นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โวยมหาวิทยาลัยวางตัวไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ตั้งข้อสังเกตุเกือบสิบปีที่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญไฟใต้ ไม่เคยมีสักครั้งที่มหาวิทยาลัยประกาศหยุดเรียน ด้านคณาจารย์ประสานเสียงวอนมหาวิทยาลัยวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เปิดพื้นที่แก้ไขความขัดแย้ง
กระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงครุกรุ่นและหาข้อสรุปไม่ได้ ระหว่าง “มวลมหาประชาชน” นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งปักหลักประท้วงขับไล่รัฐบาลเป็นเวลากว่า 1 เดือนกับรัฐบาลที่มีมวลชนเสื้อแดงให้การสนับสนุน ได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ แม้จะมีความสงบเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ทั้งรัฐบาลและผู้ต่อต้าน ได้ร่วมกันยุติชั่วคราว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่นายสุเทพประกาศชัดเจนว่า จะยังคงชุมนุมและจะมีการยกระดับเพื่อเผด็จศึกรัฐบาลให้ได้ในเร็ววันนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ ที่สถานศึกษา ทั้งโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใน บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับการชุมนุมจะประกาศงดการเรียนการสอน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ แต่มหาวิทยาลัยที่อยู่นอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต คือ หาดใหญ่ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ตรัง และภูเก็ต ที่ได้ประกาศหยุดเรียนยาวนานตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของ นักศึกษา และคณาจารย์จำนวนหนึ่ง
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดกิจกรรมคัดค้านการปิดเรียน โดยได้เชิญนักวิชาการ มาบรรยาย ในหัวข้อ “การเมืองไทยวันนี้ ที่มา ที่เป็น ที่ไป” หลังจากนั้นได้เดินขบวนถือป้ายคัดค้านอย่างสงบ พร้อมทั้งจุดเทียน 81 เล่ม ไว้อาลัยให้กับ ประชาธิปไตยไทยที่เดินเข้าสู่ปีที่ 81 นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ปี 2475
ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า พวกตนไม่เห็นด้วยกับการปิดเรียนของมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยวางตัวให้เหมาะสมท่ามกลางความขัดแย้ง และเป็นห่วงว่าการประกาศหยุดเรียนครั้งนี้ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พวกตนไม่ได้คัดค้านการชุมนุมของผู้ที่ขับไล่รัฐบาล เพราะเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ แต่ไม่เข้าใจตรรกะของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ประกาศหยุดเรียนยาวนาน ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยอยู่นอกพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่มีเหตุสมควรเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆในกทม.
ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ที่ผ่านมาเกือบสิบปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน รวมทั้งนักศึกษาก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เคยมีนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิต ใกล้กับประตูหลังของมหาวิทยาลัย นักศึกษาอีกคน ถูกยิงเสียชีวิต ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูล งานวิจัย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่เคยหยุดการเรียนการสอนเลยสักครั้ง แต่คราวนี้มหาวิทยาลัยกลับปิดเรียนโดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้นักศึกษาแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ พวกตนอยากถามว่ามหาวิทยาลัยเคยถามความเห็นนักศึกษาและคณาจารย์ก่อนที่จะแสดงจุดยืนหรือไม่ สิ่งนี้สะท้อนว่าไม่เคยมีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ การประกาศหยุดเรียนยาวนานขนาดนี้ จะสร้างความยากลำบากให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ที่ต้องมาเรียนชดเชยในวันที่หยุดไป พวกตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารทำการทบทวนท่าที หากผู้บริหารเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล ก็ขอให้สนับสนุนกันเป็นการส่วนตัว อย่ากระทำในนามของมหาวิทยาลัย
ขณะที่คณาจารย์กลุ่มหนึ่ง ก็ได้ออกแถลงการณ์ โดยขอให้มหาวิทยาลัยทบทวน และเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่กลางที่ทุกกลุ่มทุกคน สามารถใช้ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อหาทางออกให้กับสังคม มากกว่าที่จะดำเนินการณ์ในลักษณะที่อาจถูกตีความไปในลักษณะที่สร้างความชอบธรรมให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ