ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แบ่งฝักแย่งฝ่ายผู้คนในสังคมออกจากกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้คนในสังคมต่างอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างน้อยลงทุกที แม้ว่าความรุนแรงเชิงกายภาพจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ความรุนแรงเชิงคำพูดและตัวหนังสือ กลับล้ำหน้าไปไกลกว่านั้นมาก
Hate Speech กลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ การด่าทอ การเหยียดหยามหรือการลดทอน ผู้ที่เห็นต่างลงต่ำกว่าความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นให้เห็นมากมาย
ความคิดเห็นต่อ Hate Speech ก็แยกออกเป็น 2 ทาง กลุ่มหนึ่งเห็นว่า Hate Speech ควรได้รับการควบคุมหรือมีเกณฑ์บางอย่างที่จะดูแลการแสดงออกนี้ ในขณะที่ผู้ที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพก็เห็นว่า Hate speech คือเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่งและไม่ควรมีการควบคุม
ศูนย์ข่าว TCIJ สนทนากับ ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยที่ศึกษาเรื่อง Hate Speech เพื่อทำความเข้าใจสิ่งนี้และหาวิธีที่เราจะอยู่กับมัน
Hate Speech คือ Free Speech
แม้ในวงวิชาการ ความหมายของคำว่า Hate Speech จะเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันได้ว่าคืออะไร แต่สำหรับ ดร.ชาญชัย เห็นว่า Hate Speech คือการแสดงความเกลียดชังต่ออีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ผู้ที่แสดงความเกลียดชังไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้ที่ถูกแสดงความเกลียดชัง เป็นความเกลียดชังต่อกลุ่มก้อนที่ผู้ถูกเกลียดชังสังกัด เช่น ศาสนา สีผิว ชาติพันธุ์ เพศ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้
คำถามสำคัญที่ถกเถียงกันมากคือ Hate Speech คือ Free Speech หรือไม่
“คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญมากและเป็นข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีการเมือง โดยเฉพาะทฤษฎีเสรีภาพ ผมสนใจทำวิจัยเรื่องนี้เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากคำถามนี้ว่าเราจะทำอย่างไร ปิดกั้น Hate Speech จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพหรือไม่ เส้นแบ่งจะอยู่ตรงไหน ที่นี้เส้นแบ่งก็มีหลากหลาย ทำให้ถกเถียงกันได้เยอะ ถ้าให้เกณฑ์อยู่สูงเกินไป คำด่าทอ คำเรียกมึงกูจะโดนไปด้วยทุกอย่าง ถ้าถึงขั้นนั้นก็จะเหลือแต่ความสุภาพ สวยงาม พูดจาไพเราะ แต่ไม่รู้ว่าในใจคิดอะไร นั่นคือแบบสูงมาก ซึ่งสำหรับผมเสนอเกณฑ์ว่า ต้องไม่ต่ำไปกว่านี้ คือพวกสายเสรีนิยมก็จะตั้งมาตรฐานเอาไว้ว่า ทุกคนมีเสรีภาพ ทุกคนไม่ควรถูกคุกคามหรือจำกัดเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพนั้นไปทำร้ายใคร เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เป็นเส้นแบ่งที่สำคัญว่าต้องไม่ต่ำไปกว่านี้ หมายความใช้เสรีภาพได้เต็มที่ตราบเท่าที่ไม่ก่อให้เกิดการทำร้ายใคร จะหยุดที่ความรุนแรงทางกายภาพเป็นพื้นฐาน
“ถ้าในกรณีเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในคำพูด สำหรับผม มันต้องไม่ยั่วยุ ไม่เรียกร้องให้เกิดการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ ประเภทว่า 'ไปตีมันเลย' จะใช้เสรีภาพในการพูดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเลยมาถึงตรงนี้ไม่ควรแล้ว”
การสะสมพิษ
ทว่า ในทางปฏิบัติกลับมีความซับซ้อนกว่าตัวทฤษฎีมาก หลายครั้งความรุนแรงมิได้เกิดจากการพูดหรือบอกให้ทำร้ายใคร แต่เมื่อสะสมนานเข้าก็พร้อมจะแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้ ซึ่งจุดนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันมากในการเมืองระดับประเทศ
ดร.ชาญชัยกล่าวต่อว่า ปกติคนที่ใช้ Hate Speech ก็มีวิธีการในการพูดหรือมีลูกเล่นหลากหลายวิธี ซึ่งต้องดูว่าแบบไหนที่ต้องจัดการ เช่น วิธีที่ใช้กันประจำ คือการปลุกเร้าความเกลียดชังให้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ปลุกเร้าให้เกิดการทำลาย แค่บอกว่าอีกฝ่ายเลวแบบนั้นแบบนี้ แล้วก็พูดว่า พรุ่งนี้มันจะไปอยู่ที่นั่น ไปต้อนรับกันเถอะ ดร.ชาญชัยกล่าวว่า แบบนี้คล้ายการปรุงยาพิษทีละนิด ๆ แต่ละวันไม่เหมือนกัน แต่ละวันไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นพิษ ซึ่ง ดร.ชาญชัญ คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นเป็นประจำ
วิธีรับมือกับ Hate Speech
ดร.ชาญชัยอธิบายอีกว่า บางปีกความคิด Hate speech คือการใช้ความรุนแรงโดยตัวมันเอง ขณะที่บางปีก Hate speech ไม่ใช่ความรุนแรงโดยตัวมันเอง แต่เป็นชนวนหรือการปูฐานไปสู่ความรุนแรง ซึ่ง ดร.ชาญชัย ก็ตั้งข้อสังเกตตามมาว่า แล้วมีสิ่งใดบ้างที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะความรักก็นำไปสู่ความรุนแรงได้ไม่น้อยกว่าความเกลียดชัง
“สิ่งที่เราต้องควบคุมอย่างแรกสุดคือความรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่นำไปสู่ความรุนแรงเพราะมีหลายอย่างมากที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ นี้ผมพูดถึงมาตรฐานขั้นต่ำสุดก่อน ในแง่ของ Hate Speech ต้องมีอย่างอื่นมารองรับด้วย”
อย่างอื่นที่ว่าของ ดร.ชาญชัย คือมาตรฐานขั้นต่ำสุดของ Hate Speech ที่จะต้องไม่ข้ามไปถึงขั้นที่เรียกร้องให้เกิดการทำร้ายใคร ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อาจรับได้ แต่ถ้าไม่ก้าวข้ามไปถึงตรงนั้นก็มิได้แปลว่า Hate Speech เป็น Free speech ชนิดที่ยอมรับได้เลยในตัวเอง แต่ต้องมาตรการอื่น ๆ ทางการเมืองหรือทางสังคมเข้ามาดูแล โดยไม่ควรปล่อยให้มาตรการทางกฎหมายเข้ามายุ่ง เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่า ระดับที่กฎหมายเข้ามาจะอยู่ระดับไหน จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ ดร.ชาญชัย ยกตัวอย่างวิธีการโต้ตอบ Hate Speech ในต่างประเทศที่น่าสนใจของสายเสรีนิยมที่เชื่อว่า Hate Speech เป็น Free Speech ชนิดหนึ่ง และตอบโต้กลับด้วย Counter speech หมายถึงทุกข้อเสนอ ทุกความเห็น ทุกข้อความจะต้องโต้แย้ง ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อจะนำไปสู่ความจริงหรือไปสู่อะไรบางอย่าง
“ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังแบบไหนก็ตามถ้าเราไม่เห็นด้วยแล้วตอบโต้กลับ ซึ่งก็มีทั้งบวกและลบ ประเภทมึงด่ามากูด่าไป แบบนี้ไม่ได้พาไปไหน มันอย่างเดียว เวียนกันลงไปข้างล่าง ถ้าให้ดีสายเสรีนิยมบอกว่า ต้องทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาพูดไม่มีมูลอย่างไร เป็นความจริงหรือเท็จอย่างไร มีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือเอาข้อมูลส่วนที่เรามีมา Counter เขา ให้เห็นว่าของจริงมันเป็นยังไง แล้วให้สาธารณะเป็นคนเลือกดูว่าจะเชื่อของใคร แต่จะไม่ใช้วิธีบอกว่า คุณพูดไม่ดี พูดจาหยาบคาย เป็นการแสดงความเกลียดชังกัน ห้ามพูด”
เปิดพื้นที่ให้พูดคุย
ดร.ชาญชัย ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งในอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเกลียดชังมหาศาล ระหว่างสีผิว ศาสตราจารย์ชาวยิวคนหนึ่ง ที่ทำงานด้านการลดความเกลียดชังระหว่างสีผิว ศาสตราจารย์ผู้นี้จัดเวทีสานเสวนาให้คนมาคุยกัน โดยเชิญคนที่เกลียดกันมาคุยกัน ครั้งหนึ่งมีการจัดเวทีพูดคุยเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ โดยเชิญสมาชิกของกลุ่มคลู คลักซ์ แคลน คนหนึ่งที่เหยียดผิวและเป็นสมาชิกของกลุ่มนีโอนาซี และก็เชิญนักรณรงค์สายเสรีนิยมมาด้วย
“เขาเชิญสมาชิกคลู คลักซ์ แคลน คนนี้ขึ้นพูดทัศนะของตน เขาก็พูดเลยว่า เราคิดว่าคนที่มีสีผิวต่างกันไม่ควรจะอยู่ด้วยกัน ควรจะอยู่แยกกัน แค่นั้นแหละนักกิจกรรมสายเสรีก็แทรกขึ้นทันทีและพยายามพูดกลบเพื่อไม่ให้เขาพูด ตัวคนจัดรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยการให้สองคนพูดไปพร้อม ๆ กัน ฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้เรื่อง เขาบอกว่าบางวัฒนธรรมฟังกันรู้เรื่องนะครับ หลังจบเวที นักข่าวเข้ามาถามเขา เขาให้คำตอบว่า การที่ไม่มีพื้นที่ให้กลุ่มคลู คลักซ์ แคลน หรือกลุ่มที่มีความเกลียดชังแบบนี้ได้พูด สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะหนักกว่า ถ้าเขาแสดงออกไม่ได้ ไม่มีใครให้เขาพูด ไม่มีใครยอมฟังทัศนะของเขา แล้วประโยคเมื่อครู่ไม่มีอะไรเลย เป็นความเห็นทางการเมืองปกติว่า เราไม่ควรอยู่ด้วยกันซึ่งเป็นสิ่งที่รับได้ แต่ถ้าบอกว่าฉันจะฆ่าแก อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว
“ถ้าเราไม่ฟัง เขาไปแสดงออกทางอื่น ทางที่เลวร้ายที่สุดคือใช้ความรุนแรง ทางที่เลวร้ายกว่าใช้ความรุนแรงคือลงใต้ดิน เป็นกลุ่มกองกำลัง ซึ่งคลู คลักซ์ แคลน ทำเป็นประจำ ไปเผาโน่น ฆ่าคนนั้น ระเบิดที่นี่ สิ่งที่ศาสตราจารย์คนนี้พยายามทำ คือพยายามไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปแสดงออกในลักษณะแบบนั้น ให้มาแสดงออกในทางที่เรารับกันได้ แม้ว่าเขาจะยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองหรือทัศนะของเขาก็ตาม นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก”
ดร.ชาญชัยกล่าวว่า วิธีดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย เพียงแต่เป็นการจัดแบบกลุ่มปิด เพื่อให้คู่ขัดแย้งสามารถกล่าวอย่างเปิดใจได้
โซเชียล มิเดีย ทำให้ Hate Speech ข้ามพื้นที่-เวลา และอายุยาวนาน
การแพร่ระบาดของ Hate Speech ในสังคมไทยเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของโซเชียลมีเดีย อย่างแยกไม่ออก ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย ใช่ว่าจะไม่มี Hate Speech ดำรงอยู่ แต่โซเชียลมีเดีย ทำให้กาละและเทศะของการแสดงความเกลียดชังผ่าน Hate Speech เปลี่ยนไป
ดร.ชาญชัยอธิบายว่า อดีต การสนทนาตามโต๊ะกาแฟอาจลุกลามเป็นการด่าทอได้ แต่ความขัดแย้งจะอยู่ในเวลาและพื้นที่ตรงนั้นหรือในชุมชน แต่โซเชียลมีเดีย ช่วยให้ Hate Speech กระจายตัวเร็วข้ามพื้นที่และเวลา มีอายุยาวนานขึ้น ถูกผลิตซ้ำมากและบ่อยขึ้น
“ความเกลียดชังจากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อสิ่งที่ใช้สื่อสารมันเปลี่ยนจึงเกิดการขยายกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการฟัง ถูกนำมาเล่นซ้ำใหม่ได้ อย่างในยูทูบ นอกจากจะเป็นตัวหนังสืออย่างเดียว ปรากฎการณ์ที่สำคัญคือเราฟังในสิ่งที่เราอยากฟัง สิ่งไหนที่เราไม่อยากฟัง เราจะด่า เพราะฉะนั้นเราก็จะร่วมกันด่ากับฝ่ายเรา เวลาเจออีกฝ่ายที่พูดไม่เหมือนเรา เราก็จะด่าเขา”
เมื่อถามว่า Hate Speech ในสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่นหรือไม่ หรือ Hate Speech ก็คือ Hate Speech ไม่มีความแตกต่างกัน
ดร.ชาญชัยกล่าวว่า Hate speech ทุกที่เป็นเรื่องที่ผูกติดบริบทหมดทั้งสิ้น โดยยกตัวอย่างว่า การด่าว่า ควาย ในอินเดียจะไม่มีใครเข้าใจ เพราะควายถือเป็นสิ่งศักสิทธิ์ในสังคมอินเดีย แต่ละสังคมจึงมีวิธีการด่า มีวิธีการแสดงความคิดเห็นไม่เหมือนกัน
คำพูดที่อยู่ใต้คำด่า
ในสถานการณ์เช่นนี้ บทบาทของแกนนำ บทบาทของนักการเมือง บทบาทของสื่อมวลชน ควรเป็นอย่างไร ดร.ชาญชัย กล่าวว่า
“ผมคิดว่าบางคนเขาก็ไม่ได้อยากแสดงออกถึงความเกลียดชังขนาดนั้น มันมีกรณีที่เขาใช้เพื่อปลุกเร้ามวลชน แต่ก็มีกรณีที่ถ้าไม่พูดแบบนี้มวลชนก็ไม่ฮือ ไม่ฮา ในแง่การพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมาพัฒนามาเร็วมากถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของที่ช่วงต้นๆ ของการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมือง คือที่ผ่านมาเราถูกปิดกั้น พอพูดได้ก็พูดเป็นต่อยหอยเลย เรากำลังอยู่ในช่วงที่ต้องก้าวข้ามจุดนี้ไป ผ่านมันไปเพื่อไปสู้จุดที่มีวุฒิภาวะทางการแสดงออกทางการเมือง รู้ว่าควรจะพูดอย่างไร ไม่ได้พูดเอามันเฉย ๆ แต่พูดเพื่อก่อให้เกิดอะไรบางอย่างแก่สังคมทั้งหมดร่วมกัน ไม่ใช่แค่สังคมของฝ่ายเราเท่านั้น”
สุดท้ายแล้ว กระบวนการทางสังคมและการเมืองจะค่อย ๆ ตกผลึกเป็นเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาพอสมควร
ส่วนในระดับปัจเจก ดร.ชาญชัยกล่าวว่า แต่ละคนต้องทำความเข้าใจผู้ที่ด่า พร้อม ๆ กับทำความเข้าใจตัวเองด้วยว่า ทำไมจึงถูกด่า ความผิดอยู่ที่ตัวเราหรือตัวเขา
“การด่ามีหลายแบบ บางอย่างไม่รู้สึก แต่ถ้าด่าโดนคำจี้ใจบางอย่างมันเจ็บ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานกับตัวเอง หลังจากทำความเข้าใจแล้วก็พยายามให้เกิดการสื่อสารว่าในคำด่านั้น ถ้าเราตั้งใจฟังเขาอย่างอดทน เราจะเจอว่าจริงๆ แล้วเขาอยากพูดอะไร เขาอาจจะพูดไม่ออก พูดไม่ทัน หรือไม่มีใครฟัง จึงต้องใช้วิธีที่แรงเพื่อให้คนหันมาฟัง แต่พอแรงแล้วก็ไปอยู่ที่ผิวของคำด่า ถ้าเราสื่อสารกันแบบนี้ มองว่าอะไรอยู่ข้างใต้ของการแสดงความเกลียดชังกัน จะทำให้มนุษย์สื่อสารกันได้เข้าใจมากขึ้น”
อีกตัวอย่างที่ ดร.ชาญชัย กล่าวถึง คือเหตุการณ์สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เกิดการปะทะจนทำให้ทหารและคนเสื้อแดงได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย มีกลุ่มเพื่อนรับฟังไปยังโรงพยาบาลที่ทหารและคนเสื้อแดงเข้ารักษาเพื่อฟังว่า สิ่งที่ไม่ใช่ความเป็นทหารหรือเสื้อแดง ฟังสิ่งที่เป็นชีวิตของคนเหล่านี้ว่าไปมาอยู่จุดนี้อย่างไร ทหารที่เพิ่งถูกเกณฑ์มาเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว มีญาติ มีพ่อ เป็นห่วงอยู่ที่ไหน ทำไมคนเสื้อแดงต้องยอมปิดกิจการมาจากต่างจังหวัด ดร.ชาญชัยกล่าวว่า กระบวนการนี้จะทำให้เห็นเรื่องราวของแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง เรื่องราวเหล่านี้คือชีวิตแบบเดียวกับเรา ซึ่งจะทำให้เราเห็นสองฝ่ายแตกต่างไปจากเดิม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ