จับตาถกเอฟทีเอไทย-อียู ยูเอ็นชี้กระทบเข้าถึงยาแน่

3 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 962 ครั้ง

 

วันที่ 1 มีนาคม ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาสังคมร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปร่วมเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปรอบแรก ณ กรุงบรัสเซลประเทศเบลเยี่ยม โดยมีกำหนดเจรจาในวันที่ 6 มีนาคมนี้

 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐสภาได้ผ่านกรอบการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาการเจรจาที่ยังมีความไม่ชัดเจน  โดยเฉพาะในเรื่องข้อตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างกว้างขวาง และไม่มีความชัดเจนต่อท่าทีของรัฐบาล ต่อประเด็นดังกล่าว ประกอบกับการที่รัฐบาลประกาศว่าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง หรือเพียง 10 รอบเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาคประชาสังคม

 

นายจักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฎิบัติการงานพัฒนา(โฟกัส) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการเตรียมการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปในครั้งนี้ พบว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีพอ จะเห็นว่าทีมเจรจาเองยังไม่สามารถตอบรายละเอียดต่าง ๆ ที่ภาคประชาสังคมมีความห่วงใยได้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าห่วงใยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดให้มีการคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก หรือในประเด็นด้านการลงทุนที่กำหนดให้มีการคุ้มครองนักลงทุนอย่างเข้มงวดซึ่งจะมีผลกระทบต่อนโยบายรัฐทั้งที่มีอยู่แล้วและที่อาจจะเกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นแนวนโยบายที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนก็ตาม

 

นอกจากนี้แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญไทยจะมีการกำหนดให้รัฐบาลไทย หากจะต้องมีการได้ทำข้อตกลงใด ๆระหว่างประเทศ ต้องมีการชี้แจง และเห็นชอบจากรัฐสภาไทยตามมารตรา 190 แต่เนื่องจากกฏหมายลูกยังมีความไม่ชัดเจนและมีรายละเอียดในกฏหมายที่เป็นรายละเอียดสำคัญแต่ไม่ได้ถูกนำมาดำเนินการแต่อย่างใด

 

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากต่อท่าที และข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีแนวโน้มว่าจะเกินไปกว่าการตกลงในองค์การการค้าโลก แม้สหภาพยุโรปจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่กลับมีท่าทีในการเจรจาเอฟทีเอกับไทยอย่างที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยา

 

 

             “เราขอยืนยันว่าจะสู้แค่ตาย และจะมีการรณรงค์ต่อสังคมให้มีการบอยคอตสินค้าจากยุโรป รวมทั้งจะสื่อสารไปยังประชาชนในสหภาพยุโรปให้รู้ว่า สินค้าที่คนยุโรปซื้อไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ไก่ หรือสินค้าจิวเวอรี่แลกมาด้วยชีวิตของคนไทย” นายอภิวัตน์กล่าว

 

 

ด้าน ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่า หากรัฐบาลยอมรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก จะส่งผลต่อราคายาที่จะแพงขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) จะส่งผลให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถออกตลาดแข่งขันกับยาต้นแบบได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยากว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายชิบ้า พูราไรพุม จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เอเชียแปซิฟิก (APN+) ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ที่เห็นเพื่อนผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เสียชีวิตมากมาย เนื่องจากเข้าไม่ถึงยารักษาโรค แต่ภายหลังเมื่ออินเดียสามารถผลิตยาชื่อสามัญ และสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก ทำให้เพื่อนของเราเข้าถึงยาและได้รับการรักษาจนมีชีวิตอยู่ได้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายที่ดีมากในเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนในประเทศ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่ง แต่หากไทยยอมรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาก็จะส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้

 

ด้านนายพอล คอร์ธอร์น ผู้ประสานงานโครงการเข้าถึงยาจากองค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า องค์การหมอไร้พรมแดนมีความเป็นห่วงกังวลอย่างมาก ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยในระยาว และมองว่าการรีบเร่งเจรจาของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากการถูกกดด้านจากหลายด้านจนทำให้ละเลยที่จะคิดถึงผลกระทบด้านการเข้าถึงยาของประชาชนไทย โดยได้ยกตัวอย่างการเจรจาของอินเดียที่รัฐบาลอินเดียมีควากล้าหาญที่จะปฎิเสธ ไม่ยอมที่จะเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับสหภาพยุโรป

 

นอกจากนี้นายพอล ยังได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะไม่นำเรื่องทรัพยสินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลกมาเจรจา

ด้านผู้แทนองค์การอนามัยโลกในประเทศไทยได้กล่าวว่า จากเอกสารของ UNDP มีข้อแนะนำที่ชัดเจนต่อประเทศกำลังพัฒนาว่าควรต้องระมัดระวังหากจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีลักษณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยกว่า 1,000 คน รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้แทนเจรจาออกมาชี้แจงจุดยืนของรัฐบาลต่อการเจรจาเอฟทีเอ แม้จะมีการรับปากที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เช่นการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาคประชาสังคมและรัฐ หรือจัดให้มีกระบวนการชี้แจงรายงานการเจรจาที่จะเกิดขึ้นทุกรอบ และแม้ว่าหัวหน้าคณะเจรจา ดร.โอฬาร ไชยประวัติจะเป็นผู้ออกมารับจดหมายและกล่าวยืนยันต่อหน้าพี่น้องที่มาร่วมชุมนุม แต่ภาคประชาสังคมเองก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามที่ได้รับปากไว้หรือไม่อย่างไร และจะจับตา ติดตาม อย่างต่อเนื่อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: