ม็อบยางปิดถนนกระบี่-ตรัง รอผลรัฐบาลเจรจาแกนนำ

4 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1649 ครั้ง

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ ออกมาชุมนุมกันที่บริเวณลานปูดำ เขตเทศบาลเมืองกระบี่ เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือราคายางและปาล์มที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยแกนนำผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัย พร้อมกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล ที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน

ต่อมาทางนายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาพบกลุ่มเกษตรกร พร้อมขึ้นเวทีปราศรัย กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน ที่ราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ว่า ทางผู้แทนฯพรรคฝ่ายค้าน ได้พยายามช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามตั้งกะทู้ถามรัฐบาลมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากทางรัฐบาล แม้แต่ครั้งเดียว

ซึ่งการที่เกษตรกรออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนทางรัฐบาลอย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันเดือดร้อนจริง ๆ และราคาที่เกษตรกรเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือนั้นเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ได้เป็นราคาเกินความจริงแต่อย่างใด และว่าตนในฐานะที่เป็น ส.ส.ตัวแทนของประชาชน เมื่อประชาชนเดือดร้อนตนก็ต้องเดือดร้อนด้วย

ต่อมาเวลา 15.30 น.วันเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเดิมกว่าหนึ่งร้อยคนนำโดยนายมโน เครือแก้ว และ นายชลิต สุขโข ได้เคลื่อนย้ายมาปิดถนนบริเวณสามแยกตลาดเก่า ซึ่งเป็นถนนที่จะเข้าตัวเมืองกระบี่และจะผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจ.กระบี่ และเส้นทางไปจ.พังงา ภูเก็ต ทำให้การจราจรติดยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ตกเครื่องบินไม่ทันเที่ยวบินเป็นจำนวนมาก

เวลา 17.30 น. นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำอีกหลายคนเคลื่อนขบวนมาปิดถนนบริเวณสามแยกวัดถ้ำเสือ ถนนเพชรเกษมขาเข้า โดยใช้รถบรรทุกสิบล้อพ่วงสี่คัน มาปิดถนนและเปิดเวลาปราศรัย ทำให้ผู้ใช้ถนนเส้นทางดังกล่าวเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวนับร้อยคน  ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็เดินทางมาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผวจ.กระบี่เดินทางมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมแต่ก็ไม่เป็นผล

เวลา 19.00 น. กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กว่า 500 คน เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณสามแยกถ้ำเสือ ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ.กระบี่ พร้อมนำรถบรรทุกขนาดใหญ่ 2 คัน และรถพ่วง 4 คัน มาจอดขวางปิดถนนช่วงขาออกและขาเข้าตัวเมืองกระบี่ ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักของรถประจำทางจำนวนมาก เช่น รถบัสประจำทางสายกระบี่-ตรัง กระบี่-ภูเก็ต ภูเก็ต-หาดใหญ่ สนามบิน-อ่าวนาง เป็นต้น จึงส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่นั่งรถโดยสารเพื่อเดินทางไปขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานกระบี่ ต้องลงจากรถ และไปต่อรถคันอื่นเพื่อให้ทันเที่ยวบิน

ขณะเดียวกัน แกนนำได้สลับผลัดเปลี่ยนขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา และปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทำประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยมีประชาชนจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น

ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เดินทางมาเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อขอให้เปิดการจราจรภายในคืนนี้ เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อน และนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปสนามบินได้ทันเวลา ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาจนทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำที่สามารถตัดสินใจอะไรได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้พยายามกล่อมแกนนำอยู่นานกว่า 2 ชั่วโมง ในที่สุดทางแกนนำก็ยอมเปิดทางให้รถสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ โดยแกนนำบอกว่า ยอมเปิดทางแต่ยังไม่สลายการชุมนุม โดยจะกลับไปรวมตัวกันใหม่ที่ลานปูดำ เขตเทศบาลเมืองกระบี่ เพื่อรอมติที่ชุมนุมใหญ่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ต่อไป นอกจากนี้นักท่องเที่ยวหลายคนที่ต้องเดินทางไปสนามบินต้องลงจากรถโดยสารประจำทางและเดินเท้าลากกระเป๋าเดินทาง ไปขึ้นรถยนต์หลายกิโลเมตร เพื่อไปท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่

หลังจากนายประสิทธิ์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ประกอบด้วย นายเปล่งยศ สกลกิติวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ นางสาวัน ตัน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ร่วมประชุมกับแกนนำผู้ชุมนุม ที่หน่วยบริการตำรวจทางหลวงกระบี่ สามแยกวัดถ้ำเสือ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมตอบรับ และแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมจากแยกถ้ำเสือไปชุมนุมที่ลานปูดำ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังคงปุกหลักชุมนุมต่อที่แยกถ้ำเสือ สำหรับเส้นทางเลี่ยงกลุ่มผู้ชุมนุม จากเมืองกระบี่-สนามบินให้ไปทางคลองใหญ่-สวนพฤกษาสวรรค์-วิทยาลัยพละ-ค่าย อส.-ผ่านแยกถ้ำเสือ-เลี้ยวซ้ายเข้าถ้ำเสือ-ออกกระบี่น้อย-สนามบินกระบี่ เส้นทางเลี่ยงกลุ่มผู้ชุมนุม จากสนามบินกระบี่-เข้าเมือง จากถนนเพชรเกษม เข้าทาง ม.ตรีทิพย์-ผ่านบางขนุน-ออกทางอินเลิฟรีสอร์ท-ออกหินขวาง-ออกโรงฆ่าสัตว์-เข้าเมืองกระบี่

ส่วนที่จ.ตรัง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มในจ.ตรัง เกือบ 200 คน ซึ่งชุมนุมประท้วงอยู่ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในเขตเทศบาลนครตรัง นำโดย นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดตรัง  นายณัฐพงศ์ เนียมสม นายกเทศมนตรีตำบลนาตาล่วง และแกนนำจากกลุ่มสภาพัฒนาเมืองตรัง  ได้เคลื่อนพลไปสมทบกับกลุ่มเกษตรกรจากหลายอำเภอ ซึ่งไปรวมตัวชุมนุมประท้วงอยู่แล้ว ที่กลางสี่แยกอันดามัน ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง กว่า 500 คน  เพื่อปิดถนนและเปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล ที่ไม่สนใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนราคาตกต่ำ

สำหรับถนนบริเวณสี่แยกอันดามัน จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมภาคใต้ระหว่างฝั่งอันดามัน กับฝั่งอ่าวไทย  โดยเฉพาะการเดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล รวมทั้งเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการเชื่อมต่อไปยังกรุงเทพฯ  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง ในการแก้ไขปัญหาราคายางและปาล์มตกต่ำ ตามที่กลุ่มเกษตรกรได้เสนอไป  โดยได้มีการนำเต้นท์มาติดตั้งกลางถนนจำนวนหลายหลัง  พร้อมจัดทำเสบียงไว้รองรับผู้คนที่กำลังเดินทางมาสมทบเรื่อยๆ  ทั้งนี้ บรรดาแกนนำได้สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล  และชี้ให้เห็นถึงความเดือดร้อนที่เกษตรกรกำลังได้รับอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ความคืบหน้าการชุมนุม มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดระยองจาก 8 อำเภอ ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวชุมนุมรวมตัวปิดถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้าตัวเมืองระยอง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง โดยมีนายเศรษฐา ปิตุเตชะ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายวิษณุ เกตุสริยา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และนายสมพร พันธ์เฉลิมชัย นายก อบต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา เป็นแกนนำ โดยมีการเผาโลงเขียนชื่อ นายกยิ่งลักษณ์ ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ท่ามกลางการจราจรติดขัด และมีการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200 นาย ได้มีการนำรถบรรทุกปิดกั้นการจราจร 1 เส้นทางขาเข้าเมืองระยอง เขียนป้าย ชาวสวนยางพาราเดือดร้อน รัฐบาลไม่เหลียวแล

โดยแกนนำขึ้นกล่าวว่าปราศรัยโจมตีการทำงาน ของรัฐบาล ที่มีการขึ้นค่าแก๊ส ค่าไฟ ต่างๆรวมทั้งค่า ทางด่วน และราคาพืชผลทางการเกษตรคือยางพารา ที่ชาวเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดระยองไม่ยอมรับหลักการที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือกรณี 1,260 บาทต่อไร่   เนื่องจากเกษตรกรบางคนไม่มีเอกสารสิทธิ   โดยทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่มาชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้ทางนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ออกมารับหนังสือ และรายชื่อกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง  และมีกำหนดจะชุมนุม เป็นเวลา 3 วัน  เพื่อรอฟังคำตอบที่เรียกร้องคือ ที่ยื่นข้อเสนอเพื่อให้การช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการ กำหนดราคายางขั้นต่ำ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา กก.ละ 101 บาท ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 กก.ละ 92 บาท ราคาน้ำยางสด กก.ละ 81 บาท และราคายางก้อน 100% กก.ละ 83 บาท ทั้งนี้กลุ่มผู้ปลูกยางพาราพร้อมเกษตรกรชาวสวนยาง จะมาร่วมชุมนุมเป็นนับหมื่นคน และเคลื่อนขบวนทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ 

ต่อมาเวลา 12.00 น.จึงมีการเผาหุ่นจำลองและโลงศพ เขียนชื่อ นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัฒน์ มรณะแล้ว และรัฐมนตรียุคล ลิ้มแหลมทอง มรณะแล้ว ของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ทางด้านนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง จากราคายางพาราตกต่ำจังหวัดระยองขึ้น เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวระยอง เสนอรัฐบาลให้รับทราบโดยเร็วที่สุด และรู้สึกเห็นใจพี่น้องประชาชนในการเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ด้วย พร้อมให้อยู่ในกฎหมายและ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสัญจรไปมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการจราจรในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระยอง ฝั่งขาเข้าเมืองระยอง ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ เนื่องจากมีการตั้งเต็นท์ และใช้รถบรรทุกเป็นเวที ปิดถนน แต่ก็ยังสามารถสัญจรได้อีก 1 เส้นทาง และใช้ทางเลี่ยง บายพาสสาย 36  ได้  

เวลาประมาณ 15.15 น. กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณลานหน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานีจำกัด(โคออป) อ.พุนพิน จ.สุราฎร์ธานี เข้าปิดถนนสายเอเซีย 41 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักในการสัญจรลงสู่ภาคใต้ ทั้งฝั่งขาขึ้นและขาล่อง เนื่องจากไม่พอใจมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ 1,260บาทต่อไร่ โดยไม่เข้าแทรกแซงราคายางพาราให้อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 92 บาท ตามข้อเสนอของเกษตรกร

ทั้งนี้เกษตรกรได้เรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ลงมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมภายในเวลา 12.00น.วันที่ 4 ก.ย. ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง กลุ่มเกษตรกรจะยกระดับการชุมนุมทันที

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 กันยายน มติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในระยะเร่งด่วน ที่ประชุมอนุมัติงบกลางกรณีฉุกเฉินวงเงิน 5,628 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตเป็นเงินทุนโอนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้แก่เกษตรกรโดยตรง โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางที่มีพื้นที่สวนยางตั้งแต่ 10 ไร่ลงมา จะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต 1,260 บาทต่อไร่ คาดว่าจะมีจำนวนเกษตรกรที่ทำการเปิดกรีดยางแล้ว 9.8 แสนราย หรือ 80 เปอร์เซนต์ จากเกษตรกรขึ้นทะเบียน 9.9 แสนราย ของผู้ปลูกยางทั้งประเทศ ขณะที่เกษตรกรที่มีพื้นที่มากกว่า 10 ไร่ให้ กนย.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 5 กันยายน พิจารณาแนวทางช่วยเหลืออีกครั้ง หากวงเงินไม่เพียงพอก็ให้มีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุม ครม.จะต้องเสนอให้ กนย.รับทราบในวันที่ 5 กันยายน พิจารณาก่อน ส่วนผู้ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 25 ไร่นั้น จะพิจารณาอีกครั้งและไม่ซ้ำซ้อนกับที่ ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว

 

ขอบคุณข่าวจากข่าวสด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: