ย้อนภาพอดีต‘ผืนป่าดงพญาเย็น’ ทะเลโบราณล้านปีอันอุดมสมบูรณ์ ก่อนพลิกบ้านสัตว์ป่ามาเป็นชุมชน

อำนวย อินทรักษ์ 5 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 10337 ครั้ง

 

ต่อมา เมื่อราวร้อยปีที่แล้ว คนก็เรียนรู้ว่า...

 

พอล้มไม้ใหญ่ลง ถางไม้เล็กเถาน้อยออก ซึ่งก็คือเปิดป่าให้แสงแดดแผดเผาจุลินทรี ที่เป็นเชื้อโรค คนก็พอจะเข้าไปอาศัยอยู่ในดงพญาไฟได้

 

จึงเริ่มเป็นกระท่อม เป็นบ้านเรือนขึ้นมา ในที่สุดก็เป็นชุมชน ดังสำนวน “ขุดโค่น ก่นสร้าง” หรือ “หักร้างถางพง” และ “สร้างบ้าน แปงเมือง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ซึ่งเป็นการแผ้วถาง หรือล้างผลาญอย่างอื่นทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อสัตว์ชนิดเดียว คือคน

 

ธนพล สารนาค นักวิชาการบำนาญของกรมป่าไม้ ที่สนใจและทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเรื่อยมา ได้บันทึกเกี่ยวกับดงพญาไฟ ในหนังสือชื่อ “กำเนิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ว่า...

 

            ...ในอดีตมีป่าดงดิบกว้างใหญ่ กั้นกลางระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ซึ่งเต็มไปด้วยภยันตรายทั้งจากสัตว์ป่า ไข้ป่า ภูตผีปีศาจ อาถรรพณ์ลึกลับ และเป็นที่เล่าขานถึงความน่าเกรงขาม การเดินผ่านไปยังภาคอีสานยากลำบาก หลายคนต้องเสียชีวิตด้วยไข้ป่า หรือสัตว์ป่า ผู้คนจึงขนานนามป่าแห่งนี้ว่า ดงพญาไฟ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

...สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า

 

 

             “ดงพญาไฟ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมา ระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาแต่โบราณ ไปได้แต่เดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง คนเดินตามปกตินั้น ตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง ๒ คืน ถึงจะพ้น”...

 

ต่อมา...

 

             ...วันที่ 21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถไฟ สายกรุงเทพ – นครราชสีมา ขณะที่เสด็จกลับทางรถไฟผ่านดงพญาไฟ ทรงรับสั่งว่าป่าชื่อฟังดูน่ากลัว จึงตรัสว่า“ให้เปลี่ยนชื่อดงพญาไฟเป็นดงพญาเย็น เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุขอาณาประชาราษฎร์”

 

ต่อมา

 

 

              “...พ.ศ. ๒๔๖๕ ราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้อพยพขึ้นไปถางบุกเบิกพื้นที่ทำกินบนเขาใหญ่ อันเป็นทำเลที่ดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพื่อทำไร่พริก และไม้ผล ยิ่งเวลาผ่านไป ชาวบ้านได้ไปชวนญาติพี่น้อง และมีชาวบ้านจากจังหวัดอื่น ขึ้นไปถางป่าบุกเบิกพื้นที่ทำกิน และสร้างบ้านเรือนมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้าน ทางราชการได้ยกเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก...”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณธนพล บันทึกว่า

 

 

               “...พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยเหตุที่ตำบลเขาใหญ่อยู่กลางป่า จึงกลายเป็นที่ซ่องสุมโจรผู้ร้าย จังหวัดนครยายกได้ให้ “ปลัดจ่าง” (นายจ่าง นิสัยสัตย์) ขึ้นไปกวาดล้างโจรบนเขาใหญ่ได้สำเร็จ หลังจากนั้น ทางจังหวัดเห็นว่าหากปล่อยให้มีหมู่บ้านต่อไปก็จะกลายเป็นชุมโจรอีก จึงสั่งให้อพยพชาวบ้านลงมายังพื้นล่าง แล้วยกเลิกตำบลเขาใหญ่ ปล่อยให้พื้นที่ทำกินบนเขาใหญ่รกร้าง กลายเป็นทุ่งหญ้าคา...”

 

 

ผู้คนที่อพยพลงจากเขาใหญ่มาคราวนั้น ก็กระจายกันลงตามเส้นทางที่ขึ้นไป สายนครนายกก็ลงไปอยู่ทางนครนายก ทางปราจีนก็กลับบ้านตนเอง ขึ้นจากฝั่งปากช่องก็กลับทางเดิม แล้วก็หักร้างถางพงเอาพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ ตั้งเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาตามเชิงเขา ผสมปนเปกับผู้อพยพเข้ามาอยู่ใหม่

 

และแล้วเมื่อความเจริญย่างเข้ามา ผืนป่าใหญ่ ที่ชื่อดงพญาเย็นก็มลายวายวอดลงไป แบบฮวบๆ เมื่อประเทศไทยได้นำวัตถุมีพิษร้ายเข้ามาใช้ปราบยุง อันเป็นตัวการของไข้ป่า มีการพ่นยาพิษนี้ตามบ้านช่องห้องหอ ทั้งด้านในและนอกห้อง ไม่เว้นแม้แต่ห้องนอน ในชนบทป่าดงพงไพรที่ไหนๆ ก็มีบ้านผนังหม่นทุกหลังทุกกระท่อมเถียงนาไป จนมารู้จักฤทธิ์ของพิษร้ายนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ในที่สุดต้องเลิกใช้กันทั้งโลก สารพิษร้ายแรงที่ว่านั้นคือ ดีดีที

 

ป่าดิบดงดำ บนพื้นที่ราบ ซึ่งมีน้ำท่าบริบูรณ์ สัตว์ป่ามากมี โดยมีดีดีทีเป็นยาป้องกันยุงนี่แหละครับ เป็นตัวดึงดูดผู้คนจากทุกที่ ที่รู้ข่าวดีของผืนป่าพญาเย็นนี้ ทั้งคนที่อยู่ใกล้ๆ อย่างสระบุรี รองลงมาโคราช อยุธยา และพวกที่ไกลออกไป อย่างนายฮ้อย จากอีสาน ซึ่งต้อนวัวลงมาขายที่ตลาดใหญ่ สระบุรี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่างก็มาจับจองทำไร่ เพราะจะหาที่ดินดีอย่างนี้ที่ไหนไม่มีอีกแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งจึงมีคนอพยพเข้ามาอยู่ปากช่อง คล้ายกับตำนานตื่นทอง แล้วพื้นที่ราบชายเขาด้านเหนือของเขาใหญ่ ก็กลายเป็นชุมชน ตามทางของมัน

 

เริ่มจากล้มป่า เปิดพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวได้ปีเดียว ปีต่อมาก็เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพด หรือละหุ่ง หรือพริก อีกไม่เกินสี่ปีก็ทิ้งไป เลิกทำเพราะสู้หญ้าคาไม่ไหว ไปถางป่าพื้นที่ใหม่เรื่อยไป

 

ต่อมาคนมากขึ้น ที่ดินมีราคาแพงขึ้น จึงมีทั้งการขายที่เก่า แล้วไปหาถางที่ใหม่ บ้างก็โดนเจ้าหนี้ยึด แล้วไปถางที่ใหม่ เข้าป่าลึกไปเรื่อยๆ จนติดเขตอุทยานฯ ชาวบ้านชายเขาแห่งนี้ มีคำพูดกันว่า “เจ๊กไล่ไทย ไทยไล่ลาว ลาวไล่ลิง”

 

 

ไม้ใหญ่ต้นยักษ์ถูกตัดโค่นลง รอให้มันแห้ง แล้วเผาทิ้งเผาขว้างเป็นขี้เถ้าไป ยกเว้นแต่ไม้ดี ๆ มีราคามากหน่อย จึงจะเลื่อยขายเป็นไม้แปรรูป อย่างมะค่า ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง ตะแบก

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าพญาเย็น บริเวณชายเขาใหญ่ เมื่อราวปี 2510 ขึ้นไปนั้น มีร่องรอยจากคำพูดของชาวบ้านแถวนี้ที่เล่าว่า...

 

แต่ก่อนนั้น ถ้าคนตำบลหมูสี ไปปากช่อง ต้องใช้เวลา 1 คืน นั่งเกวียนบรรทุกของไปหน่อย อย่างข้าวโพดสองกระสอบ ขายแล้วได้เงินมา ของกินซื้อแต่เกลือ เพราะอาหารการกินนั้นมีอยู่แล้วเหลือเฟือ ไม่ต้องซื้อหาอะไรอีก ทั้งเนื้อ หมู ไก่ ปลา ปู หอย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และ

 

ชื่อของหมู่บ้าน ที่อยู่ตีนเขาใหญ่ เขตตำบลหมูสี เป็นพยานบอกความอุดมสมบูรณ์เต็มพิกัด อย่าง

 

บ้านท่ามะปราง ท่าช้าง คลองเดื่อ คลองดินดำ คลองสะท้อน คลองปูน คลองเสือ คลองเพล วังประดู่ บุ่งเตย ธารชุมพร เกาะแก้ว หมูสี เหวปลากั้ง หรือที่ติด ๆ กันไปในตำบลอื่นก็อย่าง หนองจอก วังหมี หนองคุ้ม ท่าวังไทร สระน้ำใส คลองสะท้อน หนองซ่อม โป่งตาลอง เป็นต้น

 

ไม่มีบ้านแห้งบ้านแล้งเลยสักหมู่เดียว

 

 

ขอบคุณภาพจาก www.thaiwhic.go.th, www.oknation.net

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: