ตลอด 13 ปีที่กรีนพีซทำงานในเมื่องไทย เชื่อว่าสังคมได้เห็นบทบาทการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีชพอสมควร ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า วิธีการเคลื่อนไหวของกรีนพีซ ซึ่งเป็นลักษณะการเคลื่อนไหวแบบในอเมริกาและยุโรปใช้ได้ผลกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
แต่ใช่ว่าคำถามต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดแก่กรีนพีซเท่านั้น เอ็นจีโอไทยแท้ก็เผชิญคำถามเช่นกัน เมื่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทวีความซับซ้อนและแหลมคมมากขึ้นทุกขณะ ฟังทัศนะของ ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า กรีนพีซและเอ็นจีโอในไทยก้าวทันความซับซ้อนเหล่านี้หรือไม่ หรือกำลังติดกับดักอะไรบางอย่างอยู่
ศูนย์ข่าว TCIJ : 13 ปีกับการทำงานของกรีนพีชในเมืองไทย คุณประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างไรบ้าง
ธารา : เวลาเราดูการทำงานในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง เราจะดูสิ่งที่เป็นจุดยืนของกรีนพีซ อันดับแรกต้องเข้าใจว่ากรีนพีซเป็นองค์กรที่รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น เมื่อดูเรื่องความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการทำงานรณรงค์ จะวัดจากวัตถุประสงค์ จุดหมาย หรือการไปถึงอะไรบางอย่างที่ต้องการ ตอนที่กรีนพีซมาตั้งสำนักงานที่เมืองไทยใหม่ ๆ จุดแรกที่เราพยายามดูคือบทบาทของกรีนพีซในสังคมไทยจะอยู่ตรงไหน ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลัก ๆ มาจากการทำงานรณรงค์ระดับสากล ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายรัฐบาลหรือบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น รณรงค์ให้บริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ให้มีพืชตัดแต่งพันธุกรรม เราจะใช้ประเด็นสากลมาเชื่อมต่อกับประเด็นในประเทศ
ความสำเร็จจึงเกิดจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เราจำเป็นต้องเข้าใจสังคมไทยให้มากขึ้นว่า จุดใดคือจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จะเชื่อมโยงบริบทของที่นี่ได้ เราต้องยอมรับว่าโลกาภิวัตน์มีส่วนทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไปแล้ว ฉะนั้น เราต้องมองข้ามขยายเขตพรมแดนประเทศด้วย
ความสำเร็จกับความล้มเหลว จึงเป็นเรื่องการวางยุทธศาสตร์การทำงาน บางครั้งความล้มเหลวเกิดจากการมีความฝันที่อยากจะเห็นมากเกินไป หรือไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือเพราะเราไม่พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่เข้ามาใหม่ ๆ ทำให้วิธีการเดิมของกรีนพีซไม่สอดคล้อง ผมคิดว่าถ้าเราดูกรีนพีซในประเทศไทย มันก็ปะปนกันไป คือสิ่งที่เรียกว่าความล้มเหลว อาจไม่ใช่ความล้มเหลวในการทำงานของกรีนพีซล้วน ๆ แต่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของเรื่องเหล่านั้น เช่น ไม่ว่าจะองค์กรไหนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน ต้องเข้าใจว่าโลกดำเนินมาถึงจุดที่ไม่สามารถหมุนกลับไปเป็นดังเดิมได้แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ไม่แค่กรีนพีซ แต่เป็นทุกองค์กร ทุกรัฐบาล บางครั้งเราทำเรื่องที่ใหญ่เกินไป ใหญ่มาก ๆ แล้วคนไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าตรงนี้อาจเป็นส่วนที่ทำให้เราไม่ประสบผลสำเร็จในการทำงาน
ศูนย์ข่าว TCIJ : การทำงานแบบเรือเอสเปอรันซ่าที่ออกไปสำรวจทะเล การปีนหน้าผาที่ไร่เลย์ จ.กระบี่ เพื่อรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีกหลายกิจกรรม มีคนตั้งคำถามว่าวิธีการที่ใช้ในต่างประเทศแบบนี้มันสอดรับกับบริบทประเทศไทยหรือเปล่า คนไทยรู้สึกตื่นตัวกับกิจกรรมทำนองนี้หรือไม่
ธารา : หัวใจอย่างหนึ่งของกรีนพีซคือ การรณรงค์หรือการเข้าไปขัดขวาง เผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นปัญหา บางครั้งเราไม่เห็นหรอกว่า อะไรหรือจุดไหนเป็นจุดของการทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราใช้คือการรณรงค์ด้วยการเผชิญหน้าแบบสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งก็เป็นแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่ถูกทดสอบในที่ต่าง ๆ ของโลกมาแล้ว ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีปฏิบัติในทางสากลและสามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย เป็นขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อนักกิจกรรม
แต่สิ่งที่เราพยายามปรับคือการสื่อสาร เราจะบอกกับคนในสังคมอย่างไรว่า ขณะนี้ที่กระบี่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน บางครั้งการบอกเฉย ๆ หรือการทำเป็นข้อมูลออกมาเผยแพร่ผ่านสื่ออาจไม่ถูกรับรู้ในวงกว้าง สิ่งที่กรีนพีซพยายามทำคือ เราจะไม่เอาข้อมูลนำหน้า แต่จะเอาสิ่งที่เป็นภาพหรือสิ่งที่ทำให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเป็นตัวนำ ตั้งคำถามว่าทำไมกรีนพีซต้องไปปีนหน้าผาที่ไร่เลย์ ทำไมกรีนพีชต้องใช้เรือแล่นไปในอ่าวไทย เพื่อดูการทำประมงแบบทำลายล้าง เป็นการตั้งคำถามที่จุดประเด็น การปีนหน้าผาไม่ได้ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินยุติลง แต่เป็นการจุดประกายให้เห็นว่ากระบี่สวยงามอย่างไร เกิดอะไรขึ้นที่กระบี่ แล้วใช้จุดนั้นสื่อสารกับทุกคน ตั้งคำถามและคุยกับทุกคนในสังคม
ศูนย์ข่าว TCIJ : แล้วเสียงตอบรับจากผู้คนในการดำเนินกิจกรรมแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ธารา : มันวัดจากหลายอย่าง หากวัดในเชิงรูปธรรม ผมคิดว่าเรามีจำนวนอาสาสมัครที่สนใจทำกิจกรรมกับกรีนพีซมากขึ้น หรือจำนวนคนที่มาร่วมรณรงค์ผ่านโซเชียลมิเดียเพิ่มมากขึ้น อย่างเฟสบุ๊คมีประมาณ 60,000 คนที่เป็นแฟนเพจ คำถามต่อไปคือเราจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ หรือเรามี cyber active ประมาณ 3,000-4,000 คน แล้วยังมียอดคนบริจาค ด้วยนโยบายของกรีนพีชที่จะไม่รับทุนการเมืองหรือบริษัท ในประเทศไทยมีผู้บริจาคราว 30,000 คน รวมกันทั้งภูมิภาคได้ 60,000 กว่าคน ไม่ใช่จำนวนที่เยอะมาก แต่เป็นจำนวนที่ทำให้เราช่วยตรวจสอบตัวเองว่า เราอยู่ ณ จุดไหนของการทำงานและเสียงสะท้อนของผู้บริจาคจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเรา
ศูนย์ข่าว TCIJ : คุณบอกว่ามีการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย กรีนพีซพบอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่เป็นโอกาสและอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง
ธารา : กรีนพีซเคยมองประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีเสรีภาพของสื่อมวลชนค่อนข้างสูง มีการเมืองลักษณะเปิดกว้าง เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม มีสังคมที่เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เราใช้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน แล้วก็ดูว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ของเอ็นจีโอในประเทศไทยเป็นอย่างไร เพื่อประสานการทำงานร่วมกัน เราคิดว่าเวลาที่เราตั้งสำนักงานในประเทศไทย เราใช้คำว่า กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้จะเป็นสำนักงานระดับภูมิภาค แต่สำนักงานที่อยู่ในประเทศไทยจะเน้นการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ตอนนี้บทบาทของประเทศไทยในอาเซียนในเรื่องของการปกป้องหรือทำลายสิ่งแวดล้อมกำลังสูงขึ้น มีการเคลื่อนย้ายโครงการต่าง ๆ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงาน หรือบริษัทด้านสินค้าเกษตรก็เคลื่อนย้ายฐานการผลิต ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผมคิดว่าเราไม่ควรพูดถึงบริบทของเขตแดนเดียว แต่ต้องดูความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ศูนย์ข่าว TCIJ : ตอนนี้อะไรคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทยที่กรีนพีซติดตามอยู่
ธารา : เรากำลังรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เน้นไปที่พลังงาน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนี้เราเปิดงานรณรงค์ด้านมหาสมุทรเพื่อจะดูประเด็นเรื่องการประมงเกินขนาดในทะเลไทย แล้วก็เรื่องสารพิษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำมาตลอด 13 ปี อีกเรื่องที่พยายามจะจับให้ใหญ่ขึ้นคือเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบของความมั่นคงทางอาหาร
ถ้าเรามองในมุมมองของกรีนพีซคงไม่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมประเด็นไหนที่เป็นประเด็นหลัก ประเด็นเดี่ยวที่สำคัญที่สุด ดูเหมือนทุกประเด็นรวมเข้ามาหากัน จุดสำคัญที่เราทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย กระบวนการตัดสินใจ การรับรู้ของสาธารณะชนเกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น ตอนที่เราเปิดงานรณรงค์ด้านทะเล เราเข้าไปเชื่อมกับสมาคมประมงพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อต่อยอดว่าบทบาทของกรีนพีซที่จะช่วยขับเคลื่อนประเด็นนี้มีอะไรบ้าง เราจึงใช้เรือเอสเปอรันซ่าไปสำรวจการประมงทำลายล้าง แล้วนำมาเสนอร่วมกับกฎหมาย ผมคิดว่าสุดท้ายไมว่าจะด้วยวิธีการแบบไหน เรามีเป้าหมายของการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ให้มีทางออก แต่เดิมผมคิดว่าภาคประชาสังคมของประเทศไทยเสนอแต่ปัญหา แต่ไม่ได้เข้มข้นเรื่องการเสนอทางออกแก่สังคม
ศูนย์ข่าว TCIJ : คุณคิดว่าวิธีการมองปัญหาของเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมของไทยก้าวทันความซับซ้อนและความแหลมคมของสถานการณ์สิ่งแวดล้อม หรือติดกับดักอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่
ธารา : ผมต้องตอบคำถามนี้ในมุมมองของนักกิจกรรม ผมมองว่ามันมีกับดักอยู่แล้ว บางครั้งเราก็หลงติดกับดักว่าเรากำลังพยายามจะแก้อะไร องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีเจตนาดีที่จะทำอะไรบางอย่าง เช่น การรณรงค์เรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ มีการถกเถียงเป็นเวลาหลายสิบปี ว่าควรยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มันไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่เรากลับมองไม่เห็นว่า บางครั้งมีเรื่องเล็ก ๆ ง่าย ๆ ที่เราต้องการจะสื่อสารให้สังคมรู้ว่าทางออกเป็นแบบนี้
ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย ส่งต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีอยู่ด้วย เช่น เรารู้ว่าทุกรัฐบาลทำเหมือนกันทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรฐกิจ การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ ถ้าต้องการจะเปลี่ยนตรงนั้น เราก็จำเป็นต้องเสนอทางออกภายใต้วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ เช่น ต้องคิดค้นวิธีการรณรงค์แบบใหม่ วิธีการประท้วง วิธีการขับเคลื่อนมวลชนขนาดใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาล และเราต้องไม่ละเลยที่จะรวมกลุ่มคนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนกระบวนการไปด้วยกัน แต่เราก็ไม่ควรที่จะเรียกร้องจากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายการเมืองอย่างเดียว แต่ควรสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเครือข่ายที่ประจวบคีรีขันธ์ เขาผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เขาทำกระบวนการเสนอแนวทางพัฒนาจังหวัดไปยังผู้ว่าฯ ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ที่เห็นว่า คนมีศักดิ์ศรี สามารถยืนหยัดในสังคม และดูแลทรัพยากรของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นและเป็นการเกิดขึ้นที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากความสำเร็จและความล้มเหลว ที่ได้ทำมาตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเทศไทย
ศูนย์ข่าว TCIJ : การเปลี่ยนแปลงที่คุณพูดถึงมาจากตัวประชาชนเองหรือเอ็นจีโอเป็นคนสร้าง อย่างที่ประจวบคีรีขันธ์ภาคประชาชนมีความแข้งแรงมาก ซึ่งถ้าเราดูกันจริง ๆ เอ็นจีโอแทบไม่มีบทบาทหรือมีบทบาทน้อยมาก
ธารา : ตามความเชื่อของผมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง ในการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน เราก็รู้ว่าภาคประชาชนเป็นคนสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวและนำกระบวนการเคลื่อนไหว มันมีคำถามเยอะกับบทบาทของเอ็นจีโอ จริง ๆ เราเข้าไปช่วยจริงหรือเปล่า หรือเกาะกระแสดึงเอาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ไปเชื่อมต่อกับการเคลื่อนไหวระดับโลก ถ้าเรามองบนพื้นฐานการทำงานที่เชื่อมต่อกัน ผมว่ามันเป็นการเกื้อหนุนกัน แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ามาจากฐานราก มาจากประชาชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะถูกขยายการรับรู้ผ่านการเชื่อมต่อของภาคประชาสังคม บางทีก็มีกรีนพีซบ้างเข้าไปเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ในมุมอื่นๆ ของโลกฟัง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในชุมชนเหล่านั้นที่จะต่อสู้กับการทำลายทรัพยากรและวิถีชีวิตของพวกเขา
ศูนย์ข่าว TCIJ : ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลกระทบสูงมากต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหรือการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอเองก็ตาม เอ็นจีโอไทยซึ่งหมายรวมถึงกรีนพีซด้วย ต้องคิดมากขึ้นหรือไม่ ต้องกลั่นกรองวิธีการมากขึ้นหรือเปล่า เพื่อที่จะไม่ตกเข้าไปในวังวนของเกมการเมือง
ธารา : ใช่ครับ อันนี้เป็นความท้าทายมาก ๆ จริง ๆ แล้วก็เป็นกับดักอยู่เหมือนกัน เช่น เราไปรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์เขาใหญ่ เพื่อยุติการขยายถนนธนะรัชต์ ตอนนั้นเป็นช่วงวิกฤตการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งรุนแรง ถนนสายนั้นถูกขยายไปโดยที่ไม่มีใครรับรู้ พอวิกฤตทางการเมืองสงบลงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถนนเส้นนั้นก็ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ตอนที่เราเข้าไปก็ถูกทำลายไปแล้ว แต่ครึ่งหนึ่งยังอยู่ เราก็ปักธงว่าเราจะรักษาครึ่งหนึ่งไว้ ในซีกทางการเมืองเอง รัฐบาลก็ไม่ได้ชัดเจน เพราะคนที่มีบทบาทสำคัญเป็นฝ่ายการเมืองอีกขั้วหนึ่ง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่ง เป็นรัฐบาลผสม วิธีการสื่อสารคือเราจะพยายามสร้างจุดสมดุลให้เห็นว่า เราไม่ได้ต่อต้านการขยายถนนเส้นนี้เพราะพวกคุณเป็นการเมืองอีกขั้วหนึ่ง
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เราทำงานมาตั้งแต่ 13 ปีที่แล้วมีหลายรัฐบาลที่เราคิดว่า ไม่ว่าคุณมาจากขั้วการเมืองไหนหรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็ตาม ตราบเท่าที่คุณเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เอาทุนนิยมเป็นตัวตั้ง แล้วเอาธรรมชาติมาเป็นเครื่องสังเวยของการพัฒนา มันก็ต้องถูกขีดเส้นไปให้พ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ใช่ว่าเราพยายามไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นกระบวนการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เพียงแต่ว่าพอเป็นขั้วทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูงมาก ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องมีเกณฑ์ตัดสินว่า เรื่องแบบนี้ไม่ว่าคุณเป็นขั้วการเมืองไหนเราก็ขอรณรงค์เพื่อเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ศูนย์ข่าว TCIJ : กรีนพีซน่าจะเคยเผชิญปัญหาการถูกผลักไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม
ธารา : กรณีถนนธนะรัชต์ที่เราเข้าไปทำงานกับประชาชน บนเฟสบุ๊คของเราส่วนใหญ่เป็นเสื้อเหลือง เขาจะบอกว่า “เห็นไหม นายกรัฐมนตรีที่มาจากอีกพรรคที่เป็นพรรคเสื้อแดงไปทำลายถนนเส้นนั้น คุณต้องเข้าไป” แต่เราไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของคนที่นำเสนอเข้ามานะ เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ชัดเจนว่า เราจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้างที่เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ติดกับดักหรือตกหลุมพรางขั้วการเมืองใดการเมืองหนึ่ง เพราะถึงที่สุดแล้วผมมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ตราบเท่าที่นโยบายยังตั้งอยู่บนผลประโยชน์ที่เอาเศรษฐกิจเป็นใหญ่ เอาอุตสาหกรรมเป็นใหญ่ ประชาชนก็รับเคราะห์เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นประชาชนฝ่ายไหน ซึ่งเป็นจุดยืนของกรีนพีซที่อาจจะยังไม่ลงตัวในขณะนี้
ศูนย์ข่าว TCIJ : ในระยะยาว เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมในไทยจะเขี่ยวเข็ญตัวเองอย่างไรเพื่อตามให้ทันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ
ธารา : พอมันมีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต้องปรับคือเราจะสื่อสารกับคนอย่างไร เพราะสังคมมันแออัดยัดเยียดมากขึ้น ข่าวสารหลั่งไหลรวดเร็วมากขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีการสื่อสาร ยุทธศาสตร์ในการสื่อสาร จะทะลุทวงสื่อกระแสหลัก ทะลุทะลวงกำแพงให้คนที่อยู่อีกข้างหนึ่งได้รับสารอย่างถูกต้องได้อย่างไร โดยเป็นกลุ่มคนรับสื่อที่เราอาจจะไม่เคยเข้าถึงมาก่อน ผมคิดว่าตรงนี้เป็นความท้าทาย
บางครั้งเราคุยกับตัวเองหรือคุยกับเพื่อนที่รู้เรื่องราวอยู่แล้ว แล้วคิดว่าจุดนี้เป็นปัญหา จริง ๆ อาจจะมีคนอีกกลุ่มที่มองว่าไม่ใช่ปัญหา อาจจะมีมุมที่ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่เราไม่เคยมองมาก่อน ฉะนั้น การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมยุคใหม่น่าจะเป็นการรณรงค์ที่เปิดกว้าง เป็นระบบที่ให้คนเข้ามาดัดแปลง ปรับเปลี่ยน หรือรื้อถอนแล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็ผ่านกระบวนการสื่อสารทางสาธารณะให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะการสื่อสารสาธารณะขององค์กรภาคเอกชนหลาย ๆ ครั้งไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น เพราะบางเรื่องใหญ่เกินไป ยากเกินกว่าการรับรู้และจินตนาการของคนทั่วไปที่จะเข้าใจความซับซ้อนเหล่านั้น ฉะนั้น เราต้องดึงเอาความซับซ้อนเหล่านั้นออกมาให้เห็นภาพชัดและนำมาเชื่อมต่อกัน
แล้วถ้าองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถเปลี่ยนเรื่องบางเรื่องได้สำเร็จ แล้วค่อยๆ ต่อยอดจากความสำเร็จที่ทำไปหาอีกเรื่องหนึ่ง มันก็จะเป็นแนวการเคลื่อนไหวแบบใหม่ รู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในการทำงาน มีคนบอกว่าโซเชียลมิเดีย จริง ๆ แล้วเป็นของฝ่ายทุน เราก็มองว่าเครื่องมือเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่จะใช้ทะลุทะลวงสื่อกระแสหลัก เข้าหาผู้คนที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้
ศูนย์ข่าว TCIJ : ถ้าพูดเฉพาะในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ในเมืองไทยยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมใดที่กำลังเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเผชิญในอนาคต
ธารา : จากที่ทำงานมา ผมเห็นว่าเรื่องหลัก ๆ คือผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อประเทศไทย ถึงจุดหนึ่งมันจะรุนแรงหรือค่อย ๆ สะสมแบบทวีคูณ จนถึงจุดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถรับมือได้ ไม่ว่าเราจะมีความสามารถในการปรับตัวมากน้อยแค่ไหน
ผมมองปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมุมมองผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนา เช่น เราอาจต้องตั้งคำถามว่า กรุงเทพฯ ใหญ่เกินไปหรือไม่ เพราะสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ มีความล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่คนกรุงเทพฯ ไม่สามารถรับมือได้ รัฐบาลก็ไม่สามารถรับมือได้ อันนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนา เชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งเราจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ แล้วมันทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มันรวมเข้าด้วยกัน เช่น ถ้าเกิดกรณีภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีสารเคมีตกค้างหรือมีโรรงานอุตสาหกรรมก็อาจเกิดการรั่วไหลได้
เพราะฉะนั้นเรื่องที่น่าจะเป็นความท้าทายร่วมกันขององค์กร หรือหน่วยงานสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ก็คือเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องอื่น ๆ ผมคิดว่า อาจจะเป็นเรื่องของบทบาทของประเทศไทยในฐานะที่ต้องการจะเป็นเจ้าพลังงานในภูมิภาคอาเซียนด้วยการขยายบทบาทไปลงทุนในประเทศเพื่อบ้าน ไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือแม้กระทั่งเข้าไปมีบทบาทในระดับโลก ด้วยการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ มันเป็นปัญหาตรงที่ประเทศไทยไปผูกติดอยู่กับการพัฒนาพลังงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในอาเซียน ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นเพราะทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน แต่ผมคิดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมล้วน ๆ แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ ถ้าเราจับไม่ถูกทิศทาง เราก็จะแก้ปัญหาไม่ได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ