ชี้ช่องทุจริตโปรเจกต์น้ำ3.5แสนล. นักวิชาการจวกรัฐบาลไม่มีคำตอบ แนะศึกษา1ปี-ประชาชนมีส่วนร่วม

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 3 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1450 ครั้ง

 

พรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กำลังเดินหน้าอย่างเร่งรีบ แต่กลับถูกต้านอย่างหนักในช่วงนี้ นอกจากเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนจัดการน้ำ กบอ. นำโดยศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไทยฟลัดดอทคอม, มูลนิธิสืบนาคเสถียร และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการประเทศไทย ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

 

เป็นเพราะกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งถูกครหาว่าหละหลวม ไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการวิเคราะห์ปัญหา และความคุ้มค่า การทุจริตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดทำทีโออาร์ไม่มีความโปร่งใสและมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต

 

 

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ‘โปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ชะลอหรือไปต่อ’ โดยมี นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการระบายน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายประเชิญ คนเทศ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม และ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอาการและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วม ขณะที่นายปลอดประสพ แจ้งว่าไม่สามารถมาร่วมงานได้

 

 

ทีโออาร์น้ำมีปัญหา เปิดช่องทุจริต

 

 

นายอุเทนกล่าวในเบื้องต้นว่า ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างถาวรและเด็ดขาด แต่ไม่เห็นกับวิธีการที่จะใช้ในทีโออาร์ฉบับนี้ ซึ่งเขียนแบบเปิดและมีช่องโหว่ที่สามารถดำเนินไปสู่กระบวนการก่อให้เกิดการทุจริตได้ และนับว่าเป็นทีโออาร์ฉบับมหากาพย์ ที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร่างขึ้น เพราะความเป็นมาของทีโออาร์ไม่เป็นขั้นตอน ขาดการศึกษาความเหมาะสม ขาดการวิเคราะห์ผลกระทบและความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์

 

ในแต่ละโมดูลยังมีการกำหนดกรอบระยะการก่อสร้างไว้ 5 ปี เท่ากัน ซึ่งในทางปฏิบัติจะคาดหวังได้จริงหรือไม่ว่าทุกโครงการในทุกโมดูลจะเสร็จตามเวลาที่กำหนด ในทีโออาร์ยังระบุด้วยว่า ‘และอาคารประกอบอื่น ๆ เพื่อใช้ส่งน้ำในการชลประทาน การอุปโภค บริโภค การรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หากมีศักยภาพและมีความจำเป็นในภายหลัง’ นายอุเทนตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนเช่นนี้หมายถึงอะไร หมายถึงจะสร้างหรือไม่สร้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “ทำไมคุณไม่เขียนไปเลย ทำไมต้องเขียนศักยภาพภายหลัง ใครมีศักยภาพ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเอื้อแล้วเรียกว่าอะไร ในทุกโมดูลที่ออกมามีความไม่รู้เหมือนกัน 3 ข้อ คือ ไม่รู้ปริมาณน้ำที่คาดคิด ไม่รู้ปริมาณเงินว่าจะใช้เท่าใด เพียงแต่กำหนดให้ไม่เกินกรอบ และไม่รู้ว่าจะก่อสร้างพื้นที่ใดบ้าง เพราะแค่ให้บริษัทไปหามา นี่คือความอันตรายและน่ากลัวจากกระบวนการที่มีหลักคิดเช่นนี้ ซึ่งทราบข่าวมาว่าขณะนี้รู้กันแล้วว่าใครได้โมดูลไหนบ้าง”

 

 

ต่อตระกูลบอกญี่ปุ่นถอนตัวเพราะไม่มีสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนตัดสินใจ

 

 

ในประเด็นทีโออาร์ นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่า

 

 

            “เป็นทีโออาร์ที่ประหลาดมาก ไม่เคยมีที่คัดเลือกคนที่จะมาประมูลก่อน แล้วบอกว่าได้รับเลือกแล้ว แต่ทีโออาร์ยังไม่มี รออีก 15 วัน แล้วออกมาหนาแค่นี้ ทั้งที่โครงการใหญ่ถึง 3.5 แสนล้าน โครงการใหญ่สุดคือ โมดูล 5 ฟลัดเวย์ ใช้งบ 1.5 แสนล้าน แต่มีประมาณ 10 หน้า ผมจัดประมูลสร้างบ้านราคาหนึ่งล้านยังมีมากกว่านี้ แล้วในร้อยหน้านี้มีเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันแค่สองสามหน้าเท่านั้น

 

            “ในทีมทั้งหลายที่มาเสนอ ทีมญี่ปุ่นถือว่ามีความรู้มากในการทำโครงการขนาดใหญ่ การที่เขาถอนตัวไปไม่ใช่ว่าทำไม่เป็น แต่เขารู้ว่าโครงการนี้เสี่ยงมาก เพราะกติกาแค่สิบหน้า จะทำได้ต้องมีอย่างอื่นด้วย คือความสามารถด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ผมเดาว่าเกาหลีจะได้งานใหญ่ ๆ ไป เหลืองานชิ้นเล็ก ๆ ให้จีนกับล็อกซเล่ย์ เพื่อให้ดูว่ามีหลายบริษัทได้งาน”

 

 

นายต่อตระกูลยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่จะทำการตรวจคัดเลือกทีโออาร์ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ แต่ กบอ. ให้ข้าราชการระดับสูง ๆ มาทำหน้าที่นี้ ซึ่งส่วนมากไม่ใช่วิศวกร จึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ เมื่อถามความเห็นจากนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หนึ่งใน กบอ. ก็ได้รับคำตอบว่าสามารถกู้มาไว้ก่อนได้ โดยใช้ทีโออาร์เพียง 10 กว่าหน้า แต่กู้ได้ถึง 3.5 แสนล้าน

 

 

            “หน้าที่กฤษฎีกาควรนั่งอยู่ข้างนอก บอกและตรวจตราว่า กบอ. ทำงานถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่นั่งในคณะกรรมการเช่นนี้ ผมไม่รู้ว่าเป็นการพูดส่วนตัวหรือพูดในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากโครงการนี้ทำได้โครงการอื่น ๆ หลังจากนี้ก็จะทำได้หมด สำหรับความล่าช้าในขั้นตอนนี้ กบอ. ไม่สามารถอ้างว่าเป็นเพราะมีผู้ร้องเรียน ขัดขวางโครงการจำนวนมากได้ เนื่องจากที่ผ่านมา กบอ. ไม่เคยฟังการร้องเรียนใด ๆ”

 

 

 

ดร.เสรี ชี้รัฐยังไม่มีคำตอบการจัดการน้ำ แนะศึกษา 1 ปีหาทางเลือกดีที่สุด

 

 

นอกเหนือไปจากประเด็นความไม่ชอบมาพากลของทีโออาร์แล้ว การลงทุนถึง 3.5 แสนล้านบาท รอบนี้กลับยังไม่สามารถการันตีได้ว่า จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการน้ำของประเทศไทย ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดในการจัดการน้ำ เพราะยังไม่มีการศึกษา สิ่งที่ควรทำคือการค้นหาคำตอบการจัดการน้ำที่เหมาะสมที่สุดกับประเทศไทยก่อน ซึ่งระหว่างหาคำตอบก็จะเกิดกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย แล้วจึงค่อยทำทีโออาร์

 

 

            “สิ่งที่ทีโออาร์เขียนไว้ มีแค่สามสี่แผ่นแรกที่เนื้อหาต่างกัน แต่หลังจากนั้นเหมือนกันหมดทุกโมดูล แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้รับเหมาจะทำได้ตามนั้น จะได้คุ้มค่ากับงบหรือไม่ ทุกโมดูลยังไม่มีคำตอบ หรือการบูรณาการระหว่างโมดูล ถามว่าผู้รับจ้างแต่ละโมลดูลจะมาคุยกันหรือไม่ นอกจากจะให้ผู้รับจ้างรายเดียวได้ไปหมดทุกโมดูล”

 

 

 

ดร.เสรี เสนอว่า รัฐบาลควรใช้เวลา 1 ปีเพื่อทำโร้ดแม็ป ศึกษาหาทางเลือกต่าง ๆ เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อได้ทางออกที่ดีที่สุดแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการออกแบบ ซึ่งอาจใช้งบประมาณน้อยกว่านี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ แล้วจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ทั้งยังตอบไม่ได้ด้วยว่าจะสามารถแก้ปัญหาการจัดการน้ำได้

 

 

 

ดร.เสรี ฟันธงรัฐไม่เซ็น หวั่นผลผูกพันทำเสียหาย

 

 

เหตุนี้ ดร.เสรี จึงคิดว่า จะยังไม่มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น แต่ฟากรัฐจะยื้อกระบวนการออกไป

 

 

            “เพราะถ้าเซ็นเมื่อไหร่มีผลผูกพันทันที ขณะที่ยังไม่มีคำตอบเรื่องการจัดการน้ำ ไม่ว่าความเสียหายจะกลับมาที่รัฐหรือเอกชนก็ตาม แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นแน่นอน ผมเคยเรียนแล้วว่า ทำโมดูล 1 แล้วอาจไม่ต้องทำโมดูล 5 แต่เมื่อไปเซ็นแล้ว ก็แปลว่าต้องทำทั้ง 9 โมดูล

 

            “แต่ที่มันรวบรัดตอนนี้ เพราะการเมือง อย่าเอาการเมืองมาบอกว่าต้องทำ อย่าเพิ่งไปกลัวว่าเดี๋ยวน้ำท่วม แล้วต้องเร่งทำ ผมเรียนว่าที่น้ำท่วมปี 2554 เป็นผลจากการบริหารจัดการ ไม่ใช่ตัวโครงสร้าง ถ้าแก้ที่การบริหารจัดการได้ก็ไม่ท่วม อย่าพูดว่า ถ้าท่วม รัฐบาลไม่รับผิดชอบ พูดไม่ได้”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: