แฉขบวนการทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟแพง ปตท.-กฟผ.-หน่วยงานรัฐจับมือดันต้นทุน กฟผ.ซื้อไฟแพง-จ้องตัวเลขพีคจ่อขึ้นอีก

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 2 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3037 ครั้ง

 

ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ สร้างความวิตกทุกข์ร้อนกับคนหาเช้ากินค่ำ ข้อมูลจากสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2555 สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 3.4 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลไม้ ไก่สด อาหารสำเร็จรูป ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ดูจะเป็นเพียงการโหมโรม เมื่อนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 ในอัตรา 30 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไทยตกอยู่ที่ 3.53 บาทต่อหน่วย และกลายสถิติค่าไฟฟ้าที่สูงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยใช้ไฟฟ้ามา

เมื่อไฟฟ้าคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และยังเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การขึ้นค่าเอฟทีจะทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยปรับขึ้นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาจขึ้นสูงที่สุดถึง 6-7 เปอร์เซ็นต์ โดยอุตสาหกรรมที่จะกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำแข็ง การประปา และโกดังเก็บสินค้า

ในมุมของผู้ที่ติดตามประเด็นพลังงานของประเทศเปิดเผยว่า ถึงที่สุดแล้วการขึ้นค่าเอฟที อาจเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุของปัญหาใหญ่กว่าที่อยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือความบิดเบี้ยวและบิดเบือนของโครงสร้างกิจการพลังงานและการขาดธรรมาภิบาลของประเทศไทย

 

รสนาโต้กกพ.อ้างก๊าซราคาสูงขึ้น-ไม่จริง

 

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกกพ. ระบุว่า ปกติแล้ว โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายประกอบด้วย 3 ส่วน คือค่าไฟฟ้าฐาน ส่วนนี้คิดจากไฟฟ้าที่ใช้จริงบวกกับค่าบริการ, ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ และสุดท้ายคือค่าไฟฟ้าผันแปรโดยอัตโนมัติหรือค่าเอฟที (Fuel Tariff) ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่าเป็นต้นทุนพลังงานที่นอกเหนือจากค่าไฟ เนื่องจากการกำหนดค่าไฟฐานเพียงอย่างเดียวจะทำให้มีปัญหาต้นทุนไม่สามารถปรับเปลี่ยนทันตามสถานการณ์ตลาดโลกได้ โดยค่าเอฟทีจะมีการพิจารณาทุกๆ 4 เดือน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและยืดหยุ่นทันสถานการณ์

 

ปัญหาก็คือนอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้ว ไม่มีใครเคยรู้ว่าค่าเอฟทีถูกคิดจากอะไรบ้าง แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็อนุมัติตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมาโดยตลอด

ซึ่งเหตุผลที่ต้องขึ้นค่าเอฟที นายดิเรกกล่าวว่า ค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ทำให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7-8 ดังนั้น ถ้าค่าไฟบ้านเฉลี่ย 100 บาทต่อเดือนก็จะเพิ่ม 7-8 บาทต่อเดือน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนอกจากมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ก้าวกระโดดตามราคาน้ำมัน และยิ่งประชาชนเปิดแอร์มากในช่วงหน้าร้อนค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นางรสนา โตสิตระกุล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และอนุกรรมมาธิการด้านพลังงาน ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่เหตุใดจึงนำราคาก๊าซธรรมชาติไปอิงกับราคาน้ำมันเตา ซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันดิบ ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นจึงดันให้ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อตรวจสอบต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก เช่น ไนเม็กซ์ของนิวยอร์ก กลับพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2551 จาก 8 เหรียญต่อล้านบีทียู อยู่ที่ 2-3 เหรียญต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน

 

“ถ้าดูแนวโน้มของเชื้อเพลิงตลาดโลกที่มันลง แต่เหตุใดกกพ.จึงอนุญาตให้มีการปรับขึ้นค่าเอฟที 30 สตางค์ ตรงนี้เป็นตัวเลขที่ไม่สมเหตุสมผล”

 

ปตท.ผูกขาดขายก๊าซให้กฟผ.แพงกว่าบริษัทลูกตัวเอง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าปตท.เป็นผู้ผูกขาดในการจัดหาแหล่งพลังงานให้แก่กฟผ. หมายความว่า ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปตท.ขายให้กับกฟผ.ย่อมเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปตท.ขายก๊าซให้แก่ โรงแยกก๊าซที่เป็นบริษัทลูกของตนในราคา 233.5974 บาทต่อล้านบีทียู แต่กลับขายให้แก่กฟผ. ในราคา 297.9653 บาทต่อล้านบีทียู ในราคาดังกล่าวนี้ได้รวมค่าผ่านท่อเข้าไปด้วย และพบว่าโรงแยกก๊าซจ่ายค่าผ่านท่อเพียง 9.7474 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่กฟผ.จ่ายค่าผ่านท่อถึง 21.8128 ต่อล้านบีทียู

การคิดคำนวณนี้คิดจากคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน (สนพ.) ซึ่งกำหนดว่า ระบบท่อปัจจุบันถูกประกันผลตอบแทนการลงทุนส่วนของทุนไว้ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ระบบท่อใหม่อยู่ที่ 12.5 เปอร์เซ็นต์ การคิดคำนวณแบบนี้ นางรสนามองว่าไม่เป็นธรรม

 

“เพราะท่อก๊าซชุดเดิม 3,000 กว่ากิโลเมตร ลงทุนโดยเงินภาษีของประชาชน และปรากฏว่ามีการนำไปตีค่าใหม่ โดยไม่ได้ฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า ท่อก๊าซที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนจะต้องคืนให้กับหลวง”

 

นางรสนาจึงตั้งคำถามกลับไปยังกกพ.ว่า เหตุใดสูตรการคำนวณจึงถูกคิดออกมาแบบนี้ ตัวสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (สนพ.) เองหรือว่ายังมีใครอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่

 

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่าย แม้จะยังไม่รวมค่าเอฟทีเข้าไป ก็อาจถือว่าแพงกว่าที่ควรจะเป็น อันเกิดจากการผูกขาดการขายก๊าซของปตท.

 

กฟผ.ซื้อไฟบริษัทลูกแพงกว่าส่อผลประโยชน์ทับซ้อน

 

นอกจากกฟผ.ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากปตท.ในราคาที่สูงกว่าโรงแยกก๊าซของ ปตท.ถึง 64.3679 บาทแล้ว ยังพบด้วยว่า กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกฟผ. ในราคาที่แพงกว่า ที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer: IPP) รายอื่นที่ไม่ใช่บริษัทลูกของกฟผ.

 

“เมื่อดูจากสูตรคำนวณค่าเอฟทีพบว่า ค่าซื้อกระแสไฟฟ้าจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเอ็กโกหรือราชบุรีโฮลดิ้ง แพงกว่าที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเอ็กโกและราชบุรีโฮลดิ้ง ถึง 20-23 เปอร์เซ็นต์ และในแผนพีดีพี ปรับปรุงครั้งที่ 3 จะมีการประมูลไอพีพี เดิมทีการประมูลไอพีพีจะไม่ให้บริษัทลูกของกฟผ.ร่วมประมูล แต่ทราบมาว่า จะให้เอ็กโกและราชบุรีโฮลดิ้ง เข้าประมูลได้โดยตรง ข้อห่วงใยคือจะทำให้ค่าไฟฟ้าแฝงเป็นกำไรของเอกชนหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ผู้บริหารกฟผ. ข้ามไปนั่งเป็นผู้บริหารเอ็กโกและราชบุรี โฮลดิ้ง” ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระ กล่าว

 

จากการตรวจสอบของศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า คณะกรรมการและผู้บริหารของกฟผ.หลายคนต่างเข้าไปมีตำแหน่งในเอ็กโกและราชบุรีโฮลดิ้ง เช่น นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการกฟผ. เป็นประธานคณะกรรมการและประธานคณะกรรมการลงทุนของเอ็กโก, นายคุรุจิต นาครทรรพ กรรมการบริหารกฟผ. เป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการกลั่นกรองการลงทุนของราชบุรี โฮลดิ้ง, นพพล มิลินทางกูร วิศวะกรระดับ 14 ของกฟผ. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของราชบุรี โฮลดิ้ง เป็นต้น

 

การทับซ้อนของผลประโยชน์และการขาดธรรมาภิบาลเหล่านี้ ยังรวมไปถึงข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานให้ดำเนินไปอย่างโปร่งใสด้วย

 

“ปลัดกระทรวงพลังงานเวลานี้มีตำแหน่งในปตท. บริษัทลูก และไออาร์พีซี รวมแล้วได้โบนัสทั้งปีประมาณ 10 ล้านบาท มากกว่าเงินเดือนในตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการต่างๆ บิดเบี้ยวไปหมด” นางรสนากล่าว

จากข้อมูลนี้จึงต้องย้ำอีกครั้งว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของคนไทยนั้น สูงกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว แม้จะยังไม่รวมค่าเอฟทีเข้าไป

 

อ้างตัวเลขพีคหวังดันค่าเอฟที-ผุดโรงไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอีกว่า การขึ้นค่าเอฟทีครั้งล่าสุดถูกออกแบบมาอย่างเป็นกระบวนการ โดยการเน้นย้ำถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak ซึ่งกฟผ. ประมาณการว่า ในช่วงเดือนเมษายนจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในถึง 25,356 เมกะวัตต์ แต่ค่าจริงที่วัดได้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 กลับสูงถึง 26,121 เมกะวัตต์

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า กฟผ.สนใจตัวเลขพีคมาก ทั้งที่รู้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันและไม่มีผลต่อทั้งปี ซึ่งหากจะวัดจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดนี้ ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องมีถึง 15 เปอร์เซ็นต์

จากเว็บไซต์ของกฟผ. (www.egat.co.th) พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของระบบในเดือนมีนาคม 2555 เท่ากับ 31,438.71 เมกะวัตต์ หักลบจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดข้างต้น จะยังมีไฟฟ้าสำรองอยู่ถึง 5,317.71 เมกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรงที่ภาครัฐเคยวางแผนจะก่อสร้าง

การคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเอาไว้ในระดับสูง และเมื่อตัวเลขออกมาสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ ก็ส่งผลทางจิตวิทยาถึงความจำเป็นของการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การขึ้นค่าเอฟทีซึ่งกฟผ.อ้างว่าเป็นต้นทุนชนิดหนึ่ง จึงดูมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น อีกประการหนึ่ง ตัวเลขในช่วงพีคยังมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งหากเป็นการสร้างเพิ่มโดยไม่มีความจำเป็นต่อระบบ เงินที่ใช้ในการลงทุนย่อมถูกผลักมายังผู้บริโภคอีกเช่นกัน

 

นักวิชาการแนะกฟผ.ปรับแผนไฟฟ้า-ลดต้นทุนค่าไฟ

 

ดังนั้นหากลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นลงได้ ต้นทุนค่าผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะลดลง โดยทั่วไปการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าต่างๆ ของกฟผ.ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือ แผนพีดีพี (PDP: Power Development Plan) ฉบับล่าสุดคือแผนพีดีพี 2010 ซึ่งเป็นแผนที่นางรสนาเห็นว่ามีการออกอย่างเร่งรีบและเปิดให้มีส่วนร่วมจากประชาชนไม่มากพอ

แน่นอนว่า แผนพีดีพีมุ่งเน้นไปที่การก่อสร้างโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงทั้งสิ้น จุดนี้เอง นางชื่นชมมีข้อเสนอที่เห็นว่ากฟผ.ควรนำไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพีดีพี 2010 ที่กำลังจะมีการปรับปรุงรอบที่ 3 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแบบรวมศูนย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อเสนอจากการศึกษาของนางชื่นชมมี 4 ข้อคือ 1.ปรับปรุงการจัดการการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ โดยนำมาตรการการใช้ไฟตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ที่รัฐเป็นผู้อนุมัติบรรจุในแผนพีดีพี 2.ปรับปรุงและขยายอายุโรงไฟฟ้าที่มีความเป็นไปได้บางแห่ง ซึ่งบางแห่งอาจขยายออกไปได้นานถึง 30 ปี 3.นำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้าย

 

“แทนที่จะใช้โรงไฟฟ้าจากรวมศูนย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะสูญเสียพลังงานไปครึ่งหนึ่งจากเชื้อเพลิงที่ใส่เข้าไปในโรงไฟฟ้า ก็ควรหันมาใช้ระบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพลังงานเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีการสูญเสียพลังงานสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใส่เข้าไป หากใช้ 4 ทางเลือกนี้ บวกกับการพยากรณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน เขื่อน ไม่ต้องประมูลไอพีพีรอบใหม่ และจะมีพอใช้ไปถึง 2573 โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานที่สร้างผลกระทบสูง”

 

นอกจากนี้หากจะแก้ไขทั้งระบบจริงๆ โครงสร้างกิจการพลังงานของประเทศไทยจะต้องถูกปรับรื้อ เพียงแต่รัฐบาลจะมีกล้าหาญความเพียงพอหรือไม่ ที่จะจัดการกับธุรกิจพลังงานอันดับต้นๆ ของประเทศทั้งสองแห่ง หรือยังไม่ต้องเอ่ยถึงความกล้าหาญ เพราะประชาชนยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ตัวนักการเมืองเองนั้นมีผลประโยชน์จากโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้ด้วยหรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: