แฉแก้กฎหมาย'คุ้มครองพันธุ์พืช' เอื้อทุนผูกขาด-เปิดช่อง'จีเอ็มโอ' ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2542 ครั้ง

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีแนวคิดที่จะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเอเชีย โดยมีการจัดทำยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์ เพื่อหวังเพิ่มมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็น 5,000 ล้านบาท ในปี 2559

 

นับเป็นแนวทางการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ยากปฏิเสธ ในสภาวะการณ์ที่โลกสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารในอนาคตอันเป็นผลจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เมล็ดพันธุ์คือหลักประกันความมั่นคงทางอาหารที่ไม่มีประเทศใดปฏิเสธได้ มันจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ต้องเร่งยกระดับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ดังที่รับรู้ เมล็ดพันธุ์ไม่ใช่แค่แหล่งรายได้ หากยังผูกพ่วงกับความมั่นคงทางอาหาร และแนวโน้มที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ เมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่เคยแพร่หลายในหมู่เกษตรกรรายย่อยค่อย ๆ ลดความหลากหลายลงเรื่อย ๆ ขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เป็นผู้ผลิตกลับครองตลาดอยู่ไม่กี่ราย หากความหลากหลายคือหลักประกันของความมั่นคง ประเด็นนี้ก็นับเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 อาจกำลังเปิดประตูให้เกิดการแปลงทรัพย์สินสาธารณะหรือเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองไปเป็นของบรรษัทขนาดใหญ่และสร้างการผูกขาดด้วยระบบการคุ้มครองที่อิงจากอนุสัญญายูปอฟ 1991

 

 

กฎหมายเดิมไม่มีปัญหา กฤษฎีกาไม่เห็นควรต้องแก้

 

 

รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเคยเป็นกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 กล่าวว่า ความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 (ดูล้อมกรอบ) มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ร่างดังกล่าวได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่เมื่อไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 แห่ง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าให้ข้อมูล แต่ปรากฏว่า ทั้ง 3 หน่วยงานไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ชี้ได้ว่า การใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 มีปัญหา ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรแก้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟยังคงอยู่

 

ถึงกระนั้นปัจจุบันก็ยังคงมีความพยายามเช่นเดิมและมีการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.... ฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการ รศ.สุรวิช กล่าวว่า หากกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้จะเกิดปัญหาตามมามากมายในอนาคต

 

 

ลดตัวแทนเกษตรกร เพิ่มตัวแทนสมาคมเมล็ดพันธุ์

 

 

ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ คือประเด็นว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งกฎหมายเดิมต้องการใช้ระบบการให้ผลตอบแทนเพื่อกระตุ้นให้นักปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืช โดยยังคงรักษาสมดุลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและสังคมโดยรวม

 

 

แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ดูเหมือนว่า กลไกการควบคุมดูแลหลายอย่างถูกตัดออกไป ซึ่ง รศ.สุรวิช ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องอันตราย เช่น ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเดิมไม่มี มีแต่คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ประกอบด้วยบุคลากรจากภาครัฐจำนวหนึ่งและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 12 โดย 6 คนต้องมาจากเกษตรกรใน 6 ภูมิภาค ผ่านการคัดเลือกกันเอง และมีผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช หรือเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืช 2 คน

 

แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ที่เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการพันธุ์พืชใหม่ ได้ลดจำนวนตัวแทนเกษตรกรลงเหลือ 3 คน โดยรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง และเพิ่มตัวแทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชหรือเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืชเป็น 3 คน

 

 

เปิดช่องบริษัทใหญ่ครองเมล็ดพันธุ์เรียกเก็บผลประโยชน์ไม่รู้จบ

 

 

จุดที่ต้องจับตาที่สุดจุดหนึ่งที่ร่างกฎหมายฉบับใหม่อิงกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 นำมาใช้คือแนวคิดที่เรียกว่า ‘พันธุ์ที่ได้รับพันธุกรรมสำคัญจากพันธุ์อื่น’ หรืออีดีวี (Essentially Derived Variety: EDV) ซึ่งเป็นแนวคิดพยายามผลักให้การคุ้มครองพันธุ์พืช เข้าใกล้ระบบสิทธิบัตรที่ปรากฎอยู่ในอนุสัญญายูปอฟ

 

แนวคิดอีดีวีคือ ถ้านักปรับปรุงพันธุ์นำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป มาปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ และนำไปจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยอ้างลักษณะสำคัญบางประการ หากพันธุ์ดังกล่าวมีการเผยแพร่ต่อไป มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากนักปรับปรุงพันธุ์คนอื่นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าลักษณะสำคัญที่ว่า ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย นักปรับปรุงพันธุ์คนแรกก็ยังคงสามารถอ้างสิทธิของตน เพื่อขอส่วนแบ่งรายได้ได้เสมอ หรือในกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์อีกคนหนึ่ง นำพันธุ์พืชพื้นเมืองตัวเดียวกันมาปรับปรุงจนได้พันธุ์ใหม่ แต่พันธุ์ใหม่ข้างต้นกลับปรากฎลักษณะสำคัญ ของนักปรับปรุงพันธุ์รายแรกที่จดไปแล้ว นักปรับปรุงพันธุ์รายแรกก็มีสิทธิฟ้องและพิสูจน์ เพื่อเรียกผลตอบแทนได้เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่หมดอายุการคุ้มครอง

 

 

            “สมมติข้าว 105 พื้นเมืองทั่วไป ผมปรับปรุงใบให้ต่างไปจากข้าว 105 แค่มีใบต่าง ปรากฎว่าผลผลิตเหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมทุกอย่าง ผมไปจดไว้ ต่อให้คุณเอาข้าวไปผสมได้พันธุ์ใหม่ออกมา ผมบอกว่า ข้าวของคุณมีลักษณะสำคัญของผมคือความหอม ถ้าผมตีความแบบนี้ เสร็จผม เพราะความหอมเป็นลักษณะพันธุกรรมสำคัญ อยู่ในพันธุ์ใหม่ของผมด้วย ดีเอ็นเอก็ปรากฏในพันธุ์ผมด้วย ต้องดูว่าลักษณะสำคัญนั้นคืออะไร ครอบคลุมเท่าไหร่ เพราะมันจะก่อสิทธิให้แก่เจ้าของพันธุ์พืชใหม่เป็นผู้ชนะเกมในระยะยาว เท่ากับเป็นการเปิดประเทศให้แก่วิสาหกิจขนาดใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะเริ่มก่อน ปิดกั้นผู้ที่มาทีหลัง”

 

 

จดทะเบียนง่าย แค่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์

 

 

ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยังถูกแก้ไขให้ทำได้ง่ายขึ้น โดยในมาตรา 12ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ระบุว่า พันธุ์พืชใหม่ที่จะขอจดทะเบียนจะต้องมีความแตกต่างจากพันธุ์พืชอื่นที่ปรากฏอยู่ในวันยื่นขอจดทะเบียนโดยความแตกต่างนั้น ‘เกี่ยวข้องกับลักษณะที่เป็นประโยชน์’ ต่อการเพาะปลูก การบริโภค เภสัชกรรม การผลิต หรือการแปรรูป และให้หมายความรวมถึงมีความแตกต่างจากพันธุ์พืช

 

แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้ตัดส่วนนี้ออก หมายความว่า พันธุ์พืชใหม่ที่ขอจดทะเบียน แค่มีลักษณะใหม่บางประการก็สามารถขอรับการคุ้มครองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะที่เป็นประโยชน์

 

 

            “กฎหมายปี 2542 ถ้านำพันธุ์เก่ามาปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่ บอกว่าต้องเปลี่ยนแปลงในนัยสำคัญที่เป็นประโยชน์ ถึงจะให้ แต่ที่แก้ตามยูปอฟ ตัดส่วนนี้ออกเลย แค่เปลี่ยนแปลงก็กลายเป็นเจ้าของพันธุ์พืชนั้นแล้ว และเมื่อได้รับการคุ้มครองแล้ว เขาก็นำหลักอีดีวีมาใช้” นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

 

 

 

สิทธิเจ้าของเมล็ดพันธุ์คลุมกว้าง หวั่นกระทบเข้าถึงยา

 

 

นอกจากนี้ ในมาตรา 36 ของร่างกฎหมายใหม่ยังระบุด้วยว่า ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการดำเนินการต่อส่วนขยายพันธุ์ ผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ของพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งในกฎหมายฉบับเดิมให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น

 

รศ.สุรวิชอธิบายว่า เกษตรกรที่ซื้อส่วนขยายพันธุ์มาปลูก ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ สิทธิของเจ้าของพันธุ์พืชใหม่ยังคงครอบคลุมถึง

 

 

            “เรื่องมีโอกาสสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร และผู้ค้าผลิตผลทางการเกษตร ต่อไปจะขายผัก ขายผลไม้ ก็ต้องมีหนังสือติดตัวตลอดเวลาว่า ผลผลิตของคุณปลูกจากเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย”

 

ประเด็นนี้อาจกระทบถึงการเข้าถึงยาในอนาคต เพราะหากพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองสามารถนำมาแปรรูปเป็นยาได้ ยาย่อมถือเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ผู้เป็นเจ้าของพันธุ์พืชใหม่สามารถเรียกร้องค่าตอบแทนได้เช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดช่องปลูกจีเอ็มโอ-บริษัทไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์เข้ารัฐ

 

 

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 มาตรา 13 ระบุยังระบุถึงพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอว่า

 

‘พันธุ์พืชใหม่ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงในทางตรงหรือทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสวัสดิภาพของประชาชน ห้ามมิให้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

 

‘พันธุ์พืชใหม่ที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรมจะจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ ต่อเมื่อผ่านการประเมินผลกระทบทางด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสวัสดิภาพของประชาชนจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานหรือสถาบันอื่นที่คณะกรรมการกาหนด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง’

 

ส่วนมาตรา 19 ที่กล่าวถึงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ใน (5) ระบุว่า ผู้ขอจดทะเบียนทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งตั้งอยู่แนวคิดว่า นักปรับปรุงพันธุ์ต้องปรับปรุงพันธุ์ที่มีอยู่เดิมเสมอ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะ ดังนั้น จึงควรแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนหนึ่งกลับคืนแก่สาธารณะด้วย

 

แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่กลับตัด 2 ส่วนนี้ออกไป เท่ากับเปิดช่องให้เกิดการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในอนาคต และบริษัทที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นไปปรับปรุงพันธุ์เพื่อสร้าผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์แต่อย่างใด

 

 

เลี่ยงมาตรา 190 แฉคนเขียนร่างอยู่ในคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู

 

 

 

การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 ดูเหมือนจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง แต่เหตุใดภาครัฐจึงต้องการแก้ไข

 

นายวิฑูรย์เฉลยว่า เป็นแรงกดดันจากสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) เพราะการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (Free Trade Area: FTA) ระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก อียูกำหนดให้ประเทศนั้นๆ ต้องเป็นภาคียูปอฟ และการจะเป็นภาคียูปอฟได้ กฎหมายภายในประเทศจะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 ซึ่งปัจจุบัน ไทยก็กำลังเจรจาอยู่กับอียู วิฑูรย์เปิดเผยอีกว่า แกนนำในการร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นหนึ่งในคณะตัวแทนเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู

 

ด้าน รศ.สุรวิช กล่าวว่า ถือเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า การทำข้อตกลงกับต่างประเทศ หากส่งผลต่อการแก้ไขกฎหมายในประเทศจะต้องผ่านสภา แต่กรณีนี้ หน่วยงานรัฐเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขกฎหมายเอง แม้ว่าจะต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติเช่นกัน แต่ก็เป็นคนละกระบวนการกับมาตรา 190

 

นายวิฑูรย์ กล่าวสรุปว่า หากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ผลที่ตามมาคือ

 

 

            “การเปลี่ยนจากพันธุ์เดิมเป็นพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นง่ายมาก พันธุ์ท้องถิ่นพร้อมจะหายไปตลอดเวลา เมื่อใดที่กระทรวงเกษตรฯ กรมการข้าวเลิกปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปล่อยให้บริษัทดำเนินการเอง และกฎหมายนี้เข้ามา ไม่นาน พันธุ์พืชท้องถิ่นจะหายไป พันธุ์พืชใหม่เข้ามาแทนที่ จะเกิดปัญหาในอนาคต นี่คือกระบวนการแปรรูปทรัพยากรสาธารณะให้เป็นของบรรษัท”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: