ศูนย์ข่าว TCIJ นำเสนอข้อมูลปริมาณขยะมือถือที่จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต คาดว่าในปี 2559 จะมีขยะจากโทรศัพท์มือถือมากถึง 11 ล้านเครื่อง ขณะที่ประเทศไทยยังก็ยังไม่มีระบบสำหรับจัดการขยะโทรศัพท์มือถือ (รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-เวสต์อื่นๆ ด้วย) โดยกลไกหลักที่จะทำให้เกิดระบบขึ้นได้คือกฎหมายที่จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของระบบขึ้น ซึ่งจะดึงซากโทรศัพท์มือถือที่จัดการไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบ
ซากมือถือเข้าระบบจัดการยังน้อย วอนรัฐเร่งออกนโยบาย
ถวัลย์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เทส-แอม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร กล่าวว่า ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีบริษัทที่รับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถือว่าได้มาตรฐานด้านการจัดการ 2-3 บริษัทเท่านั้น แต่เป็นการเก็บรวบรวมและนำส่งไปจัดการต่อยังต่างประเทศที่เป็นบริษัทแม่ของตน เช่นเดียวกับบริษัท เทส-แอม (ประเทศไทย) จำกัด
ถวัลย์อธิบายว่า โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง เมื่อแยกส่วนประกอบเพื่อนำไปรีไซเคิลจะแยกได้ 6 กลุ่ม คือ ปลอกพลาสติกที่หุ้มตัวโทรศัพท์ (Plastic Housing), ตัวเรือนที่เป็นโลหะภายใน (Metal Casing), แบตเตอรี่ (Battery), แผงวงจร (Printed Circuit Board), จอแอลซีดี (LCD Panel) และแป้นพิมพ์ (Keypad) โดยกลุ่มที่เป็นจอแอลซีดีเป็นกลุ่มที่มีการจัดการเพื่อสกัดเอาโลหะมีค่าออกมานั้น มีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากมีสารอินเดียมที่ต้องแยกออกจากดีบุกที่เคลือบอยู่ที่หน้าจอแอลซีดี ส่วนของแผงวงจรที่มีโลหะมีค่าหลายตัวก็มีการจัดการก็ค่อนข้างซับซ้อนเช่นกัน
“ทั้ง 6 กลุ่มสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ทั้งหมด นอกจากนี้แล้วฝุ่นผงที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น ในกระบวนการบดย่อย ยังสามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้อีก 2–3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อสกัดโลหะมีค่าออกมาให้ได้มากที่สุด”
ถวัลย์กล่าวว่า เทส-แอม ในไทยก่อตั้งมาได้ 7 ปี ในช่วงปีแรก ๆ เก็บคืนซากมือถือได้ประมาณ 2,000 เครื่อง ส่วนปีที่ผ่านมาได้เพียง 16,000 กว่าเครื่องเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขการประมาณการซากโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2555 ที่คาดว่ามีสูงถึง 8,524,000 เครื่อง ถวัลย์มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรณรงค์ส่งเสริม และการเรียกคืนซากยังไม่สัมฤทธิ์ผล ขณะที่ผู้ประกอบการทุกรายในไทยยังไม่มีนโยบายเรียกคืนซากที่ชัดเจน
“ทุกวันนี้ระบบเรียกคืนซากยังทำได้ในวงจำกัด โดยเฉพาะเอกชนด้วยกันเอง จึงอยากให้ภาครัฐเร่งออกนโยบาย กฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้การจัดการอย่างผิดวิธีหมดไป”
ต้นทุนสูงผู้ประกอบการไม่เสี่ยงตั้งโรงงาน
ดร.สุจิตรากล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการจัดการซากมือถือและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย คือการไม่มีระบบการจัดการ ซากมือถือส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือซาเล้งและร้านค้าของเก่าที่คัดแยกเอง หรือขายต่อตัวเครื่องทั้งหมดให้แก่พ่อค้าที่มารับซื้อ และส่งออกไปรีไซเคิลในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศจีน โดยไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกเอง หรือส่งไปจีนส่วนใหญ่เป็นการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง
แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์การจัดการ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ ระยะที่ 1 พ.ศ.2550-2554 และกำลังร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิผลได้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะยังไม่สามารถผลักดันกฎหมายที่จะช่วยสร้างระบบและกลไกการจัดการได้
เมื่อไม่มีระบบกฎหมายที่จะช่วยสร้างกลไกการเก็บคืนซากในประเทศไทย ทำให้ไม่มีบริษัทใดกล้าลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิล เพราะการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต้นทุนถึง 1 ใน 3 อยู่ที่อุปกรณ์ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม หากผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่าซากมือถือจะมีปริมาณมากพอและคงที่ ที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ย่อมไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าลงทุนในเมืองไทย ดังนั้น ปัญหาหลักจึงไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีโรงงานรีไซเคิล แต่อยู่ที่การไม่มีระบบเรียกคืนซากอย่างเป็นรูปธรรม
ขาใหญ่โกยกำไรจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เพราะช่องโหว่กฎหมายเพียบ
แหล่งข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันซากโทรศัพท์มือถือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ถูกขายต่อให้รถซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าที่ไม่ได้จดทะเบียน กลุ่มนี้จะแกะซากโทรศัพท์มือถือออก และเก็บส่วนที่มีค่าไว้ขายต่อให้กับนายหน้ารับซื้อ เพื่อส่งต่อไปต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง โดยแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ซอยเสือใหญ่อุทิศ ย่านถ.รัชดาภิเษก ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ส่วนที่ไม่สามารถขายได้ก็จะนำไปทิ้งตามที่สาธารณะ ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นจะกลายเป็นผู้รับภาระไป
“การลักลอบส่งออก เขาอาจสำแดงเท็จ บอกว่าเป็นอย่างอื่น แต่จริง ๆ เจ้าหน้าที่คงมีส่วนรู้เห็นด้วยเพราะมูลค่ามหาศาล มันมีโลหะมีค่าอยู่ในนั้น ตัวเลขที่เพิ่งได้มาล่าสุด ซากมือถือ 60 เครื่องถอดออกมาได้แผงวงจรหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ตอนนี้ขายได้ 1,000 บาท วันหนึ่งได้ประมาณเกือบ 20 กิโลกรัม ประมาณ 20,000 บาท หรือถ้าไม่ส่งออก แต่ส่งไปรีไซเคิลในโรงงานในเมืองไทย โรงงานก็ผิดเพราะรับจากแหล่งที่ไม่ใช่โรงงานแล้วไม่รายงานว่ามีของเข้ามา ซึ่งถือว่าผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535”
ขณะเดียวกัน โรงงานรีไซเคิลในไทยก็ยังมีน้อยและไม่ครบวงจร สามารถรีไซเคิลได้เพียงบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น แหล่งข่าวใน คพ. เปิดเผยอีกว่า โรงงานรีไซเคิลบางแห่งที่เป็น ‘ขาใหญ่’ ก็อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายไทยไม่ได้แบ่งประเภทโรงงานรีไซเคิล โรงงานรีไซเคิลที่รับรีไซเคิลกระดาษหรือพลาสติกซึ่งไม่มีกระบวนการยุ่งยาก แต่ก็รับรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย หรือแม้บางแห่งจะมีใบอนุญาตรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังไม่มีกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม
“ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการพวกนี้เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และหัวคะแนน แล้วยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายอื่น ๆ อีก คือสมมติคุณจะทิ้งซากมือถือธรรมดา ซึ่งท้องถิ่นต่าง ๆ มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดเก็บและคิดค่าบริการ แต่ถ้ามีคนอื่นมาแอบเก็บแทน แม้จริง ๆ จะผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากมีการรับซื้อทำให้ถูกตีความว่าซากมือถือไม่ใช่ขยะ จึงทำให้ พ.ร.บ.สาธารณสุข ไม่สามารถคุมได้”
ระบบกองทุน ทางออกจัดการขยะมือถือ
ปัจจุบัน ระบบการเรียกคืนซากโทรศัพท์มือถือ (และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ) 2 รูปแบบ รูปแบบแรกเรียกว่า การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรืออีพีอาร์ (Extended Producer Responsibility: EPR) เป็นระบบที่ใช้ในยุโรป โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างระบบเรียกคืนซาก โดยสร้างความร่วมมือกับร้านค้าปลีกและท้องถิ่น ผู้บริโภคสามารถนำซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มาส่งคืนยังจุดรับคืนโดยไม่ต้องเสียค่าจัดการใด ๆ
ส่วนอีกระบบหนึ่งเป็นระบบกองทุน เป็นระบบใช้ที่ในไต้หวัน โดยภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชน รัฐจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตและผู้นำเข้า เงินส่วนนี้จะถูกนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อสร้างระบบรับคืนหรือซื้อคืนและส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง
ดร.สุจิตรากล่าวว่า ระบบกองทุนสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากกว่าระบบอีพีอาร์ เนื่องจากคนไทยนิยมขายซากโทรศัพท์มือถือให้กับคนรับซื้อของเก่ามากกว่า จึงจำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตและผู้นำเข้า สมมติว่าอัตราการจัดเก็บเท่ากับ 100 บาทต่อเครื่อง เงินจำนวนนี้จะถูกตั้งเป็นกองทุน โดยเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ใช้สำหรับรับซื้อคืนซาก ส่วนที่เหลือสำหรับค่าการจัดการอื่น ๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าจ้างโรงงานรีไซเคิล เป็นต้น เพื่อดึงซากมือถือเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องและช่วยให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลในเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างระบบนี้ขึ้นได้จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งทาง คพ. ได้ทำการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว พ.ศ.... ตั้งแต่ปี 2547 และในยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 1 ยังได้ระบุถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ทว่า ล่วงเลยถึงปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ถูกประกาศใช้ ซ้ำกระบวนการต่างๆ ยังต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
ก.คลัง-ก.ทรัพย์ฯ ทะเลาะกัน ทำกฎหมายแท้ง
ทั้งนี้เป็นเพราะระหว่างกระบวนการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว พ.ศ.... เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ทำการยกร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ซึ่งได้รับอนุมัติในหลักการในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่างกฎหมายของ สศค. ฉบับนี้เปิดช่องให้ทั้งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาใช้อำนาจในการจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมได้ และยังระบุถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์อยู่ในกฎหมายด้วย เป็นเหตุให้แนวคิดของ คพ. ที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว พ.ศ.... ตกไป แต่จะออกเป็นกฎหมายลูกของ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... แทน
แต่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสมัยนั้น มองว่า ร่างของกฎหมายของ สศค. ที่เสนอให้มีการตั้งกองทุนภาษีสิ่งแวดล้อมถือเป็นการซ้ำซ้อนกับกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จึงทำการคัดค้าน กระทั่งกลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวง เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้จะผ่านหลักการจากคณะรัฐมนตรีจนถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ก็ถูกตีกลับมา เพราะต้องการให้ทั้งสองกระทรวงไปตกลงทำความเข้าใจกันให้เรียบร้อยก่อน
“เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลปี 2554 ร่างกฎหมายของรัฐบาลเดิมถูกตีกลับหมดเลยโดยไม่ดูเนื้อหาและประโยชน์ ทางกระทรวงการคลังก็เลยทำอะไรไม่ถูก เพราะคนที่ทำก็โดนโยกย้ายไปหมด ปีที่แล้วพยายามตามว่าจะทำอย่างไรต่อ ทาง สศค. ก็ยืนยันด้วยวาจาว่าคงไม่ทำแล้ว กฎหมายของ สศค. จะไม่ยุ่งกับค่าธรรมเนียนผลิตภัณฑ์แล้ว จะเก็บเฉพาะภาษีมลพิษ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะให้กระทรวงทรัพย์ฯ ออกกฎหมายใหม่เองหรือไม่ เพราะกลัวว่าถ้าให้กระทรวงทรัพย์ฯ ออก จะเกิดการคัดค้านอีก” แหล่งข่าวในกรมควบคุมมลพิษ กล่าว
ยุทธศาสตร์ฯ 2 ไม่ชัดเจน-ออกกฎหมายส่อแววยืดเยื้อ
เมื่อกฎหมายต้องแท้งไป การสร้างระบบการจัดเก็บคืนซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่ายุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ ระยะที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำจะกล่าวถึงประเด็นนี้ แต่ก็เป็นการกล่างถึงอย่างกว้างๆ ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการพัฒนาปรับปรุงกลไกการคัดแยก เก็บรวบรวม และขนส่งซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยในมาตรการที่ 3 ระบุถึงการพัฒนากฎหมายเพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์และกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ได้ระบุเป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าใด
นอกจากนี้ มาตรการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ก็ยังไม่มีแผนงานรูปธรรมที่ชัดเจนเท่าที่ควร เช่น สร้างระบบคัดแยกและรวบรวมซากฯ กลุ่มเป้าหมาย 10 ประเภทในเทศบาลนคร 26 แห่ง กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา โดยมีอัตราการรวบรวมซากเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่คาดว่าจะเกิดในพื้นที่ ภายในปี 2559 ซึ่งแม้ว่าข้อนี้อาจทำได้โดยไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาทางการเงินแก่ท้องถิ่นที่ต้องใช้เพื่อเก็บรวบรวม ขนส่ง และจัดการซาก เพราะต้องทำการซื้อแข่งกับซาเล้งและผู้ค้าของเก่า ทั้งโรงงานรีไซเคิลมักอยู่ตั้งในแถบปริมณฑล ในต่างจังหวัดไกล ๆ ย่อมมีต้นทุนค่าขนส่งสูง
หรือที่ระบุว่าจะสร้างระบบจัดการโดยผู้ผลิตและผุ้นำเข้าสำหรับซาก 4 ประเภท คือหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่แห้ง ตู้เย็น และโทรทัศน์ โดยมีการรวบรวม บำบัด และกำจัดอย่างถูกต้อง อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการจำหน่ายเฉลี่ย 2 ปีย้อนหลัง ภายในปี 2559 ซึ่งก็ชวนสงสัยว่าถ้าไม่มีกฎหมายบังคับ การบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
นักวิชาการยันมีกฎหมาย โรงงานรีไซเคิลครบวงจรเกิดแน่
ดร.สุจิตรา ตั้งข้อสังเกตต่อยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 1 และ 2 ว่า ลักษณะการทำงานของหน่วยงานภาครัฐยังต่างคนต่างทำ แม้จะผ่านการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การทำงานจริงจะตกอยู่กับกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก การทำงานในลักษณะบูรณาการและร่วมกันปฏิบัติจริงยังไม่เกิดขึ้น
ขณะที่งบประมาณของ คพ. ในแต่ละปีก็ได้รับน้อยมาก บุคลากรที่รับผิดชอบก็มีจำนวนจำกัด มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ่อย ส่งผลให้การผลักดันกฎหมายไม่มีความต่อเนื่อง การขับเคลื่อนแผนทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติอาจไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
“ถ้ามีกฎหมายผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลมาแน่นอน เขาถามอยู่เสมอว่าเมืองไทยจะมีกฎหมายเมื่อไหร่ ถ้าเราบอกว่า 2560 กฎหมายจะออก เขาจะเริ่มวางแผนแล้ว แต่ถ้าไม่มีกฎหมาย เขาจะไม่กล้าลงทุนเต็มรูปแบบในเมืองไทย” ดร.สุจิตรา ย้ำถึงความสำคัญของตัวกฎหมาย
ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยจะเกิดขึ้นทันเวลาก่อนที่ซากโทรศัพท์มือถือ 11 ล้านเครื่องจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปี 2559 ตามการประมาณการซากของ คพ. หรือไม่ สังคมไทยคงต้องลุ้นกันต่อไป
ขอบคุณภาพจาก Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ