ชายแดนใต้ผุดโครงการปกป้องเด็กจากความรุนแรง พบ8ปีเด็ก3จว.ตกเป็นเหยื่อ56เจ็บอีกเกือบ5พันคน

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 3 ม.ค. 2556


 

 

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouth Watch) กลุ่มด้วยใจพร้อมด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพและเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประชุมเพื่อเตรียมโครงการ Children Voices For Peace ที่จะจัดในวันที่ 9 มกราคม 2556 ที่ TK PAKR อ.เมือง จ.ยะลา

 

น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานโครงการกล่าวว่า จากสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2555 มีเด็กเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 345 คน นอกจากนี้จากยังมีเด็กที่กำพร้าพ่อ แม่ จำนวน 4,942 คน ซึ่งในหลาย ๆ เหตุการณ์ เด็กกลายมาเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น เช่น เหตุการณ์คนร้ายยิงชาวบ้านที่ร้านน้ำชา ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 คน เหตุการณ์คนร้ายวางระเบิดรถไฟ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 บาดเจ็บ 3 คน และมีแนวโน้มว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มีเด็กเสียชีวิตมากขึ้น และเด็กมีอายุน้อยลง กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายจึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเด็ก ๆ ดังกล่าวเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่

 

สำหรับ โครงการ Children Voices For Peace เป็นเวทีในการพูดคุยหารือเรื่องการป้องกันเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เด็กกลายเป็นเหยื่อและมีแนวโน้มเด็กกลายเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น และเด็กที่เป็นเหยื่อมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมข้อสรุปว่า จะมีการเชิญนักเรียนในพื้นที่ทั้งที่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมงานจำนวน 150 คน เช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา โรงเรียนสตรียะลา โรงเรียนอามานะศักดิ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี

 

โดยในวันจัดงานจะมีกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมเพื่อเด็ก ๆ โดยเฉพาะ และกิจกรรมในที่ร่ม เป็นกิจกรรมของผู้ใหญ่ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ความท้าท้ายและอุปสรรค์ในการป้องคุ้มครองเด็กภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง” และหัวข้อ “กลไกการป้องกันเด็กจากความรุนแรงในพื้นที่” โดยมีการเชิญเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ครูสอนศาสนา (อุสตาส์) โตะครู ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาร่วมเสวนา

 

 

             “หลังการเสวนาจะมีการร่วมแถลงการณ์ ขอให้ตัวเลขเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นศูนย์ในปี 2556 และกิจกรรมแสดงเจตจำนง ร่วมแสดงจุดยืนยุติความรุนแรงต่อเด็ก ในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้น ซึ่งเราจะนำภาพถ่ายจากการจัดโครงการนี้ เพื่อใช้ในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กในพื้นที่ภายใต้ในปี 2556 ทั้งปีในชื่อการณรงค์ว่า Zero Children Victim 2013 หรือขอให้ตัวเลขเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นศูนย์ ในปี 2556” น.ส.อัญชนากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: