป็นแผนทำระยะยาวเป็นปี ๆ ไปจนกว่าคุณภาพน้ำจะดีขึ้น เบื้องต้นพบว่า มีผู้ร้องเรียนประมาณ 200 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวประมง 90 เปอร์เซนต์

นักท่องเที่ยวหาย-ทัวร์ยกเลิกเพียบ ยังประเมินมูลค่าไม่ได้

ส่วนผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและที่พักอาศัยบนเกาะเสม็ด นางจันจิรา แสนสุวรรณ ผู้ประกอบการไวท์แซนด์รีสอร์ท บริเวณหาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด มีห้องพักประมาณ 100 หลัง กล่าวว่า ตอนนี้กรุ๊ปทัวร์เดือนสิงหาคมยกเลิกไปแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งปกติในช่วงนี้จะเป็นช่วงพีคของเกาะเสม็ด ห้องหักจะถูกจองเต็มทุกวัน แต่ตอนนี้สถานการณ์แย่มาก มีข่าวเสียหายออกไปทำให้ถูกยกเลิก โดยแต่ละวันมีคนมาสอบถามว่า จะเดินทางมาได้หรือไม่ ซึ่งตนก็ยืนยันว่าเล่นน้ำได้ แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่มั่นใจจนกว่าจะมีคำยืนยันจากหน่วยงานอื่น ๆ ว่าเสม็ดสะอาดแล้วจริง ๆ

ด้านนายปริยา ทัณฑเกษม เจ้าของเสม็ดคาบาน่า กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวว่า จุดที่เกิดเหตุถือเป็นเพียง 50 เปอร์เซนต์ ของเกาะ เพราะส่วนที่เหลือในหาดอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ภาพที่ออกมาน้ำมันเต็มหาด ทำให้ได้รับโทรศัพท์จากเอเย่นต์ทัวร์โทรมาสอบถามและยกเลิก เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ แม้จะพยายามอธิบายว่าครางน้ำมันอยู่ในวงจำกัด แต่ก็มีทัวร์อีกหลายคณะยกเลิกไป ส่วนรายได้ที่สูญเสียหายไปนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ความเสียหายขณะนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ระยะยาวจะต้องดูว่าเสียหายเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับปตท.จะฟื้นฟูจุดที่เสียหายได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเร็วยิ่งดี

หวั่นข่าวในต่างประเทศทำนักท่องเที่ยวหายเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจได้รายงานถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของธุรกิจท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า ผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นต่อเกาะเสม็ด ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวภาคตะวันออกเสียโอกาสไปค่อนข้างมาก เพราะปกติในช่วงไตรมาส 3 จะได้อานิสงส์การเดินทางจากนักท่องเที่ยวย้ายจากฝั่งอันดามันซึ่งเข้าสู่ช่วงมรสุมมาท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยแทน ประกอบกับที่ผ่านมามีการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวภาคตะวันออกค่อนข้างมาก โดยในปี 2555 มีการเติบโตของนักท่องเที่ยวถึง 50เปอร์เซนต์ จากการรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการห่วงเป็นพิเศษ คือกรณีที่มีการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ จะทำให้เกิดความกังวลจากผู้ประกอบการต้นทางในต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดแถลงข่าวรายงานตามข้อเท็จจริงทางวิชาการอย่างเร่งด่วน เรื่องพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบ รวมถึงนโยบายในการแก้ไขจัดการปัญหา เพื่อทำให้คู่ค้าตลาดท่องเที่ยวในต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศรับทราบถึงขอบเขตความเสียหาย ว่ามีพื้นที่ใดได้รับหรือไม่ได้ผลกระทบ เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลลุกลามไปยังจังหวัดท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยอื่นๆ

ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น แต่เกาะเสม็ดยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนและรัสเซียเข้ามาจำนวนมาก โดยการประกาศปิดอ่าวพร้าวเพื่อแก้ไขสถานการณ์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้กรุ๊ปทัวร์ที่จองไว้และมีกำหนดจะเดินทางเข้ามาต้องชะลอการเดินทางไว้ก่อน โดยยังไม่มีการยกเลิกการจอง ดังนั้นจึงประเมินความเสียหายท่องเที่ยวว่า อาจไม่รุนแรงมาก หากได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 1 สัปดาห์ตามที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ประเมินไว้

รายได้ท่องเที่ยววูบจากเป้า2หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม ตลอดปี 2555 จังหวัดระยองมีรายได้จากท่องเที่ยว 1.6 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากพื้นที่เกาะเสม็ด ซึ่งเป็นจุดหมายหลักราว 40 เปอร์เซนต์ ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทบนเกาะราว 40 แห่ง ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์นี้คาดว่าตลอดปี 2556 จะมีรายได้เติบโตอยู่ที่ 10-15 เปอร์เซนต์ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่ถือเป็นผลกระทบต่อธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดของชายหาดเกาะเสม็ด อาจจะต้องประเมินความเสียหายอีกครั้ง โดยขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในการควบคุมปัญหา เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญอย่าง เช่น เรื่องทิศทางลมที่ส่งให้กลุ่มน้ำมันกระทบต่อเกาะเสม็ดโดยตรง และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ปัญหาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ลุกลามและส่งผลเสียหายในวงกว้าง

            “กังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวม รายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของระยองทั้งจังหวัดในปี 2556 ต่ำกว่าเป้าเดิมที่คาดการณ์ไว้ 20,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีแผนผนึกกับผู้ประกอบการออกโรดโชว์ยังต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย อเมริกา เพื่อดึงความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวให้กลับมาช่วงไฮซีซั่น พร้อมกับการอัดแคมเปญลดราคาช่วงไฮซีซั่นสูงสุดถึง 50 เปอร์เซนต์ เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวหาดอ่าวพร้าว” นายชัยรัตน์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: