เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พฤศจิกายน เครือข่ายกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มเผยแพร่สิทธิมนุษยชนเพื่อนสังคม (ดาวดิน) ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนกกุญแจ มหาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กลุ่มเยาวชนสร้างสันต์สุราษฎร์ธานี อาศรมต้นบาก กลุ่มรักษ์เขาชะเมา คนรุ่นใหม่ตะวันออก กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้าคลองยัน จ. สุราษฎร์ธานี ยื่นจดหมายถึง คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การขาดจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เรียน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำเนาส่ง 1.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2.คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.คณะกรรมการกำกับตลาดทุน อ้างถึง หนังสือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ ทค.151-37/9/2556 ลงวันที่ 9 กันยายน 2556
ระบุว่า ตามที่บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งว่า การจัดเวทีพับลิค สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 เป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย ดังรายละเอียดตามอ้างถึงนั้น เป็นการกล่าวเท็จ
ในความเป็นจริงแล้ว การจัดเวทีในวันดังกล่าว รวมถึงเวทีพับลิค สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ด้วย มีการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยสร้างรั้วปิดกั้นทุกช่องทางรอบวัด และใช้กองกำลังตำรวจมากกว่า 700 นาย เป็นกำแพงปิดกั้นอีกชั้นหนึ่ง (ส่วนเวทีพับลิก สโคปปิง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ใช้กำลังตำรวจมากกว่า 1,000 นาย) ดังนั้น การกระทำเช่นนี้หรือที่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
ยิ่งไปกว่านั้น เอกสารหลักของบริษัทที่แจกแก่ผู้เข้าร่วมเวทีในวันที่ 8 กันยายน 2556 ยังโกหกหน้าด้าน ๆ ว่าจะขอประทานบัตรเฉพาะแปลงที่ 76/2539 เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ แต่พอเปิดอ่านเนื้อในของเอกสารกลับอำพรางหรือสอดแทรกการขอประทานบัตรแปลงที่ 77/2539 และแปลงที่ 203/2539 เข้ามาร่วมด้วย รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 900 ไร่
ทั้งนี้ ตลอดการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำเกือบสิบปีที่ผ่านมา ในท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ก่อเกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ มากมาย พบชาวบ้านมากกว่าร้อยคนมีสารพิษและโลหะหนักปนเปื้อนสะสมอยู่ในร่างกายจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในระบบหายใจ เจ็บปวดตามข้อ และอาการอื่น ๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการของทุ่งคำ ซึ่งจริยธรรมและธรรมาภิบาลนั้นเป็นข้อกำหนดหนึ่งของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีบริษัทแม่ คือ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ แต่ทุ่งคำและทุ่งคาฮาเบอร์ไม่เคยสำนึกรับผิดชอบใด ๆ มิหนำซ้ำยังฟ้องคดีชาวบ้าน อันเป็นเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ผ่านมาเกือบสิบปี ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วยการก่อกำแพงขวางถนน เพื่อปิดกั้นรถขนสารเคมีเป็นพิษในกระบวนการทำเหมืองแร่ แต่งแร่และถลุงแร่ทองคำ เพราะหน่วยงานราชการและทุ่งคำไม่เหลียวแล แต่ทุ่งคำกลับโกรธแค้นชาวบ้าน ด้วยการฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่ง โดยสองคดีแรกฟ้องชาวบ้าน 14 คน ให้ติดคุกและชดใช้ค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บวก 10 ล้านบาททุกวันจนกว่ากำแพงจะถูกทำลาย สองคดีหลังฟ้องชาวบ้าน 13 ราย ให้ติดคุกและชดใช้ค่าเสียหายอีก 70 ล้านบาท
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ และมิตรสหาย ได้มารวมตัวกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อร้องเรียนต่อท่าน ในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับกติกา เพื่อสร้างสรรค์ตลาดหลักทรัพย์ให้มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล แต่ถ้าหากท่านยังคงนิ่งดูดายก็เสมือนว่าท่านมีส่วนร่วมกระทำการอันไร้จริยธรรมและธรรมมาภิบาลด้วย ทุกวันนี้ชาวบ้านในเขตรอบเหมืองในท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เหมือนตายทั้งเป็น-ตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะโรคภัยไข้เจ็บจากสารพิษและโลหะหนักจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
พวกเราจึงมาที่นี่เพราะไม่อยากให้ท่านถูกปิดหูปิดตาอีกต่อไป จึงมีข้อเรียกร้อง 4 ประการ ต่อท่าน ดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกผลของการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) และ แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และวันที่ 8 กันยายน 2556 ตามลำดับ เพราะเป็นเวทีที่ขาดความชอบธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ โดยใช้กองกำลังตำรวจปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองเวที
2.ขอให้ ตลท. ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน แสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนโดยดำเนินการสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของทุ่งคาฮาเบอร์ ที่เป็นบริษัทแม่ของทุ่งคำอย่างเร่งด่วน และต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบสู่สาธารณะ โดยขอให้แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำอันทุจริตมิชอบ การไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาล การกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการฟ้องคดี และอื่น ๆ ประกอบการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่ฟังข้อมูลจากทุ่งคาฮาเบอร์และหน่วยงานราชการด้านเดียว
3.ขอให้ ตลท. ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพิกถอนหลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นการลงโทษขั้นร้ายแรง ต่อการผิดจริยธรรมและธรรมาภิบาลขั้นร้ายแรงกับชาวบ้านในท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
4.ขอให้ ตลท. ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ด้วยการสั่งให้บริษัททั้งสองถอนฟ้องคดีชาวบ้านทั้งหมด
นอกจากนี้ วันเดียวกัน เครือข่ายฯ ดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย กรณีการขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ระบุว่า ในวันที่ 8 กันยายน 2556 การจัดเวทีกำหนดขอบเขตศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประกอบการขอประทาน ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย นั้นมีการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยใช้กองกำลังตำรวจมากกว่า 700 นาย การกระทำดังกล่าวได้กระทำราวกับว่าชาวบ้านเป็นอาชญากร ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต้องการเดินทางมาเพื่อแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ใครกันแน่ที่เป็นอาชญากร ใครกันแน่ที่ปล้นชิงทรัพยากรของผู้อื่นราวกับอาชญากร ทั้งนี้ตลอดการดำเนินการของทุ่งคำในการทำเหมืองแร่ทองคำเกือบสิบปีที่ผ่านมา ในท้องที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย นั้น ได้ก่อเกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ มากมาย พบชาวบ้านหลายร้อยคนมีสารพิษและโลหะหนักปนเปื้อนสะสมอยู่ในร่างกายจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการของทุ่งคำ ซึ่งจริยธรรมและธรรมาภิบาลนั้นเป็นข้อกำหนดหนึ่งของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพวกเรารู้ดีว่าของทุ่งคำเป็นธุรกิจหลักของบริษัทแม่คือ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ แต่ทุ่งคำและทุ่งคาฮาเบอร์ไม่เคยเกิดสำนึกรับผิดชอบใด ๆ มิหนำซ้ำยังฟ้องคดีชาวบ้าน ด้วยเหตุที่ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองด้วยการก่อกำแพงขวางถนนเพื่อปิดกั้นรถขนสารเคมีเป็นพิษในกระบวนการทำเหมืองแร่ แต่งแร่และถลุงแร่ แต่ทุ่งคำกลับโกรธแค้นชาวบ้านด้วยการฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่ง
ในวันนี้เรากลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย ได้มารวมตัวกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อมาบอกกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ซึ่งท่านกำลังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมครั้งนี้ หากท่านนิ่งดูดายปล่อยให้อาชญากรเหมืองแร่ฆ่าชาวบ้านอย่างเลือดเย็น เหมือนตายทั้งเป็น-ตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เรามาเพื่อให้ท่านตั้งคำถามกับตัวท่านเองว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมครั้งนี้หรือไม่ ท่านกำลังส่งเสริมให้มีการซื้อขายหุ้นบนกองเลือดของประชาชนหรือไม่ นั่นเท่ากับว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้กำลังจะเปื้อนไปด้วยเลือดของประชาชน
พวกเรามีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกผลของการจัดเวทีพับลิค สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA เพราะเป็นเวทีที่ขาดความชอบธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยใช้กองกำลังตำรวจปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองเวที
2.ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนโดยดำเนินการสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของทุ่งคาฮาเบอร์ ที่เป็นบริษัทแม่ของทุ่งคำอย่างเร่งด่วน และต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบสู่สาธารณะ การไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาล การกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการฟ้องคดี และอื่น ๆ ประกอบการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน
3.ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนหลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นการลงโทษขั้นร้ายแรง ต่อการก่ออาชญากรรมขั้นร้ายแรงกับชาวบ้านในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
4.ขอให้กำกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลด้วยการสั่งให้บริษัททั้งสองถอนฟ้องคดีชาวบ้านทั้งหมด
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ