จี้ผ่อนผัน1.7ล้านแรงงานพม่าทำงานต่อ แฉจนท.แสบรอวีซ่าหมดอายุ-ล่าไถเงิน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 2 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3175 ครั้ง

ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะสัญชาติพม่า นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ปัจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติ กว่า 3 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยในจำนวนนั้น 80 เปอร์เซนต์ เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจ.สมุทรสาคร ที่ถือว่ามีแรงงานสัญชาติพม่าจำนวนมากที่สุด

MOUไทย-พม่าทำให้แรงงานพม่าเข้าไทยกว่า1.7ล้านคน

การที่ประเทศไทยมีแรงงานสัญชาติพม่าเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวพม่าที่เคยลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยผิดกฎหมาย สามารถยกฐานะขึ้น เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายได้ โดยมีการทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่า อย่างเป็นทางการ ซึ่งในปี 2552 มีชาวพม่าเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย โดยแรงงานข้ามชาติ เหล่านี้จะต้องเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่มีเอกสารเป็นหนังสือเดินทางชั่วคราวประเภท 3 ปี ที่ใช้เดินทางได้เฉพาะในประเทศไทยและประเทศพม่าเท่านั้น ทำให้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 มีแรงงานพม่ากว่า 70,000 คน เดินทางเข้ามาทํางานในประเทศไทย โดยผ่านระบบ MOU และในปี พ.ศ. 2555 มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อพิสูจน์สัญชาติ 7 แห่งทั่วประเทศ การจัดตั้งศูนย์เพื่อพิสูจน์สัญชาติย่อยอีก 11 แห่ง พร้อมทั้งรัฐบาลได้ขยายกรอบของเวลาการพิสูจน์สัญชาติ จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหลังความพยายามในการดำเนินการเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานพม่ากลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย กลับปรากฎว่า มีแรงงานข้ามชาติ เพียง 750,000 คนเท่านั้น ที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และได้รับใบอนุญาตทํางานที่ถูกต้อง และในจํานวนนี้มีแรงงานข้ามชาติ เพียง 200,000 คน ที่เข้าถึงหลักประกันสังคมและหลักประกันทางสุขภาพ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลพม่าออกหนังสือเดินทางให้กับแรงงานสัญชาติพม่า ให้เข้ามาทํางานในประเทศไทยกว่า 1.7 ล้านคน

ชี้นโยบายที่รัฐบาลประกาศร่วมกันทำจริงไม่ได้

ตามข้อตกลง MOU เมื่อปี พ.ศ.2546 ระหว่างรั ฐบาลไทยและรั ฐบาลพม่าแรงงานข้ามชาติ สัญชาติพม่าที่อยู่ในประเทศไทยครบ 4 ปี จําเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศพม่าเป็นเวลา 3 ปี จึงจะกลับเข้ามาทํางานในประเทศไทยใหม่ได้ แต่นโยบายนี้ไม่สามารถทําได้จริ งในทางปฏิบัติ เพราะแรงงานพม่าส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางกลับไปตามระเบียบดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งตัวแรงงานเองที่ไม่กล้ากลับไปประเทศของตัวเอง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้กลับมาทำงานในประเทศไทยอีก หรือเป็นส่วนของนายจ้างที่เกรงว่าจะขาดแรงงาน ขณะที่รัฐบาลไทยก็คำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลพม่าก็ยังไม่พร้อมจะรับแรงงานพม่ากลับบ้านเกิดในช่วงพัฒนาและการเปิดประเทศ

            “ขณะเดียวกันข้อมูลที่ไม่ชัดเจนปรากฎออกมาว่า แรงงานพม่าที่ทํางานในประเทศไทย ครบ 4 ปี จะต้องเดินทางกลับไปประเทศพม่า อาจจะเป็นระยะเวลา 1 วัน 1 เดือน หรือ 1 ปี หากต้องการจะเดินทางกลับมาเข้ามาทํางานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ก็ยังไม่มีนโยบายหรือคําประกาศที่ชัดเจนของรัฐบาลออกมาให้เห็นในขณะนี้”

จี้รัฐบาลผ่อนผันระยะเวลาการทำงานให้แรงงานพม่า

จากปัญหาความไม่ชัดเจนดังกล่าว ล่าสุดสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสั มพันธ์ (สรส.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์พร้อมกับส่งหนังสือเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้เร่งแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ โดยระบุว่า ความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย และกฎหมายที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริงนั้น ส่งผลให้แรงงานพม่าจำนวนมากกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่เข้าถึงสิทธิทางแรงงานต่าง ๆ ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

1.ขอให้รัฐบาลไทยมีการเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงประกันสั งคมและหลักประกันสุขภาพได้มากขึ้น พร้อมทั้งให้มีความชั ดเจนในการดําเนินการเกี่ยวกับประกันสั งคมและหลักประกันสุขภาพสำหรั บแรงงานข้ามชาติ

2.ขอให้รัฐบาลไทยกําหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้ ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทํางานในประเทศไทยผ่านระบบ MOU และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทํางานในประเทศไทยหลังจาก 4 ปี พร้อมทั้งรณรงค์ ให้แรงงานข้ามชาติ นายจ้างและส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

3.ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าดําเนินการอย่างจริ งจังกับขบวนการนายหน้ าค้าแรงงานข้ามชาติเพื่อให้แรงงานข้ามชาติไม่ ถูกเอารัดเอาเปรียบ

4.ขอให้รัฐบาลไทยและรั ฐบาลพม่าเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบอย่างทั่วถึง

 

ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ปัจจุ บันมีจํานวนแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคนทํางานอยู่ในประเทศไทย โดยในจํานวนนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานพม่า ตั้งแต่ปี 2523 ที่ผ่านมา แรงงานเหล่านี้เดินทางเข้ามาทํางานในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสาร แรงงานข้ามชาติ ส่วนมากทํางานประเภทงานสกปรกที่คนไทยปฏิเสธ ที่จะไม่ทําและประเภทงานอันตราย พวกเขาถือเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรจากความไม่ชัดเจนจากนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติของรัฐบาล ทำให้คนงานเหล่านี้ก็ยังคงเผชิ ญกับการเอารั ดเอาเปรียบ คนงานถูกหลอก ถูกข่มขู่ จากนายหน้าทั้งชาวไทยและชาวพม่า หรือแม้แต่จากบริษัทจัดหางานและเจ้าหน้าที่ของรั ฐโดยการให้ข้อมูล ที่ไม่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับการต่ออายุวีซ่าหรือความจําเป็ นในการเดินทางกลับไปประเทศพม่าแล้วกลับเข้าประเทศไทยใหม่อีกครั้งโดยผ่านขั้นตอนนายหน้าแบบระบบ MOU ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

            “ตอนนี้มีแรงงานข้ามชาติ หลายคนยอมเสียค่าใช้จ่ายคนละกว่า 15,000 บาท หรือประมาณ 500 เหรียญสหรัฐฯ ในการทําหนังสือเดินทางเล่มใหม่ หรือเพื่อเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของตนเอง ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะมีผลต่อการใช้สิทธิประกันสังคมที่คนงานเหล่านั้นถืออยู่ จากการทําหนังสือเดินทางเล่มใหม่  ซึ่งเรามองว่าในด้านของมนุษยธรรมของแรงงานเหล่านี้ เขาควรจะได้รับการดูแล เพราะเป็นคนงานที่เข้ามาตามข้อตกลง และถือว่าถูกกฎหมาย แต่เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนขึ้น เขาก็ไม่กล้ากลับไปประเทศตัวเองเพื่อต่อวีซ่า เพราะเกรงว่าจะไม่ได้กลับมาทำงานอีก ดังนั้นกลุ่มของแรงงาน ซึ่งเราทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันจึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญเรื่องนี้”  นายชาลีกล่าว

นายชาลีกล่าวต่อว่า ทางรัฐบาลกับกลุ่มแรงงานอาจมองคนละมุม เรามองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และเข้ามาทำงานเป็นแรงงานในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าขาดแรงงานด้านนี้อยู่มาก แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เข้มงวด และไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ปัญหาจึงเกิดขึ้น กลายเป็นว่าเขาต้องมาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและแก้ปัญหาต่างๆ ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวที่กลุ่มได้นำเสนอไปแล้ว

‘มหาชัย’ที่เดียวมีจำนวนสูงถึง 3 แสนคน

จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานพม่าทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ  3 ล้านคน  โดยในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ถือเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานพม่ามากที่สุด จากตัวเลขล่าสุดสูงกว่า 300,000 คน  ซึ่งเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้ามา และเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย  โดยปัจจุบันการเดินจากจากประเทศต้นทางนั้นพบว่ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลง แรงงานยังคงต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับนายหน้าในการหาทางเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยการเดินทางเข้ามาแรงงานจะไม่สามารถควบคุมชะตากรรมของตนได้  ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่จำนวนด่านตรวจที่ต้องผ่าน นโยบายควบคุมแนวชายแดน การกวาดจับของทหาร ตำรวจ และเหตุการณ์อื่น ๆ

            “ปัญหาสำคัญที่พบมากขณะนี้คือ แรงงานชาวพม่ายังขาดข้อมูลเรื่องของนโยบายของรัฐ เรื่องของวีซ่าการทำงาน โดยส่วนใหญ่ได้รับแจ้งจากนายจ้างว่า รัฐบาลเตรียมจะทำใบ ทร.38 ซึ่งเป็นใบอนุญาตการทำงานในกลุ่มแรงงานประมง ให้กับแรงงานพม่าทุกคน โดยนายจ้างจะเก็บเงินจากแรงงานไปเพื่อเตรียมดำเนินการออกใบนี้ให้ เมื่อได้ข้อมูลมาแบบนี้ แรงงานพม่าจำนวนมาก ก็ยอมที่จะทิ้งพาสปอร์ตเล่มเก่าของตัวเอง เพราะไม่ต้องการกลับประเทศอีก 3 ปี แต่จะขอใบ ทร.38 นี้แทน ซึ่งมองว่าปัญหาจะยิ่งวุ่นวายไปอีก และจำนวนแรงงานที่มีก็จะไปซ้ำซ้อนกับตัวเลขเดิม ปัญหาอื่น ๆ ย่อมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากรัฐบาลไม่หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ผู้ประสานงานมูลนิธิ มสพ. กล่าว

แฉเจ้าหน้าที่รัฐรีดไถแรงงานพม่าทุกวันหวยออก

เมื่อถามถึงความสนใจของภาครัฐต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ประสานงานคนเดิมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก หลายครั้งที่แรงงานเกิดปัญหากับนายจ้าง เมื่อไปติดต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็มักที่จะถูกไกล่เกลี่ยให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม โดยไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการกดขี่แรงงาน จนเป็นเหตุให้แรงงานต้องออกไปหางานที่อื่นทำใหม่ ขาดความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง สิทธิด้านแรงงานต่าง ๆ ก็ไม่สามารถได้รับอย่างที่ควรจะเป็น

            “ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานพม่าในปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความมั่นคง หลังจากเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องของนโยบายดังกล่าว ส่วนใหญ่สับสนเรื่องของการจัดทำเอกสาร และก็เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบขูดรีด ทั้งจากนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าตรวจค้นจำกุมในช่วงวันที่ 1 และ 16 ของเดือน จะมีการตรวจค้นมากเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะถูกตรวจสอบเรื่องเอกสาร บางรายพบเป็นกระดาษจดเบอร์โทรศัพท์ ก็เหมารวมว่าเป็นหวยใต้ดิน ต้องถูกจับกุม และเมื่อถูกจับไป แรงงานก็จำเป็นที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ดังนั้นในช่วงเวลานี้แรงงานจะรู้สึกหวาดกลัว และต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ทั้ง ๆ ที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแต่เกิดความสับสนเพราะขาดข้อมูล” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

รายงานด้านแรงงานเผยชีวิตรันทดแรงงานพม่า

จากบทความเกี่ยวกับปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ของ คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  ได้ระบุข้อมูลด้านแรงงานพม่าไว้ว่า ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าประมาณ 2 ล้านคน ที่ทำงานประเภทที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และยากลำบาก แลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น งานในโรงงานห้องเย็นแช่แข็งอาหารทะเล ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า งานบ้าน เป็นต้น แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว จากการถูกส่งกลับอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากสถานภาพที่ผิดกฎหมาย กับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานและไร้ซึ่งกลไกที่จะคุ้มครองป้องกันตนเอง

            “แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยรู้มาก่อนล่วงหน้าว่า จะได้งานประเภทใด อยู่ที่ใด ใครเป็นนายจ้าง หรือแม้แต่เงื่อนไขการจ้างงาน พวกเขาจะทราบถึงสภาพการทำงานของตนเมื่อไปถึงยังบ้านนายจ้างหรือสถานที่ทำงาน นายจ้างจะเป็นผู้กำหนดถึงเงื่อนไข ข้อกำหนดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ที่พักอาศัย อาหาร การลาป่วย และวันหยุดพักผ่อนตามความพอใจของตนเอง บางคนได้รับอัตราค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและยังต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และไม่ได้รับค่าจ้างทำงานล่วงเวลาจากนายจ้าง ค่าจ้างปกติที่ได้รับจากการทำงานซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่เดือนละ 1,500-6,000 บาท พวกเขาจะเก็บสะสมไว้ให้ครบจำนวนหนึ่ง เช่น 10,000 บาท แล้วจะอาศัยช่องทางนายหน้าในการส่งกลับบ้านที่ประเทศพม่า การส่งเงินกลับบ้านด้วยตนเอง โอกาสที่จะสูญหายระหว่างทางหรือถูกขูดรีดจากเจ้าหน้าที่ไทยมีความเสี่ยงอย่างมาก”

ถูกเหยียดหยามจากนายจ้างที่มีอคติทางชาติพันธุ์

ปัญหาของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังถูกบรรยายไว้ใน บทความชิ้นดังกล่าวด้วยว่า ภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน แรงงานที่พูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดได้แต่น้อย มักจะถูกนายจ้างใช้ความสามารถในการพูดภาษาไทยเป็นเกณฑ์สำคัญในการตั้งเงินเดือนและในการปฏิบัติตนต่อคนงาน แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องประสบกับความยากลำบากในการหางานที่ดี การที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ บางครั้งนำไปสู่การดุด่าว่ากล่าวและถูกทำร้าย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้มากนัก ทำให้นายจ้างหลายรายไม่เข้าใจและเกิดความรู้สึกไม่พอใจแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติจึงมักถูกนายจ้างด่าทออย่างหยาบคาย ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยอคติทางชาติพันธุ์ประกอบ บางครั้งถึงกับลงมือทำร้ายแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรง บางกรณีจนถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานข้ามชาติหนึ่งจำนวนไม่น้อยถูกนายจ้างหรือคนในบ้านของนายจ้างข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และ/หรือบางครั้งนายจ้างที่เป็นผู้หญิงเองก็เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่องานที่แรงงานข้ามชาติเข้ามารับจ้างทำงาน ส่วนใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในประเภท 3 ส. คือ สุดเสี่ยง แสนลำบาก และสกปรก ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องทำงานหนักและเสี่ยงที่จะได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม งานบางประเภทเป็นงานที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น งานในภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานหลายชั่วโมงและไม่มีวันหยุด บางกรณีแรงงานจะถูกใช้ให้ไปทำงานที่ผิดกฎหมาย เช่น ให้ไปตัดไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุม โดยนายจ้างจะไม่รับผิดชอบ ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

นโยบายรัฐไม่ชัดเจน สร้างปัญหาด้านมนุษยธรรม

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายสามารถจดทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานได้นั้น แต่การขาดถึงการอธิบายถึงกระบวนการจดทะเบียนอย่างชัดเจน ระยะเวลาการจดทะเบียนที่สั้นเกินไป ไม่มีการออกใบอนุญาตทำงานแก่ผู้ย้ายถิ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี การกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพโดยไม่ระบุวิธีดำเนินการที่ชัดเจน ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ที่มีส่วนสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างประกอบ ทำให้กรณีที่นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือหรือตั้งเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและบีบคั้นเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไทยได้ และกลายเป็นบุคคลที่ต้องหลบซ่อนในสังคมไทยอย่างหวาดกลัวการถูกจับกุม

นอกจากนี้แรงงานหลายคนที่เข้าสู่ขั้นตอนอย่างถูกกฎหมาย ก็ต้องเผชิญกับการถูกยึดใบอนุญาตทำงานจากนายจ้างไปเก็บไว้ ให้ลูกจ้างถือแค่ใบสำเนาไว้ ในกรณีที่ยินยอมให้ลูกจ้างมีเอกสารทางการสักอย่างไว้กับตัว เมื่อลูกจ้างไม่มีเอกสารดังกล่าวติดตัว ก็จะถูกข่มขู่ว่าจะถูกส่งกลับถูกคุกคาม และถูกจับกุม เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่า ตนมีสถานภาพถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานหลายคนจึงรู้สึกว่าการมีหรือไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างไรต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่อยู่ดี ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคน ใช้วิธีการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่แทนการไปจดทะเบียน

สำหรับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่มีเงินจ่ายค่าส่วยจะถูกจับกุมคุมขัง ปัญหาการจับกุมคุมขังของแรงงานข้ามชาติมีความรุนแรงอยู่มาก นอกจากเรื่องของห้องขังที่แออัดยัดเยียด ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ อาหารประจำวัน และห้องน้ำของผู้ถูกคุมขัง ยังพบว่ามีการทำร้ายร่างกายแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกจับกุมโดยทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยผู้คุมซึ่งเป็นนักโทษไทย ที่อยู่ในที่คุมขัง มีการทุบตีทำร้ายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมหากไม่พอใจจนถึงขั้นบาดเจ็บ อย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิต มีการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำอนาจารต่อผู้ต้องขังที่เป็นแรงงานหญิง เช่น ให้ผู้ต้องขังชายช่วยตัวเองหน้าห้องผู้ต้องขังหญิง ไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราผู้ต้องขังหญิง โดยนักโทษชายที่เป็นคนไทย ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เป็นผู้กระทำเสียเอง

สื่อสร้างมายาคติหวาดกลัวระหว่างคนไทย-แรงงานพม่า

            “จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติดังที่กล่าวมาพบว่า สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ มีการสร้างและผลิตซ้ำผ่านสื่อหรือกลไกต่าง ๆ ในสังคม เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ ต้องทำการควบคุมอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาแย่งงานแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายา ที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความกลัว กล่าวคือ เราต่างถูกทำให้กลัวในซึ่งกันและกัน คนไทยกลัวแรงงานพม่า กลัวว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมาทำร้ายตนเอง กลัวพวกเขาเหล่านั้นจะก่อเหตุร้ายกับคนรอบข้างของตนเอง ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทยจะมาทำร้ายพวกเขา กลัวคนไทยจะแจ้งความจับพวกเขา กลัวการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายพวกเขา กลัวนายจ้างจะทำร้ายพวกเขา กลัวการถูกส่งกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัยในประเทศของตนเอง” รายงานดังกล่าวระบุ

ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่า การนำเสนอข่าว การประชาสัมพันธ์โดยรัฐ จากการศึกษา และรวมถึงจากการไม่รู้ เช่น เรากลัวเพราะเราไม่สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ สังคมได้ผลิตซ้ำฐานคติเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นความปกติ ความเคยชิน และสุดท้ายกลายเป็นเรื่องธรรมชาติไป การดำรงอยู่ของสังคมแห่งความกลัวนี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้ความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในลักษณะต่าง ๆ

นอกจากนั้นปัญหาการละเมิดสิทธิด้านต่าง ๆ แล้ว พบว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักขาดความรู้เรื่องสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการไม่สามารถอ่านข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้ เพราะไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ในภาษาของพวกเขาเอง รวมทั้งช่องทางหรือโอกาสในการเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานก็เป็นอุปสรรคสำคัญ

เมื่อมองถึงอนาคต แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะเก็บเงินรายได้จากการทำงานสะสมไว้เพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัวในประเทศต้นทาง หลายคนมีความหวังว่าจะสามารถทำงานในประเทศไทยได้สักระยะหนึ่งก็จะกลับประเทศพร้อมเงินทุนมากพอที่จะเอื้อให้ครอบครัวของตนครองชีพได้ตามอัตภาพ

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: