ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

23 มี.ค. 2556


 

เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

 

เคยอ่านเจอ หมีกริซลี่ตัวเต็มวัยสามารถตะปบหัวลูกวัวให้แหลกได้ในคราวเดียวเหมือนเราขยำเต้าหู้ ฉลามมีฆานประสาทคมกริบสามารถรับรู้คาวเลือดจางๆ ในท้องทะเล แม้เหยื่อเคราะห์ร้ายจะอยู่ห่างไกล หรือเสือ-ราชาแห่งป่าเขตร้อน-ที่ไม่เพียงเป็นยอดนักล่าคำรามและสาบกายที่ทำให้ทั้งป่าหยุดหายใจแต่สรีระหน้าตาของมันยังหล่อเหลาและภูมิฐานสุดๆ

 

หลายปีก่อนผมมีโอกาสสนทนากับนักวิจัยเสือมือ 1 ของเมืองไทย คุณศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ เขาสั่นคลอนจินตภาพเกี่ยวกับเสือของผมจนแตกละเอียด พร้อมๆ กับเปิดมุมมองใหม่แก่ผม

 

เขาบอกว่า เสือไม่ได้เก่งกล้าสามารถดังที่เราเข้าใจ พูดแบบแรงๆ ด้วยคำพูดของผมเอง สถานะของเสือในป่าเต็มที่ก็เป็นได้แค่ ‘ผู้เก็บกวาด’เหยื่อของมัน ถ้าไม่เด็กเกินไป แก่เกินไป ก็ต้องพิการ ป่วย บาดเจ็บ อ่อนแอ หรือโง่ ถ้าเป็นกระทิงหนุ่มฉกรรจ์หรือกวางป่าเปรียวๆ  ชะรอยเจ้าป่าจะวิ่งไล่ไม่ทันด้วยซ้ำ

 

..................

 

วิวัฒนาการหลายแสนปี จากโครมันยอม นีแอนเดอร์ธัล เรื่อยมาจนเป็นมนุษย์ปัจจุบัน เราไม่ได้รับมอบพรสวรรค์-เขี้ยว เล็บ พละกำลัง ฯลฯ-เหมือนสัตว์อื่นๆ ลองนึกดูว่าถ้ามนุษย์มีความสามารถเฉกเช่นสัตว์อะไรจะเกิดขึ้น สมมติว่าคนคนหนึ่งกระโดดได้เหมือนตัวหมัด หมอนี่จะกระโดดได้ไกลกว่ามนุษย์แมงมุมเสียอีก หรือมีพละกำลังเท่ากับมด เขาก็คงฉีกรถยนต์เป็นชิ้นๆ เหมือนฉีกขนมปัง

 

...พระเจ้าตัดสินใจถูกแล้ว

 

สิ่งที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติคือมันสมอง จากห้วงเวลากำเนิดโลกถึง ณ ขณะนี้ ประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นห้วงเวลาสั้นๆ เพียงกระผีก สั้นมากเมื่อเทียบกับผู้ครองโลกก่อนหน้าเรา-ไดโนเสาร์ ห้วงเวลาสั้นๆ นี้ ‘สมอง’กลับสามารถพามนุษย์ตะเกียกตะกายสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

 

เราเอาชนะสัตว์ผู้ล่าทุกชนิดและลากพวกมันลงจากบัลลังก์

 

................

 

กลางเดือนกุมภาพันธ์ ผมอ่านเจอข่าวชิ้นหนึ่ง ระบุว่า 8 ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับทวีปอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักเลขาธิการของสภาอาร์กติกขึ้นอย่างเป็นทางการที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา มันเป็นสัญญาณว่าประเทศเหล่านี้พร้อมบุกเบิกทวีปน้ำแข็งอันลี้ลับแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต การค้า และวิทยาศาสตร์

 

ฟังดูดีใช่มั้ยครับ? เนื้อข่าวยังบอกต่อไปอีกว่า การที่ 8 ประเทศดันมากระตือรือร้นในช่วงนี้ ทั้งที่สภาอาร์กติกก่อตั้งมาได้ 17ปีแล้ว เป็นเพราะแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

 

ผมพอจะเดาได้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ แต่วัตถุประสงค์แท้จริงของการก่อตั้งสำนักเลขาธิการของสภาอาร์กติกอย่างเป็นทางการอาจทำร้ายจิตใจกว่าที่คิด

 

เปล่า, พวกเขาไม่ได้เป็นห่วงบ่วงใยทวีปน้ำแข็ง เพียงแต่ผลสำรวจครั้งล่าสุดของสำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ ปี 2551 พบว่า ใต้ก้อนน้ำแข็งมหึมาอาจมีก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้สำรวจสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก กับแหล่งน้ำมันอีก 13 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำมันทั่วโลก ซึ่ง 8 ประเทศเชื่อว่าการที่น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็วจะช่วยเปิดทางให้เข้าถึงแหล่งพลังงานมหาศาลได้

 

.................

 

หลังวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 กำแพงเบอร์ลินที่เคยกั้นขวางเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกหักรานลง เป็นเหตุการณ์ที่ถูกอุปโลกน์กลายๆ ว่า คือสัญญาณแจ่มชัดว่าโลกนี้ (ยัง) ไม่มีที่อยู่ยืนให้แก่แนวคิดทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจแบบอื่นอีกแล้ว นอกเสียจากเสรีนิยมประชาธิปไตย แน่นอน มันผูกพ่วงมากับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

 

ผมไม่ค่อยให้ราคานัก หากใครบางคนจะแปะป้าย ‘สลิ่ม’ ไว้กลางหน้าผากของผมเมื่อผมตั้งแง่ ตั้งคำถาม และมองทุนนิยมอย่างหวาดระแวง(ผมไม่ใช้ทั้งไอแพด ไอโฟน หรือสมาร์ทโฟนใดๆ-จะทำให้ผมดู ‘ดัดจริต’ น้อยลงหรือเปล่า ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม) พูดกันตามตรง ทุนนิยมก็มีทั้งภาพที่สุภาพอ่อนโยนและกักขฬะหยาบคาย เสียดายที่อย่างหลังค่อนข้างมีฤทธิ์เดชมากกว่า ถ้าเราไม่หมั่นลงแส้ มันก็มักหันมาแว้งกัด

 

ความโดดเด่นประการหนึ่งของทุนนิยมคือการเสาะหาโอกาสกลางวิกฤต ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสที่สุภาพและหยาบคายอีกเช่นกัน กรณีนี้ ผมคิดว่าเข้าข่ายหยาบคาย (มาก) ปัญหาโลกร้อนส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไประรานชั้นบรรยากาศ ส่งสะท้อนให้น้ำแข็งขั้วโลกแตกละลาย อากาศแปรปรวน และด้วยพลังแห่งมันสมองบวกพลังแห่งทุนนิยมผ่านกระบวนการใช้เหตุผลที่คงจะมีเหตุผลในแบบทุนนิยม-แต่ผมไม่มีวันเข้าใจ สภาอาร์กติกกลับเห็นว่า ยิ่งน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วเท่าไรยิ่งดี แหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกำลังรอให้กอบโกย มนุษย์ไม่ต้องกริ่งเกรงว่าจะไม่มีแหล่งเชื้องเพลิงฟอสซิลให้ถลุง ยิ่งถลุงใช้ก็ยิ่งทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วยิ่งขึ้นอีก และก็ยิ่งเข้าถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นอีกไปเรื่อยๆ ...เป็นวงจรที่กัดกินตนเอง

 

ว่าแต่...มันผิดแผกจากเรื่องอื่นๆ บนโลกใบนี้หรือ? ไม่, บ่อยกว่าบ่อยที่มนุษย์หยิบชิ้นส่วนต่างๆ จากความพึงพอใจส่วนตนประกอบสร้างเป็น ‘เหตุผล’ เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำที่ ‘ไร้เหตุผล’

 

.............

 

สาวน้อยคนหนึ่งเคยเล่าความใฝ่ฝันให้ผมฟังว่า เธออยากจะไปขั้วโลกเหนือ อยากดื่มด่ำกับแสงเหนือ (ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากเห็นเช่นกัน) การโบยบินตามความฝันนี้ไม่ง่ายดาย แต่ผมเริ่มไม่แน่ใจว่า เมื่อทุกอย่างพร้อมจะมีขั้วโลกเหนือและแสงเหนือหลงรอดหรือไม่

 

เราเอาชนะสัตว์ผู้ล่าทุกชนิดและลากพวกมันลงจากบัลลังก์ บัดนี้ มนุษย์ยึดครองบัลลังก์ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารแทน ผมคิดว่ามนุษย์ไม่มีทางขึ้นไปได้สูงกว่านี้อีกแล้วบนห่วงโซ่อาหาร

 

แต่บนเส้นทางวิวัฒนาการ มนุษย์อาจเดินผ่านมาเพียงต้นๆ ทางเท่านั้น หมายความว่ายังมีเขี้ยวเล็บอีกมากที่กระบวนการทางธรรมชาติซ่อนเร้นไว้ และผมเชื่อว่าธรรมชาติมีเหตุผลจำเป็นบางประการที่ต้องปกปิดมัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการวิวัฒนาการยังดำเนินต่อไป

 

หากถึงวันนั้น ผม สาวน้อย และมนุษย์คนอื่นๆ อาจหยัดยืนบนขั้วโลกเหนือในฐานะผู้ล่าสูงสุดที่ไม่ได้รู้สึกอินังขังขอบกับแสงเหนืออีกต่อไป

 

หากถึงวันนั้น มนุษย์จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ยากที่จะตอบ แต่ผมไม่มั่นใจสักเท่าไรว่า มนุษย์...จะหล่อเหลา ภูมิฐาน และทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยงเดียวกับราชาแห่งป่า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: