ระยองร้องนายกฯ-เกษตร น้ำมันรั่ว-รายได้ประมงร่วง

 

3 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1477 ครั้ง

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ. ระยอง เปิดเผยถึงการเข้าพบนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด และยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีด้วยว่า กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันปตท.รั่ว  และกลุ่มชาวประมงชายฝั่งอ่าวไทยกว่า 100 คน นัดรวมตัวกันที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เวลา 10.00 น. เพื่อยื่นหนังสือ “แผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว” ฉบับประชาชน ที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วระดมสมองช่วยกันคิดขึ้นมา เพราะผ่านมาแล้ว  2 เดือน ทั้งปตท.ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีแผนการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ยากลำบาก

ทั้งนี้แผนการฟื้นฟูต้องครอบคลุมพื้นที่บริเวณน้ำมันรั่วไหล จนถึงพื้นที่ที่น้้ำมันไหลผ่าน พื้นที่ที่น้ำมันจมลงทะเล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการฉีดสารเคมีในการกำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุด เพราะมีทั้งน้ำมันที่มีสารปรอท และโลหะหนักต่าง ๆ และ สารเคมีอันตรายที่จมอยู่ใต้ทะเลรวมกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุด เพราะการฉีดสารเคมีตอนที่เกิดน้ำมันรั่วส่วนใหญ่ลึกไม่ถึง 20 เมตร และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตวน้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้ทุกวันนี้แทบจะไม่มีสัตว์น้ำอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น การฟื้นฟูต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพืื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งและชาวประมง ด้วยการส่งเสริมอาชีพจนกว่าวิถีชีวิตจะคืนสู่สภาพปกติ

            “ทุกวันนี้ชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมืดมนมาก หลายคนต้องหันไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง  เพราะไม่สามารถออกไปหาได้ เนื่องจากไม่มีปลาให้จับเหมือนแต่ก่อน โดยจากที่เคยจับได้ 40-50 กิโลกรัม เหลือแค่ 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น ที่หนักไปกว่าน้ั่น หามาแล้วก็ขายไปไม่ได้ เพราะคนยังไม่มั่นใจว่าจะมีการปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ จนในที่สุดชาวประมงจำนวนมากเลือกที่จะไม่ออกเรือ เพราะกลัวว่าสัตว์น้ำที่หาได้จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แม้เราไม่ก่อมลพิษ แต่เราก็มีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงต้องการให้มีการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยละเอียดจนมั่นใจได้ว่าน้ำทะเล อาหารทะเล มีความปลอดภัย ไม่ใช่เอาแต่พูดว่าไม่มีผลกระทบ เพราะมันมีผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว สัตว์น้ำหายไป แต่กลับมีซากสัตว์น้ำตาย  ก้อนซากน้ำมัน ลอยมาเกลื่อนหาดทุกวัน โดยทางกลุ่มจะนำก้อนทาร์บอลและ ซากสัตว์น้ำต่างๆ มาให้ผู้มีอำนาจดูด้วย” นายจตุรัสกล่าว

นายจตุรัสกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจ และผู้ก่อมลพิษ รับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยต้องมีการตั้งคณะกรรมการฟืิ้นฟูขึ้นมาอย่างจริงจัง โดยต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 60 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการและบริษัทเอกชน เหมือนกรรมการที่กรมทรัพยากรชายฝั่งทะเลตั้งขึ้นมา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง อีกทั้งหลายโครงการที่เสนอไว้อาจจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยปลาในทะเล โดยที่ไม่การตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อน แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าปลาที่ปล่อยไปจะรอด และการทิ้งปะการังเทียมที่ในพื้นที่ปะการังเดิม เป็นการกวาดขยะไปซุกใต้พรมหรือไม่

นายกสมาคมประมงพื้นบ้านกล่าวว่า ทางเครือข่ายจะเข้าพบ นายศิริวัฒน์  ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลเรื่องชายฝั่งทะเล เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะร่วมกับกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว กดดันรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบน้ำมัน ปตท.รั่ว  ที่มีการรณรงค์ผ่าน Change.org ซึ่งขณะนี้มีประชาชนลงชื่อกว่่า 48,000 คน  เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำลายชีวิตคนระยองอีกด้วย เรื่องน้ำมันรั่วต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือกรณีดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีด้วย

 

ขอบคุณภาพ มงคลสวัสดิ์ เหลืองวรพันธ์

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: