ปชป.จี้ทบทวนค่าครองชีพ ชี้เป็นการซ้ำเติมประชาชน

2 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1838 ครั้ง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ส.ส.ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. และนายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม. ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นค่าครองชีพ ทั้งแก๊สแอลพีจี ค่าไฟฟ้าและค่าทางด่วน ออกไปก่อน เนื่องจากเป็นการซ้ำเติมประชาชน

นายสรรเสริญกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้กะซวกค่าครองชีพของประชาชน เพราะประกาศขึ้นราคาทั้งแก๊สแอลพีจี ค่าไฟฟ้าและค่าทางด่วน ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญติดลบหมดทุกตัว มีเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ดีขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ในเดือนตุลาคมอาจจะลดต่ำลงกว่านี้ เนื่องจากประชาชนชะลอการบริโภค เพราะประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล งบลงทุนที่รัฐบาลวางไว้ยังไม่ได้นำออกมาใช้ โดยส่วนหนึ่งเป็นงบในโครงการเงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีปัญหาในข้อกฎหมายและอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลปกครอง ปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว

              “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดพฤติกรรมใช้ปากแก้ปัญหาและหันมาทำงาน เพราะมาตรการที่รัฐบาลออกมาล้วนแต่หน่อมแน้มมาก มีแต่การสร้างภาพ ไร้ความจริงใจ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ มีแต่ทำให้สินค้าแพงขึ้น รัฐบาลควรถอน พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้าน ออกมา แล้วนำโครงการเหล่านี้มาใส่ไว้ในงบประมาณปกติ เพื่อให้เกิดการลงทุนได้” นายสรรเสริญ กล่าว

ด้านนายอรรถวิชช์กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ 2 ปี ทำให้เกิดภาวะหนี้พุ่ง ข้าวของแพง ซึ่งสวนทางกับการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศในช่วงหาเสียงว่า จะกระชากค่าครองชีพ วันนี้ถือเป็นวัน Bad day หรือวันโชคร้ายของคนไทย โดยในปัญหาของแพงมาจากรัฐบาล ปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี ทำให้แก๊สหุงต้มถัง 15 กิโลกรัม ขึ้นถังละ 7.50 บาททุกครัวเรือน เป็นเวลา 1 ปี หรือจากถังละ 290 บาท เป็นถังละ 380 บาท ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นหน่วยละ 7 สตางค์ ครอบครัวทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้า 500-600 หน่วยต่อเดือน ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 40 บาท และยังขึ้นค่าทางด่วนอีก 5 บาท

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า ส่วนปัญหาหนี้พุ่ง จากตัวเลขของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศอยู่ที่ 159,432 บาทต่อครัวเรือน มาในปี 2556 พุ่งสูงขึ้นถึง 188,774 บาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยังระบุว่า หนี้สาธารณะในไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ 4.254 ล้านล้านบาท แต่มาถึงไตรมาส 2 ปี 2556 พุ่งขึ้นถึง 5.224 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมหนี้ที่เกิดจากร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ในการประชุมสภา จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลทบทวนมาตรการการขึ้นค่าครองชีพออกไปก่อน

ส่วนนายชนินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการกำลังตรวจสอบปัญหางบประมาณค้างท่อ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เบิกจ่ายไม่หมด และมีการปรับเปลี่ยนงบไปใช้โครงการอื่น โดยจะตรวจสอบว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้งบดังกล่าวผลประโยชน์ไปตกอยู่กับใคร โยกงบลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ และมีการเอื้อต่อการเมืองหรือไม่

 

 

ขอบคุณข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: