ถก‘สันติภาพ’3จว.ใต้ทั้งหนุน-ค้าน ใครกันแน่ที่ไม่ต้องการความสงบ เปิดงบดับไฟ10ปีทุ่มไป2แสนล้าน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 4 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2185 ครั้ง

 

เปิดฉากเจรจากัน 2 รอบแล้ว ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) และพูโล (องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี) ซึ่งเป็น 2 กลุ่มหลักที่เคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลการพูดคุยทั้ง 2 รอบเป็นการทำความเข้าใจ และพูดคุยในเนื้อหากว้างๆ โดยฝ่ายไทยหวังว่าจะทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องลดลงบ้างไม่มากก็น้อย

 

อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยรอบแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังจากนั้นยังเกิดเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งคาร์บอมบ์ การสังหารเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงประชาชนทั่วไป จนเกิดคำถามตามมามากมายว่าการเจรจานั้นได้ผลเพียงใด เพราะในพื้นที่ภาคใต้มีกลุ่มกองกำลังเคลื่อนไหวอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เมื่อรัฐบาลเลือกเจรจากับบีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มแรก ย่อมทำให้กลุ่มอื่น ๆ ไม่พอใจและยิ่งก่อการรุนแรงขึ้น

 

พร้อมกันนี้มีอีกหลายภาคส่วนที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาทั้ง 2 รอบ เพราะมองว่าอาจนำไปสู่การดินแดน กลายเป็น ‘รัฐปัตตานี’ และยังพูดถึงผลประโยชน์แอบแฝงเมื่อพบว่าการเจรจารอบแรกมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปมีบทบาทด้วย และยังมองว่าตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อการอาจไม่ใช่ผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง จึงทำให้ยังเกิดเหตุรุนแรงไม่ต่างจากเดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปิดห้องลับเจรจาบีอาร์เอ็น-พูโล

 

 

หลังจากตัวแทนฝ่ายไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำคณะเดินทางไปพูดคุยกับนายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ผู้รับมอบอำนาจพร้อมแกนนำอีก 5 คน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีดาโต๊ะมูฮัมหมัด ทาจูดดิน บินอับดุลวาฮับ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมด้วย รมช.ต่างประเทศมาเลเซีย ร่วมเป็นพยานและอำนวยความสะดวกให้ พร้อมลงนามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าต่างฝ่ายต้องการสันติภาพและอยู่ร่วมกันโดยไม่มีปัญหาแบบที่ผ่าน ๆ มา

 

จากนั้นตัวแทนรัฐบาลไทยหารือเตรียมการเจรจารอบ 2 ครั้งนี้ ปรากฏว่า กลุ่มพูโลโดย นายรอซี ลูโบ๊ะโต๊ะเป็ง และตัวแทนกลุ่มเบอร์ชาตู ก็เดินทางมาร่วมโต๊ะเจรจาด้วย รวมทั้งหมด 5 คน นำโดยนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ยังเป็นผู้นำ ส่วนของฝ่ายไทยที่ตอนแรกวางตัวผู้เจรจาถึง 15 คน ก่อนลดเหลือ 9 คน จึงลดอีกครั้งเหลือ 5 คนเท่าจำนวนคู่เจรจา

 

 

          “กรอบการพูดคุยครั้งนี้อยู่ที่ประเด็นหาวิธีลดเหตุความรุนแรง เน้นรับฟังความเห็นของฝ่ายบีอาร์เอ็นมากกว่าที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้เสนอมาตรการอะไร เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นจะขึ้นโต๊ะเจรจากี่คนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ตอนแรกวางไว้ 15 คน ฝ่ายเรามา 9 คน แต่พอจะทราบมาว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะมาทั้งหมด 5 คน โดยนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต พร้อมแกนนำกลุ่มอีก 2 คน และกลุ่มพูโล อีก 2 คน รวมเป็น 5 คน ถ้าเป็นอย่างนี้ฝ่ายเราก็จะขึ้นโต๊ะเจรจา 5 คนเท่ากัน” พล.ท.ภราดร หัวหน้าตัวแทนฝ่ายไทยกล่าว

 

 

และยืนยันว่า จะไม่รับข้อเสนอที่อ่อนไหวเด็ดขาด และเชื่อว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่เสนอเงื่อนไขที่ไทยรับไม่ได้เช่นกัน เพราะการลงนามครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ลงนามภายใต้รัฐธรรมนูญไทยแล้ว สัญญาณดีอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายบีอาร์เอ็นทำให้เห็นว่าพวกเขาหารือกันภายในมาแล้ว ถึงส่งตัวแทนมาพูดคุยต่อครั้งนี้ ส่วนที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพ เพราะเหตุรุนแรงมีทั้งที่เกิดจากบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นที่พยายามสร้างสถานการณ์ เป็นเรื่องธรรมดา

 

 

          “ถ้าการพูดคุยครั้งนี้ ผ่านความไว้วางใจต่อกันไปได้ จะเป็นก้าวแรกของการหาวิธีลดเหตุความรุนแรง ประเด็นสำคัญอื่น ๆ จะตามมา ทั้งเรื่องการศึกษา หรือเศรษฐกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าจะนำไปสู่การได้พบและพูดคุยกับแกนนำระดับสูงของกลุ่มขบวนการได้ หากการเจรจามีความเข้าใจในประเด็นที่วางไว้ร่วมกัน ฝ่ายนโยบายอย่างผมคงไม่จำเป็นต้องมาเจรจาเอง บ่อยๆ ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ก็สามารถทำงานเองได้”

 

 

รัฐร่วมหนุน-ฝ่ายค้านไม่เอาด้วย

 

 

การเจรจาถึง 2 รอบระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในภาคใต้นำโดยบีอาร์เอ็น เกิดกระแสบวกและลบขึ้นมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแยกตัวไปตั้ง ‘รัฐปัตตานี’ ซึ่งเป็นข้อหาที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยพยายามโยนใส่การเจรจาหนนี้ ทำนองว่า ไทยอาจต้องเสียดินแดน ในขณะที่รัฐบาลยืนยันว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว เพราะกรอบการเจรจา 2 ครั้ง เป็นเพียงขั้นต้นยังไม่ลงลึกในรายละเอียด

 

ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ มองการลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มตัวแทนบีอาร์เอ็นว่า เป็นการหวังผลการเมืองของผู้นำทั้งไทยและมาเลเซีย โดยในส่วนของไทยจะเป็นเกมการเมือง หลังจากกลุ่มวาดะห์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาในปัญหาดังกล่าว ก็พยายามสร้างภาพว่า สร้างสันติได้ ลบภาพความพ่ายแพ้ทางการเมืองของกลุ่มวาดะห์ ส่วนของมาเลเซีย จะมีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ คงไม่ส่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรงมายังไทย เพราะหวั่นว่าจะกระทบต่อฐานที่นั่งของตนเอง

 

 

          “แม้กลุ่มบีอาร์เอ็นจะเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้ แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันยังมีกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นพวกที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ยุติธรรม จากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากกรณีตากใบ กลุ่มเหล่านี้จะยอมรับการลงนามหรือไม่ ดังนั้นแนวทางการลงนามดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นกระบวนการที่เบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาได้ และการที่นายกฯไปเยือนมาเลเซียก็เป็นเพียงการสร้างภาพให้เห็นว่ามีผลงานเท่านั้น

 

 

ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทยกับมาเลเซีย และตัวแทนขบวนการกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นการแสดงเจตนารมณ์ เป็นการเริ่มขึ้นตอนแรกของการพูดคุย ยืนยันว่าการแถลงเจตนารมณ์ร่วมกันนั้น ยังไม่มีผลผูกพันใด ๆ การหารือกันไม่ใช่เป็นการรองรับสถานะ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ภาครัฐจะต้องพูดคุยกับทุกกลุ่ม รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการพูดคุยก็เพื่อความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงและหาทางออกไม่ได้เลือกเฉพาะกลุ่มใด

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มองว่า การตัดสินใด ๆ ต้องผ่านกระบวนการ การเข้าไปสู่กระบวนการพูดคุยเป็นการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์หรือตามยุทธศาสตร์ที่สมช.กำหนดและเสนอต่อสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอยู่ 9 ยุทธศาสตร์ การพูดคุยเป็นยุทธศาสตร์ที่ 8 คือการแสวงหาทางออก คือ หาหนทางพูดคุย เพื่อนำพาออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทุกอย่างผ่านขั้นตอนของกฎหมาย การเซ็นสัญญาเหมือนสัญญาทั่วไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี  เรายืนยันกับมาเลเซีย 3 ประการคือ ไม่แยกดินแดน ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้ใช้พื้นที่มาเลเซียกับผู้ก่อเหตุในการหลบซ่อนตัว

 

 

ก่อเหตุร้ายป่วนการเจรจา

 

 

หลังเปิดโต๊ะเจรจาทั้ง 2 รอบ ปรากฏว่าเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการเจรจาครั้งแรกและกำหนดนัดพูดคุยอีกครั้งในอีก 1 เดือนให้หลัง ตลอดเวลา 1 เดือนเกิดเหตุร้ายขึ้นแทบจะรายวัน เริ่มจากวันที่ 1 มีนาคม คนร้ายใช้รถจักรยานยนต์ติดระเบิดถล่มบริเวณทางเข้าตลาดสดเทศบาลเมืองนราธิวาส มีรถยนต์เสียหายหลายคัน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 10 คน

 

ถัดจากนั้นอีก 1 วันเกิดเหตุรถจักรยานยนต์บอมบ์ซ้ำอีก ที่อ.เมืองยะลา คนร้ายใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้า เวฟ ซุกระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 ก.ก. จุดชนวนด้วยระบบวิทยุสื่อสาร มาจอดบนถนนเลียบแม่น้ำ บริเวณหัวโค้งสวนศรีเมือง รอจังหวะที่ทหารพรานเสร็จภารกิจตั้งด่านตรวจ ขณะขับรถยนต์กลับฐานปฏิบัติการ และต้องชะลอรถบริเวณทางโค้ง คนร้ายก็จุดระเบิดทำให้รถพังเสียหายทั้งคัน มีทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 6 นาย และมีชาวบ้านบาดเจ็บอีก 4 คน

 

ผ่านมาถึงวันที่ 15 มีนาคม เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นอีก เมื่อคนร้ายซุกระเบิดขนาดใหญ่หนักถึง 90 ก.ก.จุดชนวนด้วยแบตเตอรี่ บริเวณคอสะพานข้ามคลองบ้านปราลี ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กดระเบิดถล่มรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์ รองผกก.ป.สภ.รือเสาะ, ส.ต.อ.ปิยะ ภูพันเว่อ พลขับ และส.ต.ท.สุเวส จันทรังษี ผบ.หมู่ ป.สภ.รือเสาะ เสียชีวิตคาที่

 

ส่วนในการเจรจาหนที่ 2 วันที่ 28 มีนาคม ก่อนที่การเจรจาจะเริ่มในช่วงสาย ตอนเช้าวันเดียวกันเกิดเหตุระเบิดถล่มรถทหารพรานเสียชีวิต 3 นาย บนถนนเลียบทางรถไฟสายเจาะไอร้อง-บูกิต บ้านเจาะเกราะ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส คนร้ายแฝงตัวในป่าสวนยางพารารกทึบ ใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดถังแก๊สปิคนิคหนัก 25 ก.ก. ฝังไว้ใต้โคนเสาไฟฟ้าริมทาง เมื่อกลุ่มทหารพราน 12 นาย ออกจากฐานในวัดเจาะไอร้องไปคุ้มครองหมู่บ้าน เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบผู้ต้องหาบุกปล้นปืนค่ายทหารเมื่อปี 2547 คนร้ายก็กดระเบิดมีทหารพรานเสียชีวิต 3 นายประกอบด้วยอส.ทพ.ธีระฉัตร สีน้ำเงิน, อส.ทพ.พรชัย โพธิ์เงิน และอส.ทพ.สังคม เมืองฮุง บาดเจ็บอีก 5 นาย

 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาออกมาระบุว่า เป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการในภาคใต้อื่น ๆ และยังเชื่อว่าตัวแทนบีอาร์เอ็น ที่มาเจรจากับรัฐบาลไทยไม่ได้มีอำนาจในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวที่แท้จริง ทั้งยังเชื่อว่าที่รัฐบาลไปเจรจาจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยังมีองค์กรประชาสังคม ศาสนา สถาบันการศึกษา กลุ่มสตรีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเวทีเสวนาขึ้นหลายครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนและหาหนทางที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง อาทิ วันที่ 23 มีนาคม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) และสำนักสื่อ WARTANI จัด BICARA PATANI (เสวนาปาตานี) ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “28 กุมภา : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ปาตานี” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ วันที่ 30 มีนาคม เวทีเสวนาการสร้างความปรองดองและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น

 

 

ผ่าขบวนการเคลื่อนไหวภาคใต้

 

 

สำหรับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้นั้น ถือว่าดำเนินการมาอย่างยาวนาน หากย้อนประวัติกลับไปเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยกเลิกระบบการปกครองแบบพระยาเมืองต่างๆ ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ ‘ตนกู อับดุลกอเดร์’ รัชทายาทเมืองปัตตานี ที่สูญเสียอำนาจ ปลุกระดมชาวมุสลิม แบ่งแยกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ออกจากการปกครองของประเทศไทย แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรงมากนัก กระทั่งเมื่อประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชเมื่อปีพ.ศ.2500 ให้อภิสิทธิ์แก่ชาวมลายูมากทำให้ชาวมุสลิมในภาคใต้บางส่วนต้องการแยกตัวออกจากประเทศไทยไปเข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย

 

ถึงตอนนี้ทำให้เริ่มจัดตั้งองค์กรปลดแอกอย่างเป็นทางการ กลุ่มแรกคือ ‘ขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปลดปล่อยปัตตานี’ (BNPP) ก่อตั้งขึ้น เมื่อปีพ.ศ.2502 ต่อมาในปี 2530 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘BIPP’ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการต่อสู้ของอิสลามทั่วโลก อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มนี้สลายตัวไปแล้ว แต่พบเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศมาเลเซีย

 

 

 

อีกกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันคือ ‘แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี’ (BRN) ถือกำเนิดเมื่อวันที่13 มีนาคม 2503 ก่อนสลายตัวไปจากความขัดแย้งภายใน และก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี 2520 โดยแตกออกจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเดิม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ ‘บีอาร์เอ็น โคออดิเนต’ เน้นหนักด้านการเมือง กลุ่ม ‘บีอาร์เอ็นอูลามา’ ดำเนินการด้านการเมือง-ศาสนา และกลุ่ม ‘บีอาร์เอ็น คองเกรส’ ถือกำเนิดเมื่อปี 2527 เน้นรูปแบบการต่อสู้เป็นสงครามประชาชน มีอิทธิพลและบทบาทด้านความรุนแรงมากที่สุด นำโดย ‘รอซะ บูรากอ’

 

จากการข่าวพบว่า กลุ่มนี้คือกลุ่มหลักที่ปฏิบัติการรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มลงมือช่วงแรกปี 2545-2546 ก่อนปฏิบัติการเต็มรูปแบบในปี 2547 งานใหญ่ครั้งแรกคือปล้นปืนหน่วยทหารกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

 

ถัดมาเป็นองค์กรที่ชื่อคุ้นหูไม่แพ้บีอาร์เอ็นคือกลุ่ม ‘พูโล’ (PULO-องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2511 มีนายตนกูบีรอ กอตอนีลอ เป็นประธานกลุ่มคนแรก ก่อนเกิดปัญหาขัดแย้งภายในแยกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่มอาทิ กลุ่มคัสดาน อาร์มี่ กลุ่มอาบู ดาบัน และกลุ่มพูโล 88 แต่ก็เกิดปัญหาต่อเนื่องอีกหลายครั้งจนแนวร่วมส่วนหนึ่งออกมามอบตัวกลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ‘ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี’ หรือ ‘แนวร่วมมูจาฮีดีนปัตตานี’ (BNP หรือ BBMP) ก่อตั้งเมื่อปี 2528 แต่ความเคลื่อนไหวไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก จึงค่อย ๆ หายไป ปัจจุบันพบความเคลื่อนไหวในประเทศมาเลเซีย

 

และสุดท้าย ‘ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี’ หรือ ‘เบอร์ชาตู’ (BERSATU)ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2532 จากแนวคิดของแกนนำกลุ่มต่าง ๆ อาทิบีอาร์เอ็น คองเกรส พูโล และ BNP แนวคิดเพื่อเสริมสร้างเอกราชและดำเนินงานให้เป็นทิศทางเดียวกัน ป้องกันความสับสนในการขอรับการสนับสนุนการเงินจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกหลายกลุ่ม แต่ไม่ได้มีบทบาทกว้างขวางเท่ากับกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้น และส่วนใหญ่แกนนำเป็นสมาชิกเก่าของกลุ่มใหญ่ ๆ ที่แตกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ของตัวเอง

 

 

ชำแหละไฟใต้-ดับไม่ได้เพราะ..?

 

 

ความที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความเป็นมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ประกอบกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต กระทำการไม่เหมาะสมกับประชาชนโดยเฉพาะชาวมุสลิม จึงปลูกฝังเป็นความแค้นเคืองต่อเนื่อง ถึงแม้ในระยะหลังภาครัฐจะเน้นใช้ ‘ไม้นวม’ มากกว่า ‘ไม้แข็ง’ แต่กระนั้นก็ยังเกิดเหตุร้ายขึ้นเนือง ๆ แม้ในบางช่วงเวลาจะเงียบสงบอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ทางการข่าวสรุปชัดเจนว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นมาจาก 4 กลุ่มหลัก ๆ

 

กลุ่มแรกสุดคือกลุ่มขบวนการต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ต่อมาเป็นกลุ่ม ‘สายเหยี่ยว’ ที่ต้องการล้างแค้นเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับคนไทยพุทธ ในอดีตจึงมักมีเหตุการณ์ฆ่าชาวมุสลิม หรือครูสอนศาสนา เป็นการตอบโต้เมื่อครูไทย และพระสงฆ์ถูกทำร้าย

 

ส่วนอีก 2 กลุ่มไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการโดยตรง หากแต่ได้รับผลประโยชน์ตราบใดที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่สงบ หนึ่งคือ กลุ่มผู้หาผลประโยชน์ จากการค้าผิดกฎหมายเช่นยาเสพติดและน้ำมันเถื่อน กระทั่งสังเกตได้ว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับการปราบปรามน้ำมันเถื่อนมีน้อย ทั้ง ๆ พื้นที่ภาคใต้เป็นถิ่นที่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอาละวาดมากที่สุด

 

กลุ่มสุดท้ายเชื่อว่าเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาล ที่ภาครัฐทุ่มเม็ดเงินลงไปเพื่อสร้างความสงบใน 3จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ยังไม่รวม ‘งบลับ’ ของฝ่ายทหารที่ใส่เข้าไปจำนวนมาก แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงงบเบี้ยหัวแตกที่รัฐบาลจะเติมเข้าไปเป็นระยะ ๆ ในยามที่เกิดความไม่สงบขึ้น

 

สองกลุ่มแรกนั้นแก้ไขได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเจรจา เพื่อให้ยุติบทบาท หรืออย่างน้อยให้เกิดความรุนแรงน้อยลง ส่วนกลุ่มที่สองนั้นระยะหลังลงมือไม่มากนัก ด้วยเป็นความแค้นเคืองส่วนตัวของผู้มีอำนาจบางคน แต่เมื่อกลุ่มก่อการลงมือกับครู หรือพระสงฆ์น้อยลง ทำให้กลุ่มนี้ไม่มีเหตุผลที่จะล้างแค้น

 

 

งบภาคใต้-รัฐทุ่มให้มหาศาล

 

 

ปัญหาหนักที่สุดคือ 2 กลุ่มหลัง เพราะขบวนการผิดกฎหมายย่อมไม่ต้องการให้ภาคใต้สงบ เพราะความสงบสุขหมายถึง การทำมาหากินของพวกตนจะยากขึ้น และกลุ่มนี้พัวพันกับ ‘การเมือง’ อย่างแนบแน่น ทั้งในฐานะผู้ให้ทุน และบางครั้งเข้าไปเกี่ยวพันโดยตรงกับการเมือง จึงมีอำนาจและอิทธิพลในระดับหนึ่ง สามารถเคลื่อนไหวทั้งการสวมรอยก่อความไม่สงบ และใช้เครือข่ายขัดขวางการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับขบวนการต่างๆใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

ส่วนกลุ่มสุดท้ายนั้นหาผลประโยชน์กับเม็ดเงินที่รัฐบาลและกองทัพทุ่มให้กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ยากจะจัดการ เพราะพัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน เมื่อเห็นสถานการณ์ในบางช่วงสงบเรียบร้อยขึ้นก็ออกมาก่อเหตุร้ายขึ้นเพื่อปั่นกระแส จนมีคำพูดของผู้นำรัฐบาลในอดีต ยุคที่ ‘กลุ่มพูโล’ ออกมาก่อความรุนแรงว่า ในหลาย ๆ สถานการณ์นั้นไม่ใช่ฝีมือพูโล แต่เป็นฝีมือ ‘พูเรา’ ความหมายคือ สร้างสถานการณ์กันเองเพื่อไม่ให้ไฟใต้มอดเชื้อ

 

จากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่าเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแต่ละปีงบประมาณสูงขึ้นในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท รวม 182,402 ล้านบาท

 

 

การเจรจาของรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และพูโล เป็นเพียงการเริ่มต้นยังมีเส้นทางเดินอีกยาวไกล และมีอีกหลายกลุ่มก่อการที่รัฐบาลต้องจับเข่าพูดคุยทำความเข้าใจ ท่ามกลางกระแสสนับสนุนและคัดค้านของสังคม หรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่มองการเปิดเจรจานี้ทั้งแง่บวกและลบ ซึ่งยากที่จะตัดสินได้ในระยะเวลาอันใกล้ว่าเป็นผลดี หรือผลร้ายอย่างไร จึงเป็นภาระของภาคสังคมต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการเจรจานี้จะทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลับคืนสู่ความสงบสุข หรือจะกลายเป็นเหมือนเติมฟืนเข้ากองไฟให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: