กฐินสามัคคีไม่มีเจ้าภาพ

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ 25 ก.ค. 2556


   

    

 

        น่าสนใจที่ข่าวฉาวในวงการพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นกับพระดังเป็นระลอกคลื่นในห้วงที่ผ่านมา  นับตั้งแต่กรณีพระมิตซูโอะ คเวสโก  / กรณีพระเณรคำ ฉัตติโก  / ตลอดจนกรณีพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ  (ขายที่ดินคลินิกแม่ตาวที่แม่สอดของหมอซินเธีย หม่อง โดยมิชอบ ปรากฎเป็นข่าวเฉพาะในสื่อออนไล์ www.thaienews.blogspot.com  และ  www.nationchannel.com )  ไม่ได้ทำให้คนไทยศรัทธาต่อการเข้าวัดทำบุญกับพระสงฆ์ลดลงแต่อย่างใด  เห็นได้จากทั้งปรากฏการณ์ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา  รวมทั้งผลสำรวจของนิด้าโพล 

            ต่อคำถามของนิด้าโพลที่ว่า “ข่าวฉาวของพระสงฆ์ในวงการพุทธศาสนาในขณะนี้  ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา” ...72.33 % ตอบว่าเท่าเดิมหรือไม่ลดลง  26.87 % ตอบว่าลดลง  0.80 % ไม่แน่ใจ  ทีวีบางช่องต่อยอดผลสำรวจนี้  โดยการจ่อไมค์ถามพุทธศาสนิกชนในวัด  ได้รับคำตอบที่ยืนยันผลสำรวจนี้

            ในอดีต ก็เคยมีงานวิจัยบางชิ้นเสนอประเด็นเหตุผลของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในการไปวัดและทำ บุญด้วยการบริจาคเงินและสังฆทานสิ่งของ  พบว่าเหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ  เพื่อให้ได้”บุญ”  สำหรับตัวเองหรือสำหรับผู้ล่วงลับ  ต้องการบุญในชาตินี้  หรือชาติหน้า หรือทั้งสองอย่าง  อ่านงานวิจัยนี้แล้วจะรู้ว่า  คนไทยมีทัศนคติต่อบุญเช่นเดียวกับทรัพย์  ที่สะสมได้แสวงหาได้  ดังนั้น  ตัวกลางหรือพระสงฆ์  จึงเป็นแต่เพียง”พาหะ”

ที่จะนำส่งบุญไปสู่ที่หมาย  อันอาจหมายถึงความสุขความสบายใจ ณ บัดเดี๋ยวนั้นด้วย   และอันที่จริง  สุขจากการให้และทาน  หรือสุข ณ ปัจจุบันขณะ  ก็เป็นธรรมะแก่นกลางของพุทธศาสนาที่คนไทยเข้าใจได้ถูกต้อง

            ถ้าเรายอมรับได้ว่า  สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  รวมทั้งโลกใบนี้ด้วย   ชีวิตที่ต้องทำมาหากินและแยกส่วน  ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่เลือกทำบุญตามเทศกาลวันหยุด  ด้วยวิถีทางตรงคือไป”วัด” และทำบุญกับ ”พระ”  ด้วยปัจจัยที่ง่ายทันด่วนทีสุดคือ ”เงิน”  เช่นเดียวกับที่คิดถึงการออกกำลังกาย  ด้วยการไปฟิตเนส  หรือซื้อเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อมาใช้ตอนดูทีวี   แม้กระทั่งการกดไลค์ได้บุญกันทางออนไลน์   เราก็คงไม่อาจชี้ได้ว่าผิดบาปอะไร  ก็อาจจะเป็นอย่างที่นักวิชาการบางท่านอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนไทยมีความรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนและวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องของพระ  น้อยมาก  และอาจเป็นด้วยพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่ปนเปไปทั้งไสยศาสตร์และความเชื่อ  จนยากจะขีดเส้นแบ่งว่า  อะไรไม่ใช่พุทธและอะไรคือพุทธแท้  รวมไปถึงสังคมไทย  ที่ไม่เปิดให้มีการถกเถียงถึงสถาบันหลักของชาติ  ซึ่งรวมถึงเรื่องศาสนา

            สังคมไทยได้เผชิญกับข่าวฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์และวัดดัง  จนถึงขั้นหลอกลวงฉ้อโกงมานับครั้งไม่ถ้วน  นับถอยหลังไปได้ 20-30 ปี  น่าแปลกใจอยู่บ้าง(สำหรับตัวดิฉันเอง) คือ  สื่อจะปั่นเป็นกระแสขึ้นมาต่อเมื่อข่าวฉาวนั้นมีแง่มุมเกี่ยวกับ”สีกา”  หรือพูดอีกทีคือ  เป็นข่าวที่จุดติดเพราะคนไทยรับไม่ได้กับเรื่องแบบนี้ด้วยเหตุอะไรก็ช่างเถอะ  แต่สำหรับเรื่องอย่างพระฮุบที่ดินคนอื่น  พระจ่ายเงินวิ่งเต้นพัดยศ  พระอวดอุตริมนุสธรรมถึงขั้นตีความ”นิพพาน”ผิดไปจากพระไตรปิฎก  ตลอดจนวัดที่ทำมาค้าขายเครื่องรางของขลัง  วัดที่ทำวัดให้เป็นที่จอดรถ  และอื่นๆอีกมาก   กลับไม่ได้รับการติดตามสืบเสาะเสนอข่าวจากสื่อ  หรือไม่มีการเม้าการเม้นกันเท่าที่ควร  ในขณะเดียวกัน  เงื่อนไขที่จะทำให้พระชั่วกระเด็นออกไปจากสังคมไทยพุทธอันดีงามได้  สังเกตว่าต้องเป็นเรื่องสีกาเป็นหลัก   อย่างกรณีอดีตพระยันตระ  อดีตพระนิกร  จนถึงอดีตพระเณรคำ  ถึงขั้นที่หน่วยงานสำคัญของรัฐต้องออกมา”จัดการ” ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์หลายข้อหา  พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมในกฐินสามัคคีชี้ความผิดเณรคำกันไม่เว้นแต่ละวัน  เป็นกระแสข่าวจนถึงบัดนี้กว่าเดือนทีเดียว

            ท่ามกลางกระแสข่าวฉาวของพระดังรูปต่างๆ  แม้แต่ย้อนไกลไปในอดีต   ดิฉันไม่เคยได้เห็นการแสดงท่าที จุดยืน หรือการอธิบายความใดๆ  จากองค์กรศาสนาที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงต่อพระและวัด  ซึ่งสมควรคาดหวังได้ว่า  เป็นองค์กรที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย  หลักปรัชญาศาสนาพุทธ ดีกว่าใคร  นั่นคือ  มหาเถรสมาคม  (มส.) และ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  เพื่อ educate หรือตอบข้อกังขา  ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมสักเรื่องเดียว  เอาง่ายๆ ก็ได้  เช่น  ความรู้เกี่ยวกับเหตุแห่งอาบัติปราชิกข้อ 2 ว่าด้วยการถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้นั้น ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าบัญัญัติว่า ไม่ให้เกิน "1กหาปณะ" อันเป็นหน่วยเงินอินเดียโบราณ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกรมสมเด็จพระวชิรญานวโรรส ได้ให้อรรถาธิบายว่า น่าจะคำนวณเป็นค่าเงินไทยในสมัยนั้น ประมาณ 5 บาท  หรือเกินกว่า"วิสาสะ". คือ เขาไม่ได้ให้ และตัวไม่ได้ขอ... เป็นต้น  แค่นี้ก็เพียงพอให้ชาวพุทธได้คิดต่อเองด้วยสติปัญญา  หากแต่  เราได้เห็นแต่เพียงความเงียบ  แม้แต่เรื่องใหญ่ระดับวัดธรรมกายไล่รื้อที่ดินชาวบ้าน  เรื่องใหญ่อย่าง(อดีตวัด)สันติอโศก ตีความพระไตรปิฏกเอาเอง

             หรือว่าท่านเข้าถึงธรรมวางอุเบกขาว่า“มันเป็นเช่นนั้นเอง”  ก็มิทราบได้  ปล่อยให้ข่าวฉาวและ”ความผิดปกติ”ของวงการศาสนาพุทธไทย  เงียบหายไปเอง  และปล่อยให้พุทธศานิกชนไทยแหวกว่ายโต้กระแสคลื่นถูกหรือผิด  จริงหรือเท็จ  ตามยถากรรมเอาเอง  ที่สำคัญคือ  ปล่อยให้สังคมไทยรู้สึกนึกคิดไปว่า  นี่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล  เป็นปัญหาของ”พระชั่ว”บางรูปเท่านั้นเอง    นั่นมันพระบ้านนอกที่คนชั้นล่างไปศรัทธานับถือ  และ”ไม่ใช่ฉัน”ที่ไปสนับสนุนพระชั่วเหล่านั้น  ยิ่งอำนาจรัฐอย่าง  ดีเอสไอ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รวมทั้งสื่อมวลชนกระแสหลัก  ช่วยกันกฐินสามัคคี  ”จัดการคนชั่ว”  เฉดหัวพ้นจากสังคมไทยพุทธอันดีงาม  ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น  ก็ได้กลายเป็นเรื่องทางโลกย์ไปล้วนๆ    เช่นเดียวกับความผิดปกติในแวดวงสงฆ์และวัดหลากหลายเรื่อง  ที่ทั้ง มส.และ พศ. ช่วยกันหลับตาให้  จนสังคมไทยเพียงแต่  เออ  เหรอ..  เวลาได้เห็นได้ยินข่าว  ธนาคารออกมาแถลงยอดเงินฝากวัด 3 แสนล้านเอย  วัด 3.7 หมื่นวัดทั่วประเทศ  มีการทำบัญชีชี้แจงรายรับรายจ่ายเพียง 1.3 พันวัด  เอย ...จนลืมถามกันว่า  แล้ววัดและพระ  สมควรร่ำรวยขนาดนี้จริงหรือ  เอาเงินไปทำอะไรบ้าง  ?

            ดังนั้น  เราจึงได้เห็นผลสำรวจที่แสดงว่า  คนไทยไม่ได้เสื่อมศรัทธาต่อการทำบุญกับพระและวัด  แม้จะมีข่าวฉาวเกี่ยวกับพระและวัดกันอีกสักกี่ครั้ง

            เชื่อเถอะว่า  พุทธศาสนาในประเทศไทยไม่มีวันกลับไปเหมือนเช่นในอดีต  และเชื่อเถอะว่า  ต่อให้มีอีกสักกี่พระชั่วหรือกี่วัดฉาว...ประเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป  

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: