แฉงบ‘อู่ตะเภา’ยัดไส้ในงบน้ำท่วม ร้องศาลสอบ-ปีกว่าใช้แค่4.6พันล. ทั้งที่อ้างตอนกู้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2221 ครั้ง

วงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ถูกพูดถึงทั้งวงการเมือง ไปถึงวงการรับเหมาระดับนานาชาติ ถูกพูดถึงทั้งในทำเนียบรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงหน้าบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัย ว่า “เป็นความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่” กรณีรัฐบาลยังไม่มีแผนใช้จ่ายเงินกู้ และไม่ปรากฏโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล ดำเนินการเป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มียอดเบิกจ่ายเพียง 4,639.34 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 1 ของยอดเงินกู้ทั้งหมด

 

 

 

 

 

            “ทั้งที่ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 1 ปี ไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของรัฐบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังพบว่าเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วมีการเบิกจ่ายในส่วนอื่น ไม่ใช่กระบวนจัดการบริหารน้ำ” คำร้องระบุ

 

 

คำร้องของฝ่ายค้านอาจมีมูลความจริงมากขึ้น เมื่อพบว่า ที่ผ่านมามีการเห็นชอบ-อนุมัติให้ใช้งบประมาณ ตามนัยยะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี “ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555”

 

แต่มีส่วนที่ต่อท้ายไว้ว่า “จากวงเงินที่ได้รับการจัดสรร 10,000 ล้านบาท”

 

เป็นการอนุมัติภายใต้การบริหารของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศหรือ กยอ. ซึ่งมีนายวีระพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน หนึ่งในหลายโครงการที่ฝ่ายค้านอ้างถึง มีโครงการ “เตรียมความพร้อมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เป็นท่าอากาศยานสำรองในเชิงพาณิชย์ กรณีปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”  วงเงิน 239.80 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย

 

โครงการนี้ประธานกรรมการกยอ. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กยอ.นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเมื่อครั้งประชุมก่อนสิ้นปี 2555   

โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเรือ ร่วมกับศุลกากรและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาจัดเตรียมความพร้อม และความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภามีความพร้อม สามารถรองรับการเป็นท่าอากาศยานสำรองที่สมบูรณ์ ในกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

 

 

จากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่มีโครงการที่ใช้เงินกู้ภายในพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (350,000 ล้านบาท) เร่งจัดทำรายละเอียดและคำของบประมาณโดยด่วน

 

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา มีการประท้วงของพนักงานการบินไทย จนทำให้สายการบินนับร้อยเที่ยวบินต้องล่าช้า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้บริการทั่วโลก ยิ่งทำให้โครงการนี้มีน้ำหนักมากขึ้น

 

ประกอบกับกรณีสนามบินอู่ตะเภาต้องทำหน้าที่สนามบินสำรองจากเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองที่ผ่านมา ได้แก่ ระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานไม่เพียงพอกับความต้องการของสายการบิน อาคารผู้โดยสารมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสาร เกิดความล่าช้าในการให้บริการ

 

คลังสินค้าไม่เพียงพอต่อการรองรับสินค้าปริมาณมาก และขาดแคลนอุปกรณ์สนับสนุนการขนถ่าย และไหล่ทางวิ่ง รวมทั้งไฟทางวิ่ง ระบบไฟฟ้านำร่อง และป้ายบอกระยะทางวิ่งที่เหลือ มีอายุการใช้งานมานาน และยากต่อการบำรุงรักษา รวมทั้งก่อให้เกิดวัสดุแปลกปลอม จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการลงทุนเพิ่ม เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภามีความพร้อม และสามารถรองรับการเป็นสนามบินสำรองที่สมบูรณ์

 

 

 

การของบประมาณพิเศษครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถสนับสนุนอากาศยาน และบริการผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ สนามบินอู่ตะเภาให้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน ได้ด้วยความเป็นระเบียบ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในกรณีที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถให้บริการได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2556-2557)

 

ทั้งนี้รายละเอียดวงเงินลงทุนโครงการ 239.80 ล้านบาท เช่น 1.ปรับปรุงสถานีจ่ายน้ำมันและก่อสร้างระบบเติมน้ำมันทางท่อ  55  ล้านบาท 2.จัดหาสะพานเทียบเครื่องบิน 2 ชุด วงเงิน 48 ล้านบาท 3.จัดหาอุปกรณ์ไฟนำทางสำหรับเครื่องบินเข้าจอดเทียบสะพาน 2 ชุด วงเงิน 8 ล้านบาท 4.ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าพร้อมจัดหาอุปกรณ์สนับสนุน 69 ล้านบาท 5.ปรับปรุงพื้นผิวบริเวณไหล่ทางวิ่ง 24 ล้านบาท 6.จัดหาอุปกรณ์ภาคพื้นสำหรับอากาศยาน  35 ล้านบาท

 

กองทัพเรือรายงานว่า หากได้รับการอนุมัติงบประมาณจะเริ่มดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556

 

โดยความเห็นที่ประชุมส่วนใหญ่ เห็นว่าควรอนุมัติ และต้องใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น นอกจากใช้เพื่อเป็นท่าอากาศยานสำรองในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิด

 

 

เนื่องจากปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณผู้โดยสารใกล้จะเต็มขีดความสามารถในการรองรับแล้ว ในขณะที่โครงการก่อสร้างเพื่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี จึงจะแล้วเสร็จ จึงจำเป็นต้องมีสนามบินพาณิชย์สำรอง เพื่อรองรับผู้โดยสารบางส่วนใด้ ซึ่งอาจจะเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ หรือสายการบนิต้นทุนต่ำ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่า Landing Fee ในราคาต่ำและให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร

 

ข้อเสนอนี้ยังอ้างถึง มติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ได้เสนอเรื่องนี้ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ชลบุรี-ระยองไปแล้ว โดยมอบหมายกระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กองทัพเรือ และภาคเอกชน ศึกษาความเหมาะสมในการเปิดใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-พัทยา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

 

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2553-2555 กองทัพเรือได้ปรับปรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ไปแล้ว 9 รายการ วงเงินรวม 789.76 ล้านบาท อาทิ ปรับปรุงระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิง, จัดหารถดับเพลิงอากาศยาน ขนาด 5,500 ลิตร, ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร 1 หลัง, โครงการก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และจัดเรดาร์ตรวจอากาศ 1 ระบบ เป็นต้น

 

ในอนาคตกองทัพเรือยังมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในการให้บริการเชิงพาณิชย์มากขึ้น ควบคู่กับการปฏิบัติภารกิจเพื่อความมั่นคง และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยกำหนดแผนการใช้พื้นที่ แนวทางการพัฒนาบริการเชิงพาณิชย์ รูปแบบการบริหารจัดการให้มีเอกภาพ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับการให้บริการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

ข้อวิเคราะห์ของความเหมาะสมในการลงทุน 239.80 ล้านบาท มีทั้งข้อวิเคราะห์ ที่ 1.ศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ (เช่น Boeing 747) ได้ 49 ลำ มีการปรับปรุงระบบเติมน้ำมันอากาศยานในบริเวณลานจอด B แล้ว สำหรับระบบเติมน้ำมันในบริเวณลานจอด C ซึ่งมีสถานีจ่ายน้ำมัน 6 จุด มีสภาพชำรุด จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบเติมน้ำมันให้สามารถพร้อมใช้งาน

 

 

ข้อวิเคราะห์ที่ 2.การให้บริการลานจอดอากาศยานเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร เป็นการให้บริการลานจอดระยะใกล้ ประกอบกับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ซึ่งสูง 2 ชั้น ที่มีการออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 400 คน และคำนึงถึงการบริการผู้โดยสาร และอากาศยานเที่ยวบินพาณิชย์ ที่ต้องการความสะดวกสบาย และความรวดเร็ว จึงต้องลงทุนดังกล่าว เป็นเพิ่มศักยภาพในการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์

 

ข้อวิเคราะห์ที่ 3.อาคารคลังสินค้าของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เดิมมีอยู่ 4 หลัง ซึ่งได้มีการปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน 2 หลัง และการรื้ออาคารคลังสินค้า 1 หลัง อยู่ในแนวก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ปัจจุบันจึงยังคงเหลืออาคารคลังสินค้า 1 หลัง มีพื้นที่ขนาด 1,565.60 ตารางเมตร ปัจจุบันเก็บพัสดุและไปรษณีย์ภัณฑ์ ประกอบกับอยู่ใกล้จากลานจอดเครื่องบิน จึงมีข้อจำกัดไม่เหมาะสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้า ที่มีปริมาณมาก (Cargo) ทำให้ต้องก่อสร้างอาคารคลังสินค้าเพิ่มเติม 2 หลัง ขนาด 2,000 ตารางเมตร เป็นการลงทุนเพื่อให้ท่าอาการศยานอู่ตะเภามีคลังสินค้าที่ได้มาตรฐาน

 

ข้อวิเคราะห์ที่ 4.ความพร้อมในการดำเนินงาน กองทัพเรือได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนา เพื่อรองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์ การลงทุน และมีความพร้อมทั้งในด้านการดำเนินงานลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาบรรลุเป้าหมายในการเป็นสนามบินสำรอง กรณีปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในรองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์ในระยะเริ่มต้นด้วย

 

ความเห็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า

 

 

เห็นควรสนับสนุนงบประมาณ วงเงิน 239.80 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อให้ระบบบริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา และมีความพร้อมในสนามบินสำรอง กรณีปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถทดแทนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพได้ในระดับหนึ่ง  ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในรองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์  อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง และต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดปัญหาภัยพิบัติ”

 

 

 

จึงเห็นควรสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จากวงเงินที่ได้รับการจัดสรร 10,000 ล้านบาท

 

จากนั้นให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น ก่อนนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป

 

สำหรับเงินกู้ตามพระราชกำหนดเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ตามหลักการ ต้องเป็นโครงการที่เบิกจ่ายและเริ่มดำเนินภายในเดือนมิถุนายน 2556 และการประมูลต้องแล้วเสร็จภายในเมษายน 2556 ซึ่งทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายบริหารต่างตั้งข้อสังเกตว่า อาจเบิก-จ่ายไม่ทันตามที่กฏหมายกำหนด

 

และโครงการของกองทัพเรือ เป็นเพียงตัวอย่างของโครงการหลักร้อยล้าน ที่ขออนุมัติร่วมกับโครงการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ที่มาจากเงินกู้ 350,000 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: