ขยะมือถือ11ล้านเครื่องจ่อทะลัก  ชี้'ตลาด-เทคโนฯ-โฆษณา'ตัวเร่ง ยังไม่มีวิธีจัดการหวั่นสร้างปัญหา

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5208 ครั้ง

 

หากดูเส้นทางประวัติศาสตร์การสื่อสารด้วยโทรศัพท์จะพบว่า ต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปี กว่าที่โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์พื้นฐานจะถึงจุดอิ่มตัว หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่เรียกกันติดปากว่า โทรศัพท์มือถือ ซึ่งใช้ระยะเวลาอิ่มตัวประมาณ 20 ปี และตอนนี้มนุษย์กำลังย่างเข้าสู่ยุคของโทรศัพท์ฉลาดหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ข้อสันนิษฐานนี้คงพอประเมินได้จากยอดการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วสูงถึง 444 ล้านเครื่อง และเป็นสมาร์ทโฟนถึง 40 เปอร์เซ็นต์

 

ย้อนกลับมาดูในส่วนของประเทศไทย ปี 2544 คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ 7.3 ล้านคน 10 ปีต่อมา ตัวเลขดังกล่าวขยับขึ้นไปกว่า 10 เท่าเป็น 75.3 ล้านคน โดยในช่วงปลายปี 2554 มีการคาดการณ์ว่า โทรศัพท์มือถือจะมียอดจำหน่ายราว 15 ล้านเครื่อง ในจำนวนนี้เป็นสมาร์ทโฟน 7.5 ล้านเครื่อง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าเฉลี่ยต่อเครื่องประมาณ 4,300 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ขึ้นจากปี 2554 ที่ 3,700 บาท และในปีนี้ที่ระบบ 3จี กำลังจะเปิดให้บริการ ผู้ประกอบการคาดว่ายอดขายอาจพุ่งขึ้นไปแตะ 20 ล้านเครื่อง

 

และจากฐานข้อมูลลูกค้าโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยกว่า 75 ล้านราย ยังพบว่า ผู้ใช้จำนวนหนึ่งยังคงใช้โทรศัพท์มือถือฟีเจอร์โฟนหรือโทรศัพท์มือถือธรรมดาและรอเปลี่ยนเครื่องใหม่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขทั้งหมดนี้กำลังบอกว่า ในปีนี้ ปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป ยอดขายโทรศัพท์ฉลาดจะยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ปี 55 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลัก 1 แสนตัน

 

 

ด้านหนึ่งของตัวเลขอันสวยงามเหล่านี้ คือการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของประชาชน แต่อีกมุมหนึ่งก็เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ยังไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก เพราะมันหมายถึงจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-เวสต์ (Electronic Waste: E-Waste) ปริมาณมหาศาล ที่วางรออยู่ในกระเป๋า ในบ้านเรือน ในมือผู้บริโภค โชคร้ายที่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายและระบบการจัดการที่ดีพอจะรับมือ

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกและค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปีตามปริมาณการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าตัวเลขด้านบนนั่นช่วยให้เห็นการสะพัดของเงิน ตัวเลขต่อไปนี้คงช่วยให้เห็นความจริงอีกด้านของการบริโภคความสะดวกสบาย

 

การคาดการณ์ในปี 2555 ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่าปริมาณซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 7 ประเภท ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ และกล้องดิจิตอล จะสูงถึงเกือบ 10 ล้านเครื่อง/ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 1 แสนตัน ซากหลอดฟลูออเรสเซนท์หรือหลอดนีออนชนิดต่างๆ ประมาณ 55 ล้านหลอด และถ่านไฟฉายอีกว่า 7 ล้านก้อน โดยมีแนวโน้มว่าตัวเลขเหล่านี้จะสูงขึ้นทุกปี

 

 

คพ.คาดปี 59 ขยะมือถือพุ่งเกือบ 11 ล้านเครื่อง

 

 

เมื่อสำรวจดูเฉพาะโทรศัพท์ ซึ่งหมายถึงโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือ โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2555 ของ คพ. ได้สรุปตัวเลขปริมาณการบริโภคโทรศัพท์ในประเทศปี 2550 จาก 13,363,000 ล้านเครื่อง เพิ่มเป็น 20,100,000 ล้านเครื่องในปี 2553

 

การสำรวจยังพบว่า การถือครองโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคกลุ่มครัวเรือนในปี 2555 ครัวเรือนกว่า 92.82 เปอร์เซ็นต์มีโทรศัพท์มือถือในครอบครองเฉลี่ย 2.25 เครื่องต่อครัวเรืน ในจำนวนนี้เป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ 99.67 เปอร์เซ็นต์ เป็นเครื่องมือสองเพียง 0.33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3.09 ปี

 

คพ. ยังได้คาดการณ์ปริมาณซากโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือในปี 2555 ว่าจะมากถึง 8,524,000 เครื่อง และจะพุ่งขึ้นไปเป็น 10,907,000 เครื่องในปี 2559 ซึ่งคาดว่าสัดส่วนซากจากโทรศัพท์มือถือน่าจะมีจำนวนมากกว่า ถามว่า 10,907,000 เครื่อง มากขนาดไหน ถ้าตีว่าทั้งหมดเป็นสมาร์ทโฟนขนาดทั่วไป ก็ต้องใช้สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานประมาณ 6 สนามครึ่งจึงจะวางเรียงได้ทั้งหมด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ซากมือถือจัดการไม่ถูกต้อง-มาบุญครองชั่งขายโลละ 10 บาท

 

 

สอบถามจากผู้ค้าโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งในห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง กรุงเทพฯ ระบุว่า ยอดขายโทรศัพท์มือถือไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน บางวันขายไม่ออกเลย ถึงกระนั้น ผู้ขายรายนี้กล่าวว่า หากถัวเฉลี่ยแล้วยังขายได้วันละ 1-2 เครื่อง ขณะที่ผู้ค้าโทรศัพท์มือถืออีกเจ้าหนึ่งบอกว่า ขายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้วันละ 2-3 เครื่อง รายหลังนี้กล่าวว่าเป็นเพราะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมาบุญครองชั้น 4 มีร้านขายโทรศัพท์มือถือเป็นหลักร้อย ดังนั้น ถ้าจำนวนเครื่อง 2-3 เครื่องไปคูณด้วยจำนวนร้าน ตัวเลขที่ได้จะทวีคูณขึ้นทันที

 

แต่เมื่อดูในส่วนของพฤติกรรมการจัดการซาก ส่วนใหญ่ถึง 50.18 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีขายต่อ, 31.66 เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้เฉยๆ ที่บ้าน, 12.39 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่น ๆ และ 5.77 เปอร์เซ็นต์ ยกให้ผู้อื่น

 

 

 

           “หมายความว่าซากมือถือที่เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องมีน้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีระบบการจัดการซากแบบครบวงจร ส่วนใหญ่จึงไปยังซาเล้ง ค้าของเก่า เคยถามร้านมือถือที่มาบุญครองว่า ถ้าซ่อมไม่ได้หรือลูกค้าไม่มาเอาจะทำอย่างไร เขาจะขายต่อ โดยมีพ่อค้ามารับซื้อต่อไปอีกที ชั่งกิโลขาย โลละประมาณ 10 บาท โดยขยะส่วนใหญ่ยังเป็นรุ่นเบสิก สมาร์ทโฟนยังไม่ออกมาเป็นขยะ ซากมือถือเหล่านี้ส่วนใหญ่จะส่งไปประเทศจีน” ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 

 

ตลาดแข่งเดือด-เทคโนโลยีเปลี่ยน ดันยอดขายพุ่ง

 

 

 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณขยะมือถือเพิ่มสูงขึ้น ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีอยู่ 3 ปัจจัย

 

1.การแข่งขันอย่างดุเดือดของตลาดโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตพยายามเจาะตลาดผู้บริโภคทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์รุ่นต่างๆ ที่มีระดับราคาและฟังก์ชั่นที่หลากหลายและมีแนวโน้มถูกลง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือมีราคาเพียง 700 บาท ทำให้ประชาชนทุกระดับซื้อหาได้ อีกทั้งยังมีระบบผ่อนชำระมาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค

 

2.อัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือถูกลงจากการแข่งขันของผู้ให้บริการ รวมทั้งการสร้างกลยุทธ์การตลาด เช่น แจกซิมฟรี สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคถือครองโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง รวมทั้งค่าบริการอินเตอร์เน็ตที่ถูกลงและ Free Wi-Fi เป็นปัจจัยเอื้อต่อการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น

 

3.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลต่อค่านิยมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยขึ้น โดยไม่รอให้เครื่องที่ใช้งานอยู่เสียหรือหมดอายุการใช้งานเสียก่อน การเข้ามาของสมาร์ทโฟนที่ราคามีแนวโน้มลดลงยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือจากรุ่นธรรมดาเป็นแบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น

 

 

 

นอกจากนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังเคยกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญหลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระบบโทรศัพท์มือถือระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) และจากการจัดสรรคลื่นความถี่ระบบ 4จี ที่จะเกิดการประมูลปลายปี 2556 โดยคาดว่า อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 2 หรือ 3 เท่า จากปัจจุบันที่ 80 ล้านเลขหมาย เป็น 200 ล้านเลขหมาย

 

 

คาดอนาคตซากมือถือสมาร์โฟนขยับสูงขึ้น

 

 

เมื่อนำปัจจัยทั้ง 3 ประการและความเห็นของพ.อ.เศรษฐพงค์ มาคลี่ออกดู จะพบแนวโน้มว่า การบริโภคโทรศัพท์มือถือกำลังเคลื่อนตัวจากโทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนหรือโทรศัพท์มือถือธรรมดาไปสู่โทรศัพท์ฉลาดหรือสมาร์ทโฟนอย่างชัดเจน

 

อีกทั้งการครอบครองสมาร์ทโฟนในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากมีสมาร์ทโฟนระดับล่างหรือโลว์เอนด์ออกมารองรับตลาดเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากสมาร์ทโฟนจากประเทศจีน มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3,000-4,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงจากเดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนระดับบนหรือไฮเอนด์ที่ราคาเคยอยู่ที่ประมาณ 2.29 หมื่นบาท ก็ลดลงเหลือ 1.89-2.19 หมื่นบาท ยิ่งเมื่อคาดว่าระบบ 3 จีจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปีนี้ยิ่งเท่ากับกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น

 

 

 

        “การคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าในปี 2559 ซากมือถือ จะสูงถึง 10,907,000 เครื่อง คิดว่ายังไม่ได้รวมปัจจัยการเกิดขึ้นของ 3จี ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยเสริมให้ปริมาณซากสูงขึ้น แต่เนื่องจากว่าตอนนี้การถือครองโทรศัพท์มือถือก็สูงอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงคือจะเปลี่ยนจากเบสิกโฟนเป็นสมาร์ทโฟนมากขึ้นเพราะ 3จี ยอดขายโทรศัพท์โทรศัพท์มือถืออาจจะเท่าเดิม แต่สัดส่วนของสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้น”

 

 

วางแผนให้ล้าสมัยเร็ว-โหมโฆษณา เร่งวงจรการบริโภคมือถือ

 

 

จากหนังสือ The Story of Stuff-เรื่องเล่าของข้าวของ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการ 2 ข้อที่ช่วยเร่งอัตราการบริโภคของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กลยุทธ์แรกคือ ‘ความล้าสมัยที่วางแผนไว้แล้ว’ แอนนี่ เลียวนาร์ด ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ อธิบายว่า ผู้ประกอบการรู้ดีว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งการบริโภคจะอิ่มตัว ดังนั้น กลยุทธ์ที่จะยังคงทำให้เกิดการบริโภคต่อไปเรื่อยๆ จึงต้องทำให้สินค้านั้นล้าสมัยหรือทำให้มีอายุการใช้งานสั้นลงเพื่อเร่งวงจรการซื้อใหม่ งานศึกษาของ คพ. ระบุว่า โทรศัพท์มือถือมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3.09 ปี

 

 

         “ถามว่าทนหรือไม่ พูดตรง ๆ มันก็ไม่ทนเหมือนรุ่นเก่า ๆ เพราะเขาก็ต้องเซฟวัสดุ ทำให้สลิมลง ตัวฮาร์ดแวร์ก็เล็กตาม ความคงทนก็จะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะเพิ่มสเป็กเข้าไปเยอะ แต่มันก็ขึ้นกับการใช้งานของลูกค้าด้วย” ผู้ค้าโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งในมาบุญครองให้ความเห็น

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความล้าสมัยตามความเชื่อ’ ‘ความล้าสมัยตามความปรารถนา’ หรือ ‘ความล้าสมัยเชิงจิตวิทยา’ ซึ่งกระตุ้นการบริโภคหรือซื้อใหม่แม้ว่าของชิ้นนั้นจะยังใช้งานได้ดี อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์แรกต้องควบคู่ไปกับกลยุทธ์ที่ 2 ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนี้-การโฆษณา และคงไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายอะไรมากเกี่ยวกับกลยุทธ์นี้ ในหนังสือให้ข้อมูลว่า ปี 2551 บริษัท แอปเปิ้ล เจ้าของสมาร์ทโฟนชื่อดังอย่างไอโฟน ทุ่มเม็ดเงินกับการโฆษณาสูงถึง 486 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

 

สมาร์ทโฟนเป็นสินค้าที่ดูเหมือนจะใช้กลยุทธ์ทั้งสองข้ออย่างเข้มข้น ทั้งการผลิตรุ่นใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยที่การใช้งานอาจไม่ได้แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก และยังมีการโหมโฆษณาอย่างต่อเนื่อง เอซี นีลเส็น รายงานงบโฆษณาโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2012 พบว่า ซัมซุงใช้งบโฆษณาสูงสุดประมาณ 319 ล้านบาท อันดับ 2 คือโนเกีย 159 ล้านบาท และอันดับ 3 คือแบล็คเบอรี่ 44 ล้านบาท

 

 

หวั่นสารอันตรายในเครื่องแพร่สู่สิ่งแวดล้อม

 

 

แล้วขยะมือถือที่ไม่มีที่ไปเพราะไม่มีระบบการจัดการที่ถูกต้องจะก่อให้เกิดอะไร คำตอบของคำถามนี้จำต้องผ่าตัดเพื่อตรวจสอบกายวิภาคของโทรศัพท์มือถือจึงจะรู้ได้

 

โทรศัพท์มือถือประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ 1-ส่วนที่เป็นตัวเครื่อง ประกอบด้วยแผงวงจร จอผลึกเหลว (Liquid Crystal Display: LCD) ลำโพงและไมโครโฟน หน้ากากหรือส่วนห่อหุ้มโทรศัพท์ แผ่นปุ่มกด และตัวนำสัญญาณ 2-เครื่องแปลงแรงดันไฟฟ้าเพื่อใช้อัดไฟแบตเตอรี่ และ 3-แหล่งพลังงานหรือแบตเตอรี่

 

ในตัวโทรศัพท์มือถือจึงมีส่วนผสมของสารอันตราย ตั้งแต่สารหนู พลวง ตะกั่ว สารทนไฟที่ทำจากโบรมีน แคดเมียม ตะกั่ว นิกเกิล ส่วนจอผลึกเหลวก็มีสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นสารอันตรายและสารก่อมะเร็ง เช่น Phenylcyclohexane, Cyclohexane เป็นต้น ซึ่งจอผลึกเหลวนี้กำลังเป็นอีกตัวหนึ่งที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น แต่ในเมืองไทยยังไม่มีวิธีรีไซเคิ้ล แหล่งข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า

 

 

 

 

        “ตัวหน้าจอยังรีไซเคิ้ลไม่ได้ พอเป็นสมาร์ทโฟนจอใหญ่ขึ้นก็เท่ากับยิ่งมีของเสียมากขึ้น ต่างประเทศอาจจะรีไซเคิ้ลได้ แต่ไทยไม่มี แล้วยังมีประเด็นว่าแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนก็มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งอาจทำให้อีเวสต์ส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยแบตพวกนี้สามารถรีไซเคิ้ลได้ ถ้าไปถูกทาง”

 

 

การทิ้งซากโทรศัพท์มือถือปะปนไปกับขยะทั่วไป เมื่อผ่านไประยะหนึ่งส่วนเปลือกห่อหุ้มและแบตเตอรี่เกิดการเสื่อมสภาพและผุกร่อน โลหะอันตรายและสารเคมีต่างๆ อาจจะแผ่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งล้วนส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายทั้งสิ้น เช่น สารทนไฟที่ทำจากโบรมีนจัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดร้ายแรง ทำลายการทำงานของตับ มีผลต่อระบบประสาทและภูมิต้านทาน หรือแคดเมียมที่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กและภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

 

ซากมือถือ 2 แสนเครื่องสกัดทองได้ 1 กก.

 

 

นอกจากโลหะอันตรายแล้ว ในโทรศัพท์มือถือยังมีโลหะมีค่าอีกหลายชนิด เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน พาลาเดียม เป็นต้น แม้จะมีปริมาณน้อย แต่ถ้ารวบรวมได้ปริมาณมากก็นับว่าคุ้มต่อการลงทุน แหล่งข่าวจากวงการรีไซเคิ้ลให้ข้อมูลว่า แผงวงจรจากโทรศัพท์มือถือ 200,000 เครื่อง สามารถสกัดเอาทองคำออกมาได้ 1 กิโลกรัม

 

ดังนั้น หากมีระบบการรีไซเคิ้ลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่ประโยชน์อีกด้านของการรีไซเคิ้ลซากมือถือซึ่งค่อนข้างไกลตัวก็คือ อย่างน้อยที่สุดมันอาจช่วยบรรเทาการคุกคามมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอีกซีกโลกจากการทำเหมืองทอง ปี 2550 ทองคำ 310.6 ตัน ถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งที่ควรต้องรู้ก็คือยังมีเหมืองทองเถื่อนที่ใช้แรงงานเด็กอยู่อีกมาก โดย 25 เปอร์เซ็นต์ของทองคำทั่วโลกมาจากเหมืองเถื่อนเหล่านี้

 

 

 

นั่นเป็นตัวอย่างเฉพาะทองคำ ในอุปกรณ์ทันสมัยอย่างสมาร์ทโฟนยังต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า แร่หายาก (Rare Earth) เพื่อให้มันทำงานได้ เช่น นีโอดิเมียม ยูโรเพียม เทอร์เบียม เป็นต้น การส่งออกแร่หายากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของโลกอยู่ในมือจีน ดังที่รู้ว่าการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในจีนเป็นเช่นไร การได้แร่หายากจากบางเมืองในประเทศจีนหมายถึงการทำลายชุมชน น้ำ และสิ่งแวดล้อม ชนิดที่ไม่อาจเรียกกลับคืน สำนักข่าวซินหัวของจีนเคยรายงานว่า ปี 2551 อาชญากรจีนลักลอบนำแร่หายากออกขายถึง 20,000 ตัน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณแร่หายากที่จีนส่งออกทั้งในหมดในปีนั้น หมายความว่าสมาร์ทโฟนในมือคุณอาจมีแร่หายากที่ได้จากการทำเหมืองผิดกฎหมายในจีนตอนใต้

 

กระบวนการรีไซเคิ้ลขยะมือถือและขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี แม้ผลอาจจะน้อยถึงน้อยที่สุด แต่ก็คงเกิดแรงกระเพื่อมบ้างต่อวงจรการทำเหมืองทองคำและแร่หายาก ทว่า ปัญหาใหญ่โตของประเทศไทยคือยังไม่มีกระบวนการจัดขยะมือถืออย่างเป็นระบบใดๆ เลย

 

(ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองทองคำและแร่หายากจากนิตยสารแนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับเดือนมกราคม 2552 และฉบับเดือนมิถุนายน 2554)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: