เปิดขั้นตอนเลือก6กลุ่มบริษัทยักษ์ คิกออฟใช้เงินกู้น้ำท่วม3.5แสนล. ผุดเขื่อน-ฟลัดเวย์-ระบบเตือนภัย

วรลักษณ์ ศรีใย 7 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2231 ครั้ง

ในที่สุดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในเอกสารด่วนที่สุด ประทับลับมาก เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งนายปลอดประสพ  สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเพียงวันเดียว

 

สำหรับรายละเอียดหนังสือดังกล่าว นำเสนอขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการ เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 กบอ. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เชิญชวนภาคเอกชนต่างประเทศที่สนใจ จัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเสนอแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย

 

 

 

จากนั้นวันที่ 9-23 กรกฎาคม 2555 กบอ.แจกเอกสารรายละเอียดการเสนอกรอบแนวคิด ที่สำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) โดยมีบริษัททั้งในและต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทยมารับเอกสาร จำนวน 395 ราย

 

วันที่ 24 กรกฎาคม 2555 กบอ.ประชุมชี้แจง โครงการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย  และในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย มีผู้เข้า 942 คน

 

เพื่อดำเนินการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งในการนี้ กบนอ.จะสิ้นสุดการดำเนินการตามขั้นตอนการคัดเลือกผู้ดำเนินงานโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ โดยมีผลการดำเนินงานคือ จัดทำขั้นตอนการดำเนินโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย แบ่งเป็น 15 ขั้นตอน และร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากนั้นในวันที่ 14 กันยายน 2555 ได้ตรวจรับเอกสารการยื่นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยมีผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิดฯ จำนวน 35 ราย และประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอกรอบฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 โดยมีกลุ่มบริษัท / บริษัท ผ่านการพิจารณา จำนวน8ราย และกบอ.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากรอบแนวคิด3คณะ ประกอบด้วย  เทคนิควิชาการ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้กบนอ.ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค-วอเตอร์) 2.ITD POWER CHINA JV  3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์  5.China CAMC  Engineering Co.,Ltd  6.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย  7.Consortium TKC Global และ 8.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์

 

และมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจำนวน 6 กลุ่ม บริษัท ได้แก่

 

1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(K-Water)

2.ITD POWER CHINA JV

3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์

5.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย

6.กลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเลย์

 

 

 

ทั้งนี้ กบนอ. ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ Module ละ 3 ราย ซึ่งมี Module ที่ต้องพิจารณาทั้งหมด 10 Module มีผลสรุปดังนี้

 

1.Module  A 1 : 1.การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 50,000 ล้านบาท)

 

2.Module  A 2 : การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 50,000 ล้านบาท)

 

3.Module  A 3 : การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจ.นครสวรรค์ และเหนือจ.อยุธยา เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 60,000 ล้านบาท)

 

 

4.Module  A 4 : การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 7,000 ล้านบาท)

 

 

5.Module  A 5 : การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และ/หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม/วินาที รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 120,000 ล้านบาท)

 

6.Module  A 6 : การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์)2.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 3,000 ล้านบาท)

 

 

7.Module  B 1 : การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์)2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 12,000 ล้านบาท)

 

8.Module B 2 : การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 10,000 ล้านบาท)

 

 

 

9.Module B 3 : การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 10,000 ล้านบาท)

 

10.Module  B 4: การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดกาน้ำกรณีต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.ITD-POWERCHINA JV (งบประมาณ 2,000 ล้านบาท)

 

อย่างไรก็ตาม หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุถึง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือก ดังนี้  1. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ (ฉบับที่...) พ.ศ.....  2.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ   (ฉบับที่...) พ.ศ.....  3.ร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ (ฉบับที่...) พ.ศ.....

 

2. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 เห็นชอบดังนี้ 1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 2.ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนราชการเจ้าของโครงการ และ 3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ.....   และร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต(ฉบับที่...) พ.ศ.....  รวม 2 ฉบับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 รับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 269/2555 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการในคณะต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนากยกรัฐมนตรี โดยมอบอำนาจตามกฎหมาย โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ได้รับมอบหมายให้และมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย

 

4.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย  (กบอ.) สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้ โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.)

 

อย่างไรก็ตามได้ให้เหตุผลที่จะนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีด้วยว่า ผลการคัดเลือกผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เป็นการคัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และมีผลงานออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ จากการเสนอกรอบแนวคิด เพื่อเสนอเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและราคาที่เหมาะสม คุ้มค่า และเป็นไปได้ในการดำเนินการ โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ.2555

 

 

 

นอกจากนี้ ตามประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับพัสดุในการดำเนินโครงการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 ข้อ 2 กำหนดให้ กบอ.เสนอผลการคัดเลือกในการเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้าง ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

ซึ่งความเร่งด่วนของเรื่อง เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสแรก เพื่อให้สอดคล้องกับขั้นตอน การดำเนินโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลาของการกู้เงิน

 

ส่วนข้อเสนอของส่วนราชการระบุว่า เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและเห็นชอบผลการคัดเลือก ผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และเห็นชอบให้กบอ.ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: