แฉทะเลวิกฤติสัตว์หายากตายอื้อ ประมงล่า-เมิน‘พะยูน-เต่า-โลมา’ มลพิษรุมทะเลสาบสงขลาเละหนัก

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 6 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 5846 ครั้ง

คงจะปฏิเสธกันไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงเพราะน้ำมือมนุษย์ไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างน่าเป็นห่วงอีกด้วย ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ออกมาเปิดเผยสถานการณ์ทะเลไทยในปัจจุบัน โดยระบุชัดเจนว่า ขณะนี้สถานการณ์ของสภาพทั่วไปของท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน แม้ว่าจะยังมีความสวยงาม หากแต่ความเป็นจริงแล้ว กลับกำลังเข้าสู่สภาพวิกฤติ ส่งผลต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่าง ๆ ที่พบว่าลดจำนวนลงมากและอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทะเลไทยวิกฤติ สัตว์ทะเลเกยตื้นตายเกลื่อน

 

 

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรธรรมทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2546-2555) สถานการณ์ในท้องทะเลไทยอันเกี่ยวเนื่องกับสัตว์ทะเลหายาก พบสัตว์ทะเลขึ้นมาเกยตื้นรวม 1,539 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 509 ตัว (ร้อยละ 33) โลมาและวาฬ 907 ตัว (ร้อยละ 59) และพะยูน 123 ตัว (ร้อยละ 8) โดยในแต่ละปีมีแนวโน้มของการเกยตื้นตายเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งค่าเฉลี่ยการเกยตื้นของเต่าทะเล 12 ตัวต่อปี โลมาและวาฬ 91 ตัวต่อปีและพะยูน 51 ตัวต่อปี

 

ทั้งนี้ลักษณะอาการของสัตว์ทะเลที่เกยตื้นตายส่วนใหญ่พบว่า มีอาการบาดเจ็บหรือตาย จากกิจกรรมการประมง เช่น เต่าทะเลที่มาเกยตื้นมีลักษณะอ่อนแรง และลอยตัว เป็นผลมาจากการติดเครื่องมือประมงหรือเกิดจากการผิดปกติของสัตว์ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือในบางตัวอาจมีการติดเชื้อเรื้อรังมาก่อน จนทำให้สัตว์ตายในที่สุด อีกทั้งในโลมาและวาฬส่วนใหญ่มีสาเหตุการตายมาจากการติดเชื้อร่วมด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พะยูนในทะเลเหลือแค่ 135 ตัว

 

 

ในขณะที่สาเหตุการเกยตื้นของโลมาและวาฬ ส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่วนการเกยตื้นของเต่าทะเลและพะยูน สาเหตุเกิดจากเครื่องมือประมง นอกจากนี้ยังพบว่า เต่าทะเลและโลมาเกยตื้นเกิดจากปัญหาการกลืนกินขยะ หรือการติดอวนที่ถูกทิ้งเป็นขยะทะเลเพิ่มมากขึ้น โดยลักษณะการเกยตื้นในเต่าทะเล 60 เปอร์เซนต์ ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่พะยูนและโลมาประมาณ 60-80 เปอร์เซนต์ จะตายแล้ว ซึ่งสัตว์ทะเลหายากทั้งเต่าทะเล พะยูนและโลมา เป็นสัตว์ทะเลที่หายใจด้วยปอด ถ้าไม่สามารถโผล่พ้นน้ำได้ในระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้ตายในที่สุด เช่น ในเต่าทะเลที่ติดอวนหรือเศษอวนจากเรือประมง จะมีลักษณะขาขาดหรือคอขาดจากการติดอวนประมง และขาดอากาศหายใจในที่สุด

 

 

                  “ปัจจุบันจำนวนประชากรพะยูน ในจ.ตรัง เข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นสัตว์ทะเลหายากและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ เมื่อ 3 ปีที่แล้วจำนวนประชากรพะยูนอยู่ที่ 150 ตัว แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 135 ตัวเท่านั้น” นายก้องเกียรติกล่าว พร้อมกับระบุว่า ปัจจุบันแม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามรณรงค์ขอความร่วมมือจากชาวประมง และประชาชน รวมไปถึงนักท่องเที่ยว ในการดูแลท้องทะเล งดการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ที่สำคัญคือการทิ้งขยะลงในท้องทะเล ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ทะเลตายมากที่สุดพอ ๆ กับการได้รับอันตรายจากเครื่องมือทางการประมง

 

 

ชี้ขยะ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทุกวัน

 

จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า ที่ผ่านมา เครื่องมือทางการประมง นับเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลตาย จากการว่ายเข้ามาติดและไม่สามารถออกสู่ท้องทะเลได้ โดยเฉพาะพะยูน ที่ถือว่าเป็นสัตว์ทะเลที่เข้ามาติดเครื่องมือประมงมากที่สุด ส่วนสาเหตุต่อมาคือ การกินขยะ ที่ถูกทิ้งอยู่ในท้องทะเล ที่สำคัญสัตว์ทะเลโชคร้ายเหล่านี้มักจะตาย หรือไม่ก็พิการ จนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในท้องทะเลได้เหมือนเดิม

 

ทั้งนี้ในรายงานปี 2007 ของ COBSEA (Coordinating Body on the Seas of East Asia) ระบุว่า ท้องทะเลทั่วโลกกำลังพบกับปัญหาหนักเช่นเดียวกัน คือการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ โดยในปี 2007 มีรายงานว่าขยะ 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่ท้องทะเลทุกวัน จากปริมาณขยะรวมที่มีอยู่ราว 1,800 ตัน/วัน ในจำนวนนั้นเป็น พลาสติกมากถึง 89 เปอร์เซนต์ หรือมีขยะพลาสติกประมาณ 46,000 ชิ้น/ตารางไมล์ ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของปริมาณปลาที่จับได้ทีเดียว

 

 

ห่วงโลมา อิรวดี ทะเลสาบสงขลาสูญพันธุ์ใน 5 ปี

 

 

หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ทช. กล่าวด้วยว่า นอกจากความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทยที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้สัตว์ทะเลหายากลดจำนวนลงแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ขณะนี้หลายฝ่ายแสดงความกังวลและพยายามหาทางแก้ไขคือ การลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญของประชากรโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธ์ หากไม่มีการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

 

จากผลการสำรวจปี 2556 พบว่า โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เหลือเพียง 15 ตัวเท่านั้น หากมีอัตราการตาย 5 ตัวต่อปี ในเวลาไม่เกิน 5-10 ปี โลมาชนิดนี้จะกลายเป็นโลมาที่สูญพันธุ์ในที่สุด

 

สำหรับโลมาอิรวดีมีถินที่อยู่อาศัยในโลกนี้เพียง 5 แห่งคือ ทะเลสาบชิลิก้า ประเทศอินเดีย แม่น้ำโขง แม่น้ำมหาคาม ประเทศอินโดนีเซีย ปากแม่น้ำบางปะกง และที่ทะเลสาบสงขลาเท่านั้น และในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา มีการทำประมง ทำให้โลมาอิรวดี ที่อาศัยอยู่ตอนบนของทะเลสาบไม่สามารถออกไปสู่ทะเลอ่างไทยตอนล่างได้ ส่งผลให้ติดเครื่องมือประมงได้ง่าย ประกอบกับแหล่งที่อยู่อาศัยที่ตื้นเขินขึ้น สภาพมลพิษของพื้นที่ และห่วงโซอาหารที่ลดลง ทำให้โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา กำลังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

 

 

 

ชี้ประมงแบบทำลายล้างทำให้สัตว์น้ำลดลง

 

 

“การทำประมงในทะเลสาบสงขลามีการขยายตัวมากขึ้น และปรับปรุงเครื่องมือจับสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพชาวบ้านในพื้นที่ยึดอาชีพทำประมงเป็นหลัก เนื่องจากทะเลสาบสงขลาครอบคลุม 3 จังหวัด ทำให้มีจำนวนชาวประมงเข้าไปแย่งชิงกันจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาจำนวนมาก แม้ว่าเครื่องมือประมงส่วนหนึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ส่งผลทำให้ทะเลสาบสงขลามีน้ำตื้นเขิน น้ำไม่สะอาด แหล่งพักอาศัย แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าว ทำให้สัตว์น้ำที่สำคัญจำนวนหนึ่งถูกบุกรุก และปริมาณสัตว์น้ำลงลดอย่างรวดเร็ว” นายก้องเกียรติระบุ

 

 

ประตูน้ำกรมชลทำทะเลสาบสงขลาโทรม

 

 

สำหรับสถานการณ์ของทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน นายก้องเกียรติกล่าวว่า มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างมาก อาจเป็นผลจากกรมชลประทานสร้างประตูกันน้ำทะเลหนุนเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาในคลองปากระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา ทั้ง 5 คลอง ป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลาตอนบน ไม่สามารถหมุนเวียนกับน้ำทะเลในอ่าวไทยได้ มีผลทำให้คุณภาพน้ำในทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมลง ผลผลิตสัตว์น้ำลดลง ทั้งนี้ปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำและการทำประมงมากเกินไป และก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลามีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ทะเลสาบสงขลาหรือทะเลสาบสามน้ำ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ สงขลา  พัทลุง และนครศรีธรรมราช ซึ่งทะเลสาบสงขลามีระบบนิเวศวิทยาที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นที่ไหลมารวมตัวกันของต้นน้ำ ลำคลองต่าง ๆ และยังมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยทะเลสาบสงขลาสามารถแบ่งออกได้ 4 ตอนใหญ่ ๆ ได้แก่ ทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืดอยู่ตอนบนสุดของทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบตอนบน (ทะเลหลวง) ถัดมาจากทะเลน้อย ทะเลสาบตอนกลาง (ทะเลสาบ) มีการผสมผสานของน้ำเค็มและน้ำจืด และตอนสุดท้าย ทะเลสาบตอนล่าง (ทะเลสาบสงขลา) เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย ซึ่งโลมาอิรวดีจะอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบตอนบนที่เป็นน้ำจืดเท่านั้น

 

 

นอกจากนี้ทะเลสาบสงขลามีทางเชื่อมออกสู่ทะเลอ่าวไทยและติดต่อกับแม่น้ำลำคลองหลายสาย ทำให้ทะเลสาบสงขลามีระบบนิเวศวิทยาที่เป็นทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ความลึก และระยะทางที่อยู่ห่างจากทะเล ส่งผลให้ทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่มีปริมาณและความหลากหลายของสัตว์น้ำหมุนเวียนตลอดปี จากการสำรวจสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงมีพันธุ์ปลากว่า 450 ชนิด ซึ่งปลาหลายชนิดเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและชุกชุมในทะเลสาบสงขลา เช่น ปลากะรัง ปลากระบอก ปลากะพงขาว ปลาเห็ดโคน ปลากดทะเล ปลาตะเพียนและปลาบู่ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพทะเลสาบสงขลาในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนอกจากระบบน้ำที่ไม่ไหลเวียนอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะประตูน้ำของกรมชลประทานที่อ.ระโนด ที่ส่งผลกระทบทำให้คุณภาพน้ำต่ำลง และการขยายของพันธุ์ปลาลดลงแล้ว ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลายังมีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการจับสัตว์น้ำอย่างไร้การควบคุม การทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก การปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่โดยรอบ ประกอบกับมีชุมชนแออัดหลายแห่งที่อยู่ติดกับทะเลสาบ ซึ่งทิ้งขยะมูลฝอยและน้ำเสียลงในทะเลสาบจำนวนมาก ก่อให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล

 

 

 

ทช.ดัน พ.ร.บ.ดูแลแหล่งสัตว์ทะเล

 

 

ทั้งนี้นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาการลดลงของจำนวนสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ว่า มีแนวทางการแก้ไขหลายวิธี วิธีหนึ่งที่กำลังดำเนินการ คือ การออกเป็นกฎหมาย (พ.ร.บ.) ซึ่งอยู่ในขั้นกรรมาธิการ โดยทำร่วมกับภาคประชาชน คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ เมื่อกฎหมายเสร็จสิ้นแล้วจึงจะสามารถออกประกาศในพื้นที่ เช่น พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่หวงห้าม โดยดูจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เป็นหลัก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: