เกษตรพันธสัญญาโอดหนี้ท่วมพันล้าน รวมตัวปลดแอก-ผลิตปลอดสารขายเอง

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ กราฟฟิกโดย ชนากานต์ อาทรประชาชิต 3 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4780 ครั้ง

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา จึงร่วมกันจัดเวทีสัมนา “ทางเลือก ทางรอด เกษตรพันธสัญญา : สถานการณ์เกษตรพันธสัญญา ข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาตามประเภทการผลิต โดยมี นายคำเรียง ไชยสีจันทร์ ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังจังหวัดเชียงใหม่ มหาสาคามและขอนแก่น นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจ.เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และขอนแก่น นายสิทธิชัย สุขสมบูรณ์ ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จ.นครปฐม นายวาสนา นาคดิลก ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่/กลุ่มผู้เลี้ยงไก่เนื้อ จ.เชียงใหม่ มหาสารคาม และลพบุรี นายพิรุณ ทองดี ผู้แทนกลุ่มผู้ปลูกเมล็ดพันธ์พืช จ.มหาสารคาม และขอนแก่น นายสุพจน์ แก้วแสนเมือง ผู้แทนกลุ่มผู้ปลูกอ้อย ร่วมพูดคุยถึงปัญหาที่ได้รับจากเกษตรพันธสัญญาและการปรับตัวเพื่อการแก้ไขปัญหา

เกษตรพันธสัญญาเสียเปรียบทั้งค่าวัตถุดิบ-ราคาขาย

นายคำเรียง ไชยสีจันทร์ ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง จ.เชียงใหม่ มหาสารคาม และขอนแก่น กล่าวว่า เดิมเลี้ยงปลากับบริษัทหนึ่ง ขายได้ราคากิโลกรัมละ 5 บาท มีทั้งหมด 16 กระชัง ขายแต่ละครั้งจะได้ประมาณ 10,000 บาท ต่อมาย้ายมาเลี้ยงปลากับอีกบริษัทหนึ่งพบว่า อาหารดี ทำให้ได้ปลาตัวใหญ่ได้น้ำหนักและมีระบบทำสัญญาที่ดี แต่เลี้ยงกับบริษัทดังกล่าวมาได้ 2 ปี บริษัทเรียกเก็บเงินประกันลูกพันธุ์ปลา เพราะผู้เลี้ยงปลาบางรายเลี้ยงแล้วไม่ส่งคืนบริษัท และบริษัทจับปลาเข้ามารับซื้อปลาไม่ตรงเวลา อีกทั้งอาหารปลามีการปรับราคาสูงขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งขณะนี้สวนทางกับราคาปลาที่ลดต่ำลง เนื่องจากปริมาณปลาในตลาดมีมาก

การเลี้ยงปลาในกระชังมีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะน้ำเสียจากสารเคมีในทุ่งนาที่ไหลลงสู่แม่น้ำ หรือช่วงก่อนเข้าฤดูฝนปลาในกระชังจะตายหมด ผู้เลี้ยงแก้ปัญหาด้วยการนำมาปลามามักทำปลาร้า นอกจากนี้ชาวบ้านยังเรียกร้องให้จัดตั้งกลุ่ม เพื่อหาทุนส่วนกลางในการจัดซื้ออาหารปลาที่ถูกลงเพื่อลดต้นทุน

‘เลี้ยงหมู’ปรับตัวมาเปิดตลาดปลอดสารพิษแทน

นายสิทธิชัย สุขสมบูรณ์ ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรใน จ.นครปฐม กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ หมู 1 ตัว ลงทุนประมาณ 5,000 บาท แต่บริษัทจะมารับซื้อในราคา 4,500 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรขาดทุน หากผู้เลี้ยงสุกรไม่ขายในราคาดังกล่าว ทางบริษัทสามารถนำสุกรจากพื้นที่อื่นเข้ามาขาย เพราะประเทศไทยมีการค้าหมูอย่างเสรี และเมื่อสุกรมีราคาลดลง ทางบริษัทจะให้ชั่งน้ำหนักสุกรที่หน้าโรงเชือด ซึ่งหากชั่งหน้าโรงเชือดน้ำหนักของสุกรจะลดลงมากกว่าชั่งน้ำหนักหน้าเล้าประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทำให้ขายไม่ได้ราคา

            “เมื่อผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนไม่มีทุนที่จะซื้ออาหารและยา จึงหันมาผลิตอาหารสุกรด้วยตนเองด้วยการหมักหยวกกล้วย พบว่าต้นทุนลดลงและสามารถกำหนดคุณภาพของสุกรได้ อีกทั้งการเปิดตลาดอินทรีย์เนื้อสุกรปลอดสารพิษ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ผู้เลี้ยงสุกรสามารถสร้างอำนาจต่อรองราคาและกำหนดราคาขายด้วยตนเองได้ จึงอยากให้หันมาร่วมกลุ่มกันเพื่อผลิตเนื้อสุกรปลอดสารพิษ” นายสิทธิชัยกล่าว

ด้านนายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จ.เชียงใหม่ บุรีรัมย์และขอนแก่น ระบุว่า ขณะนี้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูในจ.เชียงใหม่ กำลังมีการทดลองเลี้ยงสุกรโดยไม่ใช่ยาและไม่ให้วัคซีน ปรากฏว่าสุกรแข็งแรงมาก จึงอยากชักชวนผู้บริโภคร่วมกันทำฟาร์มสุกรปลอดภัยเพื่อมาจำหน่ายในกลุ่มเครือข่าย

บริษัทใหญ่เลิกกิจการค้างหนี้เกษตรกรกว่า 80 ล้าน

ขณะที่ นายวาสนา นาคดิลก ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่/กลุ่มผู้เลี้ยงไก่เนื้อใน จ.เชียงใหม่ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น ลพบุรี กล่าวถึงปัญหาจากกรณีที่สหฟาร์มปิดโรงชำแหละว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงไก่เนื้อ จ.ชัยภูมิผลิตไก่เนื้อให้กับสหฟาร์ม มีสมาชิกในกลุ่ม 90 ราย มีไก่ 4 ล้านตัว แต่เมื่อเกิดปัญหาไข้หวัดใหญ่ ผู้เลี้ยงไก่ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงในระบบโรงเรือนแบบปิด ซึ่งผู้เลี้ยงไก่เป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าว และในปี 2554 สหฟาร์มเริ่มยืดระยะเวลาการชำระเงินออกไป ปัญหาดังกล่าวผู้บริหารสหฟาร์มและผู้เลี้ยงไก่ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก แต่ทางสหฟาร์มก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้ ทางผู้เลี้ยงไก่ให้ความเชื่อมั่นกับทางสหฟาร์มยังคงเลี้ยงไก่รุ่นใหม่ ทำให้เงินค้างสะสมเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันสหฟาร์มเป็นหนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ใน จ.ชัยภูมิ สูงถึง 80 ล้านบาท ขณะที่ความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่/ไก่เนื้อ มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 80 ล้านบาท

            “เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พยายามเรียกร้องต่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าเสียหาย” นายวาสนากล่าว

ผลิตเมล็ดพันธุ์ แค่ไม่ติดฉลากก็โดนฟ้อง

ขณะที่เกษตรกรกลุ่มปลูกพืช นายพิรุณ ทองดี ผู้แทนกลุ่มผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์พืช จ.มหาสารคาม ขอนแก่น กล่าวถึงปัญหาการจัดการเมล็ดพันธุ์ว่า เกษตรกรไม่สนใจในรายละเอียดสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำร่วมกับบริษัท แม้แต่พันธุ์ที่ปลูกเกษตรกรไม่มั่นใจว่าจะผลิตได้ แต่เกษตรกรกลัวที่จะไม่ได้เข้าร่วมกับบริษัท โดยบริษัทมีข้อกำหนดเรื่องของตารางเวลาการให้ปุ๋ย และสารเคมีอย่างเคร่งครัด แต่การรับซื้อทางบริษัทจะตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์เป็นสำคัญ หากเมล็ดพันธุ์ไม่ผ่านค่าความบริสุทธิ์ตามที่บริษัทกำหนดจะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน

            “เมื่อหันมาทำเองพบว่า ได้คุณภาพดีกว่า แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะต้องมีใบอนุญาตจึงจะเพาะปลูกได้ ตามพ.ร.บ เมล็ดพันธุ์ พ.ศ.2518 ที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ สถานที่ปลูก แหล่งรวบรวมรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่จะจัดจำหน่าย ทางเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์จึงถูกกรมวิชาการเกษตรฟ้องร้องในข้อหาติดฉลากไม่ถูกต้อง เกษตรกรจะต้องไปรายงานตัวต่อศาล เช่นเดียวกับนักโทษติดยาเสพติด” นายพิรุณกล่าว

แค่ 10 จังหวัดเกษตรกรมีหนี้มากกว่าพันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 พบว่า ใน 10 จังหวัด ขณะนี้มีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาและมีหนี้สินในจังหวัดต่าง ๆ แบ่งตามประเภทการผลิต ในจ.ขอนแก่น มีเกษตรกรเลี้ยงสุกร 29 ราย มีหนี้สินมากถึง 30.15 ล้านบาท เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 59 ราย มีหนี้สิน 171.9 ล้านบาท เกษตรเลี้ยงไก่เนื้อ 43 ราย มีหนี้สิน 197.9 ล้านบาท เกษตรกรเลี้ยงปลา 70 ราย มีหนี้สิน 29.42 ล้านบาท เกษตรกรปลูกอ้อย  58 ราย มีหนี้สิน 9.5 ล้านบาท เกษตรกรปลูกเมล็ดพันธุ์ 505 ราย มีหนี้สิน 17.46 ล้านบาท รวม 764 ราย มีหนี้สินรวม 456.33 ล้านบาท

ส่วนที่ จ.มหาสารคาม มีเกษตรเลี้ยงปลาจำนวน 147 ราย มีหนี้สิน 19.47 ล้านบาท มีเกษตรกรปลูกอ้อย 66 ราย มีหนี้สิน 6.5 ล้านบาท รวม 213 ราย มีหนี้สินรวม 25.97 ล้านบาท จ.ยโสธร มีเกษตรกรเลี้ยงปลา 41 ราย มีหนี้สิน 10.7 ล้านบาท จ.ร้อยเอ็ด มีเกษตรกรเลี้ยงสุกร 10 ราย มีหนี้สิน 4.85 ล้านบาท มีเกษตรเลี้ยงไก่เนื้อ 9 ราย มีหนี้สิน 3.8 ล้านบาท มีเกษตรกรปลูกอ้อย 30 ราย มีหนี้สิน 5 ล้านบาท รวม 49 ราย มีหนี้สินรวม 13.65 ล้านบาท จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรปลูกอ้อย 317 ราย มีหนี้สิน 35.8 ล้านบาท จ.ชัยภูมิ มีเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ 90 ราย มีหนี้สิน 233.38 ล้านบาท

ขณะที่ จ.เชียงใหม่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 34 ราย มีหนี้สิน 64.9 ล้านบาท มีเกษตรกรเลี้ยงไข่ไก่ 52 ราย มีหนี้สิน 74 ล้านบาท เกษตรเลี้ยงปลา 31 ราย หนี้สิน 12.3 ล้านบาท รวม 117 ราย มีหนี้สินรวม151.2 บาท จ.นครปฐม มีเกษตรกรเลี้ยงสุกร 12 ราย มีหนี้สิน 24 ล้านบาท เกษตรเลี้ยงไก่เนื้อ 8 ราย มีหนี้สิน 10 ล้านบาท มีเกษตรกรเลี้ยงปลา 1 ราย มีหนี้สิน 0.5 ล้านบาท รวม 21 ราย มีหนี้สินรวม 34.5 ล้านบาท จ.ลพบุรี เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ 3 ราย มีหนี้สิน 8.35 ล้านบาท เกษตรกรเลี้ยงปลา 40 ราย หนี้สิน 12.7 ล้านบาท รวม 43 ราย มีหนี้สิน 21.05 ล้านบาท จ.สิงห์บุรี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ 2 ราย หนี้สิน 49 ล้านบาท

เกษตรพันธสัญญา ไม่ช่วยให้ชีวิตเกษตรดีขึ้น

สำหรับระบบเกษตรพันธสัญญาใหม่ เริ่มขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2519 โดยเชื่อว่า การผลิตเชิงเดี่ยวเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและประกันราคา มีความมั่นคงในด้านการตลาด แต่เกษตรกรกลับถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรกลายเป็นแรงงานในระบบพันธสัญญาภายใต้การควบคุมของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ ในปี 2554 ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น  39.3 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบถึง 24.6 ล้านคน หรือร้อยละ 62.6 ของผู้มีงานทำทั้งหมด เป็นแรงงานในภาคเกษตรหรือเกษตรกร 15.1 ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 และในจำนวนเกษตรกรทั้งหมดนั้น มีเกษตรกรภายใต้ระบบพันธสัญญา จำนวน 150,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งแรงงานภาคการเกษตรในส่วนนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบบการผลิตแบบพันธสัญญานี้ยังขาดกฎหมาย และนโยบายที่เป็นระบบ และเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่จะส่งเสริมให้เป็นเกษตรกรที่มีศักยภาพท่ามกลางการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

เกษตรกรภายใต้ระบบพันธสัญญา เป็นกลุ่มเกษตรที่เป็นกำลังหลักในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถือว่าเป็นภาคส่วนที่มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารสูงกว่าการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะในการเลี้ยงไก่ สุกร การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและการผลิตพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด แต่เกษตรกรในระบบการผลิตแบบพันธสัญญา ยังมีปัญหาในหลายเรื่องทั้ง บริษัทไม่นำ ‘ต้นทุนแอบแฝง’ เข้ามาคำนวณเป็น ‘ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง’ ซึ่งเกษตรมักจะคำนวณต้นทุนการผลิตจากสิ่งที่เห็นตัวเงินชัดเจนเช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา วิตามินเป็นต้น แต่ไม่ได้คิดคำนวณค่าแรงของตน ค่าน้ำ ค่าไฟหรือแม้กระทั่งค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่วงเกษตรพันธสัญญา ค่าเสื่อมโทรมของสุขภาพกายที่ต้องอยู่กับสภาพโรงเรือนหรือไร่น่าที่เต็มไปด้วยสารเคมี

เป็นระบบผูกขาดธุรกิจผลิตอาหารขนาดใหญ่

โดยระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นระบบการทำเกษตรที่ผูกขาดข้อมูล ความรู้ ปัจจัยการผลิตและกลไกตลาดโดยบริษัทธุรกิจผลิตอาหารขนาดใหญ่ ทำลายเกษตรกรรายย่อย ให้เป็นเพียงผู้ใช้แรงงานรับจ้างในที่ดินของตนเอง และยังทำลายความหลากหลายของระบบอาหาร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย เนื่องจากปัจจุบันการทำเกษตรพันธสัญญา เปลี่ยนพื้นที่บนเทือกเขาและยอดดอยทางภาคเหนือ ให้เต็มไปด้วยข้าวโพดพันธสัญญา หรือในภาคอีสานที่เต็มไปด้วยไร่อ้อย กระชังปลามากมายในแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่และแม่น้ำชี ในจ.มหาสารคาม ยโสธรและร้อยเอ็ด

กลิ่นจากการถ่ายมูลของไก่หรือหมูที่ส่งกลิ่นรบกวนจนกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งในหลายชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการผลักดันของบรรษัท การละเลยของหน่วยงานและไม่ได้คำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยที่ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นกระบวนการทำธุรกิจที่คิดค้นขึ้นโดยบรรษัท เพื่อกำไรสูงสุดของบรรษัท โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และผลักภาระความเสี่ยงให้เกษตรกรแบกรับแต่เพียงผู้เดียว เกษตรกรไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาขาย การบังคับให้เกษตรกรใช้อุปกรณ์ทั้งสารเคมี ยาและอาหารจากบริษัทเท่านั้น ซึ่งบริษัทเป็นผู้กำหนดตารางเวลาในการใช้ทั้งหมด โดยอ้างว่า เพื่อคุณภาพของสินค้า ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอย่างร้ายแรงและเรื้อรัง

 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: