เครือข่ายครูค้านสพฐ.บีบอบรมธรรมะ ทุ่มงบเกือบร้อยล้าน-ฮั้ววัดดังปั่นยอด

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3578 ครั้ง

ครูอุบลฯ ค้านคำสั่งสพฐ.บังคับอบรมธรรมะแบบไม่เต็มใจ

จากกรณีคณะครูในจ.อุบลราชธานี  นำโดย นางกมลทิพย์ โชติจำรัส ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พร้อมตัวแทนครูในเขตพื้นที่การศึกษา เข้ายื่นหนังสือต่อ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 ปฏิเสธเข้ารับการอบรมในโครงการพัฒนาคุณธรรมครู ภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้คณะครูจะต้องเดินทางไปอบรมธรรมะ ณ สำนักปฏิบัติธรรมธุดงคสถาน ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นั้น คณะครูผู้เข้ายื่นหนังสือขอปฏิเสธไม่เข้าร่วม เนื่องจากเป็นสำนักปฏิบัติธรรมสาขาของวัดชื่อดังแห่งหนึ่ง พร้อมกับระบุเหตุผลว่า คณะครูทั้งหมดมีความเห็นว่าคำสอนของวัดดังกล่าวขัดต่อหลักพุทธศาสนา มีการอวดอ้างตัว และทำพุทธศาสนาเชิงพุทธพาณิชย์ มีการระดมเงินบริจาคอย่างชัดเจน ประกอบกับในจังหวัดอุบลราชธานี มีวัดที่มีพระเกจิอาจารย์หลายรูปจำพรรษา สามารถอบรมธรรมะแก่คณะครูได้เป็นอย่างดี จึงไม่ต้องการเข้ารับการอบรมกับวัดชื่อดังที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งการมา

การรวมตัวเพื่อปฏิเสธการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว กลายเป็นข่าวฮือฮาในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง ต่อการกล้าลุกขึ้นมายืนยันเจตนารมย์ ที่จะไม่ขอเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานต้นสังกัด และดูจะเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้ครูที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เริ่มรวมตัวแสดงความชัดเจนมากขึ้น โดยพบว่ามีการแชร์ข้อมูลและเหตุการณ์นี้ไปในโชเชียลเน็ตเวิร์กเครือข่ายครูทั่วประเทศ พร้อมกับการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้กันเป็นอย่างมาก

‘ชินภัทร’ชี้อย่าวิจารณ์ก่อนเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม หลังการยื่นหนังสือของคณะครู จากจ.อุบลราชธานีดังกล่าว นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน โดยระบุว่า “การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม โครงการโรงเรียนในฝัน รุ่นครูทั้งโรงเรียน” เป็นโครงการที่ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดร่วมกับพระสังฆาธิการทั่วประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรม

โดยปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นการจัดงานนี้ร่วมกับวัดใดวัดหนึ่ง แต่เป็นการอบรมปฏิบัติธรรมที่วัด สำนัก หรือศูนย์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 52 แห่ง เนื่องจากสพฐ.ต้องการเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่โรงเรียนหนึ่งมีครู 1 คน รับผิดชอบ เปลี่ยนมาเน้นให้ครูทุกคนมีบทบาทในการส่งเสริมศีลธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากผู้เข้ารับการอบรมว่าเป็นประโยชน์ พร้อมระบุว่า ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ควรเข้าร่วมกิจกรรมก่อนแล้วจึงนำข้อเท็จจริงจากผลการอบรมมาวิจารณ์ ถึงจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่านี้ ทั้งนี้ยืนยันให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หารือถึงความเหมาะสม เพื่อให้ครูเข้าร่วมโครงการ โดยไม่กระทบต่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการให้คำตอบโดยชัดเจนว่า สพฐ.จะยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป แม้ว่าจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการคัดค้านจากครูในสังกัดที่ไม่เห็นด้วยอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นก็ตาม

ดร.อรทัย มูลคำ ที่ปรึกษาสพฐ.

สพฐ.สั่งครู ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ชาวบ้าน เข้าค่ายอบรมปฏิบัติธรรม

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของสพฐ. โดยในรายละเอียดเอกสารโครงการ ซึ่งเขียนโดย ดร.อรทัย มูลคำ ที่ปรึกษา สพฐ. ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 ระบุหลักการและเหตุผล เพื่อการจัดทำโครงการที่ใช้ชื่อว่า “โครงการสัมนาเชิงปฏิบัติธรรมโรงเรียนในฝัน” ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับพระสังฆาธิการทั่วประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรมและองค์กรอื่น ๆ ได้ประสานความร่วมมือกันสนองตอบนโยบายรัฐบาลที่เน้นคุณธรรมนำวิชาการ โดยเร่งดำเนินการโครงการสัมนาเชิงปฏิบัติธรรมแก่ผู้บริหาร ครู นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและพระภิกษุสงฆ์ หรือผู้นำศาสนาที่อยู่ใกล้โรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 119,393 คน ในโรงเรียนดีศรีตำบล จำนวน 6,545 โรงเรียน ทุกตำบลทั่วประเทศ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายบ้าน วัด/มัสยิด โรงเรียน

กิจกรรมหลักประกอบด้วยการสัมนาเชิงปฏิบัติธรรมจำนวน 5 วัน การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ได้ตามนโยบาย 7-7-7-7 การปลูกฝังนิสัยนักเรียนให้มีวินัย มีความเคารพและมีความอดทน การเรียนรู้ภาษาอาเซียน การใช้ ICT การมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างานสร้างอาชีพผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยยึดหลักการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach = WSA) พร้อมจัดให้มีการลงนิเทศเยี่ยมเยียนและตั้งคณะกรรมการประเมินทุกโรงเรียน โดยคณะกรรมการจากทีมงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และทีมงานฝ่ายคณะสงฆ์ในพื้นที่แต่ละจังหวัดจำนวน 173 ทีม 1,390 คน

อ้างผลวิจัยระบุกระแสตอบรับดี ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

เอกสารโครงการดังกล่าวอ้างว่า ผลการประเมินพบว่า กระแสตอบรับของบุคลากรที่ผ่านการสัมนาเป็นไปอย่างดี ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพโรงเรียนผ่านการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ และการอบรมบ่มเพาะให้เกิดคุณลักษณะนิสัยที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในต้นปี 2558

เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า จากผลการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับโครงการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งของรัฐบาล คือ โครงการโรงเรียนในฝัน (Lab School Project) ที่ก่อตั้งขึ้นสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2547 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนในโครงการจำนวน  2,626 โรง เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล 124 โรง คงเหลือ 2,502 โรง ซึ่งผ่านการพัฒนาไปแล้วเกือบครบทุกโรงเรียน ส่วนหนึ่งของเอกสารโครงการยังระบุว่า มีเป้าหมายการฝึกอบรมนักเรียน 2ล้านคน ให้ทันในปีงบประมาณ 2556

ทุ่มงบประมาณทำต่อเนื่องถึงปี 2557

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ เอกสารโครงการดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า เป็นการใช้งบประมาณในปี 2556-2557 ดังนี้

ปีงบประมาณ 2556

สพฐ.อนุมัติวงเงิน 89 ล้านบาท ให้โครงการโรงเรียนดี ศรีตำบล จัดสรรไปยังเขตพื้นที่การศึกษา (ปี 2555จัดสรรเงินโครงการสัมนาเชิงปฏิบัติธรรมโรงเรียนดีศรีตำบล 40 ล้านบาท)

สพฐ.อนุมัติวงเงิน 200 ล้านบาท ให้โครงการโรงเรียนในฝัน จัดสรรไปยังเขตพื้นที่การศึกษา

งวดแรก อนุมัติงบประมาณ จำนวน 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556

งวดสอง รองบประมาณเหลือจ่าย จำนวน 150 ล้านบาท ภายใน 15 กรกฎาคม 2556

คณะสงฆ์สนับสนุนด้านพระวิทยากร ทีมงาน สื่อ และเทคโนโลยี ตลอดจนค่าใช้จ่ายของทีมงาน

ปีงบประมาณ 2557

สพฐ.อนุมัติวงเงินงบประมาณรองรับ 77,780,000 บาท

และทั้งหมดคือที่มาของโครงการที่กำลังดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณนี้ หากเป็นไปตามแผนงานดังกล่าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา โครงการอบรมทั้งหมดจะสิ้นสุดในไม่กี่เดือนนี้

กลุ่มคัดค้านชี้ใช้แนวทางวัดชื่อดังล้างสมอง

 

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดการอบมรมธรรมะ  ที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่กลับไปสอดคล้องกับแนวทางของวัดชื่อดังแห่งหนึ่ง ทั้งในเชิงของหลักคำสอน กิจกรรมการปฏิบัติต่าง ๆ จนทำให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยมีการโจมตีในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการล้างสมองบุคลากรด้านการศึกษา ที่ส่งผลไปยังเยาวชนของชาติ ที่อาจจะทำให้ถูกบิดเบือนคำสอนทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มครูที่ได้รับการอบรมแล้วนำข้อมูลมาเผยแพร่ในเชิงลบต่อโครงการดังกล่าวด้วย โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ถูกบังคับให้เข้าร่วมโครงการ ที่กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการอบรมในวัดชื่อดัง โดยในการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ สพฐ.ยกเลิกโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการใช้คำสั่งโดยครูไม่สมัครใจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการนี้สะดุดลงแต่อย่างใด เพราะจากข้อมูลของโครงการเอง ระบุว่า ที่ผ่านมามีการอบรมไปแล้วถึง 3 รุ่น ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงรุ่นที่ 4 ในปี 2556 และ ยังมีเป้าหมายการอบรมในรุ่นที่ 5 ปี 2557 ที่หากอบรมแล้วเสร็จ จะมีนักเรียนและครูที่ผ่านอบรมด้วยโปรแกรมนี้เป็นจำนวนเกือบ 2 ล้านคน

เจ้าของโครงการชี้ไม่ได้เอื้อวัดดังแต่มีหลักฐานเป็นศิษย์

ด้าน ดร.อรทัย มูลคำ ที่ปรึกษา สพฐ. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ และเป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินการโครงการนี้อย่างมาก เคยออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชน ภายหลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องนี้ โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดดังแต่อย่างใด และในการอบรมหลายรุ่นที่ผ่านมา ผู้อบรมทุกรุ่นก็จะต้องไปปฏิบัติธรรมในวัด หรือศูนย์ปฏิบัติที่เข้าร่วมโครงการ ต้องถือศีล 8 และทำกิจกรรมตามตารางที่กำหนด และไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องไปปฏิบัติธรรมในวัดเครือข่ายของวัดชื่อดังแต่อย่างใด เพราะโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ ที่จะช่วยให้ผู้บริหารกลับไปใช้แนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียน ในการที่จะเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อมูลส่วนตัวและความสนใจของ ดร.อรทัยจากสื่อต่าง ๆ  ก็พบว่า นักวิชาการด้านการศึกษาคนนี้ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด และเคยร่วมกิจกรรมกับวัดดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรากฎตัวในพิธีบูชาข้าวพระ และพิธีทอดผ้าป่าเพื่อสร้างวัดที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และวัดในประเทศออสเตรีย และพิธีสรงน้ำพระเนื่องในเทศกาลสงกรานต์วันปีใหม่ไทย เมื่อเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา

พระวัดดังขึ้นเวทีอบรมครูผู้บริหารด้วย

นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรมจัดประชุมสัมมนาคณะกรรมการประเมินเพื่อการพัฒนาและรับรองโรงเรียนดี ศรีตำบล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ระหว่างวันที่ 25 -27 มกราคม 2556 ณ ศูนย์การศึกษาเข้าแก้วเสด็จ ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีคณะกรรมการประเมินฯ จากทั่วประเทศเดินทางเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังการชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ การตัดสินและตัวชี้วัด ตลอดจนแนวทางการประเมินจาก ดร.อรทัย มูลคำ ที่ปรึกษาสพฐ. ประธานและผู้อำนวยการโครงการฯ ก็ยังพบว่ามีการบรรยายในหัวข้อ “การเปิดประชาคมอาเซียนกับความมั่นคงของชาติ” โดยพระรูปหนึ่งของวัดดังกล่าว

การตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อมโยงของโครงการสัมนาเชิงปฏิบัติธรรมโรงเรียนในฝัน ของ สพฐ.จึงเพิ่มน้ำหนักให้เกิดการคัดค้านของกลุ่มครูมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะการดำเนินการของพระสงฆ์จากวัดชื่อดังจะไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งก็ตาม

ย้อนรอยกรณีสพฐ.จับมือธรรมกายจัดกิจกรรมการศึกษา

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการเชื่อมโยงระหว่างโครงการของ สพฐ.กับ วัดพระธรรมกาย ดังกล่าว เคยเกิดเป็นประเด็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ปัญญาชน 43 คน นำโดย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์  ได้ทำหนังสือ ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ขอให้ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และ สมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดพระธรรมกาย ที่ได้ริเริ่มความร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา

ข้อตกลงในครั้งนั้นระบุว่า เพื่อยกระดับมาตรฐานศีลธรรมเชิงบูรณาการโดย วัดพระธรรมกายมีแผนการให้ทุนการศึกษา จำนวนเงินกว่าหนึ่งพันล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะอบรมเยาวชนจำนวนถึง 10 ล้านคน พร้อมกับข้าราชการครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น อีก 700,000 คน  และสถานศึกษาอีก 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ  โดยกลุ่มคัดค้านเห็นว่าน่าจะมีประเด็นอื่นเคลือบแฝงอยู่ โดยในหนังสือที่ถูกยื่นถึงนายอภิสิทธิ์ในครั้งนั้น ระบุประเด็นข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า

1.ในบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) ไม่ระบุเรื่องงบประมาณไว้ให้ชัดเจน แต่มีการจัดทำเอกสารที่แนบเนื่อง อยู่กับบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) เป็นทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนในเรื่องเดียวกัน ซึ่งระบุงบประมาณอย่างคลุมเครือกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกับหมายเหตุว่า ไม่รวมค่าดำเนินการ เป็นการเตรียมการลงนามสัญญาที่ขาดธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากจำนวนเงินทุนการศึกษาดังกล่าว สมาคมพุทธศาสตร์สากล หรือ ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนเสียเอง ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเป้าประสงค์ซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า สมาคมพุทธศาสตร์สากล หรือ ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระธรรมกาย

3.การที่หน่วยราชการทำข้อตกลงสัญญาให้สถาบันที่ยังมีข้อครหาดังกล่าวนี้ให้ดำเนินการอบรมเยาวชนผู้ซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของชาติ และผู้นำการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น รวมจำนวนถึง สิบล้านเจ็ดแสนคน ในระยะเวลา 3 ปี ให้ฝักใฝ่ลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ที่น่าเคลือบแคลงเป็นการเฉพาะนั้น นั่นย่อมจะทำให้สังคมและพระพุทธศาสนาเสื่อมทรุด จนกลายเป็นการใช้เครื่องแบบของพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างลัทธิบูชาวัตถุนิยม ซึ่งแก่นแท้ของพระศาสนาอาจจะปราศนาการจากชาติไทยไปในที่สุด

พร้อมกันนั้นในหนังสือดังกล่าวยังเสนอข้อปฏิบัติ ที่ขอให้กับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นปฏิบัติด้วย ได้แก่

1.สั่งการให้ข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง หยุดการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ พร้อมกับสั่งพักข้าราชการ ที่มีชื่อระบุไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาที่สามารถให้คุณให้โทษข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้ในทันที

2.ดำเนินการใด ๆ เพื่อมิให้หน่วยราชการ องค์กรของรัฐ มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงใดใดกับสถาบันที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายอีกต่อไป จนกว่าผลการตรวจสอบข้างล่างนี้จะปรากฏชัดแจ้งต่อสังคม

3.ให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เคยกระทำผ่านมา โดยเฉพาะโครงการอบรมครูและเด็กนักเรียน จำนวน 500,000 คน ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด 2009 แต่วัดพระธรรมกายยังดื้อดึงจัดงาน จนทำให้เกิดการติดและแพร่ระบาดหวัด 2009 เป็นวงกว้าง

4.ให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสทางการเงินของพระในวัดพระธรรมกาย และสถาบันหรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด ว่ามีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่

5.ให้มีการตรวจสอบการอบรมสั่งสอนและพฤติการณ์ของพระสงฆ์และสานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ว่า มีการรักษาแก่นแท้ของพุทธธรรมอยู่อย่างแท้จริงเพียงไร

และจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้โครงการดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่กลับมาปรากฎอีกครั้งในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดเสียงคัดค้านต่อต้านดังกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: