'ศาลปกครองสูงสุด'นัดชี้ คดี'สารตะกั่วคลิตี้'10มค.

6 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1449 ครั้ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 มกราคม เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551 ระหว่าง ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 22 คน ผู้ฟ้องคดี กับ กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี

 

จากกรณีบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ มาตั้งแต่ปี 2510 และมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากบ่อกักตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วย โดยสะสมในน้ำ ดิน และสัตว์น้ำในปริมาณสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดี และชุมชนคลิตี้ล่างซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ โดยภายหลังจากเป็นข่าวตั้งแต่ปี 2541 หน่วยงานรัฐได้เข้าไปตรวจสอบและพบการปนเปื้อนของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ทั้งในน้ำ ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ จนกระทรวงสาธารณสุขได้ติดป้าย “ห้ามใช้น้ำ” และ “ห้ามจับสัตว์น้ำชั่วคราว” ตั้งแต่ปี 2542 และได้มีการสั่งปิดโรงแต่งแร่คลิตี้ชั่วคราวและปรับเป็นเงิน 2,000 บาท แต่ในประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

 

ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้ยื่นขอให้สภาทนายความช่วยเหลือคดี โดยมอบให้สภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทน ในการดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 โดยยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการควบคุม ฟื้นฟูระงับเหตุอันตรายจากมลพิษ และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม นั่นคือบังคับให้บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย แต่ถ้าบังคับไม่ได้ ก็สามารถดำเนินการฟื้นฟูเองแล้วเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษได้ตาม มาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอต่อศาลดังนี้1.ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยจัดให้มีแผนการดำเนินงานภายใต้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ลำห้วยคลิตี้และสภาพนิเวศกลับคืนสู่สภาพเดิม และเป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีเรียกค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษในภายหลัง

 

2.ให้กำหนดมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วบริเวณลำห้วยคลิตี้ และฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณดังกล่าว โดยคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมของราษฎรบ้านคลิตี้ล่างตามรัฐธรรมนูญ

 

3.ขอให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงค่าเสียหาย เนื่องจากชาวบ้านต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้ออาหาร

 

กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูปัญหามลพิษ และเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญของชุมชนซึ่งนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย

 

คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 พิพากษาในประเด็นสำคัญว่า

 

- กรมควบคุมมลพิษล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่บริษัทเอกชนก่อให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

- กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษและปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูและระงับการปนเปื้อนล่าช้าเกินสมควร จึงเป็นละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ให้จ่ายเงินชดใช้เดือนละ 1,050 บาทต่อคน

- ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีเมื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมถูกคุกคามก็สามารถที่จะบังคับการตามวัตถุแห่งสิทธิได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าได้เกิดความเสียหายขึ้นกับชีวิต สุขภาพอนามัย และสุขภาพของผู้นั้นมากน้อยเพียงใด พิพากษาให้ค่าเสียหายจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อัตราเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นฟ้อง

 

ต่อมา ชาวบ้านคลิตี้ล่างยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยเร็ว และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตเพิ่มเติม ต่อศาลปกครองสูงสุด และกรมควบคุมมลพิษก็ยื่นอุทธรณ์ปฏิเสธว่ามิได้ปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งหลังจากนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 มกราคม นี้

 

นับแต่ทราบเหตุในปี 2541 กรมควบคุมมลพิษมีความล่าช้าในการแก้ไขฟื้นฟูมาตลอด 15 ปี แม้ว่าจะมีผลของคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควรแล้วก็ตาม โดยในปัจจุบันผลจากการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรัฐ และกรีนพีซในเดือนพฤษภาคม 2555 ก็มีลักษณะทำนองเดียวกันว่ายังคงมีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้โดยเฉพาะการปนเปื้อนในตะกอนดินสูงกว่าภาวะปกติทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า และมีปริมาณตะกั่วทั้งหมดสะสมอยู่ในลำห้วยเป็นระยะทาง 19 กิโลเมตร ถึง 576 ตัน ซึ่งแนวทางการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน

 

ความทุกข์ยากจากการเผชิญกับปัญหามลพิษที่ตนเองไม่ได้ก่อของชาวบ้านคลิตี้ซึ่งต้องดำรงชีวิตภายใต้ความเสี่ยงมีโอกาสได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเพราะความจำเป็นต้องใช้น้ำและบริโภคกุ้ง หอย ปู ปลา ในลำห้วยคลิตี้ซึ่งมีตะกอนตะกั่วปนเปื้อน การใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองก็โดยประสงค์ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้รัฐดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามธรรมชาติอย่างรวดเร็วและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม

 

คำพิพากษาแห่งคดีนี้ย่อมเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการเยียวยาฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและการชดเชยค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษ ตามหลักกฎหมาย “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ซึ่งผลของคำพิพากษานี้จะมีผลทั้งโดยตรงกับการแก้ไขปัญหากรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน กรณีอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกหลายพื้นที่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากคดีข้างต้นแล้ว กรณีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้นี้ ยังมีการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 3 คดี อันได้แก่ คดีที่ชาวบ้านฟ้องบริษัทฯ 2 คดี และคดีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทฯ อีก 1 คดี ซึ่งทั้งหมดได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ดังมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

 

1.คดีหมายเลขแดงที่ 3426/2550

 

คดีนี้ นายกำธร  ศรีสุวรรณมาลา  ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (โจทก์)ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (จำเลย) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่าโรงแต่งแร่คลิตี้ปล่อยสารตะกั่วลงในห้วยคลิตี้มาเป็นเวลานานหลายปี และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและครอบครองมีอำนาจควบคุมสั่งการกิจการโรงแต่งแร่คลิตี้ หากเกิดความเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง 8 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ส่วนกรณีขอให้บังคับบริษัทจำเลยดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายได้รับรองสิทธิดังกล่าวไม่สามารถบังคับได้ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา

 

2.คดีหมายเลขแดงที่ 2604/2554

 

คดีนี้ นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ  ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (โจทก์)ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ 1 กับพวกรวม 7คน (จำเลย) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่า โรงแต่งแร่ของจำเลยที่ 1 ปล่อยตะกอนแร่ลงไปในลำห้วยคลิตี้ ก่อให้เกิดมลพิษแก่น้ำในลำห้วยที่โจทก์ใช้บริโภคอุปโภคจริงเมื่อจำเลยเป็นกรรมการบริษัท จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 โดยความรับผิดไม่อาจพิจารณาจากปริมาณตะกั่วภายในเลือดซึ่งเกินกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เพียงประการเดียวได้ เมื่อชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้ง 151 คนได้รับพิษจากสารตะกั่วอันเป็นผลโดยตรงจากการปล่อยน้ำเสียและตะกอนหางแร่ของโรงแต่งแร่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 วรรค 1 จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันใช้เงินโจทก์ทั้ง 151 คน ทั้งสิ้น 36,050,000 บาท กรณีขอให้บริษัทจำเลยดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 ไม่ได้ให้สิทธิชาวบ้านผู้เสียหายร้องขอให้ศาลบังคับบริษัทฯ ในกรณีดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษ

 

3.คดีหมายเลขแดงที่ 1048/2554

 

คดีนี้กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกรรมการบริษัท เป็นจำเลย รวม 7 คน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่า การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ เชื่อว่าเกิดจากการดำเนินกิจการโรงแต่งแร่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับอันตรายหรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย จำเลยในฐานะกรรมการได้ยินยอมให้มีการปล่อยสารตะกั่ว จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ ความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติจนชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ ไม่ใช่ความเสียหายแก่รัฐ โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้ แต่เรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่โจทก์ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่ฟื้นฟูมลพิษโดยตรง จำเลยทั้ง 7 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายรวม 1,341,962.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: