‘วัวชน’ปักษ์ใต้พนันสะพัดปีละ7.3หมื่นล. ไม่ใช่แค่อัตลักษณ์โยง'การเมือง-อำนาจ'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 17796 ครั้ง

 

ชนวัวเป็นความบันเทิงพื้นบ้านของชุมชนในแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำโกลก และไชยาพุมเรียง มาแต่เก่าก่อน จวบจนเกิด พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 สนามชนวัวที่เคยอยู่ตามลานบ้านหรือหัวไร่ปลายนาก็ถูกจัดที่ทางให้มีความชัดเจนขึ้นกลายเป็น ‘สนามกีฬาชนวัว’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือบ่อนชนวัว

ปี 2540 กีฬาชนวัวในภาคใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสนามชนวัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการนำการบริหารจัดการแบบใหม่ในระบบธุรกิจ และการเลี้ยงวัวชน เริ่มนำวิทยาการสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านมากขึ้นเพื่อชัยชนะในสังเวียน กระทั่งปี 2555 ใน 7 จังหวัดภาคใต้-สงขลานครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และสตูล ก็มีสนามชนวัวถูกกฎหมายอยู่ถึง 28 แห่ง และบ่อนซ้อมหรือสนามชนวัวผิดกฎหมายอีก 32 แห่ง

ทว่า ในพื้นที่ของสังเวียนวัวมิใช่เป็นเรื่องของการพนันขันต่อเพียงอย่างเดียว หากยังแฝงนัยทางอำนาจที่ผูกโยงกับอัตลักษณ์ของคนใต้ และเลี่ยงไม่ได้ที่อำนาจนี้ย่อมถูกการเมืองนำไปใช้เป็นฐาน บ่อนวัวชนจึงเปรียบเสมือนพื้นที่อิสระจากรัฐ ที่หากใครพาตนเองเข้าไปอ้างอิงได้ ย่อมหมายถึงสถานะแห่งการยอมรับ ยังไม่นับตัวเงินสะพัดในบ่อนหลายหมื่นล้านบาท ที่สร้างวงจรเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกมากมาย

อำนาจ

            “ที่นี่เปิดมา 7 ปีแล้ว ลงทุนไปสามล้านเจ็ด แต่คืนทุนตั้งแต่ 2 ปีแรก การเปิดบ่อนวัวเปิดยาก ต้องพร้อมทุกเรื่อง เงิน บารมีต้องมีบ้าง พรรคพวกต้องมี ต้องมีความเข้าใจเรื่องวัว ต้องรู้จักวัวว่าตัวนี้มาจากไหน ๆ วัวไม่มีหัวนอนปลายเท้ามาแข่งบ่อนนี้ไม่ได้” บุญส่ง นิจพล นายสนามกีฬาชนโค บ้านทุ่งโพธิ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เล่าความเป็นมาของสนามชนวัวของตน

จากงานศึกษาเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองการพนัน (กีฬา) วัวชนภาคใต้ ของ ผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ประธาน ผู้ประสานงานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า นายสนามในสังคมคนใต้ได้รับยกย่องเป็น ‘นายหัว’ เพราะใช่ว่าใคร ๆ ก็จะเปิดสนามชนวัวได้ แต่ต้องมีเครือข่ายกว้างขวางพอที่จะจัดหาวัวจากพื้นที่ต่าง ๆ มาชนในบ่อนได้ อีกทั้งต้องสามารถรักษากฎเกณฑ์ภายในบ่อนได้อย่างเด็ดขาด

            “ในเชิงภาพลักษณ์ มันเป็นภาพของอิทธิพล นักเลง ยิงกันตาย แต่ก็มีน้อยมากเหมือนกัน แล้วก็ไม่ใช่ยิงกันในสังเวียนนะ ในบ่อนวัวชนจึงไม่มีปัญหาพวกนี้ เพียงแต่ในอดีต เจ้าของสนามอาจจะเป็นผู้มีอิทธิพลที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มาดูวัวชนแล้วไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐาน บ่อนวัวชนจึงเป็นอิสระจากอำนาจรัฐค่อนข้างมาก เขาจะจัดการชุมชน จัดการคนที่มาอยู่ร่วมกันเฉียด 3 พันคนยังไง เขาก็จัดการตามบุคลิกภาพของนายสนาม ก็คือความรุนแรงที่จะจัดการกับคนที่ไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู ต้มวัว (หมายถึงล้มวัว ลักษณะเดียวกันกับการล้มมวยหรือการโกงเพื่อให้ฝ่ายตนชนะ) หรือเล่นการพนันแล้วไม่จ่ายเวลาได้เสีย” ดร.รงค์กล่าว

เจริญ เส้งสุ้น อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง อ.ศรีนครินทร์ นายสนามชนกีฬาชนโค บ้านท่ามิหรำ สนามชนวัวที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ กล่าวว่า วัวต้มกัน คนก็ไม่มา เสียชื่อ เขาประกาศชัดว่าบ่อนของเขาจะต้องไม่มีการต้มวัวเด็ดขาด

            “ใครจะมาขอโกงสนามผม ไม่ต้อง ไม่ขอ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือใคร มันทำให้พวกที่เล่นเสียหาย แทงแล้วเสีย 2 หมื่นไม่เป็นไร แต่ถ้าโดนเพื่อนโกงแค่ 20 บาทก็เสียใจแล้ว”

เล่าลือกันว่า ในอดีต การต้มวัวถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่อาจจบลงด้วยชีวิตของผู้ที่บังอาจขัดขืนประกาศิตของนายสนาม ดร.รงค์ ยืนยันว่า ‘ล้มวัวแล้วได้ยิง’ เป็นความจริง มันคือประกาศิตที่กึกก้องอยู่ในหูของสังคมคนชนวัว ซึ่งปัจจุบันไม่มีการพิพากษาในลักษณะนี้แล้ว

การขออนุญาตชนวัวตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 อยู่ภายใต้การใช้อำนาจดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยใบอนุญาตวัวชนมีอายุตลอดชีพสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การที่บุคคลหนึ่งได้รับใบอนุญาตเปิดบ่อนชนวัว จึงถือเป็นบุคคลที่มีบารมีในสายอำนาจรัฐหรือราชการและได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นบ่อนหลวง

เมื่อสนามกีฬาชนวัวเป็นพื้นที่ทางสังคมที่แสดงถึงบารมี ความมีพลังอำนาจของบุคคล จึงเลี่ยงไม่ได้ที่พื้นที่นี้จะเป็นวิถีทางหนึ่งที่นำไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดร.รงค์อธิบายว่า

            “วัวชนเป็นการระดมคนที่เหมือนกัน คนเหล่านี้เมื่อมีการเมืองเข้ามา เขาก็พร้อมจะรักใครก็ได้ในฝ่ายเขา จะดีจะชั่วก็รัก พรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้วัวชนที่ว่านี้ วัวชนเป็นพื้นที่ได้แสดงตัวตนของคนอิสระ เพราะในสนามมันคือความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ เป็นอำนาจสังคม อำนาจที่เกิดจากบุคลิกภาพของนายสนามหรืออาจจะอ้างอิงจากอำนาจอื่น เช่น อำนาจ ส.ส. ตัว ส.ส. เองก็พร้อมจะถูกอ้างอิง เพราะการถูกอ้างอิงในสนามวัวชนถือว่ามีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นคนพิเศษ บางสนามประกาศได้เลยว่า สนามแห่งนี้อยู่ภายใต้การประสานงาน ดูแลของ ส.ส. คนนั้นคนนี้ ที่สำคัญตัวพรรคหรือสมาชิกก็สามารถขอคะแนนจากนายสนามให้นายสนามไปขอคะแนนต่อได้”

เงินตรา

บารมีต้องถึง แต่เงินก็ต้องถึงเช่นกัน ดังที่บุญส่งกล่าวว่า ต้องลงทุนในตอนแรกถึง 3.7 ล้านบาท ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าสถานที่ แต่เมื่อถึงการจัดแข่งขันจริงในแต่ละครั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกไม่น้อย เช่น ค่าน้ำมันสำหรับบรรทุกวัวมายังสนามแข่ง ค่าตัวของวัวแต่ละตัว ยิ่งวัวมีชื่อเสียงค่าตัวก็ยิ่งสูงตามอัตราต่อรอง ค่าจ้างคนดูแลวัว และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ตกครั้งละประมาณ 2 แสนบาท

งานวิจัยของ ดร.รงค์อธิบายว่า โดยทั่วไปจะอนุญาตให้สนามชนวัวแต่ละแห่งชนวัวได้เพียงเดือนละ 1 วัน แต่ในความเป็นจริงจะมีการขออนุญาตมากกว่า 1 วัน โดยอ้างวัตถุประสงค์ด้านการกุศล เช่น หาเงินให้แก่โรงเรียนในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งการขอชนวัวนัดพิเศษเช่นนี้ จะต้องเสียเงินค่าขออนุญาตพิเศษวันละ 25,000-30,000 บาท ส่วนกรณีบ่อนซ้อมหรือบ่อนผิดกฎหมาย การชนวัวแต่ละครั้งต้องขออนุญาตจากนายอำเภอและผู้บังคับการตำรวจภูธรในพื้นที่ และมีการจ่ายเงินนอกระบบให้กับบางหน่วยงานครั้งละประมาณ 80,000-90,000 บาท

แม้ว่าค่าใช้จ่ายการจัดชนวัวแต่ละครั้งจะค่อนข้างสูง แต่รายได้ที่กลับเข้ามาก็ถือว่าคุ้มค่า เฉพาะค่าประตูเพียงอย่างเดียวก็คุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด โดยทั่วไปสนามกีฬาชนวัวจะมีประตู 2 ชั้น ผู้เข้าชมต้องเสียค่าประตูชั้นแรก 200 บาท และต้องเสียค่าประตูเพื่อเข้าไปยังตัวลานชนวัวอีก 200 บาท ในกรณีสนามชนโคบ้านทุ่งโพธิ์ บุญส่งกล่าวว่า บางครั้งค่าประตูชั้นในก็ไม่เก็บ โดยดูจากการเป็นคนรู้จักบ้างหรือไม่ก็ดูจากสถานะของผู้ชมบ้าง เช่น ถ้าขี่รถเครื่อง (รถจักรยานยนต์) มาก็ไม่เก็บค่าประตูชั้นใน แต่ถ้าขับรถยนต์ก็ต้องจ่าย หรือถ้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว ไม่ได้มาเพื่อเดิมพันก็ไม่ต้องเสียค่าประตูเลย เป็นต้น ส่วนกรณีสนามชนโคบ้านท่ามิหรำจะเก็บค่าประตูนอก 200 บาท และค่าประตูใน 100 บาท

จากงานวิจัยของ ดร.รงค์ประเมินรายได้ของบ่อนวัวชนภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 500,000 บาท เป็นค่าผ่านประตูประมาณ 420,000 บาท และยังมีรายได้เสริมจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบ่อนอีกประมาณ 80,000 บาทต่อวัน ได้แก่ การขายสินค้าผูกขาด เช่น ข้าวแกง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ผ้าเย็น อุปกรณ์แต่งวัวและของฝาก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ของเครือญาติของเจ้าของบ่อน

นอกจากนี้ งานวิจัยยังกล่าวถึงความคิดเห็นของนายสนามด้วยว่า กำไรกว่า 2 แสนบาทต่อครั้งก็ยังเทียบไม่ได้กับผลตอบแทนทางสังคม เพราะบ่อนวัวชนไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ แต่คือสิ่งแสดงเกียรติภูมิและอำนาจทางสังคม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล หนวยงาน สถาบันทางราชการ และการเมือง

ประมาณการผู้เล่นการพนันวัวชนใน 7 จังหวัดภาคใต้ พบว่า มีทั้งสิ้น 226,000 คน เป็นนักพนันมืออาชีพ 21,000 คน นอกนั้นเป็นประชาชนทั่วไปที่จะเล่นพนัน เมื่อมีการแข่งขันระหว่างวัวที่มีชื่อเสียง โดยนักพนันมืออาชีพส่วนใหญ่ขนเงินมาเล่น แต่ละครั้งระดับเฉียดล้านหรือมากกว่า เจริญบอกว่า ถ้าเป็นวัวคู่ดังก็ชนกันเงินพนันหนักที่สุดเป็น 10 ล้านบาท นักพนันอาชีพกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ขณะที่ประชาชนทั่วไปจะเดิมพันประมาณ 5 พันถึงหลักหมื่นต่อวันเท่านั้น

            “พูดในมิติทางเศรษฐกิจ วัวชนเป็นแหล่งเศรษฐกิจ เช่น เพาะพันธุ์วัว ที่สำคัญคือการเดิมพันและยังสร้างกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง เช่น เวลาชนกันครั้งหนึ่ง จะกินข้าวที่ไหน ก็ต้องมีร้านขายข้าว ขายน้ำ ที่จอดรถ อุปกรณ์เลี้ยงวัว ซีดีวัวชน มีถ่ายทอดสด วัวก่อนที่จะชนต้องไปอยู่ที่สนามไม่ต่ำกว่า 20 วัน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ก็ต้องมีที่หลับที่นอน ดังนั้น มันจึงเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากวัวชนจำนวนมาก” ดร.รงค์กล่าว

ประมาณการว่า วงเงินพนันวัวชนภาคใต้ตกปีละประมาณ 73,113 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินหมุนเวียนการพนันแบบต่อรองประมาณ 71,769 ล้านบาท และเงินเดิมพันรวมของทุกสนามอีก 1,344 ล้านบาท ดร.รงค์ เสริมว่า

            “แต่เงินอีกตัวที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณคือ เงินจากธุรกิจต่อเนื่อง ตรงนี้อาจจะเป็นหมื่นล้านเหมือนกัน วัวชนจึงก่อให้เกิดความต่อเนื่องของห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของกิจกรรมชุมชนตามมา แปรเป็นเงินได้เป็นหมื่นล้านบาท”

อัตลักษณ์

งานวิจัยดีเด่น 5 สถาบันเรื่อง ‘หัวเชือก วัวชน’ ของ อาคม เดชทองคำ ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2543 ได้แสดงให้เห็นความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างกีฬาวัวชนและอัตลักษณ์ของคนใต้ 10 กว่าปีผ่านไป อัตลักษณ์ดังกล่าวแปรรูปไปอย่างไร

ดร.รงค์อธิบายว่า ในอดีต การชนวัวมีการรวมกลุ่มกันไปชน เพราะพื้นฐานของวัวพัฒนามาจากฐานของชุมชนที่วัวตัวหนึ่งมีการฝึกซ้อมและเดินอยู่ในชุมชนนั้น ๆ แล้วก็เกิดความผูกพัน กว่าจะเป็นวัวชนสักตัวจึงผ่านกระบวนการทางสังคม คนนั้นดู คนนี้ดู จนไว้เนื้อเชื้อใจกัน เมื่อวัวออกไปทำศึกหรือออกไปชนกับวัวบ้านอื่น คนในหมู่บ้านจึงต้องติดเดิมพันด้วย

            “เช่น ถ้าเขาติดมาแสนบาท แต่เจ้าของวัวมีแค่ 500 บาท คนในชุมชนก็จะเรี่ยไรเงินกันให้ครบ 1 แสนบาท ถ้าชนะก็ชนะทั้งหมู่บ้าน ถ้าแพ้ก็แพ้ทั้งหมู่บ้าน วัวชนจึงเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน

            “ถ้าเสียกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านก็เป็นหนี้เป็นสินกัน ร่วมกันแพ้ ร่วมกันชนะ เป็นวิถีของเขาที่บ่งชี้ให้เห็นการใช้วัวเป็นกีฬา เป็นนันทนาการ แต่วันนี้เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นการพนัน ความผูกพันแบบหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งชุมชน เล่นกันทั้งหมดอาจจะคลี่คลายลงไปภายใต้สถานการณ์วัวชนปัจจุบันที่เปลี่ยนจากกีฬา จากนันทนาการ มาสู่การพนัน มาสู่บ่อน”

สิบกว่าปีผ่านไป นับจากงานของอาคม ดร.รงค์กล่าวว่า จำนวนบ่อนลดลง ปริมาณคนดูก็น่าจะลดลงด้วย ปริมาณวัวก็ลดลงตาม ขณะที่คนยุคใหม่ที่เล่นวัวชนกลับมีน้อยมาก

            “คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบ อาจจะเบื่อ เพราะถ้าจะเล่นต้องไปสนาม ระยะทางไม่ต่ำกว่า 30 กิโลเมตร สอง-ต้องไปตามเวลานัดหมาย ต้องเสียค่าผ่านประตู ต้นทุนในการดูวัวชนแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 550 บาท แล้วในบ่อนก็ร้อน เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบ อาจจะชอบการพนันที่เข้าถึงง่ายกว่านี้”

เกิดเป็นคำถามว่า หรือวัวชนกับอัตลักษณ์ความเป็นคนใต้ เริ่มถอยห่างออกจากกันเสียแล้ว ดร.รงค์ ตอบว่า

            “วัวชนกับอัตลักษณ์ของคนใต้ก็ยังไปได้อยู่ หมายถึงว่า คนใต้ในเชิงปัจเจก ถ้าดูวัวชนก็ดูเรื่องความเป็นอิสระ คนใต้ยังชอบอยู่ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ คำไหนคำนั้น ยังชอบอยู่ ใจถึง พึ่งได้ เด็ดขาด ยังชอบอยู่”

.........

รอบลานทรายที่ล้อมด้วยไม้ท่อนใหญ่ๆ ด้านในรั้ว วัวหนุ่มสองตัวกำลังปะทะกันด้วยพละกำลังที่คงไม่ต่างจากรถยนต์สองคันพุ่งเข้าใส่กัน เขาวัวถูกลับ ถูกฝนมาจนแหลมคม ยิ่งชนกันนาน บาดแผลบริเวณใบหน้าและลำคอของวัวแต่ละตัวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เลือดแดงๆ เปรอะหน้า เปรอะตา เขาของวัวแข็งเท่าแข็ง แต่บางคู่ก็ชนกันจนเขาหัก เรียกว่าวัวตัวนั้นหมดอาชีพ ถ้าเป็นนักมวยก็ต้องแขวนนวมอย่างเดียว สำหรับวัวชน ชะตากรรมของมันขึ้นอยู่กับเจ้าของ ถ้าไม่เก็บเป็นพ่อพันธุ์ ขายต่อ ก็รอส่งเชือด

ด้านนอกรั้ว ผู้คนสัก 2 พัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย พร้อมผ้าเย็น ทั้งคล้องคอ ทั้งโพกหัว นั่งไม่ติด เมื่อวัวสองตัวในสังเวียนเปิดฉากเข้าใส่ มือไม้ชูสลอนเป็นสัญลักษณ์อัตราต่อรองที่คนนอกวงการอ่านไม่เข้าใจ มันเป็นทั้งความตื่นเต้นและความหวังที่เอาไปผูกกับวัวตัวหนึ่ง เมื่อวัวตัวหนึ่งเริ่มวิ่งหนี กรรมการจะนำขันน้ำเจาะรูวางในโหลที่มีน้ำอยู่เต็ม หากขันใบนี้ยังไม่จมน้ำทั้งใบ-ใช้เวลาประมาณ 1.20 นาที-วัวตัวที่หนีสามารถหันหน้ากลับมาสู้อีกกี่ครั้งก็ได้ หนีอีก ก็วางขันลงไปใหม่ แต่เมื่อใดที่ขันจมลงทั้งใบ วัวที่หนีถือว่าแพ้ วัวที่ยืนหยัดอยู่ได้คือผู้ชนะ ใครที่ตกลงอะไรกันไว้ก็จัดแจงเสียให้เรียบร้อย เงินเป็นฟ่อนๆ หว่านโปรยไปรอบสนาม โดยที่ผู้แพ้และผู้ชนะก็คงไม่เข้าใจถึงคุณค่าของกระดาษเหล่านั้น

เมื่อสังเวียนวันจบลง แน่นอน ย่อมมีทั้งผู้ที่ผิดหวังและสมหวัง เงินและเลือด ชัยชนะและพ่ายแพ้ รางวัลและบาดแผล ณ ลานแห่งนี้คงแบกรับอารมณ์มาแล้วทุกรูปแบบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: