2กสท.ชงร่างฯบิวตี้คอนเทสต์วันนี้ แนะให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญร่วมคัดเลือก จับตาร่างประมูลคลื่นธุรกิจ-มูลค่า

7 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1456 ครั้ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 พฤษภาคม น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เสียงข้างน้อยในการลงมติ “ไม่เห็นชอบ” กับคณะกรรมการฯ ที่ไม่ดำเนินการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์คัดเลือก (บิวตี้ คอนเทสต์)ผู้ได้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทสาธารณะ ได้เสนอวาระเพื่อพิจารณาต่อการจัดสรรทีวีดิจิตอล ประเภทสาธารณะ 3 ข้อ ดังนี้

 

 

1.เสนอ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ พ.ศ..... โดยขอให้ กสท.มอบหมายให้ 4 คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง (คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล คณะอนุกรรมการติดตามคดีปกครองและบังคับใช้กฎหมายด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการสาธารณะ) ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรา 28 ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2555 ต่อไป

 

2.เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ โดยมีองค์ประกอบของนักวิชาการ วิชาชีพ และประชาสังคมในสัดส่วนที่เหมาะสม มีหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรฐานสากล ในการให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะ กลั่นกรองความเหมาะสมของผู้ขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ และเสนอ กสท.เพื่อประกอบการพิจารณา

 

และ 3.ขอให้ สำนักงาน กสทช. จัดทำบันทึกสรุปผลการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ที่ประกอบด้วยความคิดเห็น ของ กสทช. และเผยแพร่บันทึกดังกล่าวในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช.

 

 

สาระสำคัญของ (ร่าง) เกณฑ์ดังกล่าว ที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเพื่อนำไปสู่เกณฑ์การพิจารณา 5  ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.โครงสร้างและการจัดการองค์กร 2.คุณภาพรายการและความหลากหลายของเนื้อหา 3.ที่มาของรายได้ 4.ธรรมาภิบาล และ 5.ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านดิจิตอล

 

น.ส.สุภิญญากล่าวว่า เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พฤษภาคม) ที่ องค์กร Feedom House ลดอันดับเสรีภาพสื่อในประเทศไทยอยู่ในขั้นไม่เสรี ซึ่งในห้วงที่กสทช.กำลังจะจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทำอย่างไรที่จะทำให้สอดคล้องกับแนวมาตรฐานสากล ที่ทำให้โครงสร้างสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาการครอบงำอำนาจรัฐและทุน ซึ่งการการเสนอแนวคิดการจัดทำ(ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ก็เพื่อสร้างหลักประกันทีในการเปิดโอกาสให้ภาคสาธารณะ (Public Consultation) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มต้น ร่างฯ เป็นตุ๊กตาที่พยายามรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากภาคส่วนต่าง ๆ และยังเปิดให้สามารถถกเถียงในรายประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญได้อีก เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหตุของความสำคัญที่ต้องจัดทำเป็นร่างประกาศฯก็เพราะว่า ในการประชุมกสท.ครั้งนี้ จะมีการพิจารณา(ร่าง)ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.... แม้จะเป็นเกณฑ์สาธารณะที่ไม่ต้องประมูล แต่นี่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะต้องมีประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะเช่นกัน ทั้งนี้หากมติผ่านร่างเกณฑ์ฉบับนี้แล้ว จะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อไป

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 7 พฤษภาคม จะมีการพิจารณา “รายงานผลการศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล” และ(ร่าง)ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.... ด้วย

 

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) เกณฑ์ดังกล่าว ที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเพื่อนำไปสู่เกณฑ์การพิจารณา 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.โครงสร้างและการจัดการองค์กร

 

โครงสร้างและการจัดการองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการดำเนินการ  ลดแนวโน้มในการผูกขาดอำนาจ ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหลักประกันให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้คลื่นสาธารณะ  โดยเกณฑ์ย่อยที่ควรคำนึงถึงดังนี้

1.1 ในกรณีผู้ยื่นขอใบอนุญาตที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งโดยส่วนใหญ่มิได้มีหน้าที่ในดำเนินการด้านสื่อสารมวลชน หากต้องการเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแยกการจัดโครงสร้างในรูปขององค์การมหาชน โดยยึดหลักการที่ใกล้เคียงกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน 2542 กล่าวคือ มีระเบียบการจัดตั้ง วัตถุประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญ ระเบียบการเงินรวมทั้งมีความชัดเจนในเรื่องการไม่เป็นองค์การแสวงหาผลกำไร

1.2 ผู้ยื่นขอใบอนุญาตนำเสนอโครงสร้างองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือ (Consortium) ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ แทนที่จะเป็นการเสนอโดยหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐเพียงหน่วยงานเดียว เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย องค์การพัฒนาเอกชน และตัวแทนในส่วนท้องถิ่นหรือภูมิภาค เป็นต้น

1.3 ผู้ยื่นขอใบอนุญาตนำเสนอถึงความหลากหลายขององค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.คุณภาพรายการและความหลากหลายของเนื้อหา

 

เนื้อหารายการถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา โดยยึดหลักการของทีวีบริการสาธารณะที่คำนึงถึงผู้ชมในฐานะที่เป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย  โดยมีเกณฑ์พิจารณาย่อยที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้

2.1 คุณค่าทางสังคม : เป็นการนำเสนอข่าวสารและรายการที่มีคุณภาพ มีแหล่งข้อมูลที่ดี และนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ดีและสร้างเสริมให้เกิดการอภิปรายพูดคุยในหมู่ผู้ชม

 

2.2 คุณภาพรายการ (Quality)  : เป็นรายการที่สะท้อนความแปลกใหม่ก้าวหน้า (innovate) , มีการผลิตและดำเนินการอย่างดี มีการทุ่มเทเวลาและความพยายามในการทำงาน และคำนึงถึงคุณภาพของนักแสดง การถ่ายทำ และบทของรายการ , มีรายการที่กระตุ้นให้เกิดความคิด (Thought-provoking)คือ นำเสนอเนื้อหาที่สามารถนำมาพูดคุยหรือคิดต่อได้ในภายหลัง, เป็นรายการที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น สามารถปล่อยให้เด็กรับชมโดยไม่ต้องกังวลถึงความไม่เหมาะสม

 

2.3 ความหลากหลายของเนื้อหารายการ (Diversity) : ควรคำนึงถึงความสนใจของกลุ่มผู้ชมที่ประกอบไปด้วย ความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม อุดมการณ์ ความฝักใฝ่ทางการเมือง รายได้ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น

 

2.4 ความสำคัญของการปฏิรูปสื่อ : ผู้ยื่นขอใบอนุญาตนำเสนอแผนการปฏิรูปเนื้อหาที่สะท้อนความสำคัญของการปฏิรูปสื่อ

 

 

3.ที่มาของรายได้

 

ผู้ยื่นขอใบอนุญาตต้องเสนอแผนการอุดหนุนทางการเงินโดยผ่านกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระในการดำเนินการ มีความชัดเจนในเรื่องการโฆษณาหารายได้ และโฆษณาภาพลักษณ์องค์กร วางแนวทางการจัดทำรายงานการเงิน ที่มีความละเอียดชัดเจนและจัดทำแนวทางการประเมินผลการดำเนินงาน โดยทั้งหมดนี้ต้องทำการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

 

4.ธรรมาภิบาล

 

ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเสนอโครงสร้างคณะกรรมการบริหารที่เป็นอิสระและแนวทางการดูแลเพื่อให้องค์กรสามารถทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบอย่างมีมาตรฐาน คุ้มค่าการลงทุนและสามารถเปิดให้สังคมตรวจสอบได้  นอกจากนี้กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสื่อสาธารณะควรมีความยุติธรรม เปิดกว้าง และโปร่งใส ตลอดจนวางกลไกการตรวจสอบที่เปิดเผยให้สาธารณะเข้าถึงได้ โดยเชื่อมโยงกับผู้บริโภค สภาผู้ชม ตลอดจนมีเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค

 

5.ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านดิจิตอล

 

การประเมินศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเสริมสร้างสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย เช่น การจัดทำ digital archive ดังเช่นที่พบในกรณีของ BBC,NHK และ ABC , การบูรณาการในด้านเทคโนโลยีระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น

 

 

ในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลสาธารณะ ที่ประชุมยังเสนอว่าควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือก และเปิดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนตามมาตรฐานสากลดังเช่นที่องค์กรกำกับดูแลของสหราชอาณาจักร  นอกจากนี้ภายหลังจากที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกของ กสท. สำนักงาน กสทช.ต้องเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการให้คะแนนของคณะกรรมการเพื่อให้สาธารณชนรับทราบ

 

นอกจากนี้เงื่อนไขของการให้ใบอนุญาตต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่า ภายหลังการดำเนินงานไปแล้วหนึ่งปี ต้องมีการประเมินผลว่ามีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่แสดงไว้หรือไม่และหากไม่สอดคล้องทางสำนักงาน กสทช. จะมีแนวทางในการพิจารณาต่อใบอนุญาตอย่างไร

 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ไม่มีความจำเป็นที่ กสท.ต้องให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการบริการทีวีดิจิตอลสาธารณะทั้ง 12 ช่องรายการหากไม่สามารถคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้ง กสท. ควรวางวิสัยทัศน์ในเรื่องทิศทางของทีวีดิจิตอลสาธารณะโดยมีแผนการสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว

 

รวมทั้งจากข้อเสนอขององค์วิชาชีพและความคิดเห็นของนักวิชาการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาชีพ ผู้บริโภคและประชาชนในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีข้อเสนอที่สอดคล้องกัน คือการเสนอให้ กสท. จัดทำประกาศหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม ในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ช่องบริการสาธารณะ (Beauty Contest) ที่มีความชัดเจน และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบรับส่งสัญญาณวิทยุเป็นระบบดิจิตอล (3.3)  นโยบายด้านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการ ที่กำหนดให้ การอนุญาตประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์ ที่เป็นบริการสาธารณะ จะคำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมายหรือความจำเป็นเพื่อการบริการสาธารณะ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด ประกอบกับการจัดทำหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศกำหนดจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ กสทช. ใช้เป็นหลักการแนวทาง ในการพิจารณาอนุญาตได้อย่างโปร่งใส และใช้ดุลพินิจบนกระบวนการที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อป้องกันมิให้ผู้ยื่นขออนุญาตบางรายซึ่งอาจไม่ได้รับอนุญาตพิจารณาได้ว่า เนื่องมาจากกระบวนการพิจารณาอนุญาตนั้นไม่โปร่งใสเป็นธรรม และนำไปเป็นเหตุในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้

 

ขอบคุณภาพจาก www.rsunews.net, Google, ไทยรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: