ยังคงเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความกดดันให้กับคนไทยทั้งประเทศ ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ประกาศข้อเรียกร้องต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการชุมนุมที่ผ่านมา และล่าสุดได้ประกาศการจัดตั้งสภาประชาชน ที่มีโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปได้ว่า การเสนอของนายสุเทพจะสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วไม่อาจจะเกิดขึ้นจริงเลย
ชี้มาตรา 7 มีไว้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติอื่นในรธน.รองรับ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา
ในการเสวนาเรื่อง “มาตรา 7 ทางออกวิกฤติสังคมไทยหรือไม่” จัดโดย สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสันติ เพื่อนำเสนอประเด็นข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน โดย มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ รศ.ยุทธพร อิสระชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายคณิน บุญสุวรรณ และ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “มาตรา 7” ที่มีบทบัญญัติไว้ว่า ‘ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติใดแห่งรัฐธรรมนูญนี้ บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข’ คงไม่สามารถจะนำมาดำเนินการได้ตามที่นายสุเทพเรียกร้อง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่ามีการใช้ มาตรา 7 ในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเลย
“ตอนนี้สังคมอาจจะมีความสับสนว่า มาตรา 7 คือการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อเป็นส่วนเติมเต็มของรัฐธรรมนูญ ในแง่ที่ว่า หากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ ก็ให้นำมาตรา 7 มาใช้ และการนำมาใช้ก็ให้ผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัย ทำการวินิจฉัยไปตามแล้วแต่ละกรณีไปเท่านั้น อาจจะอธิบายให้เข้าใจได้ว่า
“รัฐธรรมนูญไม่อาจจะเขียนไว้ได้ครอบคลุมในพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในสังคมได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมี มาตรา 7 นี้ขึ้นมา เพื่อนำไว้ใช้ในกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์กับข้อไหนได้นั่นเอง” รศ.ยุทธพรกล่าว พร้อมกับอธิบายว่า ในอดีต มาตรา 7 มีบัญญัติขึ้น มาตั้งแต่พ.ศ.2502 แต่ก็ไม่เคยมีการใช้เลย ซึ่งหากพิจารณากับสถานการณ์ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ถึงเวลาที่จะต้องนำมาใช้ เพราะบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ยังสามารถนำมาใช้ได้ ถ้าจะนำมาตรา 7 มาใช้ได้นั่นก็คือ จะต้องมีการยุบสภา แล้วนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ จากนั้นนายกฯลาออกอีกจนทำให้ระบบกลายเป็นสุญญากาศเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงไม่สามารถนำมาตรา 7 มาใช้ได้
ไม่มีเงื่อนไขให้ยุบสภาหรือถึงยุบเลือกตั้งใหม่ อาจเป็นเลือกตั้งเลือด
รศ.ยุทธพรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหากมาพิจารณาถึงหลักการ หรือเงื่อนไขการยุบสภา จะต้องหมายถึงว่า มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างการบริหารกับระบบนิติบัญญัติ จึงถือว่าเป็นเงื่อนไขในการยุบสภา แต่ขณะนี้ไม่ได้มีสภาพความขัดแย้งเกิดขึ้น จึงถือได้ว่าไม่ได้มีหลักการที่จะไปยุบสภาได้ ซึ่งตนมองว่าแม้หากมีการยุบสภาในเวลานี้จริง ก็เชื่อว่าจะไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ยุติ แต่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งถ่ายทอดลงไปสู่ ระบบการเมืองท้องถิ่น เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีผู้สนับสนุนของตนอยู่ ดังนั้นอาจจะทำให้กลายเป็นการเลือกตั้งเลือด เป็นความขัดแย้งที่ขยายไปสู่สังคมเล็ก ๆ มากขึ้นแทน ดังนั้นการยุบสภาจึงไม่น่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่แท้จริงเช่นเดียวกัน
“ผมมองว่าตามหลักการทางประชาธิปไตย นั่นคือต้องใช้การเลือกตั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศเรายังคงมีระบบอุปถัมภ์ในทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ดังนั้นปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่เรื่องของการขจัดระบบอุปถัมภ์ออกไปจากสังคมไทยมากกว่า นั่นคือปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ให้ได้” รศ.ยุทธพรกล่าว
อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ แนะให้แก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ที่ผ่านมาเห็นว่าผู้เสนอได้กล่าวถึง สภาประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นคำใหม่ สำหรับสังคมไทย เพราะไม่รู้ว่าสภานี้เป็นแบบไหน จะเป็นแบบคอมมิวนิสต์หรือไม่ ที่ประเทศจีนทำมาเป็นสภาที่มาจากประชาชนมาประชุมกัน แต่ก็คิดว่าคงจะไม่ใช่ตามที่คนเสนอคิดขึ้นมา และมาพูดถึงเรื่องของ มาตรา 7 ขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่มีความจำเป็น แต่ในช่วงตลอดเวลาท่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเห็นว่าประเทศไทยได้ใช้ มาตรา 7 เลย เพราะนอกจากจะผิดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ผล จึงต้องอาศัยการตีความ
นอกจากนี้ยิ่งมาพูดถึงเรื่องของนายกฯ มาตรา 7 แล้ว ก็คงจะไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีพระราชดำรัสแล้วว่า พระองค์ไม่เคยทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีคนสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งครั้งนั้นคนที่เคยออกมาพูดก็เงียบกันไป แต่ก็กลับมาฮือฮาอีกในช่วงนี้ แม้จะมีคนออกมาบอกว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เคยมีมาแล้ว แต่คราวนั้นไม่ใช่การมีนายกฯพระราชทาน เพราะตอนนั้น มีประธานสภาฯ เป็นผู้สนองรับราชโองการ
“ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะมีสภาประชาชนได้อย่างไร ตราบใดที่มีรัฐธรรมนูญอยู่ คือกำลังคิดว่าเราควรจะพูดว่าเราควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรมากกว่า เพราะมีบางช่องที่จะทำได้ แต่ว่าแต่ละฝ่ายจะต้องไปดูว่าจะแก้อย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็ไปคิดกันว่า หากแก้แล้วฝ่ายนั้นจะได้ประโยชน์ ฝ่ายนี้จะได้ประโยชน์ การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ทำ จนกลายเป็นปัญหามาถึงทุกวันนี้”
เชื่อส.ส.ร.จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนแท้จริง
สำหรับประเด็นของทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้เสวนาส่วนใหญ่เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ควรจะใช้วิธีการเจรจาพูดคุย เพื่อหาแนวทางที่จะพอเป็นไปได้ในการยอมรับการซึ่งกันและกัน โดยสิ่งสำคัญควรมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ยังค้างอยู่ในวาระ 3 ให้ผ่านไปก่อน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการต่อไป ที่มีประชาชนเป็นส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง
“สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกตอนนี้คือ ควรจะมีการพิจารณาวาระ 3 ที่ค้างอยู่ ให้ผ่านไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมาตกลงกัน ถ้ามีการผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จัดให้ประชาชนเลือกตั้งสสร. รัฐสภาก็มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย แล้วจึบมาตกลงว่าให้นายกฯยุบสภาไปเสีย กระบวนการการเลือกตั้งดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อไป เวลาจะเท่าไหร่ก็เมื่อนั้น เพราะการมีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือประชาชนเข้ามามีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ปล่อยไปตามกระบวนการ และเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ได้ ต้องเอากลับไปที่รัฐสภา แต่ตรงไปให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงลงประชามติ ถ้าทั้งประเทศเห็นชอบ ซึ่งส.ส.ร.จะเป็นเหมือนเป็นการเลือกผู้ประสานงานระหว่างประชาชนเท่านั้นไม่ต้องกลัวอะไร เมื่อเลือกตั้งแล้ว สสร.ประจำจังหวัดนั้นก็จะไปสร้างความรู้ สร้างเครือข่ายในจังหวัดของตัวเอง เพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงของประชาชน” นายคณินระบุ
เตือนอย่ายั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง
นอกจากนี้ รศ.ยุทธพรยังกล่าวถึงทางออกในการแก้ปัญหาขณะนี้ โดยเห็นว่า การพูดคุยยังเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าขณะนี้หลายฝ่ายยังคิดว่าแกนนำจะไม่สามารถพูดคุยกันได้แล้ว หรือแกนนำประกาศว่าจะไม่มีการเจรจากันอีก แต่ตนเชื่อว่าหากเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยน การพูดคุยก็น่าจะยังเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การพูดคุยระหว่างผู้นำโดยตรง แต่อาจจะเป็นการใช้ผู้แทนไปพูดคุยกันแล้วค่อยนำกลับมาบอกว่าจะเอาอย่างไร หรือการเดินสายเจรจาต่าง ๆ ซึ่งมีอีกหลายเทคนิควิธี ที่ยังพอทำได้ หรือหากพูดไม่รู้เรื่อง ท้ายที่สุดให้การแก้รัฐธรมนูญในวาระ 3 ในมาตรา 291 ผ่านไป เพื่อให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีคนออกมาการคัดค้านว่าไม่ต่างจาก การเลือกส.ส.ร. ประจำจังหวัดมา จะไม่ต่างกับการเลือกตั้งส.ส. แต่ที่จริงแล้ว ส.ส.ร.จะต้องออกมาเหมือนผู้สื่อสาร คือแต่ละจังหวัดจะต้องไปสร้างเครือข่าย รับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนก็เสนอว่าถ้ารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเปิดเวทีลงไปในพื้นที่ ในชุมชน ตามข้อเสนอต่าง ๆ และนำมาจัดเฉพาะกิจขึ้นอีก โดยเก็บความคิดเห็นมาสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิรูปการปกครอง แล้วเอาให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่อย่างไร
“ที่สำคัญตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องลดการใช้วาทกรรม ที่ทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย การยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้เกิดการแตกแยก ก็น่าจะเป็นเวทีทางออกที่น่าจะยังพอมีอยู่”
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ