'อาชีวศึกษา'น่าห่วงสอบประเมินวีเน็ทต่ำ นายจ้างจี้ให้ปรับหลักสูตร-คุณภาพนร.

พรรษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2957 ครั้ง

ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับระบบการศึกษาของไทย ที่ยังดูน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะคุณภาพทางการศึกษาที่แม้จะมีความพยายามในการลงทุนงบประมาณ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแต่ดูเหมือนว่า คุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยยังคงไม่ขยับ ล่าสุดระบบการศึกษาไทยตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อ มีข้อมูลจากการประชุมของ World Economic Forum (WEF) - The Global Cometitiveness Report 2012-2013 ซึ่งเป็นการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ปรากฎว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย คือ อันดับที่ 8 เป็นรองจากประเทศเวียดนาม ที่ได้อันดับ 7 และประเทศกัมพูชา อันดับ 6 จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เหตุใดการลงทุนด้านการศึกษาที่รัฐบาลพยายามใส่ลงในระบบนี้จึงไม่สัมฤทธิ์ผล หนำซ้ำยังดูเหมือนจะถอยหลังไปกว่าเดิม จนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหา

ขณะที่ข่าวระบบการศึกษาไทยตกต่ำกลายเป็นข่าวในสื่อ เป็นช่วงเดียวกับที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดการประชุมนานาชาติ 2013 NIETS International Symposium ภายใต้แนวคิด National Educational Testing and Assessment in ASEAN : Share and Learn เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการทดสอบและประเมินผลทางการศึกษาระดับเอเชียแปซิฟิกขึ้น โดยเชิญหน่วยงานด้านการทดสอบทางการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ในเอเซียแปซิฟิกมาประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์  โดยมีการประชุมในเนื้อหาว่าด้วยระบบการทดสอบทางการศึกษาขึ้นพอดี พร้อมกับยังมีการอภิปรายในประเด็นการทดสอบต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอบ O-NET, U-NET และ V-NET ที่ดูเหมือนจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจ และน่าตกใจอยู่ไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะการทดสอบระดับชาติของการศึกษาในแผนกอาชีวศึกษา ที่ผลปรากฎว่า ยังมีระดับปานกลางไปถึงต่ำ และต่ำมาก ในวิชาการหลัก ๆ หรือแม้แต่ในวิชาชีพที่นักเรียนเลือกเรียน ซึ่งไม่แตกต่างกับการเรียนของกลุ่มสายสามัญ แม้ว่าการสอบ V-NET จะถูกวิจารณ์ว่า ไม่สามารถใช้วัดความรู้ความสามารถของนักเรียนได้จริงก็ตาม

V-NET แบบทดสอบคุณภาพนักเรียนอาชีวศึกษา

ในการอภิปรายเรื่อง V-NET ปัจจุบันและอนาคตอาชีวศึกษาไทย ซึ่งจัดขึ้นในการประชุมระดับนานาชาติดังกล่าว มีบุคลากรสายการศึกษาด้านอาชีวะ เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก โดย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม กรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา (กพศ.)  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การสอบ V-Net จัดขึ้นเพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) ซึ่งการวัดดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนภาพ การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา เพื่อนำผลไปใช้ในการประเมินการศึกษา ประเมินผลของผู้เรียน และวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นการประกันคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐานหลายตัวที่เข้ามาวัดคุณภาพทางการศึกษาของเด็กอาชีวะทั้ง V-NET, VQ สอบมาตรฐานทางวิชาชีพ และกำหนดว่า นักเรียนอาชีวศึกษาจะต้องมีคะแนน 2.00 ขึ้นไป จึงจะจบการศึกษา แต่ไม่มีบทบังคับว่า ผู้เรียนทุกคนต้องสอบ V-NET เพราะฉะนั้นหากในแต่ละโรงเรียนส่งนักเรียน ที่มีผลการเรียนดีเข้าสอบ ผลการสอบ V-NET จะไม่สะท้อนภาพการศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

ดร.ศิริพรรณกล่าวว่า ปัจจุบัน V-NET กำหนดให้ ปวช.3 สอบใน 2 รายวิชา คือ ช่วงเช้า 09.30-11.30 น. วิชา 51 ความรู้พื้นฐานทั่วไป สอบความรู้การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ความรู้ด้านการคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาและความรู้ด้านสังคม และการดำรงชีวิต เป็นเวลา 2 ชั่วโมงและสอบช่วงบ่าย 13.00-15.00 น. วิชา 54 ความรู้พื้นฐานทั่วไป (แยกตามประเภทวิชา/สาขา จำนวน 23 สาขาวิชา) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง และกำหนดให้ ปวส.2 สอบ 2 วิชาเช่นกัน คือ ช่วงเช้า 09.30-11.30 น. สอบวิชา 56 ความรู้พื้นฐานทั่วไป ความรู้การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ความรู้ด้านการคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาและความรู้ด้านสังคมและการดำรงชีวิต และวิชา 58 ความรู้พื้นฐานทั่วไป (แยกตามประเภทวิชา/สาขา จำนวน 96 สาขาวิชา) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยในปีนี้จัดให้มีการสอบในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 ทั้ง 2 ระดับชั้น โดยระเบียบการสอบ V-NET คือ

1.ไม่มีเลขที่นั่งสอบ ไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ

2. ไม่มีบัตรแสดงตน ไม่มีสิทธิเข้าสอบ

3. ไปผิดสนามสอบ ไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ

4. ไปสายเกิน 30 นาที ไม่มีสิทธิ์สอบ

5. ห้ามนำเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเข้าห้องสอบ

6. ให้นั่งสอบจนหมดเวลา

7.อนุญาต ให้นำนาฬิกาเข้าห้องสอบ (ต้องเป็นนาฬิกาธรรมดา ที่ใช้ดูเวลาเท่านั้น)

ชี้ปี 2555 ผลสอบ V-NET อยู่ในระดับปานกลาง-ต่ำ

ทางด้าน ดร.อดิศร สินประสงค์ คณะกรรมการบริหาร สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2555 เป็นปีแรกที่มีสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนเข้าสอบ 383 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 51,000 คน และโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน มีเวลาเตรียมตัวในการสอบเพียง 1 เดือน ผลการสอบในวิชาความรู้พื้นฐานทั่วไปพบว่า อยู่ในระดับต่ำ วิชาความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพทั้งสาขา พาณิชยกรรม ศิลปกรรม คหกรรม การท่องเที่ยวอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นอุตสาหกรรม เท่านั้นที่อยู่ในระดับต่ำ

การทดสอบ V-NET เป็นการวัดในรายวิชาย่อย ทำให้ไม่ก่อให้เกิดการบูรณาการ ไม่สามารถวัดทักษะของผู้เรียนที่เน้นการเรียนภาคปฏิบัติ ด้านการนำไปใช้ ผู้เรียนไม่ได้นำไปใช้ได้ เนื่องจากไม่มีการระบุว่า ใช้เพื่อการสมัครงานหรือการเข้าศึกษาต่อ อีกทั้งมีการบิดเบือนตัวเลขในการนำไปใช้ โดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ส่งผลการสอบต่อไปยังสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่นับผู้เรียนเทียบโอน และนับผลการสอบเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเข้าสอบเท่านั้น ด้านสนามสอบ เรื่องของค่าใช้จ่าย การเดินทางกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยในสนามสอบ ที่นักเรียนอาชีวะจากหลายสถาบันสอบในสนามสอบเดียวกัน ทำให้นักเรียนไม่มั่นใจในการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งอาจส่งผลต่อทัศนคติของผู้สอบ และในระดับชั้นปวส. นักเรียนอาชีวศึกษาเอกชนจะต้องชำระเงินค่าสมัครสอบเอง

สำหรับทิศทางในอนาคต ควรให้มีการตั้งคณะทำงานในการออกข้อสอบ รวมถึงควรให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการออกข้อสอบด้วย และควรให้ทดสอบเฉพาะความรู้พื้นฐาน เพราะความรู้ทางวิชาชีพเฉพาะนั้นมีการสอบมาตรฐานทางวิชาชีพอยู่แล้วถือเป็นการลดความซ้ำซ้อนการสอบ การสอบต้องวัดความรู้ได้จริง เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการเพื่อให้นักเรียนอาชีวะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ประโยชน์จากข้อสอบไม่จูงใจนักเรียน-ทำให้ผลสอบต่ำ

ขณะที่ รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช จากมหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่า ในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบสามารถเชื่อมโยงกันได้ และควรการจัดการทดสอบเฉพาะ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เห็นได้จากการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) มีการจัดสอบทุกรายวิชาและผลการสอบตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในหลายประเทศจึงปรับตัว โดยจัดให้นักเรียนสอบในรายวิชาเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีทั้งการสอบวิชาการ หรือภาคปฏิบัติหรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน โดยเห็นว่าการสอบ V-net ควรเป็นดังนี้

1.การสอบ V-net ควรมีทั้ง Aptitude และ Achievement คือการสอบความฉลาด การคิด การตีความ เพื่อเป็นการวัดสมรรถนะของนักเรียนว่าเนื้อหาที่เรียนทั้งหมดมีความเข้าใจหรือไม่

2.การสอบควรวัดความรู้หรือทักษะ แน่นอนว่าความรู้สามารถวัดจากข้อสอบได้ แต่ทักษะไม่สามารถวัดในข้อสอบได้ เพราะฉะนั้นควรหาวิธีเพื่อวัดทั้งสมรรถนะความรู้และทักษะ

3.การสอบควรสอบแบบอัตนัยเพื่อสะท้อนความจริง

4.การสอบควรเน้นความสามารถและสมรรถนะที่จำเป็น

5.ผลสอบควรนำไปใช้ได้จริง

6.ควรสร้างแรงจูงใจในการสอบ และทำให้ผลการสอบมีความหมาย เช่นถ้าผลการสอบอยู่ในเกณฑ์ดี จะได้รับเงินเดือนขั้นต้น 13,000 บาท

 

การทดสอบที่ดี ควรวัดสมรรถนะในการทำงาน ควรอย่างยิ่งที่จะให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ เพื่อให้มีคุณภาพตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ และได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ อีกทั้งข้อสอบควรมีความยุติธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ตั้งแต่การพัฒนาข้อสอบจนถึงผลการสอบ โดยทุกคนมีสิทธิ์ทักทวงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สอบ เมื่อนักเรียนทุกคนพร้อมที่จะสอบจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่สมบูรณ์และดียิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการขอให้เน้นคุณภาพ-ทำงานได้จริง

นายอรรถการ ตฤษนารังสี ตัวแทนผู้ประกอบการ กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการต้องการคนดีมีคุณภาพ มีวินัย และการทำงานเป็นทีม เงินเดือน 13,000 บาท ไม่เป็นปัญหา แต่คุณภาพของนักเรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งปัญหาของนักเรียนอาชีวะคือ การสื่อสาร การคิดคำนวณ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การเรียนจะต้องใกล้กับวิถีชีวิตการทำงาน เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่การนั่งเรียนให้ห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การเรียนการสอนควรบูรณาการทั้งผู้ประกอบการและครูอาจารย์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้โรงเรียนทราบถึงความต้องการของตลาดแรงงาน ว่าต้องการแรงงานในลักษณะใด และส่งเสริมได้ตรงจุด ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะทราบถึงหลักวิชาการ และเสนอความต้องการได้อย่างตรงจุดเช่นกัน อีกทั้งโรงเรียนควรสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพเชิงปฏิบัติการ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนำไปสู่องค์ความรู้ของนักเรียน ความรู้ท้องถิ่นก็เป็นสิ่งสำคัญควรสืบค้นว่าในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นในด้านในเพราะการทดสอบส่วนกลางไม่สามารถดูแลนักเรียนทั่วประเทศได้ ด้านภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะ V-net ไม่ได้มององค์ความรู้เพียงกรุงเทพฯแห่งเดียว แต่ควรมองทั้งประเทศและขยายออกไปสู่พื้นที่อาเซียน

การวัดความรู้ที่ดีที่สุดไม่ควรวัดเป็นรายวิชา แต่ควรวัดเป็นกลุ่มวิชา แต่สิ่งที่ สทศ. (สำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ)พยายามจะทดสอบไม่ใช่เป้าของอาชีวศึกษาที่เน้นภาคปฏิบัติ ผู้ประกอบการคือบุคคลสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของนักเรียน

ปัจจุบันอาชีวะเป็นกำลังของประเทศ และมีความต้องการสูง เป็นนักปฏิบัติซึ่งสวนทางกับค่านิยมที่ส่งเสริมให้เรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะฉะนั้นการสอบ V-NET ควรสะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนมีทักษะในการสื่อสารและความคิดในระดับหนึ่ง เมื่อมีวิธีคิดแล้วก็จะต้องนำหลักมาปฏิบัติงานได้จริง

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: