‘ผังเมืองใหม่กทม.’ไม่เปลี่ยนแปลง ปรับมากไม่ได้-ขวางพัฒนาธุรกิจ ชี้ลอกแบบอเมริกา-แต่ไปได้ไม่สุด

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 3 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6758 ครั้ง

 

หลังจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) พ.ศ.....ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองกรุงเทพมหานคร ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ร่างผังเมืองฯ ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมือง และคาดว่าจะประกาศใช้ต้นปี พ.ศ.2556 นี้

 

สำหรับแนวทางการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่ สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ได้มีแนวทางทางการปรับปรุงโดยให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน โดยพัฒนาเมืองให้กระชับ จำกัดขอบเขตการพัฒนาเมืองและส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และให้ความสำคัญกับการขนส่งมวลชนระบบราง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่งมากขึ้น เช่น อาจส่งเสริมการพัฒนาแนวสูง และมีพื้นที่ว่างด้านล่าง  ส่วนขอบเขตการพัฒนาเมืองจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กทม.ตามแบบอเมริกาแต่เหมือนยากเพราะแยกส่วน

 

 

 

นายชุณหเดช พรหมเศรณี นักผังเมืองอิสระ กล่าวถึงเกี่ยวกับแนวคิดการวางผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ผังเมืองรวมฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ซึ่ง ชุณหเดช ระบุว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแนวคิดเดิม เพียงแต่ปรับแก้รายละเอียดเท่านั้น

 

นายชุณหเดชกล่าวว่า ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ประกาศใช้ครั้งแรกประมาณปี 2533 โดยไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ที่แนะนำว่า กรุงเทพมหานครควรจะมีผังเมืองรวม เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ ไทยจึงวางผังเมืองรวมครั้งแรกแนวคิดของอเมริกาคือ มีศูนย์กลางขนาดใหญ่อยู่กลางใจเมือง

 

 

                “เราได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งอเมริกาเพิ่งจะมีการวางผังเมือง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลให้เงินกับเมืองต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเมือง รองรับทหารที่กลับมาจากการรบให้ทำงานในเมือง มีบ้านอยู่อาศัย คำว่าผังเมืองรวมคือ รวมทั้งหมด ทั้งบ้าน ระบบสาธารณูปโภคที่อยู่อาศัย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้การพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคน้ำ ไฟ ที่ต้องคำนึงถึงการรองรับประชาชนที่อาศัยในเมือง และนิคมอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งผังเมืองรวมในอเมริกาจะเป็นลักษณะนี้ แต่ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบเหมือนอเมริกา เนื่องจากหน่วยงานราชการที่ดูแลแต่ละส่วน แยกกันทำงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีแนวคิดจะวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่เดิมสำนักการโยธาเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

 

 

                 “สำนักการโยธาดูแต่การวางผังเมือง การใช้ที่ดิน แต่ไม่ได้ดูเรื่องระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปโภคเป็นหน้าที่ของการประปานครหลวง และการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ดูแล และยังมีระบบขนส่งที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแล จะเห็นได้ว่าแม้จะตั้งสำนักผังเมือง แยกออกมาเพื่อดูแลผังเมือง แต่ก็ยังดูแค่ระบบการใช้ที่ดินและการวางผัง การบริหารจึงยังแยกส่วน แต่ผังเมืองฉบับแรกก็ประกาศใช้ออกมามีอายุ 5 ปี”

 

 

ถึงขั้นจ้างเอ็มไอทีทำแต่ต้องเลิกเพราะฟองสบู่แตก

 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากครบ 5 ปี มีการปรับปรุงครั้งที่ 1 สำนักผังเมืองอาจจะเห็นถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น จึงว่าจ้างสถาบัน MIT ดำเนินการศึกษาการวางผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนั้น MIT ได้เสนอให้กระจายเมืองขนาดใหญ่ออกไปตามถนนวงแหวน โดยกทม.ใช้คำว่า ศูนย์ชุมชนชานเมือง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากช่วงนั้นตรงกับภาวะฟองสบู่แตก พ.ศ.2540 โครงการกระจายเมืองออกสู่ชุมชนจึงต้องหยุดชะงัก แต่แนวคิดดังกล่าวยังอยู่ในผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร

 

 

             “สถาบัน MIT ศึกษาว่าต้องก่อสร้างเมืองจุดไหน ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม การเดินทาง แต่พอเศรษฐกิจช็อก ทุกอย่างก็ต้องเลิกไป แต่แผนนี้ก็ยังอยู่ในผังเมืองรวมของกทม.”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยัดย่านธุรกิจ-การเงินเข้าไปไว้กลางเมือง

 

 

จากนั้นกทม.ไม่ได้ว่าจ้างใครให้ศึกษาเรื่องผังเมืองอีก แต่ดำเนินการปรับปรุงเองในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 3 แนวคิดหลักไม่ได้เปลี่ยน ยังคงแนวคิดรวมศูนย์เมืองใหญ่เหมือนเดิม ซึ่งกทม.ยอมรับความจริงว่า โครงสร้างแนวคิดเมืองโดยรวมไม่ได้เปลี่ยน เนื่องจากกทม.ไม่มีงบประมาณที่จะสร้างศูนย์ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ตามที่ MIT ได้ศึกษาไว้

 

 

             “กทม.ยอมรับว่า ไม่มีงบประมาณที่จะสร้างศูนย์ชุมชนชานเมืองตามที่ MIT ศึกษา ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจ กับผังเมืองรวมของกทม. ได้แต่คิดโครงการใหม่ ๆ อย่างเมืองสุวรรณภูมิที่ไม่อยู่ในแผนผังเมืองรวม อย่างไรก็ตามกทม.เองพยายามจะบังคับให้หน่วยงานต่าง ๆ ออกไปอยู่ตามชานเมือง เพื่อลดความแออัดของเมือง แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” นายชุณหเดชกล่าว

 

 

นอกจากนี้แม้ว่า ศูนย์ราชการแห่งใหม่จะย้ายออกไปอยู่ชานเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดที่จะอนุรักษ์เมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วยให้เมืองลดความแออัดลงได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามผลกระทบจากผังเมืองสมัยอเมริกา ยังส่งผลระยะยาวมาจนถึงปัจจุบันคือ ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ภาคการเงินที่สำคัญ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบธุรกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจการบริการ ท่องเที่ยว โรงแรมระดับ 5 ดาว ยังคงรวมศูนย์อยู่กลางเมืองเช่นเดิม ความแออัดในเมืองจึงยังคงมีอยู่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จะย้ายธุรกิจออกนอกเมือง สงสัยทำไมตึกสูงยังผุดอีกเพียบ

 

 

อย่างไรก็ตาม นายชุณหเดชยังระบุด้วยว่า ประเด็นการย้ายธุรกิจออกไปนอกเมือง ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันของนักผังเมือง เพราะผังเมืองมีทั้งการพัฒนาและควบคุม แต่นักผังเมืองและกทม.ยังหาจุดลงตัวไม่ได้

 

 

              “ตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีที่ทำให้นักผังเมืองขัดแย้งกันมากคือ การก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ ในซอยร่วมฤดี ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นซอยแคบ แต่มีการอนุมัติให้สร้างโรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งนักผังเมืองฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถนนแคบไม่ควรสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ เพราะหากเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจะเสียหายมาก รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าราคาที่ดินแพงมาก ควรจะใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งมีการตั้งคำถามกลับไปที่ สำนักผังเมือง เช่นกันว่าอนุญาตให้สร้างได้อย่างไร ซึ่งอาจจะขัดกับข้อบัญญัติท้องถิ่นและพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร”

 

 

 

แหล่งทุนแทรก เร่งพัฒนาเมือง

 

 

นายชุณหเดชกล่าวว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีผังเมืองมากนัก เพราะการมีผังเมืองรวม เป็นการตัดโอกาสในการพัฒนาที่ดินของนักพัฒนาที่ดิน ซึ่งนักผังเมืองจะวางผังโดยพิจารณาตามหลักการและวิชาการ รวมถึงมองไปยังอนาคต ว่าเมืองควรจะไปทางไหน   แต่ที่สุดแล้วผู้ตัดสินใจจะให้ผังเมืองออกมาเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งคณะกรรมการผังเมืองจะประกอบด้วย ไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ภาคราชการ 1 ใน 3  ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ใน 3 และจากองค์กรภาคธุรกิจอีก 1 ใน 3 ดังนั้นจึงมีทั้งผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้า กรมจัดสรรที่ดิน

 

 

             “ถ้าดูจากโครงสร้างคณะกรรมการผังเมือง ที่ประกอบด้วย ราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรภายนอก จะมีผู้แทนจากหอการค้า ผู้แทนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีการโหวตเรื่องผังเมือง น้ำหนักจึงอยู่ที่การพัฒนามากกว่าการมองเมืองภาพรวม ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องอยู่ในเมือง เพื่อไม่ต้องลงทุนใหม่ ไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต”

 

 

 

รวมไปถึงปัญหาการแยกส่วนในการบริหารงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีโครงสร้างใหญ่ของเมือง แต่สิ่งที่สำคัญขององค์ประกอบเมือง เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ยังแยกส่วนกันบริหารจัดการ ผังเมืองรวมไม่สามารถดำเนินการได้

 

 

อุตสาหกรรมเล็ก ต้นเหตุเมืองแออัด

 

 

 

นอกจากนี้ นายชุณหเดชกล่าวอีกว่า การวางผังเมืองรวม ควรจะพิจารณาไปถึงอนาคตด้วยว่า เมืองจะไปอย่างไร ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะแก้อย่างไร แต่ผังเมืองปัจจุบันยังมี 2 ส่วน คือ ส่วนของการพัฒนาและการควบคุม ซึ่งที่ผ่านมาส่วนควบคุมไม่สามารถทำตามข้อบังคับต่าง ๆ ได้มากนัก เพราะติดเรื่องของการพัฒนา ในส่วนของการพัฒนาเองยังทำอะไรมากไม่ได้ เพราะต้องมีต้นทุนของค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งนายชุณหเดชมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีผู้บริหารที่มองการณ์ไกล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง

 

 

                “เราไม่มีผู้บริหารที่มองการณ์ไกล ที่ไม่คำนึงผลประโยชน์ทับซ้อน แต่มีผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง ถ้าเรามีผู้บริหารที่กล้าตัดสินใจโดยไม่สนใจผลประโยชน์ เราจะแก้ปัญหานี้ได้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามในผังเมืองรวมของกทม.นั้น เขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมืองแล้ว แต่สภาพความเป็นจริงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมขนาดเล็กจำนวนมาก ที่รอดพ้นจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กเหล่านี้ คือสาเหตุที่ทำให้เมืองแออัด เพราะคนงานที่ทำงานให้กับอุตสาหกรรมขนาดเล็กจะอาศัยในเมืองใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว บางแห่งจึงเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่กทม.ไม่สามารถจัดการได้ ตามตัวเลขในทะเบียนราษฎร์ประชากรในกรุงเทพมหานคร มีประมาณ 5 ล้านคน แต่ประชากรแฝงมีเพิ่มขึ้นมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาเรื่องผังเมืองรวม ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังรวมไปถึงการแยกกันทำระหว่างกรุงเทพมหานคร และเมืองใกล้เคียง เช่น จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

 

 

                “คนกรุงเทพมหานคร อยากเห็นเมืองแบบไหน คนที่อยู่ในเมืองสามารถกำหนดได้ แต่ส่วนหนึ่งกระบวนการประชาชนเองไม่เข้มแข็ง ปล่อยให้ภาคราชการ นักเทคนิคที่วางผังเมืองดำเนินการกัน ซึ่งกทม.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีคนทำงานน้อย จึงว่าจ้างให้บริษัทเอกชน สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดยังเป็นนักเทคนิค ในขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ใหญ่มาก และมีปัญหาทับถมกันอยู่ ปัญหาเหล่านั้นจึงยังไม่ได้รับการแก้ไข” นายชุณหเดชกล่าว

 

 

กทม.ขยับถึงขั้นตอนที่ 12 จาก 18 ขั้นตอน

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือนธันวาคม นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดูแลสำนักผังเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ว่า ขณะนี้ดำเนินการถึงขั้นตอนที่ 12 จากทั้งหมด 18 ขั้นตอน อยู่ระหว่างสำนักผังเมืองทำหนังสือแจ้งตอบคำร้องผู้มีส่วนได้เสียทุกราย ให้ทราบมติคณะกรรมการผังเมืองภายใน 45 วัน หลังจากคณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 รายละเอียดดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาคำร้องต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) มีมติให้ยกคำร้องหรือปรับปรุงแก้ไขแผนผังและข้อกำหนด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.คำร้องต่อแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน/ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 20 เรื่อง 2.คำร้องต่อแผนผังแสดงที่โล่ง มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงแผนผังแสดงที่โล่ง จำนวน 3 เรื่อง คือ ยกเลิกบริเวณ ล.1-12 (สนามกอล์ฟ นอร์ธปาร์ค) ล.1-21 (สนามกอล์ฟปัญญาอินทรา) และ ล.5-3 (แก้มลิงในสนามกอล์ฟนอร์ธปาร์ค) 3.คำร้องต่อแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการถนน จำนวน 3 เรื่อง คือ ถนนโครงการสาย ข.44 (ถนนนครลุง) ข.61 (ถนนปั้น) และ ข.62 (ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ)

 

ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปในปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 กรมโยธาธิการและผังเมือง จะส่งร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... ให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเห็นชอบ และกระทรวงมหาดไทยจะส่งต่อให้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารับหลักการ ส่งให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ไขร่าง จนถึงเดือนมีนาคม และในเดือนเมษายน เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยรมว.กระทรวงมหาดไทยลงนามในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 และสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเดือนพฤษภาคม กทม.จะได้ใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ในปี 2556 อย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: