เปิดคำสัญญาที่‘สุขุมพันธุ์’ต้องทำ 1.25ล้านคนเลือกให้นั่งผู้ว่ารอบ2 จับตา4ปีมีอะไรต้องแก้ไข-ทำใหม่

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 4 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1983 ครั้ง

 

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานครเปิดเผยผลการนับคะแนนผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างไม่เป็นทางการระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 1,256,231 คะแนน ขณะที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 1,077,899 คะแนน คะแนนห่างกัน 178,332 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 63.98 เปอร์เซนต์

 

โดยเมื่อ 40 วันก่อนหน้านี้ หลังจากการจับหมายเลขผู้สมัคร และเริ่มต้นการหาเสียงอย่างจริงจัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และทีมหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำผลงานของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยที่ผ่านมา มาเปิดเผยให้คนกรุงเทพฯ ได้รับรู้ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมทั้งประกาศนโยบายด้านต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เลือกเบอร์ 16 ซึ่งหากได้รับเลือกกลับมาเป็นผู้ว่าฯกทม.อีกครั้ง จะทำให้การดำเนินงานหลายอย่างดำเนินต่อไป และอาจมีโครงการใหม่ๆ สำหรับคนกรุงเทพฯ ด้วย ฉะนั้นการประกาศในช่วงหาเสียง เสมือนเป็นคำมั่นสัญญาที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพรรคประชาธิปัตย์ให้ไว้กับคนกรุงเทพฯ ที่ประชาชนกว่า 1.2  ล้านคน จะต้องเฝ้าติดตาม เพื่อให้โครงการทั้งหมดเป็นจริงขึ้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านการคมนาคม

 

-          ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มอีก 30 เส้นทาง และให้ออกแบบภายในศาลาว่าการกทม.2 ที่ดินแดง มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ รองรับคนปั่นจักรยาน

-          ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายของกทม.จาก 15 บาทเป็น 10 บาท จากสถานีรถไฟฟ้าตากสินถึงบางหว้า และอ่อนนุชถึงแบริ่ง ส่วนรถบีอาร์ทีเป็น 5 บาทตลอดสาย สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกียกกาย ดังนั้นหากดำเนินการได้ทั้งหมด การจราจรฝั่งธนบุรีจะดีกว่าเดิม และจะมีการสร้างจุดเชื่อมต่อขนาดเล็กอีก 3 เส้นทางที่สามารถต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ รวมถึงสร้างที่จอดรถเพิ่มอีก 3 แห่ง ที่สถานีหมอชิต แบริ่ง บางหว้า รวมทั้งเพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 30 เส้นทาง และสามารถนำรถจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านคุณภาพชีวิต

 

-          ดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่บ้านถึงโรงพยาบาลให้ครบวงจร รับสมัครอาสาสมัครดูแลจะเริ่มฝึกอบรมรองรับอนาคตที่สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. ให้มีทีมแพทย์พยาบาลดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น หากมีโรคที่จำเป็นจะถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลบางขุนเทียน

-          ชุมชนผู้สูงอายุคือ เป็นผู้สูงอายุที่มีลูกหลานดูแลอยู่ แต่ลูกหลานอาจไม่มีเวลาให้ ก็จะสามารถนำไปพักในพื้นที่เดียวกัน อยู่ในวัยเดียวกัน ลูกหลานไปเยี่ยมหรือพาไปเที่ยวก็สามารถทำได้   ซึ่งในเมืองนอกมีมานานแล้วแต่ไทยยังไม่มี ตั้งใจจะสร้างแห่งแรกในพื้นที่ 48 ไร่ใกล้เคียงโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โดยจะมี 4 มุมเมือง และต้องอยู่ใกล้ร.พ.กทม.เพื่อสะดวกในการดูแล

-          แท็กซี่ผู้สูงอายุ นำร่อง 10 คัน

-          พัฒนาหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่ให้เป็นที่แสดงศิลปะโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเปิดสวนสาธารณะที่ยึดโยงกับการแสดงศิลปะมีหลายแห่ง มีการแสดงประติมากรรมกลางแจ้ง รวมทั้งโครงการถนนศิลปะ ซึ่งจะเลือกถนนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งแล้วตกแต่งด้วยงานศิลปะ อาจมีการเวียนกันไปให้ศิลปินได้แสดงผลงาน ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่จะมีศิลปินรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว นอกจากนี้ยังจะสร้างสวนศิลปะขึ้นเป็นแห่งแรกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

-          ดูแลป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน และหากเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียนควรได้รับการดูแลจากภาครัฐในการเยียวยาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

-          การเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีก 5,000 ไร่ และสวนสาธารณะ 10 สวนใหญ่ ขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ไร่

-          เพิ่มโรงบำบัดน้ำเสียอีก 5 แห่ง

-          ปรับปรุงภูมิทัศน์คืนวัฒนธรรมบริเวณตลาดพลู

-          เพิ่มอัตราค่าจ้างให้อาสาสมัครศูนย์เด็กเล็ก/อาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ปวส. 10,000 บาท และปวช. 8,600 บาท

-          ผลักดันให้เยาวราชเป็นไชน่าทาวน์ระดับโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจะพัฒนารักษาคุณภาพของอาหารข้างทางและอาหารในภัตตาคารต่าง ๆ  โดยส่วนหนึ่งจะผลักดันให้เมนูอาหารธุรกิจขนาดเล็กแต่ละแห่งมีภาษาอังกฤษด้วย

-          ชุมชนมุสลิมเข้มแข็ง ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหารฮาลาล เพื่อพัฒนาส่งออกต่างประเทศ

-          นักเรียนจะได้รับการดูแลในโครงการอาหารเช้าและกลางวัน รวมทั้งโครงการโตไปไม่โกง

 

ความมั่นคงปลอดภัย

 

-          การติดตั้งกล้องซีซีทีวีอีก 27,000 ตัว ในตรอก ซอยทุกแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้จะเพิ่มไฟส่องสว่าง ซึ่งจะนำร่องการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาช่วย

-          ดูแลชุมชนให้ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด และให้ อสส.มีบทบาทสำคัญในการติดตามผลหลังจากบำบัดยาเสพติด

-          การป้องกันอัคคีภัย เตรียมให้มีการจัดซื้ออุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารสูง ในซอย และการสร้างโรงเรียนดับเพลิง

-          เพิ่มสวัสดิการเสริมศักยภาพให้อปพร.และอสส. โดยเสริมกำลังทหารกองหนุนช่วยเฝ้าระวัง ยาเสพติดในชุมชนและจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอปพร.และอสส. โดยจะหารือกับสภากทม.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การแก้ปัญหาน้ำท่วม

 

-          ปัญหาระบบระบายน้ำฝั่งธนบุรี 1.มีการศึกษาสร้างอุโมงค์ยักษ์จากคลองทวีวัฒนาลงคลองภาษีเจริญ ไปกระทุ่มแบน ออกแม่น้ำท่าจีน ความยาว 2 กิโลเมตร 2.ศึกษาให้มีการสร้างอุโมงค์ยักษ์ราชมนตรี ดึงน้ำจากคลองสนามชัย-มหาชัย ออกแก้มลิง ความยาว 8 กิโลเมตร

-          การพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย แก้มลิงทั้งหมด 25 แห่ง รองรับน้ำได้ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร หากตนกลับไปเป็นผู้ว่าฯกทม.จะเพิ่มแก้มลิงเพิ่มเติม อาทิ ที่หมู่บ้านหมู่บ้านสุวรรณพฤกษ์ เขตหนองจอก นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ยักษ์ 7 แห่ง หากตนกลับมาจะสร้างอีกที่คลองบางซื่อ บึงหนองบอนลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขตบางนา และที่เขตดอนเมืองลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกียกกาย จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำมากขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จช้าที่สุด พ.ศ.2561 ขณะเดียวกันกทม.มีสถานีวัดปริมาณฝน 127 แห่ง มีเครื่อง 113 เครื่อง วัดระดับน้ำบนถนน 71 สาย ตนสั่งให้มีการพัฒนาเพิ่มเรดาห์เพิ่มเป็น 250 กิโลเมตร จากเดิม 70 กิโลเมตร ทำให้คาดการณ์เรื่องฝนในกรุงเทพฯได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

-          ขณะเดียวกันการบริหารจัดการน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มความสูงของแนวคันกั้นน้ำแล้ว 74 กิโลเมตร ส่วนด้านตะวันออกได้ร่วมกับรัฐบาลเพิ่มคันกั้นน้ำแนวที่สองในตะเข็บกรุงเทพฯติดกับจังหวัดปริมณฑล และประตูระบายน้ำอีก 5 แห่ง และมีการศึกษาสร้างอุโมงค์ยักษ์จากคลองประเวศ ไปคลองสุวรรณภูมิ ลงสู่อ่าวไทย ระยะทางยาว 18 กิโลเมตร ส่วนการสร้างโครงการคลองด่วน จะมีการขยายท่อระบายน้ำ ปรับความลาดชันท่อระบายน้ำ หรือการขุดคลองให้ลึกขึ้น เพื่อให้รับน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตรในกรุงเทพฯ ซึ่งการสร้างคลองด่วนจะใช้งบประมาณ 1 แสนบาทต่อ1 เมตร จำนวน 4 จุด 1.คลองด่วนตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม สามารถสร้างทางด่วนระหว่างตอหม้อไปสู่อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ได้ มีระยะทาง 13 กิโลเมตรใช้งบประมาณ 2.2 พันล้านบาท 2.คลองด่วนเส้นทางถนนรัชดาภิเษก เริ่มตั้งแต่บริเวณหลังศาลอาญา สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณจุดอ่อนเขตห้วยขวาง จตุจักร และบริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอาจมีการลอดใต้ทางด่วนวิภาวดีลงสู่คลองเปรม ใช้งบประมาณประมาณ 100 ล้านบาท 3.คลองด่วนฝั่งธนบุรี จะมีการขยายเส้นคลองพระยาราชมนตรี จากคลองบางเชือกหนังขึ้นไปด้ายเหนือผ่านแนวคลองบางพรต แนวคลองบางระมาด และแนวคลองบ้านไทร เพื่อให้ฝั่งธนบุรีมีเส้นทางระบายน้ำหลักมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงกับการสร้างอุโมงค์ยักษ์ และ 4.คลองด่วนรามอินทรา จากศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถึงคลองหลุมไผ่ ใช้งบประมาณ 368 ล้านบาท

 

ด้านสุขภาพ

 

-          มีสวัสดิการเจ็บป่วยดูแลฟรีทั้งครอบครัวสำหรับอปพร.และอสส. ตลอดจนมีรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยจะมีการฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้แก่สมาชิก รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกรูปแบบและดูแลสมาชิกกรณีประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน

-          คู่สมรส หากภรรยาตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีน

-          ระดับศูนย์สาธารณสุข 68 แห่ง รวมถึงมีโครงการไม่ป่วยเราดูแล จัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายเงินให้กับคนที่ไม่ป่วย 1,000 บาทต่อคนต่อปี

-          ตรวจสุขภาพฟรี รวมทั้งมะเร็งปากมดลูกและเต้านม  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านการศึกษา

 

-          สร้างโรงเรียนกีฬาและดนตรีแห่งแรกที่เขตบางบอน แห่งแรกในประเทศไทย คาดว่า 3 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จ

-          ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

-          อบรมครูสอนภาษาอังกฤษ

-          สร้างห้องสมุดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง

 

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ Nation และ Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: