สื่อจังหวัดภาคใต้วิพากษ์สื่อส่วนกลาง มองมุมต่างทั้ง'สถานการณ์-ความจริง'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2819 ครั้ง

นับจากเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังไม่พบวี่แววแห่งความสงบสุข ซ้ำยังดูเหมือนว่าจะใหญ่โต ซับซ้อน และวงผลกระทบก็ขยายตัวไปกว่าเมื่อปี 2547 ค่อนข้างมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งต่อการแก้ไขปัญหา ทว่าในทางปฏิบัติ หลายครั้งที่การทำงานของสื่อมวลชนส่วนกลาง หรือสื่อในกรุงเทพฯ ถูกตั้งคำถาม ผลวิจัยที่ระบุว่า สื่อมวลชนติดกลุ่มคนที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ไว้ใจมากที่สุด ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อีกด้านหนึ่ง ความไม่สงบอันยาวนานก็ผลักดันให้สื่อในพื้นที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้น เพื่อทำหน้าที่ที่พวกเขารู้สึกว่า สื่อส่วนกลางไม่สามารถตอบสนองประชาชนในพื้นที่ได้

ศูนย์ข่าว TCIJ รวบรวมทัศนะสื่อในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อสื่อส่วนกลาง

สำนักข่าวส่วนกลางไม่สนใจข่าวเชิงลึกในพื้นที่

กล่าวโดยรวม ๆ แล้ว สื่อในพื้นที่มองการทำงานของสื่อส่วนกลางว่า สื่อจากส่วนกลางยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอต่อสถานการณ์ในพื้นที่ แม้ว่าข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเกิดจากสตริงเกอร์หรือนักข่าวในท้องถิ่นที่ส่งข่าวเป็นชิ้น ๆ ให้แก่สำนักข่าวใหญ่ในกรุงเทพฯก็ตาม

ตูแวดานียา มือรีงิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน ซึ่งเป็นสื่อมวลชนในพื้นที่ และผู้ประสานงานผู้สื่อข่าวต่างประเทศ กล่าวว่า สตริงเกอร์ที่ทำข่าวให้ส่วนกลาง ส่วนใหญ่มักจะทำเฉพาะรายงานสถานการณ์ โดยรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไหร่ ใคร อย่างไร ไม่ต่างจากนักข่าวทั่วไป เนื่องจากมีหน้าที่เพียงเท่านี้

คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อสตริงเกอร์เหล่านี้อยู่ใกล้ชิดกับข้อมูลและแหล่งข่าวในพื้นที่ เหตุใดจึงไม่สามารถผลิตข่าวที่สามารถตอบสนองคนในพื้นที่ และมีความลึกของเนื้อหา ส่งให้แก่สื่อส่วนกลางได้ ในมุมมองของตูแวดานียามีอยู่ 2 เหตุผล หนึ่งคือสตริงเกอร์ส่วนใหญ่เกาะติดกับแหล่งข้อมูลฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และสอง-สำนักข่าวส่วนกลางไม่ต้องการ

            “ผมว่าส่วนใหญ่สตริงเกอร์ที่นี่ แหล่งข่าวต้น ๆ ที่จะได้คือจากรัฐ เนื้อหาจึงคล้าย ๆ กันหมด ทำส่งหลายฉบับ แค่เปลี่ยนหัว เปลี่ยนท้ายเล็กน้อย สตริงเกอร์บางคนมีข้อมูลเชิงลึกนะ แต่เขาไม่กล้านำเสนอ เพราะบางครั้งเสนอไปที่ส่วนกลาง ส่วนกลางมักจะไม่เอา หรือบางกรณีนักข่าวรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำแต่เขียนไม่ได้ น้ำท่วมปาก เพราะเขายังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐในการเป็นแหล่งข้อมูล”

ขาดความต่อเนื่องจึงมองสถานการณ์คลาดเคลื่อน

ด้าน สะรอนี ดือแระ บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ หรือดีพเซาธ์ กลับไม่ได้มองว่า บทบาทของสื่อมวลชนส่วนกลางเป็นปัญหา แต่เป็นธรรมชาติของสื่อใหญ่ ที่จะสนใจตัวเหตุการณ์หรือประเด็นใหญ่ ๆ มากกว่า จึงทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มุมมองต่อสถานการณ์คลาดเคลื่อนไป ซึ่งแตกต่างจากสื่อทางเลือกในพื้นที่ ที่พยายามแย่งชิงพื้นที่สื่อ โดยเป้าหมายของดีพเซาธ์ คือการทำข่าวที่สอดคล้องกับแนวทางของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เช่น ขณะนี้มีการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมที่สื่ออื่นไม่สนใจ ดีพเซาธ์ก็จะทำข่าวและส่งให้แก่เครือข่าย

            “ความไม่ต่อเนื่องตรงนี้เป็นข้อจำกัดของการนำเสนอและการติดตามข้อมูล สตริงเกอร์ที่อยู่ในพื้นที่ก็ไม่ได้เจาะจงว่าต้องตามข่าวใดข่าวหนึ่ง ก็ทำข่าวไปแต่ละวัน” สะรอนีกล่าว

สำนักข่าวไม่ไว้ใจสตริงเกอร์

สังเกตได้ว่า ทั้งตูแวดานียาและสะรอนี มีมุมมองที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการทำข่าวส่งให้สำนักข่าวส่วนกลางของสตริงเกอร์ ชวนคิดต่อไปว่า ในเชิงปฏิบัติ สตริงเกอร์ในพื้นที่และสื่อกระแสรองในพื้นที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ หรือสื่อส่วนกลางไม่ให้พื้นที่แก่สื่อท้องถิ่น นำเสนอข่าว

นวลน้อย ธรรมเสถียร จากเอฟที มิเดีย ผู้ผลิตสารคดีอิสระในพื้นที่ และเป็นอดีตนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย สื่อมวลชนที่ลงไปฝังตัวในพื้นที่เพื่อเกาะติดปัญหา แสดงทัศนะว่า “ข้อสังเกตข้างต้นเป็นไปได้ทั้งสองทาง สื่อส่วนกลางส่วนใหญ่ใช้ระบบสตริงเกอร์ โดยสั่งมาว่าต้องการข่าวแบบไหน ซึ่งก็ไม่ได้ไว้ใจสตริงเกอร์เต็มร้อย เพราะไม่ใช่นักข่าว เวลาเกิดเหตุใหญ่ ๆ จึงส่งนักข่าวจากส่วนกลางลงมา เพราะเชื่อว่าจะสามารถทำข่าวใหญ่ ๆ ได้ สตริงเกอร์ที่นี่จึงได้รับมอบหมายในสิ่งที่ส่วนกลางเชื่อว่าทำได้ เมื่อมีความสามารถเท่านี้ ก็ให้ทำแค่นี้ พอทำนาน ๆ เข้า ก็ติดกับตัวเอง สตริงเกอร์ก็ถามตัวเองว่า จะทำข่าวลึกๆ ทำไมในเมื่อส่วนกลางไม่เอา ทำไปก็เหนื่อยเปล่า เพราะเขาจ่ายค่าตอบแทนรายชิ้น ประเด็นสำคัญคือ ส่วนกลางไม่ไว้ใจในความสามารถและไม่ไว้ใจว่าจะเป็นกลางพอหรือไม่”

นวลน้อยกล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจด้วยว่าสื่อกระแสรองต่าง ๆ ในพื้นที่ เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน คนที่เป็นสื่อจริง ๆ และมีกระบวนการทำงานแบบมืออาชีพจึงยังมีน้อย พอมีสื่อที่เริ่มทำงานจริงจัง และแตะประเด็นร้อน ๆ อย่างมีเดีย สลาตัน ก็จะถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคงทันที

 สะรอนี ดือแระ

           “สื่อในพื้นที่ตรงนี้มีความหวาดกลัว ที่ตนเองเป็นมลายู ไม่กล้าที่จะไปซักไซ้ภาครัฐหรอก ตอนแรก ๆ แค่ไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ยังไม่กล้า เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องมันง่ายขึ้น ผลที่สุดคือเขาก็ทำแต่เรื่องราวของพวกเขากันเอง ประกอบกับสื่อส่วนกลางก็รายงานแต่ซีกภาครัฐและไทยพุทธ การนำเสนอของสื่อท้องถิ่นจึงออกมาด้านเดียวก็ยิ่งทำให้กลายเป็นสื่อเลือกข้างมากขึ้นไปอีก สื่อส่วนกลางก็มองอีกว่ารายงานแต่เรื่องของพวกเดียวกันเอง จึงไม่หยิบเรื่องมาเล่น”

นั่งเทียนเขียนบทวิเคราะห์ทำคนพื้นที่ไม่ไว้ใจนักข่าวส่วนกลาง

ขณะที่สตริงเกอร์และสื่อกระแสรองในพื้นที่ ยังต้องอาศัยเวลาเพื่อฟูมฟักทักษะ และสร้างที่ทางของตนให้ทั้งประชาชนในพื้นที่และสำนักข่าวส่วนกลางยอมรับ บทบาทของสื่อกระแสหลัก (หรือแม้แต่สื่อกระแสรอง) ในส่วนกลาง จึงมีความสำคัญต่อการนำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ตูแวดานียาเห็นว่าสื่อจากส่วนกลางกลับยังไม่มีความเข้าใจพื้นที่เพียงพอ แตกต่างจากสื่อจากประเทศ ที่จะทำการบ้านและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนจะลงพื้นที่ ตูแวดานียาถึงกับกล่าวว่า บางครั้งบทวิเคราะห์ของนักข่าวส่วนกลางระดับบรรณาธิการ ก็เป็นการนั่งเทียนวิเคราะห์ ทำให้เนื้อหาในบทความเป็นคนละเรื่องกับที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ เกิดเป็นความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจ จึงไม่ยอมให้ข้อมูลแก่นักข่าว นักข่าวในพื้นที่จึงมีความสำคัญ เพราะรู้จักพื้นที่ เข้าใจภาษา สามารถเข้าไปในชุมชนได้ และได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านมากกว่านักข่าวจากสื่อกระแสหลัก แต่ข้อเสียก็คือสื่อกระแสหลักมักจะได้ข่าวจากภาครัฐฝ่ายเดียว ขณะที่สื่อในพื้นที่ก็ได้ข่าวจากทางชาวบ้านเพียงด้านเดียวเช่นกัน ทั้งที่การทำงานของสื่อไม่ควรเข้าข้างใดข้างหนึ่ง

            “สื่อส่วนกลางมองสถานการณ์ภาคใต้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า วันนี้ การต่อสู้ของคนที่นี่เป็นการต่อสู้ของขบวนการที่ต้องการปลดปล่อยปัตตานี แต่ถามว่ามีสื่อของประเทศเรายอมรับเรื่องนี้หรือเปล่า มองแต่ว่าพวกนี้เป็นโจรใต้ เป็นผู้ก่อความไม่สงบ ถ้าสื่อยังไม่ยอมรับความจริงนี้ คนที่นี่ก็ถูกมองเป็นแค่โจรเท่านั้นเอง ไม่ได้ยกฐานะความเป็นมนุษย์เลย เพราะต่อสู้กับรัฐบาลไทย”

สะรอนีเห็นด้วยกับตูแวดานียาในข้อที่ว่า บางครั้งที่บทวิเคราะห์ของสื่อส่วนกลางสวนทางกับการรับรู้และความรู้สึกของคนในพื้นที่ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจว่า เป็นเพราะสื่อส่วนกลางไม่ได้คลุกคลีกับสถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งมีความซับซ้อนมาก ความเข้าใจจึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถามว่าเป็นข้อจำกัดของสื่อส่วนกลางใช่หรือไม่ ก็เป็นได้

แต่ใช่ว่าสื่อในท้องถิ่นที่มองว่าอยู่ใกล้ชิดสถานการณ์ และแหล่งข่าวจะไม่มีข้อจำกัด สะรอนีคิดว่าสื่อในพื้นที่อาจมีข้อจำกัดมากกว่าด้วยซ้ำ

            “เราอยู่นี่ก็ใช่ว่าจะเข้าถึงข้อมูลจริง ๆ แต่สื่อใหญ่เขาอาจจะมีแหล่งข่าว หรือสถานะภาพที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า และเมื่อถึงเวลาต้องระดมข้อมูลก็สามารถระดมได้มากกว่า แม้ข้อมูลบางอย่างเราจะเข้าถึงได้ แต่ก็ใช่ว่าจะนำมาเสนอได้ กำลังคนเราก็ไม่มี และจริง ๆ แล้วคนในพื้นที่ก็ใช่ว่าจะรู้ข้อมูลได้ อะไรที่เป็นความลับ มันก็คือความลับ”

เรียกร้องสื่อหลักทำข่าวเจาะ-หนุนเสริมทักษะสื่อท้องถิ่น

โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะแก้ไขไม่ได้หากคนอีก 76 จังหวัดไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ ซึ่งการจะสร้างความเข้าใจได้ต้องอาศัยสื่อเป็นตัวเชื่อม คำถามคือสื่อกระแสหลักจะช่วยอย่างไร

            “ตอนนี้สื่อทำได้แค่เสนอปรากฏการณ์ แต่ภายใต้ปรากฏการณ์ มันมีสาเหตุที่มา ซึ่งสื่อยังไปไม่ถึง แล้วเวลานำเสนอปรากฏการณ์ที่ไร ก็พาดหัวโจรใต้ทุกที ก็เป็นตัวชี้วัดว่าสื่อกระแสหลักไปไม่ถึงไหนและไม่ได้ช่วยคนในพื้นที่เลย”

อย่างไรก็ตาม โซรยาเห็นว่ายังมีสื่อกระแสหลักบางสื่อที่ให้ความสนใจปัญหาสามจังหวัดมาก และร่วมมือกับสื่อในพื้นที่ทำสารคดีที่เสนอแง่มุมใหม่ ๆ ในพื้นที่ ซึ่งโดยลำพังของสื่อกระแสหลักจะไม่สามารถทำงานในเชิงเจาะลึกได้ การทำงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

โซรยาแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า แม้บางเรื่องจะเป็นข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักและกระแสรอง ที่มาจากส่วนกลาง แต่บางอย่างก็เป็นความได้เปรียบที่มากกว่าสื่อในพื้นที่ เช่น ความไม่ปลอดภัยของสื่อในพื้นที่ที่มีสูงกว่าสื่อที่มาจากส่วนกลาง สถานภาพตรงนี้จึงน่าจะทำข่าวเชิงลึกได้มากกว่าสื่อในพื้นที่ การที่สื่อส่วนกลางอยู่ไกล อาจจะทำให้มองเห็นป่าทั้งป่า แต่สื่อในพื้นที่อาจจะมองเห็นแค่ต้นไม้ ปัญหาคือต้องฉายให้เห็นทั้งป่าและต้นไม้จึงจะเห็นภาพรวมทั้งหมดในพื้นที่

            “ที่เราคาดหวังจากสื่อส่วนกลาง คือข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนที่ถึงที่สุด ซึ่งไม่เกิดเลยกับกรณี 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักข่าวไม่สนใจ ไปไม่ถึง”

ขณะที่สะรอนีเรียกร้องการสนับสนุนเรื่องความรู้ ทักษะ เครือข่าย จากสื่อส่วนกลางมากกว่าการทำงานร่วมกัน เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละสื่อล้วนเป็นองค์กรธุรกิจ ทำให้เขายังนึกภาพไม่ออก

ต่างจากนวลน้อยที่เชื่อว่าการร่วมมือกันระหว่างสื่อส่วนกลางและสื่อในพื้นที่สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ และเชื่อว่ามีความจำเป็นมากขึ้น ที่สื่อท้องถิ่นกับสื่อกระแสหลักจะต้องทำงานประสานกัน ไม่เช่นนั้นสื่อในพื้นที่ก็จะหลุด เนื้อหาสาระที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ในพื้นที่จำนวนมากที่ควรได้รับการถ่ายทอดไปยังส่วนกลางจะไม่เกิดขึ้น และจะกลายเป็นต่างคนต่างไปในที่สุด

 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: