ผู้บริโภคชุมนุมหน้าสภา ดันกฎหมายองค์การอิสระ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1691 ครั้ง

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เครือข่ายผู้บริโภคและชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในนามเครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ประมาณ 200 คน รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทำการยื่นหนังสือให้แก่ประธานวุฒิสภา

 

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นองค์การอิสระที่ได้รับการบัญญัติไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 57 กระทั่ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 องค์การนี้ยังคงถูกระบุไว้ในมาตรา 61 แต่นับเป็นเวลา 16 ปีแล้วที่กฎหมายดังกล่าวถูกแช่แข็งอยู่ในรัฐธรรมนูญ

 

ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552  ประชาชน 12,208 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้แก่ประธานรัฐสภา หากรวมกับรายชื่อประชาชนทั่วประเทศในปัจจุบันจะมีผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ถึง 107,905 คน ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ทางรัฐสภา จนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555

 

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้บริโภคพบว่ามีความพยายามที่จะบิดเบือนหลักการสำคัญบางประการ รวมไปถึงความพยายามที่จะล้มล้างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวและเรียกร้องครั้งนี้ขึ้น สารี อ๋องสมหวัง ตัวแทนผู้บริโภคในการเสนอกฎหมายฉบับนี้และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า

 

 

 

           “ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการร่วมกำลังจะเปลี่ยนหลักการสำคัญของกฎหมาย โดยปกติข้อสังเกตของกรรมาธิการร่วมจะเป็นข้อสังเกตเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติดีขึ้น เช่น ข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎรตอนที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ขอให้คณะกรรมการองค์การอิสระฯ เข้าไปร่วมประชุมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะคณะกรรมการองค์การอิสระฯ ไม่ใช่ผู้ที่จะไปลงโทษบริษัท สคบ. ยังเป็นคนปรับเหมือนเดิม ดังนั้น เราก็ไปให้คำแนะนำทางตรงแก่ สคบ. เลย เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าข้อสังเกตของกรรมาธิการร่วมกับระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ขององค์กรนี้ที่อาจจะเกินเลยรัฐธรรมนูญ มันเหมือนกับต้องการให้ ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย

 

           “หรือที่ระบุว่าเงินสนับสนุนองค์กรที่คิดจากประชาชนรายหัวละ 3 บาท แต่กลับตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการลดอำนาจของฝ่ายบริหารที่ควรเป็นผู้กำหนดว่าจะให้องค์กรนี้เท่าไหร่ ซึ่งเราบอกว่าไม่ได้ เพราะเท่ากับเปิดช่องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง นี่จึงเป็นข้อสังเกตที่ต้องการล้มหลักการของกฎหมาย มันไม่ใช่ข้อสังเกต แต่เป็นการแปรญัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แล้วในขั้นตอนนี้”

 

สารียังตั้งข้อสังเกตว่า เบื้องหลังของความพยายามบิดเบือนหลักการน่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้องค์กรนี้ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจในการตรวจสอบภาคธุรกิจและเปิดเผยชื่อบริษัทที่ทำการละเมิดผู้บริโภคได้

 

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคคอยทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

 

สารีกล่าวว่า หากไม่มีการล้มกฎหมายฉบับนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... จะสามารถออกได้ภายในวันที่ 19 เมษายนนี้ หลังจากนั้น 6 เดือนจึงจะได้ตัวกรรมการฯ สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: