เก็บตกถกเอฟทีเอไทย-อียูรอบ2เชียงใหม่ ชำแหละ'ยุทธการตบทรัพย์'แบบสมยอม

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) 4 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1952 ครั้ง

อาจกล่าวได้ว่า นี่คงเป็นการชุมนุมใหญ่ของประชาชนหลักหลายพันคนครั้งแรก หลังเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถก้าวพ้นการเมืองสีเสื้อ มิใช่เพราะพวกเขาไม่ใช่แดง ไม่ใช่เหลือง ไม่ใช่ขาวหรือหลากสี แต่เพราะผู้ชุมนุมมีทุกเฉดสี แต่ไม่ได้เอาเฉดสีเสื้อเหล่านั้นมาจำแนกปัญหาผู้คนและสังคม แต่เคารพทุกสี เคารพทุกความแตกต่าง เพื่อหาจุดร่วมในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะร่วมกัน

การเจรจาการค้าเสรี ไทย-ยุโรป (FTA) เกี่ยวกับประชาชนอย่างเรา....อย่างไร?

FTA (Free Trade Agreement) การค้าเสรีน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะการค้าเสรีจะหมายถึง การส่งเสริมให้สินค้าไหลไปมาเข้าออกแต่ละประเทศได้อย่างสะดวก โดยจะไม่มีการเก็บภาษี และไม่มีการกำหนดโควตาหรือกำหนดกติกากีดกันสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก

สำหรับการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) สินค้าที่จะได้ประโยชน์ในการส่งออก อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ กุ้ง-ไก่ และคาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ

 

ภาพประกอบกราฟฟิก www.hfocus.org/

แต่ข้อตกลงการค้าเสรีสมัยใหม่ มิใช่เพียงการเจรจาลดภาษีสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีข้อเรียกร้องจากบรรษัทและนักลงทุนเพิ่มเติมมากมาย ขณะที่การเจรจาเพื่อการเปิดเสรีสินค้ามีสัดส่วนน้อยนิดเดียว โดยเรื่องหลักกลับเป็นเรื่องสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองนักลงทุน การเอื้ออำนวยทางการค้า การเปิดเสรีการบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอื่น ๆ อีกตามแต่เราจะยินยอมเจรจา

ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่เคยเจรจาสำเร็จมาก่อนในองค์การการค้าโลก (WTO) แม้จะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้ง เพราะผลประโยชน์จะไม่ได้ตกแก่ประชาชน มากกว่าบรรษัทขนาดใหญ่ในแต่ละประเทศ โดยที่ประชาชนและสังคม จะต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง

ด้านยาและหลักประกันสุขภาพ

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

ค่ายาแพงขึ้นมหาศาล จากเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลของของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า 5 ปีหลัง FTA กับสหภาพยุโรป มีผลบังคับใช้ ประเทศจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 109,239 ล้านบาท อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ* ในประเทศจะล้มหลายตายจาก รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมจะถูกทำให้อ่อนแอ และถูกแปรรูปในที่สุด

ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต่ำกว่า 48 ล้านคน อาจล้มเหลวเพราะแบกภาระค่ายาไม่ไหว หรือต้องบังคับให้ประชาชนร่วมจ่ายแทน ใครร่วมจ่ายไม่ได้ก็ห้ามป่วย

เพราะ

สหภาพยุโรป ต้องการบังคับไทยให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา ให้มากเกินกว่าที่ประเทศทั่วโลกยอมรับผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) หรือที่เรียกว่า ทริปสส์พลัส (TRIPs+) เพื่อให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถผูกขาดสร้างกำไรสูงสุดได้ยาวนานขึ้น โดยต้องการขยายอายุสิทธิบัตรออกไปไม่ต่ำกว่า 5 ปี จากเดิม 20 ปี, ผูกขาดข้อมูลทางยาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญ*เข้ามาแข่งขัน, หาเรื่องจับยึดยาชื่อสามัญโดยใช้ศาล และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือ, ทำลายองค์การเภสัชกรรมเพื่อไม่ให้ไทยพึ่งตัวเองด้านยาได้ ด้วยข้ออ้างว่า ต้องยกเลิกสิทธิพิเศษที่เคยให้กับหน่วยงานรัฐทั้งหมด โดยไม่สนใจว่าบางสิทธินั้นมีไว้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ สาธารณูปโภค และสวัสดิภาพของสังคม, ขัดขวางการต่อรองราคายาและการจัดหายาราคาถูก

*ยาชื่อสามัญ คือ ยาตัวเดียวกับยาต้นแบบ ได้รับการรับรองคุณภาพจาก อย.ว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ผลิตได้หลังจากยาต้นแบบหมดอายุสิทธิบัตรแล้ว ทำให้ยาในท้องตลาดมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง

ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

ไทยมีความเสียหายจากเครื่องดื่มมึนเมา เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มากขึ้นทุกปี ยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ยิ่งเมื่อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป นานาเครื่องดื่มมึนเมาจะทะลักเข้าประเทศอย่างมาก และสามารถทำตลาดได้เต็มสูบ สร้างนักดื่มหน้าใหม่ หน้าเก่าก็ดื่มหนักขึ้น รัฐจะไม่สามารถออกนโยบายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เลย

เพราะ

สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยจะลดภาษีแอลกอฮอล์ ลงไป 90 เปอร์เซนต์ และหากรัฐยังดื้อดึงออกกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์นักลงทุนสหภาพยุโรปก็สามารถฟ้องล้มนโยบาย และเรียกให้ชดใช้กำไรที่คาดว่าจะสูญเสียไปได้ด้วยผ่านกลไกการคุ้มครองนักลงทุน

ด้านเกษตร และอาหาร

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น 2-6 เท่าตัว ขณะเดียวกันต้องจ่ายค่าต๋งให้กับบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์ทั้งผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลผลิตนั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 84,000-143,000 ล้านบาท

วิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่ปรับปรุงและขายเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ต้องเลิกกิจการ เพราะจะถูกฟ้องร้องจนติดคุกติดตาราง

ขณะที่บริษัทข้ามชาติและบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทย ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนเจ้าของพันธุกรรมต่าง ๆ สามารถฉกฉวยไปยึดครองและทำกำไรอย่างเต็มที่

ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จะถูกขโมยไปแย่งจดสิทธิบัตร และผูกขาดยึดครองในที่สุด

เพราะ

สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยเปลี่ยนกฎหมายมาใช้อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่เรียกว่า “ยูปอฟ 1991” (UPOV 1991) ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่และนักปรับปรุงพันธุ์ แต่ไม่คุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง เปิดช่องให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรต่างชาติและยักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า ฉกฉวยพันธุ์พื้นเมืองไปปรับแต่ง และจดสิทธิบัตรทับยีนของพืชเดิมได้ โดยได้สิทธิผูกขาดทั้งส่วนขาย ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ โดยที่เกษตรกรไม่มีสิทธิเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเลย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ

ขณะนี้ กว่า 90 เปอร์เซนต์ ของตลาดเมล็ดพันธุ์ไทยตกอยู่ในมือเพียง 6 บริษัทเท่านั้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ในไทยและต่างชาติ

การคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ

สิ่งที่จะเกิดขึ้น

นักลงทุนต่างชาติจะได้รับความคุ้มครองอย่างดีเยี่ยม หากไม่พอใจนโยบายหรือกฎหมายใดที่รัฐไทยออกมาสามารถฟ้องร้องล้มนโยบายหรือกฎหมายเหล่านั้นได้ แม้จะเป็นนโยบายที่คุ้มครองประชาชนผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมของไทย แถมยังสามารถเรียกค่าเสียหายจากกำไรที่หดหายไป หรือกำไรที่คาดว่าจะได้ โดยอ้างว่า เสียหายจากการกระทำของรัฐไทย หรือเรียกว่า ถูกยึดทรัพย์ (แม้จะเป็นทรัพย์ในอนาคต) เช่นที่หลายประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วกำลังเผชิญอยู่ เฉพาะปีนี้ปีเดียวมีไม่ต่ำกว่า 80 คดี

นับจากนี้รัฐบาลและหน่วยราชการต่าง ๆ จะไม่กล้าออกนโยบายคุ้มครองประชาชน หรือนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย หากนักลงทุนไม่พอใจ หรือกระทบการทำกำไรของทุนต่าง ๆ เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้อง ในขณะที่ไม่มีกลไกใดเลยที่จะคุ้มครองประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุน

เพราะ

สหภาพยุโรปต้องการให้เราคุ้มครองการลงทุน โดยที่นิยาม ‘การลงทุน’ กว้างสุดขีด อะไร ๆ ก็คือ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา, การทำการตลาด, การโฆษณา

นิยาม ‘นักลงทุนต่างชาติ’ ใครก็ได้ที่มีการลงทุนในสหภาพยุโรป แม้แต่เช่าตู้ไปรษณีย์ตอบรับ ก็ยังถือใช้สิทธินักลงทุนได้

อะไรคือ ‘การยึดทรัพย์’ ไม่มีความชัดเจน เบลอมาก ๆ เขียนกว้าง ๆ ว่า ยึดทรัพย์ทางตรง ยึดทรัพย์ทางอ้อม ฉะนั้น อะไรก็สามารถเป็นประเด็นนำไปฟ้องได้

ที่สำคัญ ยังไม่มาลงทุน แค่คิดจะมาลงทุนก็มีสิทธิฟ้องรัฐได้

ข้อเรียกร้องของ FTA Watch

เครือข่าย FTA Watch ไม่มุ่งหวังให้ล้มการเจรจา FTA แต่เราต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างรอบคอบและสะท้อนข้อห่วงใย ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมามี FTA จำนวนมาก ที่ไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ สนใจแต่ผลประโยชน์ที่กระจุกตัว จึงได้เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงพลังร่วมกันเสนอให้คณะเจรจาฝ่ายไทย ต้องไม่ยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้จากสหภาพยุโรป

ทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินทริปส์ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับยา และทรัพยากรชีวภาพ ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า

การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่รวมถึงการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง

ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

 

ผลจากการเจรจารอบที่ 2 ที่เชียงใหม่

ท่ามกลางแรงกดดันของกลุ่มทุนส่งออกของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ ในนามสภาหอการค้าไทยที่ต้องการให้คณะเจรจาฝ่ายไทยเร่งการเจรจา เพื่อรักษาสิทธิพิเศษทางการค้าที่ไทยเคยได้รับในฐานะประเทศด้อยพัฒนา ทำให้ นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยและทีมเจรจาต้องทำงานอย่างหนัก แต่อย่างน้อยการที่หัวหน้าคณะเจรจาฯออกมายืนยันต่อสาธารณชนว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย เป็นเรื่องน่ายินดี ทำให้การติดตามตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายสหภาพยุโรปเป็นหลัก

นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เล่าถึงการเข้าพบคณะเจรจาฝ่ายยุโรปว่า ตัวแทนภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อคณะเจรจาฝ่ายยุโรป 4 ข้อ คือ เรื่องยารักษาโรค เรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช เรื่องสินค้าสุรา และการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะประเทศอื่นก็เรียกร้อง และอียูก็โดนต่อต้านเหมือนกัน โดยการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ไปเพื่อขอความเมตตา แต่เพื่อบอกข้อห่วงใยของคนไทย และถามว่าอียูจะตอบอย่างไร

            “ท่าทีของคณะเจรจาฝ่ายยุโรปดูให้เกียรติคณะเจรจาฝ่ายไทยค่อนข้างต่ำ งานนี้ไม่จบง่าย ๆ เขามาหนักกับรัฐบาลไทย และจับมือบริษัทข้ามชาติ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่จะถล่มรัฐและประชาชน”

กล่าวคือ ฝ่ายสหภาพยุโรปมีท่าทีแข็งกร้าวอย่างมากในประเด็น การเข้าถึงยาสินค้า สินค้าแอลกอฮอล์ และการคุ้มครองการลงทุน

แม้ว่าในการหารือกับตัวแทนภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป จะมีท่าทีผ่อนปรนเพียงเรื่องการทำตามอนุสัญญายูบอฟ โดยระบุว่า “เป็นปกติที่สหภาพยุโรปจะยื่นเช่นนี้ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าฝ่ายไทยต้องการหรือไม่” แต่หากดูจากข้อเสนอที่สหภาพยุโรปยื่นมาให้ไทยในหลายหัวข้อ จะพบว่าหลายเรื่องเข้มข้นมากกว่าที่เสนอในการเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรป และหลายเรื่องที่สหภาพยุโรปยอมให้อินเดียแล้ว เช่น การขอขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา และการทำตามอนุสัญญายูบอฟ ก็ยังคงมีอยู่ด้วยภาษาที่เข้มงวดมากขึ้น

เรื่องการคุ้มครองการลงทุน คงจะเป็นประเด็นที่ร้อนที่สุดนับจากนี้ไป เพราะสหภาพยุโรปไม่เห็นด้วยกับกรอบการเจรจาความตกลง เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 อันมีสาระสำคัญให้มาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง และไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) โดยสหภาพยุโรปต้องการให้คงสิทธิของนักลงทุนในการฟ้องร้องทุกเรื่อง

เพียงแต่จะเขียนเนื้อหาความตกลงให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนั่นหมายความว่า นี่ยังเปิดช่องให้นักลงทุนแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องรัฐ ฟ้องล้มนโยบาย โดยที่รัฐมีหน้าที่ไปสู้คดีด้วยเงินภาษีของประชาชนเท่านั้น

หากจะว่าไป คงมีเพียงประเด็นการคุ้มครองการลงทุน เฉพาะที่มีการลงทุนแล้ว (Post-Establishment) ที่สหภาพยุโรปอาจจะโอนอ่อนลงบ้าง ที่จะไม่ให้สิทธิการคุ้มครองไปถึงการลงทุนที่ยังมิได้ลงทุนจริง เช่น การเข้ามาขอใบอนุญาตและถูกปฏิเสธ ไม่มีสิทธิไปฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการ แต่นี่ก็ขึ้นอยู่กับความรอบคอบในการเขียนรายละเอียดของข้อตกลง ว่าจะสามารถป้องกันนักลงทุนฉวยโอกาสเหล่านี้ได้จริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎระเบียบการนำเข้าต่าง ๆ และมีข้อห้ามการออกกฎต่าง ๆ ในอนาคต แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ซึ่งนี่จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวทำให้ภาครัฐไม่กล้าออกกฎระเบียบใด ๆ ที่จะเป็นการควบคุมการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เช่นที่เคยเข้มงวดการนำเข้าสินค้า ในช่วงการระบาดของโรควัวบ้า หรือหลังเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ที่ประเทศญี่ปุ่น

นับจากนี้ การจับตาจากประชาสังคมจะเข้มงวดมากขึ้น

และนี่คือ คำประกาศ หน้าโรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่ 19 กันยายน 2556

            “พวกเราประกอบไปด้วยกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) เครือข่ายประชาสังคม และเครือข่ายประชาชนกว่า 3,000 คน มารวมตัวกันที่จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 จนถึงวันนี้ ในวาระการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปรอบที่สอง เพื่อบอกกล่าวต่อคณะเจรจาของทั้งสองประเทศ ถึงข้อกังวลและจุดยืนของพวกเรา เครือข่ายประชาชน และภาคประชาสังคมไทย ตลอดจนสื่อสารถึงสังคมไทยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป

จนถึงเวลานี้พวกเราได้ตระหนักอย่างแน่ชัดแล้วว่า สหภาพยุโรปยืนยันอย่างหนักแน่นในการเดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องหลายประเด็นที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ทั้งด้านยา และพันธุ์พืช และนักลงทุนข้ามชาติ ที่คุกคามต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ความมั่นคงทางอาหาร และระบบการดูแลสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงนโยบายและมาตรการของรัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม นับเป็นพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรม ขัดขวางสันติภาพและการสร้างความสมานฉันท์ บ่อนทำลายระบบประชาธิปไตย สวนทางกับเกียรติภูมิของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

กล่าวได้ว่าการมาของเราในครั้งนี้ ได้ทำให้เราได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของกลุ่มประเทศ ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ซึ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน เคารพในสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม ว่าแท้จริงแล้วก็เป็นแค่นายหน้าของพ่อค้าที่เห็นแก่ได้ หวังสร้างกำไรสูงสูดโดยไม่เลือกชนิดสินค้าว่าเกี่ยวแก่ความเป็นความตายหรือไม่ หรือเป็นตัวแทนของโจรสลัด ที่มุ่งฉกฉวยทรัพยากรชีวภาพของผู้อื่นไปผูกขาดหาประโยชน์

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มุ่งผลักดันให้รัฐบาลและทีมเจรจายอมรับข้อเรียกร้องอันจะสร้างข้อตกลงการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม ก็ยิ่งตอกย้ำแก่พวกเราว่า กลุ่มทุนเหล่านี้พร้อมที่จะแลกชีวิตคนเล็กคนน้อย เกษตรกร คนมีรายได้น้อย ผู้ป่วยเรื้อรัง แลกระบบสวัสดิการพื้นฐานด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กับผลประโยชน์ด้านการค้าของตน

เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้พวกเรายิ่งต้องเข้มแข็ง เราต้องสร้างเครือข่ายเพื่อนมิตรที่รู้ เข้าใจ และตระหนักถึงภัยคุกคามอันร้ายแรงนี้ ให้กว้างขวางและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ความสำเร็จในวันนี้ของพวกเรา คือการที่เราตระหนักอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เราต้องต่อสู้เพื่อรักษานั้น มีคุณค่า และมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นยาจำเป็นรักษาโรครักษาชีวิต ที่มีราคาเหมาะสมฐานทรัพยากรชีวภาพที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ดี ตลอดจนนโยบายและมาตรการของรัฐที่จะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเรา

และเราจะไม่ยอมสูญเสียมันไปอย่างเด็ดขาด

พวกเราขอประกาศ ณ วันนี้ว่า

            “เรายินดีจะเป็นกองหนุนอันเข้มแข็งให้กับทีมเจรจาในการต้านทานแรงกดดัน และความพยายามเอารัดเอาเปรียบของสหภาพยุโรป พวกเราจะติดตามกระบวนการเจรจาอย่างใกล้ชิด และจะร่วมพลังยืนหยัดคัดค้านจนถึงที่สุด หากสหภาพยุโรปจะผลักดันข้อเรียกร้องใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และความอยู่รอดของพวกเรา และพวกเราจะกลับมาอีกอย่างแน่นอน ด้วยจำนวนที่มากกว่านี้ ด้วยข้อมูลความรู้ ด้วยกำลังกายและกำลังใจอันเข้มแข็ง และเราจะไม่ยอมถอยให้ทุนใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบแม้แต่ก้าวเดียว”

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google, www.hfocus.org

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: