ไทยต้องพัฒนาประเทศโดยการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 7 ธ.ค. 2556


เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ถือได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยประเทศไทยสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก มาสู่การใช้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นพลังขับเคลื่อนแทน  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทย ในการเข้าร่วมในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการกระจายการส่งออกในหลายสินค้าไปหลายประเทศ แต่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูงได้มากพอ  หากอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากพอในอนาคต ก็คงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ได้ และเราจะมีปัญหาในการรับมือกับสังคมสูงอายุ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมาก

ด้วยเหตุนี้ บทความเรื่อง “สู่การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู และคุณณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงนำเสนอแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยโดย 3 กระบวนการหลัก คือการยกระดับกระบวนการผลิต (process upgrading) การยกระดับผลิตภัณฑ์ (product upgrading) และการยกระดับสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (functional upgrading)

แนวทางการยกระดับผลิตภาพที่ง่ายที่สุดและได้ผลตอบแทนเร็วที่สุด ก็คือการยกระดับกระบวนการผลิต โดยใช้ระบบการผลิตแบบลีน (lean manufacturing) เพื่อกำจัดความสูญเปล่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต จากกรณีศึกษาของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย คณะผู้วิจัยพบว่า การผลิตแบบลีนช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีของไทย ได้มีการนำระบบการผลิตแบบลีนมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น Kaizen ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด การฝึกพนักงานให้มีทักษะที่หลากหลาย และการปรับเปลี่ยนให้พนักงานยืนแทนการนั่งเย็บ ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณร้อยละ 40 ลดพื้นที่และเวลาในการผลิต รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตได้มากขึ้น  นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยพบว่า หากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยใช้ระบบการผลิตแบบลีนอย่างเต็มที่ จะสามารถลดต้นทุนค่าแรงได้ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของค่าจ้างแรงงานในปี 2554

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

การลดการใช้พลังงานเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้แล้ว ยังมีผลดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง  ในทางปฏิบัติ วิธีการที่ใช้ลดพลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตมีหลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ การปรับระบบการผลิตโดยใช้วัสดุทดแทนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดทำโครงการบริหารพลังงาน เป็นต้น

ตัวอย่างของกรณีศึกษาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงาน จนทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก คือบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ (SCG Paper) โดยมีตัวอย่างโครงการที่สามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็วของบริษัท ฟินิกซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม โดยเป็นการลงทุน 50 ล้านบาทในการติดตั้งอุปกรณ์อบแห้งเชื้อเพลิงชีวมวล (biomass dryer) ซึ่งทำให้เชื้อเพลิงชีวมวลมีความแห้งมากขึ้น สามารถลดการใช้น้ำมันเตาลงปีละประมาณ 4 ล้านลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง 43 ล้านบาทต่อปี หรือสามารถคืนทุนได้ในเวลา 1 ปีเศษ

คณะผู้วิจัยพบว่า หากภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยหันมาเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน จนทำให้ประเทศไทยมีระดับประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย ก็จะช่วยลดต้นทุนได้ 1.43 แสนล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 20 ล้านตันในปี 2555

อย่างไรก็ตาม ลำพังการยกระดับกระบวนการผลิตนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจะถูกผู้ว่าจ้างผลิตหรือผู้ประกอบการอื่นในห่วงโซ่คุณค่าดูดซับไปหมด จากการกดราคารับซื้อ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับผลิตภัณฑ์ และยกระดับไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์ และการทำการตลาด ควบคู่ไปด้วย

แม้ว่าการทำวิจัยและพัฒนาเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับผลิตภาพ แต่บริษัทไทยยังคงมีการทำวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ที่มีการทำวิจัยและพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่บริษัทที่มีแบรนด์สินค้าของตนเอง (OBM) ที่ทำวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 และบริษัทที่มีการออกแบบ (ODM) ที่ทำวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16

 ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู 

จากกรณีศึกษาของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย คณะผู้วิจัยพบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา จะสามารถยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าการผลิตในห่วงโซ่คุณค่าได้  ทั้งนี้ ตัวอย่างกรณีศึกษาบริษัทไทยที่มีการทำวิจัยและพัฒนาจนสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น

บริษัท เอสซีจี วัสดุก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น ซึ่งมีการทำกิจกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และได้มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง จนทำให้มีกำไรสูงกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ 20

บริษัท ซัยโจ เด็นกิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศที่ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าแบบรับจ้างผลิตเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง โดยสินค้าเกรดสูงและใช้แบรนด์ของตนเองมีกำไรสูงกว่าสินค้าที่รับจ้างผลิตถึงร้อยละ 24

บริษัท ซิลิคอน คราฟท์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบไมโครชิปที่มีระบบระบุวัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification: RFID) ที่เน้นด้านการวิจัยและพัฒนา และการออกแบบ จนสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ และมีสินค้าเด่น เช่น ไมโครชิป RFID ที่ติดตัวสัตว์เลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์ บางรุ่นมีขีดความสามารถสูงกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Texas Instrument

บริษัท พี.ซี.เอส. พรีซิชั่น เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จนมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในระดับสูง โดยเป็นผู้ประกอบการไทยเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี เช่น ระบบ common rail ของเครื่องยนต์ดีเซล แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้

บริษัท ช.ทวีดอลลาเซียน จำกัด ซึ่งพัฒนารถลำเลียงอาหารสำหรับเครื่องบิน (catering truck) ให้เครื่องบิน Airbus โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในโลกในรุ่น A 380

ทั้งนี้ ความสามารถในการยกระดับผลิตภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และได้รับการหนุนเสริมจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย รัฐบาลจึงควรเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการเร่งเพิ่มจำนวนบุคลากรการวิจัยและพัฒนา และการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบวิจัยและพัฒนาของประเทศให้สูงขึ้น โดยการจัดทำระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีและมาตรการอื่น ๆ ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้นในภาคเอกชน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการสร้างความต้องการสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยใช้มาก่อน เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการจูงใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี

สำหรับการแปลงแนวความคิดข้างต้นสู่การปฏิบัติ รัฐบาลควรประกาศให้ทศวรรษต่อไปนี้เป็น “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ” เพื่อสร้างความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดโครงการช่วยเหลืออุตสาหกรรมในการเพิ่มผลิตภาพ และกำหนดเป้าหมายการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องตามระดับการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อจูงใจให้นายจ้างและแรงงานร่วมกันยกระดับผลิตภาพของกิจการของตน ในขณะที่ภาคเอกชนก็ควรรวมตัวจัดตั้ง “ภาคีพัฒนาผลิตภาพ” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภาพระหว่างกัน และนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่ภาครัฐ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: