ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “แสนชื่อปกป้องแม่วงก์ ปลุกล้านคนต้านเขื่อน 3.5 แสนล้าน” ว่า รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน แต่เมื่อเขื่อนแม่วงก์ มีทีท่าว่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ทางกลุ่มจึงร่วมกันจัดทำข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อให้หน่วยงานราชการตัดสินใจอย่างถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมาทางนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีการสื่อสารออกไปทุกรูปแบบตามหลักวิชาการ แต่ยังไม่เป็นผล จึงหันมาใช้การประท้วงอย่างสันติวิธี
“การแชร์ข้อความต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ผ่านทาง Social Network เป็นการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี และได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทุกคนอยากมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือสังคม ต้องการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งทางกลุ่มพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาประเด็นให้ชัดเจนโดยตลอด ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของการเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว
สำหรับการร่วมกันหาทางออก ดร.สรณรัชฎ์ เสนอว่า ในช่วงที่ยุโรปเกิดปัญหาน้ำท่วม สิ่งแรกที่เขาทำคือ สรุปปัญหา ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่พบว่ามีการก่อสร้างพนังกันน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปตามธรรมชาติไม่ได้ จึงเกิดการบีบตัวและล้นเข้าท่วมบ้านเรือน และยังมีการวางกรอบแนวทางการบริหารจัดการในระดับภูมิภาค จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาหาข้อสรุปหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2554 ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถเข้าใจปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ไม่ใช่เริ่มที่เครื่องมือที่ต้องการจะใช้หรืองบประมาณที่ต้องการ
“การคัดค้านการสร้างทีละเขื่อนเป็นเรื่องที่ยาก หลายคนที่มองว่า การอนุรักษ์ทำให้ประเทศไม่เกิดการพัฒนาและล้าหลัง แต่การอนุรักษ์เป็นการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”
รัฐให้ข้อมูลด้านเดียว ไม่เสนอความจริงอย่างครอบคลุม
ดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เริ่มต้นทำงานเบื้องหลังให้กับนายศศิน เฉลิมลาภ โดยใช้ Social Media ในการสื่อสารที่ถือเป็นช่องทางที่ดีที่สุด โดยแคมเปญล่าสุดให้ผู้ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มาร่วมลงชื่อคัดค้านซึ่งขณะนี้มีกว่า 110,000 รายชื่อแล้ว โดยต้องการให้หยุดการสร้างเขื่อนในป่าอนุรักษ์ เนื่องจากผลที่ได้จะไม่คุ้มเสีย
“เชื่อว่าคนไทยยังไม่ตระหนักว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีความสำคัญ เนื่องจากรัฐสร้างมโนภาพว่า ‘ถ้าไม่สร้างเขื่อน น้ำจะท่วม และถ้าไม่เก็บกักน้ำจะไม่มีน้ำใช้’ ซึ่งรัฐต้องการสร้างเมโทรโปลิสที่สวยหรู แต่ในความเป็นจริงนั้น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ขนานใหญ่ กระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของประเทศทั้งระบบประเทศ การเก็บกักน้ำเป็นเรื่องดีแต่จะต้องเหมาะสม เช่น การสร้างเขื่อนขนาดเล็ก การสร้างฝาย การเก็บน้ำไม่ต้องไปสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และการทำประชาพิจารณ์ ควรให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ” ดร.สมิทธิ์ กล่าว
ดร.สมิทธิ์กล่าวด้วยว่า กิจกรรมที่จะทำต่อไปคือ ขณะนี้มีเครือข่ายอาสาภาคประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ กรีนมูฟ ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงให้กับประชาชน และจะนำรายชื่อทั้ง 110,000 รายชื่อเดินเท้าไปมอบให้รัฐบาล ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้
เรียกร้องการมีส่วนร่วมในประชาพิจารณ์
นายโม คำพูน ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ชาวบ้านบางรายไม่ทราบว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบอย่างไร บางส่วนเชื่อว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้ทำนาได้มากครั้งขึ้น จึงต้องการให้สร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีการจัดเวทีจริง แต่จัดในพื้นที่ห่างไกลและไม่ได้รับผลกระทบ
“การสร้างเขื่อนคลองชมภู จะกระทบให้สัตว์หลายชนิดได้รับผลกระทบหรืออาจสูญพันธุ์ไป เช่น จระเข้น้ำจืด ตุ๊กกาย (มีลักษณะคล้ายกับตุ๊กแก) ดอกไม้ศิลาวารี (ดอกไม้หิน) ที่พบเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชมภูเท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่คลองชมภูเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งโบราณคดี ชาวบ้านพร้อมที่จะสู้เพื่อธรรมชาติที่สมบูรณ์ ป่าไม้ สัตว์ป่า” นายโมกล่าว
ขณะที่นายธีรเชษฐ์ โสทอง ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการปะทะกันของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านบ้านแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่หลังจากที่มีการจัดเวทีให้ความรู้กับชาวบ้าน มีคนนอกเข้าไปให้ความรู้เป็นการเสริมความน่าเชื่อถือให้กับทางกลุ่ม มากกว่าการที่ชาวบ้านให้ความรู้กันเอง และเริ่มมีคนที่เห็นด้วยกับการคัดค้านการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ